Trip ไต้หวัน กับมุมมองสวยๆ ของคนรักการปั่นจักรยาน
วันนี้ Sanook! Travel เอาใจคนรักไต้หวัน และหลงรักการปั่นจักรยานโดยเฉพาะเลยค่ะ.. ซึ่งทริปนี้เราขอตามรอยล้อจักรยานของคุณ Friskybike แห่งบ้านพันทิป ที่จะเป็นผู้นำทางของพวกเราไปเที่ยวประเทศไต้หวัน ประเทศเล็กๆ ที่มีดีกว่าที่คิดเยอะเลย..
"บางสิ่งเมื่อเราคิดแล้วก็ต้องลงมือทำ ไม่เช่นนั้นแล้วคุณอาจไม่ได้ทำเช่นนั้นอีกเลยไปตลอดชีวิต”
เนื่องจากมีโอกาสไปไต้หวันเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นเวลา 12 วัน จึงอยากจะมาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง แบบสบายๆ ไม่เน้นวิชาการ ในมุมมองของคนชอบปั่นจักรยาน ฟังกันสนุกๆ และ เป็นกระทู้รีวิวท่องเที่ยว กระทู้แรกของผมเช่นกัน
เดิมไม่เคยคิดอยากไปมาก่อน แต่หลังจากไปแล้ว รู้สึกว่าเป็นประเทศที่น่ารัก น่าอยู่มากที่สุดเท่าที่เคยไปเที่ยวมา ช่วงนี้มีหลายสายการบิน ออกโปรโมชั่นราคาไม่แพง ก็อยากจะชวนเพื่อนๆไปเที่ยวกันครับ
เริ่มจากมาทำความรู้จักกับประเทศไต้หวันกันก่อนแล้วกัน
ไต้หวัน : Republic of China เป็นเกาะขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายเมล็ดข้าว วางตัวแนวตั้ง ระยะทางจากเหนือจรดใต้ ประมาณ 350 กิโลเมตร ความกว้างประมาณ 100 กิโลเมตร มีภูเขาสูงยาวกลางเกาะ ที่ราบทางฝั่งตะวันตกจะกว้างกว่าทางตะวันออก ซึ่งเมืองสำคัญๆ เช่น ไทเป เกาสง ไทจง จะอยู่ทางฝั่งตะวันตกนี้ เพราะได้รับอิทธิพลมรสุมน้อยกว่า แต่ภูมิประเทศทางฝั่งตะวันออก จะมีทัศนียภาพสวยงามสำหรับนักปั่นมากกว่า
ภูมิอากาศที่ไต้หวันเป็นแบบอบอุ่น (คนไทยไปจะบอกหนาว) หน้าหนาวคือปลายปีมีอุณหภูมิ ราวๆ 10 องศาเซลเซียส ส่วนหน้าร้อนช่วงกรกฏาคมก็อาจจะมี 35-40 องศา แต่เจออากาศเมืองไทยก็แพ้หลุยลุ่ย ที่นี่มียอดเขาสูงเกิน 3000เมตรจากระดับน้ำทะเลอยู่หลายยอด ซึ่งจะมีหิมะปกคลุมในหน้าหนาว คนไต้หวันชอบเดินป่า ชมนกชมไม้ รักธรรมชาติ อากาศก็บริสุทธิ์จริงๆ หายใจเต็มปอด
ผมก็คิดแบบไทยไทย ว่าจะไปเดินดูอะไรนักหนาในป่า มาแล้วจึงถึงบางอ้อ เพราะเขามีเส้นทางศึกษาธรรมชาติเยอะแยะ การบริหารจัดการดีมาก แม้แต่เด็ก คนแก่ ก็ยังมาเดินได้ มีบันได ราวกั้นช่วงที่อาจอันตราย ทางโรยหินกรวด ทำพื้นผิววัสดุ หรือ บั้งไม้กันลื่น เรียกได้ว่า แม้แต่เส้นทางที่ดีที่สุดในไทย ก็ยังไม่ได้ครึ่งของที่ไต้หวัน
คนไต้หวัน : ปัจจุบันมีประชากรประมาณ 25ล้านคน อย่างที่รู้ๆกันว่า คนไต้หวันก็คือคนจีนที่นายพล เจียงไคเช็ค พาหนีคอมมิวนิสต์ ในสงครามกลางเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มาตั้งถิ่นฐานบนเกาะ หวังจะใช้เป็นฐานที่มั่นเพื่อจะกลับไปทวงคืนแผ่นดินใหญ่กลับมา แต่เวลาผ่านไป จีนคอมมิวนิสต์กลับแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ช่วงแรกต่างฝ่ายต่างอ้างความชอบธรรมในการปกครองแผ่นดินจีนโดยยึดหลักจีนเดียว
แต่ด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจของแผ่นดินใหญ่ ทำให้ปัจจุบันมีประเทศที่รับรองสถานะของไต้หวัน เหลือเพียง 25ประเทศ (ส่วนใหญ่เป็นประเทศเล็กๆ ไม่มีพาวเวอร์อะไร ยกเว้นรัฐวาติกัน) ทางปฏิบัติเสมือนเป็นอีกประเทศหนึ่ง มีรัฐธรรมนูญของตัวเอง มีทุกอย่างที่ประเทศหนึ่งๆพึงจะมี คนไต้หวันมีพาสปอร์ตของตัวเอง แต่ถ้าจะประกาศแยกประเทศเมื่อไร จีนบอกเป็นเรื่องแน่ ยังเป็นปมเล็กๆในใจคนไต้หวันเสมอมา แต่ความสัมพันธ์ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ อนาคตข้างหน้ายังไงก็คงกลับรวมกันในที่สุด
นอกจากคนจีนที่อพยพตามนายพลเจียงไคเช็คมาแล้ว ยังมีชาวไต้หวันพื้นเมือง เรียกว่าชาว "อะบอริจิน" ฟังดูคุ้นๆใหม ถึงจะเรียกอะบอริจินเหมือนกัน แต่ก็คนละเผ่าที่ประเทศออสเตรเลีย แต่ที่ไต้หวันจะใกล้ชิดกับพวกเมารี พวกโพลีนีเชียนมากกว่า พวกนี้หน้าตาจะไม่เหมือนคนจีนฮั่นเลย บางคนว่าหน้าตาประมาณชาวเกาะ คือตาโตสองชั้น จมูกโด่ง แต่ปัจจุบันก็มีการแต่งงานข้ามกัน รวมถึงจีนอื่นๆที่อพยพมาจากหลายๆที่ ทำให้คนไต้หวันมีหน้าตาที่หลากหลายกว่าจีนแผ่นดินใหญ่ โพลหลายสำนักเห็นตรงกันว่า ชายหญิงไต้หวันหน้าตาดีสุดในเอเชีย ว่างั้นเถอะ
ไต้หวันเป็นประเทศที่ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวไปเยือนสักเท่าไร อาจจะเป็นเพราะมัน"ไม่สุด"กระมัง ที่นี่ไม่มีสิ่งปลูกสร้างเป็นหลายร้อย หลายพันปี สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติไม่อลังการเท่าที่อื่น วัฒนธรรมจะผสมผสาน ประมาณว่าคล้ายกับญี่ปุ่น ในเวอร์ชันจีนเพราะเคยเป็นอาณานิคมญี่ปุ่นอยู่หลายสิบปี แล้วก็มาซี้กับอเมริกาทีหลัง จึงมีความเอาจริงเอาจังมุ่งมั่น มีวินัยแบบญี่ปุ่น แต่สบายๆแบบจีน ทันสมัย เป็นทุนนิยมแบบอเมริกา
คนไทยไปไต้หวัน : ยังต้องขอวีซ่านะครับ ราคา 1,500 บาท สำหรับการเข้าออกครั้งเดียว และ 3,000 บาท สำหรับวีซ่าแบบเข้าออกได้หลายครั้ง แต่กระนั้นก็ไม่ได้ยุ่งยาก หรือ เข้มงวดมากนัก เน้นเอกสารครบ ให้เอเจนซี่ขอให้ก็ได้ เสียค่าธรรมเนียมเพิ่มอีกหน่อย สถานฑูต หรืออีกชื่อคือ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป อยู่ชั้นที่ 20 อาคาร Empire ถนนสาธรครับ
และถ้าใครมีวีซ่าเชงเก้น วีซ่าอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ที่ยังไม่หมดอายุ ก็ไปลงทะเบียนในเว็บสถานฑูตไต้หวัน แล้วไปได้เลยไม่ต้องขอวีซ่าอีก
ก้าวแรกในไต้หวัน : แน่นอนว่าคือ สนามบินนานาชาติเถาหยวน (เดิมชื่อสนามบินนานาชาติเจียงไคเช็ค) แอบคิดนะว่ามันเล็กจัง เล็กกว่าดอนเมืองอีก (เป็นเหตุที่ทำให้ ไฟลท์ไต้หวันดีเลย์บ่อยๆ) เดินออกจากเครื่อง ผ่านงวงช้างมานิดเดียวถึง ตม.แล้ว ผ่านด่าน ตม. ใครโหลดกระเป๋าก็รอรับจากสายพาน ผมคนเบี้ยหอยน้อย มีแค่เป้สะพายหลังใบเดียวเที่ยวทั่วโลก จึงเดินตัวปลิวผ่านศุลกากร ออกมาลงชั้นล่าง ซื้อตั๋วรถบัสเข้าไทเป นั่งรถประมาณชั่วโมงกว่าๆ เพราะว่าสนามบินอยู่คนละจังหวัดกัน
แท็กซี่ : รอเชือดนักท่องเที่ยว แบบเมืองไทยก็มีเหมือนกัน รออยู่ตรงแถวเคาเตอร์ขายตั๋วรถเข้าเมืองนั่นแหละ เพราะว่านั่งไฟล์ทค่ำ จึงถึงดึก เวลาตีสองแล้ว ช่องขายตั๋วปิดหมดแล้ว พี่แกบอกไม่มีรถเข้าเมืองแล้ว รอหลายชั่วโมงนะเช้าเลย ไปแท๊กซี่เหมา 600เหรียญใหม (ค่าเงินไต้หวันหน่วยเท่ากันกับเงินบาทเลย) ฮิฮิ ไม่ได้กินผมหรอก ผมเช็คข้อมูลมาแล้ว พอดีเจอวัยรุ่นไต้หวันหน้าช่องขายตั๋วรอรถเที่ยวเดียวกัน เค้าเลยช่วยจัดการพาไปซื้อตั๋วจากเครื่องอัตโนมัติให้ แค่ 125เหรียญ ขอบคุณมา ณ ที่นี้อีกทีจ้า
ส่วนแท็กซี่ทั่วๆไปในเมือง จะมีสีเดียวคือ สีเหลือง มีหลายขนาด แต่ที่เจอเยอะคือทรงคล้ายๆรถแวนนั่งได้หลายๆคน โบกเรียกตามข้างทางได้เหมือนกัน ไม่มีปัญหาจุกจิกแบบส่งรถ เติมแก๊ส แต่ผมไม่ได้ใช้บริการในครั้งนี้
บนรถบัสกลางคืนไม่มีวิวอะไรให้ดู นั่งหลับในรถไปจนถึงไทเป พอถึงไทเป ก็มึนอีกละ เป็นบ้านนอกเข้ากรุง ที่นี่ที่ไหนเนี่ย! ก็ได้หนุ่มสาวคู่เดิม พาไปชี้เป้า ตึกที่เราจะต้องไปต่อรถไปเมือง อี้หลาน Yilan เพื่อไปบ้านแฟนเรา (ผู้อ่านรู้จนได้ว่าไม่โสดแล้ว) ก็ได้รถเที่ยวแรกตอนตีสี่ครึ่ง ไปถึงอี้หลานเช้าพอดี
เมือง Yilan นี้มีชื่อเสียงในเรื่องธรรมชาติ และน้ำพุร้อน มีทั้งบ่อธรรมชาติในเขตภูเขา ซึ่งที่ผมไปมาจะอยู่ข้างลำธาร บรรยากาศดีมาก กับอีกแบบเป็นห้องอาบน้ำรวมแบบออนเซ็นเหมือนญี่ปุ่น
ตึกที่รอรถนี้ คือ Taipei main station ที่ชื่อนี้เพราะว่าตึกนี้เป็นจุดรวมของทั้งรถบัส รถไฟใต้ดิน รถไฟความเร็วสูง ไปเมืองต่างๆในไต้หวัน แบ่งกันตามชั้นต่างๆไป
เล่ามาถึงตรงนี้ ยังไม่มีอะไรเกี่ยวกับจักรยานสักที ใจเย็นๆน้า เกริ่นเรื่องทั่วไปก่อน เอาละ พอเรามาถึงเมือง อี้หลานตอนเช้ามาก ที่สถานีขนส่งหลักของเมือง พยายามสอบถามหารถโดยสารอีกต่อเพื่อออกไปเขตชานเมือง เจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือดีมาก พาเดินออกมาชี้ให้ดูป้ายรถเมล์ ว่ารอรถสายนี้ตรงนี้แหละ เจ็ดโมงรถเมล์มา
เจ็ดโมงเป๊ะ รถเมล์มาจอดป้ายจริงๆด้วย คือที่ไต้หวัน รถเมล์สายที่คนใช้บริการไม่มาก มักจะออกตามเวลา และทุกๆป้ายที่จอด เค้าจะแปะข้อมูลไว้ด้วยว่าป้ายนี้ รถสายไหนจอดบ้าง มาถึงกี่โมง และ บนรถเมล์จะมีปุ่ม เหนือศีรษะ หรือ ที่เสา ทั่วรถเลย ไม่ต้องเดินไปกด ทุกคนสามารถกดออดได้ถึง จากทุกที่นั่ง เสียอย่างเดียวคือป้ายส่วนใหญ่เป็นภาษาจีน ต้องเดาเอา ยังดีที่ตัวเลขยังเป็นอารบิก
รถเมล์ในไต้หวัน มีแต่รถแอร์นะ และ ไม่มีกระเป๋ารถเมล์นะครับ จ้างคนขับคนเดียวทั้งขับรถ เก็บเงิน และดูแลสัมภาระในช่องเก็บข้างรถ กรณีรถวิ่งระหว่างเมือง ที่นี่เค้ามีปุ่ม ให้คนขับกดเปิดฝาช่องเก็บของด้านข้างได้จากในรถนะครับ ง่อออออว! นอกจากนี้ในรถเมล์ยังมีป้ายตัวหนังสือวิ่ง บอกว่าป้ายถัดไปคืออะไร พร้อมมีเสียงพูดทั้งจีน และ อังกฤษ คล้ายรถไฟฟ้าบ้านเรา
แล้วจ่ายตังค่ารถเมล์ยังไง? : คล้ายกับที่ฮ่องกง ตรงที่มีกล่องใสข้างคนขับ ให้เตรียมเหรียญหยอดให้พอดี ไม่พอดีก็ไม่มีทอนให้หรอกนะ คนขับก็จะให้ตั๋วกระดาษเล็กๆเรามา แล้วเวลาลงจากรถก็ต้องเอาไปคืนคนขับด้วยนะ เก็บไปทำไมไม่ได้ถาม เป็นทุกที่เลย
หรืออีกแบบหนึ่ง เป็นที่นิยมมากกว่า คือ บัตร Easy card เป็นบัตรครอบจักรวาล ลักษณะคล้ายของรถไฟฟ้าบ้านเรา ที่เอาไปแปะที่เครื่องอ่านข้างคนขับ แล้วตัดเงินจากบัตรได้ สามารถเติมเงินเข้าบัตรที่ตู้ตามสถานีรถไฟ หรือที่ร้าน Family mart หรือ 7-Eleven อ้าว ชื่อคุ้นๆใช่ใหม มันก็ร้านสะดวกซื้อแบบเดียวกับที่ไทยนี่แหละ แต่ไม่เหมือนเสียทีเดียว เดี๋ยวเล่าให้ฟัง
การใช้บัตร Easy card กับรถเมล์ มีสองแบบ ถ้าตั๋วราคาเดียวก็จะแปะบัตรตอนลง ส่วนถ้าราคาตามระยะทางก็ต้องแปะทั้งขึ้นทั้งลง ส่วนใหญ่ในไทเปมักจะแปะบัตรทีเดียวตอนลง คนขับที่นี่ขับสุภาพ บางทีมีแอบเร็ว แต่ให้เทียบแล้ว สาย8ที่กรุงเทพชนะเลิศ! รถที่นี่จอดตรงป้าย ขึ้นลงนั่งเรียบร้อยค่อยออกรถ นั่งสบายใจ ชิล ชิล...
เนื่องด้วยบ้านคุณแฟนอยู่ชานเมือง (เรียกว่าชนบทก็ได้) รถเมล์จึงวิ่งผ่านสถานที่ต่างๆ ให้เราตื่นตาตื่นใจ เช่น ตลาด ย่านร้านค้า ชุมชน โรงเรียนไฮสคูล ยิ้ม มหาลัย ยิ้ม ห้าง สนามเด็กเล่น สถานีรถไฟ วิวข้างทางล้วนสบายตา หาขยะเกลื่อนกราดตามพื้นไม่มี คนที่นี่นิยมใช้สกูตเตอร์เล็กๆ คล้ายๆพวกฟีโน่บ้านเรา ถึงขนาดที่ว่า ความฝันของเด็กวัยรุ่นไต้หวันส่วนใหญ่ คือการมีสกูตเตอร์สักคัน มอเตอร์ไซต์ใหญ่นานๆจะเห็นสักที รถยนต์ก็ไม่หนาแน่น มีตั้งแต่ รถเก๋ง รถบรรทุกเล็ก-ใหญ่ รถบัสนักท่องเที่ยว(จีน) รถตู้เล็กๆ แต่ที่ไม่เคยเห็นเลย ตลอดระยะเวลา 12วัน คือ รถกระบะ!!! (คราวหน้าจะไปสืบว่าทำไมไม่ใช้รถกระบะแบบบ้านเราบ้าง)
สกูตเตอร์ที่นี่กว่าครึ่ง มีกระบังหน้า สูงขึ้นมาระดับหัวคนขับเลย แล้วก็มักจะมีที่ปัดน้ำฝนด้วยนะ น่ารักดี
รถไฟ : ก็เป็นระบบขนส่งสาธารณะ ที่นิยมอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน ราคาค่าโดยสาร จะไม่ค่อยต่างจากรถบัสนัก ทริปนี้พลาดรถไฟความเร็วสูง (เคยนั่งที่เยอรมัน กับ สวิสแล้ว คงเหมือนกันน่ะ) เพราะว่า จะมีเฉพาะทางฝั่งตะวันตก แต่เรามาเที่ยวแต่ทางฝั่งตะวันออก เลยได้ใช้แต่รถไฟความเร็วกลางๆ ที่เมื่อเทียบกับ รฟท. แล้วเรียกว่าโคตรเร็ว เงียบ และ นิ่งมากๆ จะว่าเพราะของเราตู้รถไฟเก่า รางเก่า ก็ไม่น่าใช่ เพราะเมื่อครั้งนั่งรถไฟไปบัตเตอร์เวิร์ท มาเลเซีย ตู้โดยสารของไทยที่เมื่อข้ามชายแดนแล้ว จะเปลี่ยนไปให้หัวรถจักรมาเลเซียลากทำขบวนต่อไป กลับวิ่งได้นิ่ง และ เงียบมากกว่าขณะวิ่งผ่านรางใหม่ช่วงก่อนถึงนครปฐมเสียอีก ทางรถไฟที่ไต้หวันจะวิ่งเลียบชายฝั่งทะเลรอบเกาะ คุณสามารถซื้อตั๋วรถไฟ นั่งเที่ยวเมืองต่างๆรอบไต้หวันได้เลย เพราะว่ากลางประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ส่วนใหญ่เมืองจะอยู่ตามที่ราบใกล้ทะเล
ดังนั้นผมจึงสรุปได้ว่า เทคโนโลยี และ การวางรางของเรา ห่วยกว่าเขามากมาย พูดเลย!
การซื้อตั๋วรถไฟที่ไต้หวัน : ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน คล้ายๆกับหัวลำโพงบ้านเรา คือมีช่องขายตั๋ว แต่เขามีตู้อัตโนมัติด้วย มีป้ายไฟบอกเวลาที่รถไฟแต่ละขบวนจะเข้าเทียบชานชาลา พอได้ตั๋วใบเล็กๆ แล้วก็เดินผ่านช่องเล็กๆไปสู่ชานชาลา โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยแสตมป์ตราที่ตั๋วเรา
การไปยังชานชาลาต่างๆนั้น ไม่เหมือนในไทย ที่เราจะเดินดุ่มๆข้ามรางกันดื้อๆ เพราะว่าชานชาลาสูงเป็นเมตร แถมยังมีไฟฟ้าด้วยเพราะรถไฟที่นี่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เราจึงเดินลอดอุโมงค์ไปชานชาลาต่างๆแทน ที่นี่แม้ว่าโดยรวมจะปลอดภัยมากอยู่แล้ว แต่ตรงชานชาลา เค้ายังจัดที่ยืนรอให้กับผู้โดยสารสุภาพสตรี ในเวลากลางคืน
