ไหว้พระทำบุญ ๙ วัด รอบกรุง แบบชิวๆ (ภาคจบ)

ไหว้พระทำบุญ ๙ วัด รอบกรุง แบบชิวๆ (ภาคจบ)

ไหว้พระทำบุญ ๙ วัด รอบกรุง แบบชิวๆ (ภาคจบ)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความเดิมตอนที่แล้ว “สวัสดี ครับ วันนี้ผมนาย comzine จะพาเพื่อนๆ ไปไหว้พระรอบกรุงกัน รับรองครบ ๙ วัด ใน ๑ วันแน่นอน ทั้งเพื่อเป็นสิริมงคล แก้เคล็ด หรือเพื่อนัดไปออกเดท จัดไปครับ” มาต่อกันเลยครับกับภาคจบ (ใครยังไม่อ่านภาคแรก กดที่นี่)

๖.วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

หรืออีกชื่อ วัดโพธิ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร และเป็นวัดประจำรัชกาลในรัชกาลที่ 1 ทั้งยังเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศด้วย เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง และทางยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาส ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ก่ออิฐ ถือปูน ปิดทองทั่วทั้งองค์ และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ โดยมีลักษณะพิเศษ ได้แก่ พระบาทซ้ายและขวาซ้อนเสมอกัน โดยที่พระบาทประดับมุกภาพมงคล 108 ประการ ตรงกลางเป็นรูปจักรตามตำรามหาปุริสลักขณะ โดยลวดลายของมงคล 108 ประการนั้น เป็นการผสมผสานกันระหว่างคติความเชื่อที่รับมาจากชมพูทวีปและจีน

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร – วัดโพธิ์

จุดที่น่าสนใจคือ พระนอน รูปปั้นฤาษีดัดตน และพระเจดีย์รอบๆ วัด

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร – วัดโพธิ์

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร – วัดโพธิ์

 

๗.วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร

วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร (วัดกัลยา) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ได้อุทิศบ้านและซื้อที่ดินข้างเคียงเพิ่มเติม สร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๘ แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระราชทานนามว่า วัดกัลยาณมิตร และทรงสร้างพระราชทานทั้งพระวิหารหลวงและพระประธานสำหรับพระวิหารหลวง คือ หลวงพ่อโตหรือพระพุทธไตรรัตนนายก โดยทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นพระพุทธรูปใหญ่อยู่ริมแม่น้ำแบบเดียวกันกับที่ วัดพนัญเชิง กรุงเก่า หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงโดยเฉพาะในหมู่ชาวจีน เรียกชื่อแบบจีนว่า ซำปอฮุดกง หรือ ซำปอกง ภายในพระอุโบสถซึ่งมีขนาดเล็กกว่าพระวิหาร มีจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง พุทธประวัติที่แทรกเรื่องราวชีวิตชาวบ้านชาวเมืองสมัยรัชกาลที่ ๓ ช่วงปีใหม่

ผมมักจะไปไหว้พระ ขอพรจากซำปอกง และขอยันต์จากวัดนี้ เพื่อเป็นสิริมงคล

วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร – ซำปอกง

วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร – ซำปอกง

วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร – ซำปอกง

 

๘.วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเรียกว่า “วัดมะกอก” ตามชื่อตำบลบางมะกอกซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งวัด ภายหลังเปลี่ยนเป็น “วัดมะกอกนอก” เพราะมีวัดสร้างขึ้นใหม่ในตำบลเดียวกันแต่ อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอกใหญ่ชื่อ “วัดมะกอกใน” ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๑๐ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานีมาตั้ง ณ กรุงธนบุรีจึงเสด็จกรีฑาทัพล่องลงมาทางชลมารคถึงหน้าวัดมะกอกนอกนี้เมื่อ เวลารุ่งอรุณพอดี จึงทรงเปลี่ยนชื่อวัดมะกอกนอกเป็น “วัดแจ้ง” เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งนิมิตที่ได้เสด็จมาถึงวัด นี้เมื่อเวลาอรุณรุ่ง ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ พระองค์ทรงดำเนินการปฏิสังขรณ์ต่อจนเสร็จ ทั้งได้ทรงปั้นหุ่นพระพุทธรูปด้วยฝีพระหัตถ์ และโปรดให้หล่อขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธาน ในพระอุโบสถ และโปรดให้มีมหรสพสมโภชฉลองวัดในปี พ.ศ. ๒๓๖๓ แล้วโปรดพระราชทาน พระนามวัดว่า “วัดอรุณราชธาราม”

วัดนี้มาถึงตอนเริ่มเย็นแล้ว มีเวลาเดินเล่นรอบพระปรางค์ จากนั้นก็ปีนป่ายขึ้นไปชมวิว ขอบอกว่าสูงชันมาก ต้องก้าวเท้าดีๆ ไม่งั้นมีหล่น

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร – วัดแจ้ง

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร – วัดแจ้ง

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร – วัดแจ้ง

 

๙.วัดระฆังโฆสิตาราม

วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดบางว้าใหญ่ (หรือบางหว้าใหญ่) ในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างพระราชวังใกล้วัดบางว้าใหญ่ โปรดเกล้าฯ ให้ยกเป็นพระอารามหลวงและเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช วัดบางว้าใหญ่อยู่ในพระอุปถัมภ์ของเจ้านายวังหลัง คือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี (สา) พระเชษฐภคินีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและเป็นพระชนนี ของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ทรงมีตำหนักที่ประทับอยู่ติดกับวัด ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดร่วมกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่ง ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงสร้างระฆังชดเชยให้วัดบางว้าใหญ่ 5 ลูก จากนั้นได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดระฆังโฆสิตาราม”

ภายในโบสถ์มีพระประธานยิ้มรับฟ้า ประดิษฐานอยู่ ด้านนอกมีต้นโพธิ์ลังกา หอพระไตรปิฎก วิหารสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ไหว้พระวัดนี้มีคติว่า “ไหว้พระวัดระฆัง มีคนนิยมชมชื่น มีชื่อเสียงโด่งดังตลอดปี”

วัดระฆังโฆสิตาราม

วัดระฆังโฆสิตาราม

วัดระฆังโฆสิตาราม

by comzine นายเตร็ดเตร่ 

ขอบคุณแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

http://th.wikipedia.org

http://www.wattraimitr-withayaram.com

http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watratchanadaram.php

http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watsaket.php

http://www.watsuthat.thai2learn.com/

http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watprasiratana.php

http://www.watpho.com/th/home/

http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watkalayanamit.php

http://www.watarun.org/index.html

http://www.watrakang.com

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ ไหว้พระทำบุญ ๙ วัด รอบกรุง แบบชิวๆ (ภาคจบ)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook