หรอยหนัด "หมอมูดง" สำรับพื้นบ้านภูเก็ต "หรอย" แบบไม่ง้อเชลล์มาชิม

หรอยหนัด "หมอมูดง" สำรับพื้นบ้านภูเก็ต "หรอย" แบบไม่ง้อเชลล์มาชิม

หรอยหนัด "หมอมูดง" สำรับพื้นบ้านภูเก็ต  "หรอย" แบบไม่ง้อเชลล์มาชิม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้าไปภูเก็ตแล้วมื้อเช้าคุณสั่ง "โก่ปี้" แกล้ม "เจียะโก้ย" (กาแฟกับปาท่องโก๋) เพื่อทักทายวันใหม่ ก่อนที่มื้อค่ำจะอำลาแสงอาทิตย์ด้วย "โอ้เอ๋ว" ขนมหวานประจำถิ่น ในระหว่างวันผมก็ไม่อยากให้คุณพลาดสำรับใต้แท้ๆ อย่าง "หมอมูดง" ร้านอาหารพื้นเมืองที่อร่อยเด็ด อร่อยดัง อร่อยโดน จนใครที่ไปแลนด์ดิ้งภูเก็ตต้องแวะทาน

ผมเองเพิ่งมีโอกาสไปทานเป็นครั้งแรกยังรู้สึกติดใจและอยากแชร์ต่อ ตอนแรกฟังแค่ชื่อ "หมอมูดง" ผมงง และมีคำถามว่าเจ้าของร้านเป็นหมอแล้วมาเปิดร้านอาหาร? หรือเจ้าของร้านชื่อมูดง(ฟังแล้วคล้ายชื่อดาราเกาหลี) และหนักที่สุดคือผมเผลอเรียกผิดเป็นร้านหมอดู ข้อผิดพลาดอันหลังนี้ฮาสุด เพราะร้านนี้คงไม่ได้ขายแค่อาหารแต่คงรับดูลายมือ อ่านไพ่ยิปซีด้วย

จริงๆ แล้วร้านหมอมูดงเป็นร้านอาหารใต้แบบดั้งเดิม สาเหตุที่ใช้ชื่อร้านแบบนี้เพราะเจ้าของร้านชื่อหมอ และร้านตั้งอยู่ริมคลองมูดง คลองป่าชายเลน การเดินทางไปที่ร้านออกจะซอกแซกและลึกลับหน่อย ถ้าไม่ชำนาญเส้นทางอาจคิดว่ายังจะมีร้านอาหารอร่อยๆ ตั้งอยู่ในซอยนี้ด้วยหรือ ?

มาครับตามผมมา หากขับรถจากตัวเมืองภูเก็ตให้ใช้เส้นทางถนนเจ้าฟ้า ตรงไปทางไปสวนสัตว์ภูเก็ต ในระหว่างทางให้สังเกตด้านซ้ายมือ จะเห็นป้ายร้านอาหารหมอมูดงตั้งอยู่บริเวณสามแยกป่าหลาย เมื่อเห็นสามแยกแล้วให้เลี้ยวซ้ายและตรงไปจนสุดซอย จะพบร้านหมอมูดงตั้งติดกับคลองมูดง

บรรยากาศร้านเป็นแบบบ้านๆ เลยครับ เพราะสร้างเป็นศาลาไม้มุงจากหลายๆ หลังที่ยื่นตัวลงไปบริเวณป่าชายเลน แต่เนื่องจากระยะหลังมีจำนวนลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ทางร้านจึงมีซุ้ม และโต๊ะรับประทานอาหารที่ตั้งอยู่ด้านบนไว้รับรองลูกค้าอีกจำนวนหลายโต๊ะ

โชคดีวันที่ผมเดินทางไปถึงมีโต๊ะที่ตั้งอยู่ติดริมคลองป่าชายเลนเช็คบิลพอดี ผมจึงได้นั่งโต๊ะที่วิวดีแบบไม่ต้องจองคิวไว้ล่วงหน้าเหมือนโต๊ะอื่นๆ สักพักพนักงานรับออเดอร์ปะแป้งหน้าขาวเดินยิ้มเข้ามาถามว่า "ส่า อาราย ดีคะ" แหม...ฟังแล้วผมแทบไม่อยากถามรายละเอียดเกี่ยวกับอาหารเลยครับ เพราะน้องคงสื่อสารกับผมไม่ถนัดนัก

ผมเปิดเมนูอาหารดู อาหารมีหลากหลายและแยกตามประเภท แต่ผมเลือกสั่งอาหารเด็ดเมนูแนะนำอย่างปลายัดไส้ ต้มส้มสำเพ็ง ใบเหลียงผัดน้ำมัน แกงคั่วหอยขม และยำสาหร่ายสด พร้อมข้าวสวยร้อนๆ นึกแล้วก็น้ำลายไหลครับ ผมนั่งซึมซับบรรยากาศโดยรอบเพื่อรออาหาร แม้ร้านจะติดป่าชายเลนแต่วันที่ผมไปเป็นช่วงน้ำแห้งพอดี พื้นที่ด้านหน้าจึงมีแต่ดินเลนสีแล้งที่โดนแสงแดดแผดเผา

แต่ผมยังสังเกตเห็นสิ่งมีชีวิตจำนวนมากเคลื่อนไหวอยู่บริเวณหน้าผิวดิน จึงลุกและเข้าไปดูใกล้ๆ ปรากฏว่ามันคือกองทัพปูก้ามดาบที่วิ่งผุดเข้าผุดออกจากรูของมันอย่างสนุกสนาน คล้ายการเคลื่อนกำลังไปที่ไหนสักแห่ง เห็นแล้วเพลินดีครับ

ระหว่างนั้นพนักงานยกสัปปะรดและมะม่วงหั่นชิ้นพอคำพร้อมเกลือเคยมาเสิร์ฟให้เป็นของทานเล่น ผมลองจิ้มสัปปะรดกับเกลือเคย รสชาติเหมือนน้ำปลาหวาน เค็มๆ หวานๆ มีกลิ่นคาวเคยอ่อนๆ อร่อยไปอีกแบบ ไม่นานนักพนักงานเสิร์ฟก็ทยอยยกอาหารที่สั่งไว้มาวางบนโต๊ะ

จานแรกแกงหอยขม หน้าตาไม่เหมือนแกงหอยขมบ้านผมหรือภาคกลางเลยครับ เพราะลักษณะคล้ายผัดฉ่าที่น้ำแกงค่อนข้างข้นกว่า แต่กลิ่นหอมเตะปลายจมูกแบบนี้ต้องลองซะแล้ว เนื้อหอยขมนุ่มแต่หนึบๆ เวลาเคี้ยว รสชาติเผ็ดปานกลาง พอตักทานคู่กับใบชะพลูหั่นที่ผสมมาในเครื่องแกงยิ่งอร่อยและรู้สึกว่ามันช่างเข้ากัน

ส่วนปลายัดไส้ ที่กำลังวางลงตรงหน้า สีสันดูธรรมดา แต่เมนูนี้อร่อยจริง เพราะปลากรอบรสกลมกล่อมทั้งตัว ปลายัดไส้ทำมาจากปลาลังที่ถูกขูดเนื้อด้านในและเอาก้างออกจนเกลี้ยง ก่อนจะนำเนื้อปลาไปคลุกเคล้ากับเครื่องแกง เครื่องเทศ และปรุงรสจนได้ที่ แล้วนำส่วนที่คลุกเคล้านั้นยัดกลับเข้าไปในตัวปลาอีกครั้ง ก่อนจะนำไปทอดจนกรอบแบบทานได้ทั้งตัวตั้งแต่หัวจรดปลายหาง รสชาติปลายัดไส้จะออกเผ็ดเครื่องแกง แต่หอมเครื่องเทศ ทานคู่กับข้าวสวยร้อนๆ แหม...แทบไม่อยากหยุดเลยครับ


จานถัดไปผมขอแนะนำยำสาหร่ายทะเลสด ฟังดูธรรมดาใช่ไหมครับ แต่หน้าตาและรสชาติเทพมากครับ เพราะที่ร้านจะเสิร์ฟสาหร่ายทะเลแยกมากับถ้วยน้ำยำรสจัด สาหร่ายทะเลเป็นสาหร่ายที่มีลักษณะคล้ายสร้อยมุกสีเขียวเส้นเล็กที่มีปุ่มกลมจิ๋วจำนวนมากติดตามกิ่งก้านสาหร่าย

วิธีรับประทานคือ ตักสาหร่ายทะเลออกมาแล้วราดตามด้วยน้ำยำ พอเข้าปากเท่านั้นแหละครับ รสเปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ดเข้มข้นของน้ำยำจะเข้ากับความกรอบ และความสดของสาหร่ายพอดี ขณะเคี้ยวฟันที่กระทบกับปุ่มกลมๆ ของสาหร่าย จะทำให้ปุ่มนั้นแตกกรุบๆ ในปาก กลมกล่อมได้รสชาติแซบถึงใจ

ขณะที่ผมกำลังเพลินๆ กับยำสาหร่ายทะเลสด ผัดใบเหลียงอาหารจานถัดไปก็ถูกยกมาวางไว้ด้านข้างพอดี ใบเหลียงเป็นผักพื้นบ้านของทางภาคใต้ นำมาทำอาหารได้หลากหลาย ที่ร้านมีทั้งผัดใบเหลียงกับไข่และผัดใบเหลียงน้ำมัน รสชาติออกหวานเครื่องปรุงรสและได้ความมันของใบเหลียงเข้ากันดีครับ ยิ่งตักมาทานคู่กับปลายัดไส้ก็ได้สารอาหารครบพอดี ทั้งโปรตีนวิตามินและเกลือแร่ ไม่แปลกใจเลยที่เคยได้ยินว่า "ถ้าใครมาเที่ยวภาคใต้แล้วได้ทานผักเหลียง จะต้องหลงเสน่ห์ปักษ์ใต้แบบไม่รู้ลืม"


สุดท้ายต้มส้มสำเพ็ง ลักษณะสีของอาหารชามนี้ดูไม่น่าทานนัก เพราะสีน้ำแกงจะดำๆ ยิ่งผสมกับสีของใบสำเพ็งเขียวๆ แล้ว กลายเป็นแกงน้ำดำไปเลยครับ แต่เราอย่าดูอะไรจากหน้าตาเพียงอย่างเดียว เพราะรสชาติของมันอร่อยผิดกับหน้าตาเลยนะครับ ใบสำเพ็งเป็นผักพื้นบ้านที่ชาวบ้านนิยมเด็ดมาทำอาหาร

รสชาติต้มส้มสำเพ็งจะออกเปรี้ยวๆ หอมกะปิซึ่งเป็นส่วนผสมในน้ำแกง สำหรับบางคนที่ไม่นิยมทานผักอาจรู้สึกว่ารสของมันขื่นๆ คอหน่อย แต่หากทานพร้อมข้าวก็อร่อยไม่แพ้จานอื่น


มื้อนี้ผมเติมข้าวประมาณ 3 รอบ ทั้งๆ ที่ปกติเป็นคนทานน้อย อ่อ...ขนาดที่ว่าผมอิ่มๆ ตอนท้ายผมยังสั่งขนมหวานมาทานอีกถ้วยหนึ่งด้วยนะครับ ของหวานที่ร้านมีหลากหลายแต่จะเน้นขนมไทยทั้งลอดช่องแก้วน้ำอัญชัน สาคูเปียกมะพร้าวอ่อน กล้วยบวชชี


ขนมหวานที่ผมสั่งมาทานดับร้อนคือลูกตาลลอยแก้ว เนื้อลูกตาลอ่อนกำลังดี ไม่แข็งเหมือนตามร้านที่เคยซื้อมาทาน น้ำเชื่อมหอมหวาน ถือเป็นการปิดท้ายมื้อกลางวันที่มีความสุขสุดๆ ครับ โดยเฉพาะเมื่อคิดราคาค่าอาหารมาแล้ว ถือว่าสมเหตุสมผลกับปริมาณและรสชาติ เพราะมื้อนั้นผมจ่ายเงินไปประมาณ 700 กว่าบาทเท่านั้น

แบบนี้ต้องเรียกว่า "อิ่มจัง เสียสตางค์นิดหน่อย" ผมว่าสาเหตุที่ร้านหมอมูดงกลายเป็นร้านอาหารต้อนรับนักเดินทางในอันดับต้นๆ ของจังหวัดภูเก็ต นั่นเป็นเพราะรสชาติแบบต้นตำรับ กับเมนูอาหารที่หลากหลายไม่ซ้ำใคร แม้ร้านจะไม่ได้ตกแต่งสวยงาม แต่ด้วยรสชาติอร่อยเด็ด จึงทำให้ทุกคนต้องถามหาเมื่อมาเที่ยวภูเก็ต


สำหรับใครที่เคยมาเที่ยวภูเก็ตแล้วหาแต่ผัดหมี่หุ้น หมี่ฮกเกี้ยน ขนมจีนภูเก็ต บะหมี่ และสารพัดอาหารจานเส้นกิน อยากให้ลองเปลี่ยนบรรยากาศมาทานอาหารพื้นถิ่นที่ "ร้านหมอมูดง" รับรองชวนชิมไม่แพ้กัน รับประกันว่าจะติดใจ

ร้านหมอมูดง ซอยป่าหลาย ถนนเจ้าฟ้าตะวันออก ตำบลฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต โทร.076 282 302

Text : Suwimol

อัลบั้มภาพ 24 ภาพ

อัลบั้มภาพ 24 ภาพ ของ หรอยหนัด "หมอมูดง" สำรับพื้นบ้านภูเก็ต "หรอย" แบบไม่ง้อเชลล์มาชิม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook