เที่ยวตลาดมาปูโต ดูชีวิตชาวโมซัมบิก

เที่ยวตลาดมาปูโต ดูชีวิตชาวโมซัมบิก

เที่ยวตลาดมาปูโต ดูชีวิตชาวโมซัมบิก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เล่าเรื่องโดย อุศนา สุวรรณวงค์
ausana.th@gmail.com

โรงแรม Polona Serena ในย่านกลางเมืองมาปูโต ประเทศโมซัมบิก จะเป็นที่พักของเราระหว่างที่อยู่โมซัมบิกตลอด 4 วัน นอกจากโลเคชั่นที่นี่ยังใกล้ริมทะเลที่เป็นเขตแดนของมหาสมุทรอินเดียแล้ว ที่นี่ยังใกล้ "ตลาด" เพียงแค่เดินเท้าไม่ถึงอึดใจ

ตลาดคือขุมทรัพย์ของเมือง เป็นจุดโคจรของวิถีชีวิต เป็นหัวใจของการทำความรู้จักผู้คนและวัฒนธรรมของเมืองที่เราไปเยี่ยมเยือนได้อย่างดี

ห่างจากที่ตั้งโรงแรม เพียงแค่ถนนเส้นขนานกันบล็อกเดียว เราก็มายืนตรงหน้า "ตลาดศิลปหัตถกรรมเมืองมาปูโต"

ที่นี่ไม่ใช่ตลาดสดบ้านๆ อย่างที่วาดภาพไว้แต่อย่างใด พื้นที่กว้างขวาง มีรั้วรอบขอบชิด ทางเดินเข้าออกเป็นระเบียบ ดูสะอาดสะอ้าน บริเวณที่ตลาดจัดไว้ให้ผู้ขายงานศิลปะหัตถกรรมถูกจัดไว้เป็นล็อกๆ อย่างเป็นสัดส่วน มีร่มไม้และลานดินที่ตั้งของม้านั่งหลายชุด ไว้รองรับโซนอาหารการกิน

พี่นักการทูต ที่สามารถพูด อ่าน เขียนภาษาสเปนได้คล่องแคล่ว (มีเพียงไม่กี่คนกระทรวงการต่างประเทศที่เชี่ยวชาญภาษาสเปน) อ่านป้ายโครงการด้านหน้าตลาดให้ฟังว่า ตลาดศิลปหัตถกรรมแห่งนี้ ได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลสเปนและเปิดเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2553


สินค้าที่นี่ส่วนใหญ่เป็นของแฮนด์เมด งานจักสาน ภาพเขียนบนผ้าบาติก ผ้าทอ ที่เห็นมากที่สุด เป็นงานไม้ทั้งหลาย ที่มีตั้งแต่โต๊ะ เก้าอี้ ถาด จาน ชาม ทัพพี ช้อน กระทั่งหวี ก็ทำจากไม้

งานศิลปหัตถกรรมในตลาดแห่งนี้ ให้อารมณ์ไม่ต่างจากสินค้าในร้านขายของที่ระลึก Out Of Africa ในสนามบินที่เราพักเปลี่ยนเครื่องที่ประเทศแอฟริกา เว้นแต่ว่าที่นี่ไม่มีผืนหนังสัตว์ อย่างม้าลายและยีราฟให้เห็นนัก

ร้านขายของในตลาดแห่งนี้ ไม่ได้แน่นขนัดเต็มพื้นที่แผงให้เช่า เหมือนจะมีร้านมาเปิดเพียงแค่ครึ่งเดียว บรรดาพ่อค้า (ไม่ค่อยสังเกตเห็นผู้หญิงมาขายของนัก) ส่งภาษาสเปนใส่เราเท่าไหร่ ส่วนมากส่งเสียงทักว่า "หนี ฮ่าวๆ" พวกเขาคิดว่าเราเป็นคนจีน!

ความรู้จากนักการทูตที่นี่อีกเช่นกัน เล่าว่า แรงงานจีนมาที่โมซัมบิกจำนวนมาก เพราะรัฐบาลจีนเข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลโมซัมบิกหลายอย่าง ตอนนี้แรงงานจีนมาช่วยสร้างท่าเรือที่นี่ รัฐบาลจีนซื้อใจโมซัมบิกมาแล้วก่อนหน้าด้วยการสร้างทำเนียบรัฐบาลให้ และจีนก็ฉลาดพอที่จะสร้างเก๋งจีนบนยอดหลังคาทำเนียบโมซัมบิก!!!

ในเมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวชาวเอเชียให้ได้ประสบมากนัก จึงไม่น่าแปลกที่พ่อค้าที่นี่จะทักเรา"หนีฮ่าวๆๆ" กันทั้งตลาด

เมื่อเขารู้ว่าเราไม่ใช่จีน ก็รัวภาษาสเปนใส่แทน พ่อค้าผิวสีที่นี่ฟังภาษาอังกฤษเข้าใจ แต่ไม่ค่อยพูดนัก พวกเขาถนัดพูดภาษาสเปนมากกว่า พ่อค้าที่นี่นับว่าสุภาพ ไม่ตามตื๊อ ตามรังควานจนเกินเหตุ เมื่อบอกว่าไม่เอาเท่านั้นจบ ไม่มียืดเยื้อและถึงแม้ชาวผิวสีที่นี่จะมองพวกเราไม่กระพริบตา (คงไม่ค่อยเห็นคนเอเชีย) แต่ก็ไม่ได้มองด้วยความรู้สึกคุกคามแต่อย่างใด พวกเขายิ้มแย้ม อัธยาศัยดี แต่ไม่ชอบให้เราถ่ายรูปเท่านั้นเอง (เว้นแต่ว่า คุณซื้อของเขาแล้ว ถ่ายได้รัวๆ)

อากาศเดือนกรกฎาคมของที่นี่ถือว่าดีมากสำหรับชาวไทย ให้ลองนึกถึงลมหนาวเชียงใหม่ราวเดือนพฤศจิกายน นั่นคืออากาศของโมซัมบิก ณ เวลาที่เราเดินตลาดศิลปหัตถกรรมแห่งนี้ ตามใต้ต้นไม้ใหญ่ พ่อค้าจับกลุ่มนั่งคุย ดูดบุหรี่ หรือเล่นหมากฮอสเพลินๆ

ไม่ทันรู้สึกเหนื่อยหรือได้เหงื่อก็เดินสำรวจราคาจนทั่วตลาด ข้าวของสินค้าที่นี่ หากให้ราคากับของ "ทำมือ" ราคาถือว่าไม่แพงเลย หลายต่อหลายชิ้นมีเอกลักษณ์ น่าซื้อเป็นของฝากและเก็บไว้เป็นที่ระลึก ก็ใครกันจะมาโมซัมบิกบ่อยๆ

สำรวจเงินในกระเป๋าตัวเองพบว่า มีเงินโมซัมบิกที่ใช้ดอลลาร์สหรัฐฯ แลกมาตอนบินลงสนามบินที่นี่อยู่บ้างสกุลเงินที่นี่เรียกว่า"เมติกา" 1 เมติกา เท่ากับ 1 บาท โดย ณ เวลานั้น (เดือนกรกฎาคม 2556) เงินไทยมีค่ามากกว่าเล็กน้อย

กระเป๋าสะพายสานทำจากพืชท้องถิ่น (คนขายบอกชื่อมา แต่ฟังภาษาสเปนไม่กระดิกสักนิด) ที่แม้ว่าจะเหมือนกระเป๋าตามจัตุจักร แต่รูปทรงแปลกตา ราคา 300 บาท ขอต่อราคา แต่พ่อค้าเสนอว่า ให้เลือกกระเป๋าใส่เหรียญเข้าคู่กันไปเป็นของแถม (2 วันถัดมานายกฯ ยิ่งลักษณ์ มาเดินตลาดนี้ก็เลือกซื้อกระเป๋า 2-3 ใบกลับบ้านเป็นของฝากเช่นกัน แต่เป็นคนละแบบกับที่เราเลือก)

จากนั้น เดินดิ่งไปเลือกตัวต่อไม้ ที่ต่อกันออกมาแล้วเป็นรูปนก บางตัวคาบปลา บางตัวแหงนหน้าสูง ชิ้นนี้เก๋มากๆ ราคาพ่อค้าบอกตัวละ 300 บาท ซื้อ 3 ตัว ลดลงมาเหลือตัวละ 200 บาท ชิ้นนี้ไม่เคยเห็นที่ไหน ถือว่าถูกใจมาก และชิ้นนี้ก็เหมือนกัน 2 วันถัดมานายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็ซื้อตัวต่อนกนี้ติดมือกลับไปด้วย

นอกจากนี้ ยังได้ของฝากเป็นเสื้อยืดแผนที่ประเทศโมซัมบิก และแม็กเน็ตติดตู้เย็นที่สานเป็นรูปหญิงพื้นเมืองแบกของเทินหัว อีกแบบเป็นแม็กเน็ตทำจากไม้สีสันสดใส แกะเป็นรูปบ้านลักษณะคล้ายกระโจมของชาวพื้นเมือง สลักคำว่า "MAPUTO" แม็กเน็ตราคาตัวละเฉียด 100 บาท

สิ่งสุดท้ายที่มาซื้อจากตลาดนี้หลังจากมาเดินตลาดนี้ถึง 3 ครั้ง หรือพูดง่ายๆ ว่ามาทุกวัน 3 วันติด มาทุกโอกาสที่มี มาเพื่อต่อราคาผ้าเพ้นท์บาติกเหล่านี้ เพราะที่นี่อยู่ใกล้โรงแรมมากและเป็นย่านเมืองที่เดินมาได้อย่างปลอดภัย จึงขยันเดินมาต่อราคาของที่อยากได้ที่สุดคือ ภาพเขียนบนผ้าบาติกสีสันบาดตา

หลังจากเดินดูลวดลายแบบแอฟริกาๆ บนผืนผ้าบาติกอย่างถ้วนทั่วแล้ว เห็นว่า ส่วนใหญ่ลวดลายผืนผ้าเหล่านี้เป็นวิถีชีวิตชาวแอฟริกา ทั้งรูปหญิงสาวร่างสูงชะลูดเทินไหบนศรีษะ หรืออิริยาบททำงานบ้านต่างๆ รูปบ้านเรือน ธรรมชาติ ลวดลายสัตว์ป่า นกกาต่างๆ

ในที่สุดก็ตัดสินใจซื้อกลับบ้านผ้าบาติกเพ้นท์ที่แขวนขายอยู่เต็มราวริมรั้วตลาดแห่งนี้ เนื้อผ้าไม่เหมือนอย่างที่บ้านเราที่บางๆเบาๆ และสามารถสวมใส่ได้งานเพ้นท์บนผืนผ้าของที่นี่หนากว่า และลงเทียนด้วยอีกชั้น ผ้าเหล่านี้เหมาะกับการเข้ากรอบ แขวนอยู่บนผนังบ้านมากกว่า

ผืนที่ซื้อกลับบ้านเป็นรูปหญิงแก่เดินเรียงแถวกันเทินไหและข้าวของบนหัว ซึ่งไม่ค่อยเห็นนัก เพราะดูจากผลงานที่แขวนขายส่วนใหญ่แล้ว เหมือนว่าศิลปินชาวบ้านเหล่านี้มีแรงบันดาลใจเพ้นท์รูปร่างทรวดทรงของหญิงสาวเสียมากกว่า ราคาผืนละ 600 บาท ได้ผืนเล็กๆ แถมมาอีก 3 ผืน

มาโมซัมบิกคราวนี้ นอกจากได้เดิน "ตลาดศิลปหัตถกรรมเมืองมาปูโต" ที่มีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวมาใช้จ่าย ฉวยของฝากที่ระลึกกลับบ้าน ยังได้ไปเดินสำรวจตลาดสดของที่นี่

เดินทางด้วยรถราว 15 นาทีจากโรงแรม ก็มาถึง "ตลาดเทศบาลเมืองมาปูโต" มาถึงแค่หน้าตลาดก็เห็นความคึกคักของกิจกรรมการค้าขายของเมืองนี้ ที่นี่เป็นตลาดสดใหญ่สุดของเมืองหลวง หน้าตลาดแน่นขนัดไปด้วยรถส่วนตัว และรถโดยสาร ผู้คนคลาคล่ำ เข็นรับ-ส่งของขึ้นลงรถขวักไขว่ หน้าตลาดมีชายผิวดำ สวมเสื้อคลุมมีฮู้ดสีเขียว รอเรียกลูกค้า คอยช่วยคนมาช็อปปิ้งเข็น-ถือของในตลาด

หากเอาบรรทัดฐานตลาดสดเมืองไทยเป็นภาพที่สร้างไว้ในจินตนาการตลาดสดมาปูโตผิดจากที่คาดไปมากที่นี่สะอาดสะอ้านไม่มีน้ำเฉอะแฉะนองที่พื้นล็อกขายสินค้าจัดการอย่างเป็นระเบียบ มีทั้งส่วนที่เป็นตลาดกลางแจ้ง และตลาดด้านใน สินค้าด้านใน ส่วนมาเป็นผัก ผลไม้ อาหารทะเล เครื่องเทศทั้งหลาย เพราะมาปูโตเป็นเมืองท่า จึงมีอาหารทะเลอุดมสมบูรณ์ (ที่นี่ซีฟู้ดสดมาก) เดินสำรวจแล้ว เห็นว่า หากใครจะทำอาหารไทยที่นี่ไม่น่ายาก ทั้งผักสด เครื่องเทศ เห็นมีทั้งกระเทียม พริกสด พริกแห้ง และอีกหลายอย่างที่ครัวไทยต้องการ ราคาอาหารสดใกล้เคียงเมืองไทยมากๆ บางอย่างถูกกว่า บางอย่างก็แพงกว่า แต่ราคาไม่ต่างกันนัก

ส่วนตลาดกลางแจ้ง สินค้าส่วนใหญ่เป็นของใช้ในครัวเรือน น่าประหลาดใจว่า ที่นี่มีร้านขายเครื่องสำอางไม่น้อย และที่ต้องถึงกับตกใจ คนที่นี่ชอบวิกผม!

วิกผมตรง สั้น ยาว หยิกลอนเล็ก ลอนใหญ่ ผมแท้ ผมปลอม แขวนเรียงโชว์หน้าร้าน เห็นแล้วตกใจว่า หญิงสาวที่นี่รักวิกผมขนาดนี้เชียวหรือ สันนิษฐานเอาเองว่า หญิงสาวที่มีผมหยิกขอดติดหนังหัวเหล่านี้ คงอยากเปลี่ยนทรงผมบ้าง ประสาผู้หญิง แต่ละคนก็ควรมีไว้หลายๆ ทรง กันเบื่อ

ตลาดใหญ่แห่งนี้ มีของที่ระลึกเหมือนที่ตลาดศิลปหัตถกรรม แต่เป็นจำพวกของชิ้นเล็กๆ มีให้เลือกน้อย แต่ราคาถูกกว่าเกือบครึ่ง ดีเสียว่า ไม่มีภาพเพ้นท์บาติกแบบที่ตัดสินใจซื้อ เพราะหากราคาถูกกว่าคงต้องโทษตัวเองว่าทำไมไม่รู้จักใจเย็นอีกนิด

ระหว่างเดินดูผู้คน และข้าวของ รู้สึกเลยว่า มาปูโตเป็นเมืองหลวงที่ค่อนข้างเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว แม้ว่าเขาจะมองเราอยู่บ้าง (ก็คงเหมือนคนไทยที่ชอบมองฝรั่ง) แต่ก็ไม่เคยทำให้เรารู้สึกว่าถูกคุกคามทางสายตา ถ้ายิ้มให้ ส่วนใหญ่ยิ้มตอบอย่างเป็นมิตรด้วย

นักการ ทูตที่ร่วมทริปแชร์ความรู้ว่าพ่อค้ารายใหญ่ที่เข้ามายังโมซัมบิกส่วนมากเป็น ชาวเลบานิส และเข้ามาทำธุรกิจที่นี่เนินนานหลายชั่วคนแล้ว นอกจากนี้ ยังเจอพ่อค้าขายของที่ระลึกเป็นคุณลุงใจดีชาวอินเดียที่เล่าให้ฟังว่าเขาค้า ขายที่นี่มานานแล้ว และมาอยู่ที่นี่ได้ก็เพราะทำงานกับบริษัทเดินเรือเก่าแก่ บริษัทอีสต์ อินเดีย สุดท้ายก็ตัดสินใจตั้งรกรากที่นี่ คุณลุงเล่าว่า มีชาวอินเดียอยู่ที่นี่พอสมควร และส่วนใหญ่ก็มาทำธุรกิจการค้านี่ล่ะ (ถึงว่า ร้านอาหารกลางเมืองที่นี่ มีร้านอินเดียอยู่ด้วย)

สี่วันในมาปูโตช่างคุ้มค่า ยังมีเรื่องเล่าของคนไทยที่มาทำธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจขุดพลอย ที่เขาว่ากันว่า มันคือธุรกิจมืดของที่นี่!

จำได้ดีว่า เรื่องเล่าของพ่อค้าพลอยไทยในโมซัมบิก เป็นอีกเรื่องเล่าในชีวิตที่สนุกเหมือนได้ผจญภัยไปพร้อมคาราวานล่าพลอยในเหมืองพลอยมืดที่นี่ด้วยตัวเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook