ท่องเที่ยวสไตล์พิศาลชวนเที่ยวเมืองกาญจน์ แบบครบเครื่อง ครบรส

ท่องเที่ยวสไตล์พิศาลชวนเที่ยวเมืองกาญจน์ แบบครบเครื่อง ครบรส

ท่องเที่ยวสไตล์พิศาลชวนเที่ยวเมืองกาญจน์ แบบครบเครื่อง ครบรส
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กาญจนบุรี  เมืองครบเครื่องเรื่องท่องเที่ยว  นอกจากจะเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว กาญจนบุรีก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก หรือเป็นที่รู้จักแต่ไปค่อนข้างลำบากประเภท unseen อีกหลายแห่ง

ท่องเที่ยวสไตล์พิศาลชวนเที่ยว วัดสวย unseen เมืองกาญจน์ 2 แห่ง วัดถ้ำเสือและวัดถ้ำเขาน้อย ชวนแช่น้ำแร่ที่ พุร้อนหินดาด ที่ค้นพบโดยทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และขึ้นเขา 399 โค้งไปยังหมู่บ้านอีต่อง "เมืองในสายหมอก" ที่ตำบลปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ

เราออกจากกรุงเทพฯ เช้ากลางเดือนมีนาคม แวะทานข้าวแกงเจ้าอร่อย ร้านข้าวแกงแม่เสียนที่ปั๊มบางจากตรงนครชัยศรี หลังจากนั้นเราก็ขับรถไปวัดถ้ำเสือ อยู่ที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี วัดนี้อยู่ห่างจากเขื่อนแม่กลองประมาณ 5 กิโลเมตร โดยต้องขับรถผ่านเขื่อนแม่กลองไป แล้วขับรถตามป้ายวัดถ้ำเสือพิกัด N13*57.232'   E099*36.347'

พระพุทธรูปปางประทานพร "หลวงพ่อชินประทานพร"

จุดเด่นของวัดถ้ำเสือคือ พระพุทธรูปปางประทานพรที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดกาญจนบุรี องค์พระประดับด้วยโมเสกสีทองทั้งองค์ เด่นสง่าสวยงามอยู่บนเขา สามารถมองเห็นได้ในระยะไกล เดิมวัดนี้เป็นเพียงสำนักสงฆ์เล็กๆ ที่อยู่ในบริเวณถ้ำเสือด้านล่างริมเนินเขา ต่อมาได้แรงศรัทธาจากชาวบ้าน ร่วมกันสร้างและบูรณะ จนกลายเป็นวัดที่ใหญ่โต วิจิตรสวยงามมาก

เมื่อ 42 ปีที่แล้ว ใน ปีพ.ศ.2516 เริ่มสร้าง "หลวงพ่อชินประทานพร"  ขนาดสูง 9 วา 9 นิ้ว หน้าตัก 5 วา 3 ศอก 9 นิ้ว นับเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามมาก นั่งขัดสมาธิ ปางประทานพร มือขวายกขึ้นระดับอก นิ้วชี้และนิ้วโป้งจรดกัน หงายมือซ้ายวางบนตัก นิ้วชี้กับนิ้วโป้งจรดกัน รอบองค์พระมีเรือนแก้วครอบลักษณะเดียวกับพระพุทธชินราช

หลวงพ่อสิงห์เป็นพระธุดงค์ที่มาพบถ้ำเสือ และต่อมาหลวงปู่ชื่นเป็นผู้นำในการบูรณะวัดจนสวยงามเช่นทุกวันนี้ ศาลาด้านล่างติดกับบริเวณที่จอดรถ เป็นศาลาการเปรียญประดิษฐานสังขารหลวงปู่ชื่น ที่ไม่เน่าเปื่อยในโลงแก้ว

ใกล้ๆ กับองค์พระ "หลวงพ่อชินประทานพร" ก็มีพระอุโบสถอัฐมุขหรือ พระอุโบสถที่มีมุข 8 ด้าน เป็นสถาปัตยกรรมที่ไม่เหมือนที่ไหน เปรียบเหมือนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาออกไป 8 ทิศ  ผนัง 8 ด้านในพระอุโบสถประดับด้วยปูนปั้นเป็นเรื่องราวพุทธประวัติ

พระเจดีย์เกศแก้วปราสาท ทรงแปดเหลี่ยม สีส้มอิฐ สูง 75 เมตร มี 9 ชั้น ใช้เวลาก่อสร้าง 7 ปี ตรงกลางมีบันไดเวียนขึ้นไปถึงชั้นสูงสุด แต่ละชั้นมีหน้าต่างติดด้วยบานกระจกโดยรอบ และประดิษฐานพระพุทธรูปตามช่องหน้าต่าง เราสามารถเดินตามบันไดเวียนไปยังชั้นสูงสุดเพื่อนมัสการองค์พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเสด็จมาบรรจุไว้ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2533

หลังจากกราบนมัสการพระบรมสารีริกธาตุบนชั้น 9 แล้ว เราก็ไปที่หน้าต่างถ่ายรูปเก๋งจีน ของวัดถ้ำเขาน้อย ซึ่งตั้งตระหง่านสวยงามแปลกตาเคียงคู่กับ พระเจดีย์เกศแก้วปราสาทของวัดถ้ำเสือ

วัดถ้ำเขาน้อยเป็นวัดเก่าแก่ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2426  โดยมีหลวงปู่แห้ง (กั๊กเง้ง) เป็นพระจีน มาพำนักเป็นรูปแรก ต่อมาก็มีพระญวนเข้า มาปกครองดูแลวัดจนถึงปัจจุบันนี้ กรมศาสนาได้มาสำรวจและออกหนังสือรับรองวัดถ้ำเขาน้อย เป็นวัดฝ่ายอนัมนิกายโบราณอายุประมาณ 100 ปีเศษ

ก่อนจะไปถึงเก๋งจีนที่ตั้งสูงตระหง่านอยู่ด้านหลัง เราต้องเดินผ่าน พระศรีอริยเมตไตรย  ซึ่งเป็นพระประธานที่ตั้งอยู่ด้านหน้า ข้างๆ พระประธานก็เป็น เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี้ย เทพเจ้าแห่งโชคลาภ และมีพระพุทธรูป 18 พระอรหันต์

ถัดจากพระประธานมีบันไดขึ้นไปยังยอดเขา ระหว่างทางมีจุดพักเป็นระยะๆ และมีรูปปั้นเทพเจ้าต่างๆ ให้กราบไหว้ระหว่างทาง เมื่อขึ้นไปถึงยังด้านบนของยอดเขาวัดถ้ำเขาน้อย ก็จะเจอเก๋งจีน 7 ชั้น เปรียบได้กับสวรรค์ทั้ง 7

ด้านล่างสุดของเก๋งจีนประดิษฐานพระมหาโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เราก็เดินขึ้นบันไดไปเรื่อยๆ แต่ละชั้นก็จะประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆให้กราบไหว้ จนถึงชั้นสูงสุดคือชั้นที่ 7 ก็เป็นที่ประดิษฐานพระธาตุที่สมเด็จพระสังฆราชในนิกายจีนของวัดมังกรประธานให้   

นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะไปไหว้พระที่วัดถ้ำเสือ ส่วนที่วัดถ้ำเขาน้อยไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวมากนัก สาเหตุอาจจะเป็นเพราะว่า หลังจากเดินขึ้นบันได 9 ชั้น เพื่อไปกราบนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระเจดีย์เกศแก้วปราสาทที่วัดถ้ำเสือแล้ว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็จะเหนื่อย หมดแรง ไม่อยากจะไปขึ้นบันไดอีก 7 ชั้นที่ เก๋งจีน วัดถ้ำเขาน้อย

อยากจะแนะนำให้ไปเที่ยวที่วัดถ้ำเขาน้อยด้วย วิวบนเก๋งจีนสวยมาก เพราะมีระเบียงโดยรอบ เห็นวิวได้ 360 องศา ลมแรง อากาศเย็นสบาย

จากวัดถ้ำเสือที่อำเภอท่าม่วง เราก็ขับรถต่อไปที่อำเภอด่านมะขามเตี้ย ตำบลเกาะสำโรง กาญจนบุรี เพื่อไปดูต้นจามจุรียักษ์อายุกว่า 100 ปี ขนาด 10 คนโอบ พิกัด N13*57.318' E099*31.607' จามจุรียักษ์ต้นนี้สูง 20 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 51 เมตร

จากอำเภอด่านมะขามเตี้ย เราก็ขับรถไปยังอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างทางเห็นมีป้ายถ้ำกระแซ ก็เลยขับรถตามป้ายเข้าไปที่ถ้ำกระแซเพื่อดู ทางรถไฟเลียบหน้าผา พิกัด N 14.10647 E099.16483 ขนานไปกับแม่น้ำแคว ทางรถไฟช่วงนี้ยาวประมาณ 400 เมตร เป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุดของเส้นทางรถไฟสายมรณะ เราไปถึงเป็นช่วงที่รถไฟกำลังจะเข้าจอดที่สถานีพอดี

 ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟก็จะมีถ้ำเล็กๆ เรียกว่าถ้ำกระแซ ภายในถ้ำมีพระพุทธรูป "หลวงพ่อกระแซ" ที่ชาวบ้านแถบนี้ให้ความความนับถือเป็นอย่างมาก นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวที่นี่ ส่วนใหญ่จะเข้ามาไหว้ หลวงพ่อกระแซ ในถ้ำนี้เพื่อความเป็นสิริมงคล ให้แคล้วคลาดจากภัยอันตรายต่างๆ

หลังจากนั้นเราก็ขับรถไปนอนพักที่ โรงแรม Green World ที่อยู่เยื้องๆ กับ ทางเข้า น้ำพุร้อนหินดาด พิกัด N14.62533 E098.71628 โดยแวะทานอาหารเย็นที่ครัว สหรัฐ พิกัด N14.61538 E098.73080 ที่อยู่ก่อนถึงโรงแรมประมาณ 1 กิโลเมตร ร้านนี้ภรรยาเจ้าของร้านซึ่งเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านเป็นแม่ครัวทำกับข้าวเอง อาหารอร่อยใช้ได้และไม่แพง

วันรุ่งขึ้นเราก็ขับรถไปแช่น้ำแร่ที่น้ำพุร้อนหินดาด พิกัด N14.62528 E098.72456 ที่อยู่เยื้องๆ กับโรงแรมตั้งแต่เช้ามืด
 เล่ากันว่าผู้ที่ค้นพบน้ำพุร้อนแห่งนี้ เป็นทหารญี่ปุ่นที่มาคุมการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  เดิมทหารญี่ปุ่นขุดเป็นบ่อน้ำแร่เล็กๆ  2 บ่อ สำหรับนายทหาร 1 บ่อ และที่ไม่ใช่นายทหารอีก 1 บ่อ หลังจากสงครามสงบแล้ว ชาวหินดาดก็ได้ปรับปรุง ขยายบ่อน้ำแร่ให้กว้างและมากบ่อขึ้น แบ่งเป็นบ่อสำหรับเด็ก บ่อสำหรับพระภิกษุ และบ่อสำหรับบุคคลทั่วไป ชาวบ้านแถวนี้เข้ามาใช้บริการได้ฟรี นักท่องเที่ยวชาวไทยเสียค่าบริการคนละ 10 บาท นักท่องเที่ยวต่างชาติเสียค่าบริการคนละ 40 บาท

บ่อน้ำแร่สำหรับบุคคลทั่วไป ภาพถ่ายในยามเช้า

จุดเด่นของบ่อน้ำพุร้อนหินดาด น้ำแร่ที่นี่ไม่มีกลิ่นกำมะถัน อุณหภูมิของน้ำแร่จากใต้ดิน ร้อนพอดีแช่ ไม่ร้อนจัดจนต้องผสมน้ำเย็นก่อนแช่เหมือนที่อื่นๆ นอกจากนี้ บ่อน้ำแร่ที่นี่ยังสวยงาม มีความเป็นธรรมชาติมาก ปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ อยู่ติดลำธารน้ำตก ทำให้สามารถแช่น้ำแร่ร้อน สลับกับแช่น้ำเย็นจากลำธารน้ำตกได้สะดวก เป็นไปตามสูตรการแช่น้ำแร่ ที่จะต้องแช่น้ำแร่ร้อนสลับกับแช่น้ำเย็นเพื่อสุขภาพ

ลำธารน้ำเย็นจากน้ำตก ภาพถ่ายตอนเช้า น้ำแร่ร้อนจากใต้ดินจะผุดขึ้นมาจากใต้ดินล้นบ่อน้ำแร่(ที่อยู่ติดกับลำธารน้ำเย็น) ไหลลงลำธารน้ำเย็นตลอดเวลา

ในช่วงสายจะมีนักท่องเที่ยวรัสเซีย มาแช่น้ำแร่ที่นี่เป็นจำนวนมาก นักท่องเที่ยวเหล่านี้ บางส่วนเป็นทัวร์มาจากพัทยา บางส่วนก็มาเที่ยวกาญจนบุรีโดยตรงเพื่อมาแช่น้ำแร่ที่นี่ ส่วนใหญ่จะมาพักตามรีสอร์ทริมแม่น้ำแคว แล้วก็เที่ยวมาเรื่อยๆจนถึงที่นี่

นักท่องเที่ยวรัสเซียจะมาแช่น้ำแร่ช่วงสายๆ เป็นจำนวนมาก

แช่น้ำแร่เสร็จแล้วก็กลับที่พัก หลังจากทานอาหารเช้าที่โรงแรมเสร็จแล้ว เราก็เดินทางต่อไปยังหมู่บ้านอีต่อง ตำบลปิล๊อก ซึ่งอยู่บนเขาห่างจากตลาดทองผาภูมิ ประมาณ 70 กิโลเมตร ระยะทางแม้จะไม่ไกล แต่ถนนไปยังหมู่บ้านอีต่องเป็นทางขึ้นเขาคดเคี้ยวมาก มีถึง 399 โค้งและแคบมาก บางช่วงสวนทางกันแทบไม่ได้ ข้างทางเป็นเหวลึก บางช่วงถนนทรุด ชำรุด ขับรถไปต้องบีบแตรเตือนตลอดทางเมื่อถึงทางโค้ง เพราะมองไม่เห็นรถที่อาจจะสวนทางมา โชคดีที่มีรถไม่ค่อยมาก นานๆจึงจะมีรถสวนทางมา เราใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่งก็ขับรถไปถึงหมู่บ้านอีต่อง ที่อยู่ที่ตำบลปิล๊อก พิกัดN14.67840 E98.36792

ตลาดอีต่อง ในช่วงวันเสาร์ อาทิตย์ จะเป็นถนนคนเดิน ห้ามรถเข้า ส่วนใหญ่จะจอดรถที่ปากทางเข้า แล้วเดินเข้าไป เพราะถนนแคบมาก กลับรถไม่ได้

ไปรษณีย์ปิล๊อกเปิดให้บริการที่นี่

ถนนในตลาดอีต่องยาวเพียง ประมาณ 100 เมตรเมตร มีร้านอาหาร 3 ร้าน ร้านขายของที่ระลึก 2-3 ร้าน ร้านกาแฟสด ไปรษณีย์ ร้านขายของชำ 1-2 ร้าน และมีโฮมสเตย์อีก 4-5 แห่ง

ร้านขายของที่ระลึก ตกแต่งร้านได้น่ารักดี

หมู่บ้านอีต่องเดิมเคยเป็นหมู่บ้านที่รุ่งเรืองมาก โดยเฉพาะในช่วงที่แร่ดีบุก และวุลแฟรมมีราคาดี ที่นี่จะมีเหมืองแร่อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ที่โด่งดังที่สุดก็เป็น เหมืองปิล๊อก ขององค์การเหมืองแร่ กรมโลหกิจ ที่เปิดขึ้นเป็นแห่งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2483 หลังจากนั้นก็มีเหมืองแร่อื่นๆ ทยอยเปิดตามกันมาอีกมากมาย ทั้งเหมืองเล็กเหมืองใหญ่ประมาณ 50-60 เหมือง

เหมืองแร่ในยุคนั้นเฟื่องฟูมาก เพราะแร่ราคาดี ทำให้บรรดาชาวเหมืองและนักแสวงโชคมั่งคั่งกันถ้วนหน้า สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่หมู่บ้านอีต่องเป็นอย่างมาก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 ราคาแร่ตกต่ำไปทั่วโลก เหมืองแร่ต่างก็ขาดทุนเป็นจำนวนมาก และทยอยปิดตัวไปจนหมด ทิ้งไว้เพียงตำนานเมืองเหมืองอันรุ่งโรจน์ในอดีต

ในปัจจุบัน ความเงียบเหงา เรียบง่ายของหมู่บ้านอีต่อง มีเสน่ห์แฝงอยู่ ไม่ว่าจะเป็น สภาพเรือนไม้ที่พักรูปร่างแปลกตา ย่านร้านตลาด โรงหนังเก่า ห้องแถวเรือนไม้ สายน้ำและสายหมอกยามเช้า วิถีชีวิตของคนที่นี่ทั้ง พม่า มอญ ทวาย ส่วนใหญ่คนพวกนี้เป็นคนงานเหมือง หรือลูก หลานของคนงานเหมืองในอดีต

บ้านพักสร้างใหม่ใกล้เหมืองปิล๊อกที่เลิกกิจการไปแล้ว

หลังจากเดินเที่ยวที่ตลาดอีต่องเสร็จแล้ว เราก็ขับรถขึ้นเขาต่อไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตรไปยังช่องทางมิตรภาพ

เลยไม้กั้นออกไปก็จะเป็นฝั่งพม่า ทหารพม่าจะขับรถผ่านช่องทางนี้เข้ามาซื้อ ข้าวของที่จำเป็นที่หมู่บ้านอีต่อง กลับไปใช้ ที่ฝั่งพม่า เดินผ่านไม้กั้นออกไปก็จะเจอด่านฝั่งพม่า มองเห็นโรงแยกก๊าซธรรมชาติตั้งอยู่ฝั่งพม่า ช่องว่างระหว่างเขาตรงนี้ จะมีลมพัดเย็นมาก

จากนั้นเราก็ขับรถไปที่เนินเสาธงที่อยู่ไม่ไกลจากช่องทางมิตรภาพ บนยอดเขานี้มีทั้งธงไทยและธงพม่าปักอยู่ ยอดเขานี้กั้นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า

แนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากฝั่งพม่ามาเชื่อมต่อกับทางไทยที่นี่

วิวฝั่งพม่ามองลงมาจากเนินเสาธง




อัลบั้มภาพ 20 ภาพ

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ ของ ท่องเที่ยวสไตล์พิศาลชวนเที่ยวเมืองกาญจน์ แบบครบเครื่อง ครบรส

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook