อุ่นไอในสายหมอก เที่ยวรับหนาวสไตล์โอทอป เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน
หลายปีที่ผ่านมากรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดทำสุดยอดเส้นทางการท่องเที่ยวหมู่บ้าน OTOP ไปแล้ว 52 หมู่บ้าน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้ยั่งยืน โดยนำเอกลักษณ์เด่นๆ ของชุมชนมาเสริมสร้างศักยภาพเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว
สำหรับปีนี้ ทางกรมฯ ได้วางแผนจัดสุดยอดเส้นทางการท่องเที่ยวหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว เพื่อให้หมู่บ้านด้วยบูรณาการด้านการท่องเที่ยว ส่งต่อนักท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าหนาวนี้ นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยวางแผนเดินทางท่องเที่ยวภาคเหนือ หากปีนี้ใครอยากเปลี่ยนบรรยากาศท่องเที่ยวในเมืองออกมาลองสัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้านกันดูบ้าง ก็น่าจะเป็นอีกประสบการณ์หนึ่งที่น่าสนุกไม่น้อย
สำหรับเส้นทางท่องเที่ยวอุ่นไอในสายหมอกสุดยอดหมู่บ้าน OTOP ท่องเที่ยว จังหวัดเชียงใหม่ เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอนนั้น เรามี 3 หมู่บ้านห้ามพลาดมาแนะนำให้คุณไปเช็คอินความสุขกัน
บ้านสันติคีรี ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย : หมู่บ้านแห่งนี้เป็นชุมชนชาวจีนฮ่อ อดีตทหารจีนกองพล 93 ที่ลี้ภัยมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งอยู่บนดอยความสูงเฉลี่ย 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล อากาศจึงเย็นสบายตลอดทั้งปี ที่สำคัญที่นี่ยังเป็นแหล่งปลูกชาชั้นเลิศ ไร่ชาสีเขียวทอดตัวตามที่ลาดเชิงเขาพื้นที่หลายพันไร่
นักท่องเที่ยวที่มาเยือนที่นี่จะได้มีโอกาสชมการเก็บยอดชาโดยชาวเขา แถมถนนสายหลักกลางหมู่บ้านก็มีร้านจำหน่ายใบชาหลายสิบร้านตั้งเรียงรายตลอดทางให้ได้ลองชิมชาและเลือกซื้อ
บนดอยแม่สลองมีชาหลายชนิด ด้วยกลิ่นหอมพิเศษและรสชาติเยี่ยมถูกใจนักชิมชา อุปกรณ์ชงชา อย่างชุดชงชา เหยือกชา ถ้วยชา ก็มีให้เลือกชอปปิ้งตามใจชอบเมนูเด็ดตำรับจีนยูนนาน
และถ้ามาในในฤดูหนาวเส้นทางเข้าสู่หมู่บ้านสันติคีรียังมีต้นนางพญาเสือโคร่งอยู่ริมทางเป็นระยะกว่า 4 กม. แต่งแต้มให้ดอยแม่สลองยิ่งงามเด่นบนจุดสูงสุดของดอยแม่สลองเป็นที่ประดิษฐานพระบรม-ธาตุเจดีย์ศรีนครินทรามหาสันติคีรี และเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง
ที่ตั้ง : ดอยแม่สลอง อ. แม่ฟ้าหลวง จ. เชียงราย ข้อมูลท่องเที่ยว : อบต. แม่สลอง โทร. 0-5376-5129
บ้านยาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ : ที่นี่ถือได้ว่าเป็นชุมชนที่โดนเด่นในเรื่องวัฒนธรรมที่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นชาวจีนยูนนานไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นประเพณีต่างๆ ของทั้ง 3 ศาสนา คือ พุทธ คริสต์ อิสลาม ที่อยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ รวมถึงสถาปัตยกรรมบ้านเรือนรูปแบบจีน และอาหารการกิน ที่สามารถต้อนรับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
ชุมชนบ้านยางก่อตั้งเมื่อประมาณ 60 ปีมาแล้ว ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2496 ทหารจีน (กองพล 93-95) และประชาชน ได้อพยพเข้ามาประเทศไทย โดยใช้เส้นทางดอยอ่างขาง (ปัจจุบันคือ บ้านหลวง) และย้ายถิ่นมาที่บ้านยาง ซึ่งหมู่บ้านแห่งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้พระราชดำเนินมาพลิกฟื้นผืนดินที่เต็มไปด้วยไร่ฝิ่น ให้กลายเป็นดินแดนของพืช ผัก ผลไม้ เมืองหนาว สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน
นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวบ้านยางนอกจากจะได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านแบบใกล้ชิดแล้ว ที่นี่ยังมีสถานที่ท่องเทียวที่น่าสนใจ เช่น พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง) แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของบ้านยาง โดยเป็นพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้พัฒนาพื้นที่แห่งนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต
โดยรวบรวมและนำเสนอองค์ความรู้ผ่านนิทรรศการ วัตถุสะสม หลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศแบบบูรณาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นการต่อยอดจากโรงงานหลวงสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) หลังจากที่ทำหน้าที่แปรรูปผลผลิตทางการเกษตรมาอย่างต่อเนื่องนาน 30 ปี
นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อาทิ น้ำตกบ้านยาง แปลงสมุนไพร โรงไฟฟ้าพลังน้ำ และแปลงสาธิต สถานที่รวบรวมพันธุ์พืชบางชนิด เป็นต้น หรือใครเป็นนักชิมก็ต้องไม่พลาดลิ้มลอง อาหารตามแบบฉบับของชาวจีนยูนนาน อย่างขาหมูหมั่นโถว สุกี้ยูนนาน ไก่ดำภูเขาไฟ ฯลฯ
การเดินทางจาก จ.เชียงใหม่ ไปบ้านยางใช้เส้นทางมุ่งหน้าสู่ อ.ฝาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 ระยะทาง 150 กม. ถึงแยกอ่างขางแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกเพียง 18 กม. ก็ถึงแล้ว หรือสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานชุมชน อำเภอฝาง 0-5345-1570 หรือ www.baanyang-chiangmai.com
ศูนย์ศิลปาชีพกะเหรี่ยงบ้านแม่ปิง ตำบลแม่ฮี้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน: หากอยากมาเที่ยวปายแบบสนุกๆ ต้องไม่พลาดมาเยือนศูนย์ศิลปาชีพบ้านกะเหรี่ยงแม่ปิง หมู่บ้านชาวกระเหรี่ยงๆ เล็กๆ แต่น่ารัก แม้ตอนนี้ลักษณะบ้านเรือนบางส่วนของชาวบ้านจะเปลี่ยนจากบ้านแบบชาวกะเหรี่ยง ซึ่งทำจากไม้ไผ่และหลังคาใบตองตึง หรือหญ้าคากลายเป็นบ้านปูน หลังคามุงสังกะสี คล้ายกับบ้านในเมืองมากขึ้นแล้ว
แต่สิ่งหนึ่งที่ชาวกะเหรี่ยงยังคงเอกลักษณ์และอนุรักษ์ไว้ ก็คือภาษาพูดและการแต่งกาย รวมไปถึงการทอผ้าที่ยังคงลวดลายดั้งเดิมไว้ และได้เป็นที่มาของโครงการศูนย์ศิลปาชีพในพระบรมราชินูปถัมภ์
สินค้าภายในศูนย์ศิลปาชีพฯ มีให้เลือกชอปมากมายทั้ง กระเป๋าสตางค์ หมวก ผ้าทอ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ให้เที่ยวชม เช่น พิพิธภัณฑ์ชนเผ่ากะเหรี่ยง โรงงานปั้นอิฐประสาน (อิฐแดง) โรงสีข้าวชุมชน หรือถ้าติดใจบรรยากาศที่นี่ก็มีบ้านพักโฮมสเตย์ (บ้านวิถีชนเผ่ากะเหรี่ยงแม่ปิง)ให้นอนเล่นได้เหมือนกัน
การเดินทาง: ใช้ทางหลวงหมายเลข 1095 สายปาย-แม่มาลัย ถึงแยกซ้ายบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 86 เข้าถนนรพช. บ้านห้วยแก้ว บ้านแม่ปิง ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ศูนย์ศิลปาชีพฯ ตั้งอยู่บริเวณศาลากลางหมู่บ้าน