ถนนหนทาง การจราจร : รถยนต์ที่ไต้หวัน เดินรถทางขวาของถนน ฉะนั้นรถยนต์ก็เป็นพวงมาลัยซ้ายนะครับ กลับกันกับบ้านเรา มันจะรู้สึกแปลกๆเฉพาะเวลาเรานั่งที่นั่งหน้าสุดของรถ หรือ นั่งเบาะหน้าของรถเก๋ง
ถนนที่นี่รถไม่เยอะ ในเมืองยังไม่เห็นรถติดเลย ยกเว้นถนนระหว่างเมืองบางช่วงที่อาจจะเป็นคอขวดก่อนเข้าอุโมงค์ในช่วงวันหยุด จะขยับไปช้าๆ อุบัติเหตุคาดว่าจะน้อยมาก สิ่งที่เห็นแตกต่างชัดเจนเลย คือ ฟุตบาทริมถนนหลักในเมือง จะกว้างมาก ประมาณถนนหนึ่งถึงสองเลนได้เลย ความสูงแค่ประมาณ 5-10cm และจะค่อยๆลาดลงจนเสมอผิวถนน ในช่วงปากซอย หรือ หัวมุมถนน
ฟุตบาทเค้าที่กว้างๆ ไม่ได้เต็มไปด้วยป้ายโฆษณา หรือ หาบเร่แผงลอย วินมอไซต์นะครับ ไต้หวันไม่มีพี่วิน สาวๆเลยหุ่นดีกันเป็นส่วนใหญ่เพราะเดินกันเก่ง รถเข็นขายของจะพบเฉพาะในตลาด หรือ อาจพบจักรยานซาเล้งขายขนม ของกินได้บ้าง โดยทั่วไป ถนนที่มีฟุตบาท มักจะมีเลนจักรยานฝั่งชิดทางรถวิ่ง แล้วก็จะเป็นแถวที่ให้มอเตอร์ไซต์จอดเรียงๆกัน แล้วจึงจะเป็นทางคนเดินด้านที่ชิดกับอาคาร
ตึกต่างๆในเมือง ส่วนใหญ่จะเว้นทางเดินด้านหน้าไว้ใต้อาคาร สามารถเดินทะลุไปได้ตลอดช่วงตึก คาดว่าเพราะที่นี่ฝนตกเกือบตลอดปี ฝนที่เจอบ่อยๆไม่เหมือนฝนที่ไทยนะ มันจะเป็นละอองละเอียดเหมือนที่ฉีดรีดผ้า แต่ฝนตกทีไรมันมักจะหนาวด้วย
ถนนที่ขนาดเล็กลงมา ฟุตบาทก็จะแคบลงตาม อาจจะยังมีเลนจักรยานหรือไม่มีก็ได้ ถ้าไม่มีก็จะอาจจะให้มอเตอร์ไซต์จอดด้านชิดถนน แล้วจักรยานก็ปั่นร่วมกับทางคนเดินได้ แต่ห้ามชนคนนะ เพราะมีกฏเลยว่า "Pedestrian have the right of way" ค่อยๆลัดเลาะกันไป ชิล ชิล ถนนที่เล็กลงมาอีก มักจะไม่มีฟุตบาท เช่นในซอย หรือ ชานเมือง
ส่วนถนนนอกเมืองที่กว้างพอ มักจะมีเลนจักรยาน แล้วก็เป็นเลนมอเตอร์ไซต์ แล้วค่อยเป็นเลนรถยนต์ตรงกลางถนน บางถนนก็ไม่มีเลนมอเตอร์ไซต์ ส่วนถนนสองเลนนอกเมือง ก็ให้ขับขี่ร่วมกันทั้งหมดไปเลย
ขอตำหนิทางจักรยานกรุงเทพ : ที่ไต้หวันจะไม่พบทางจักรยานที่เป็นขอบปูนกั้นบนผิวถนน หรือ ตั้งเสากั้นแบบบนเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งมันไม่เมคเซ้นส์ ยกตัวอย่างง่ายๆตรงท่าราชวรดิษฐ์ ที่ฟุตบาทกว้างขวาง(ยังมีรอยสีรูปจักรยานคู่กับคนเดินอยู่เลย) ยังอุตส่าห์ไปตั้งเสาทาสีถนน ส่วนบางช่วงเช่นถนนตะนาวที่เป็นถนนสองเลน ฟุตบาทแคบก็ยังไปตั้งเสาทาสี แทนที่จะไปปรับฟุตบาทให้กว้างขึ้น และเตี้ยลง เพื่อให้จักรยานขึ้นไปขี่บนฟุตบาทแทน แล้วปรับให้เดินรถทางเดียว จะได้มีพื้นที่ให้คนมาติดต่อธุระจอดซื้อของได้ แล้วก็เก็บค่าจอดรถ
ฟุตบาทกรุงเทพฯ มันสูงเกินไป เอาผู้ชายปกติแข็งแรงมาลองนั่งวีลแชร์ ผมยังไม่มั่นใจว่าจะเข็นขึ้นไหว แต่ทั้งนี้ฟุตบาทส่วนใหญ่ในไทย ไม่มีทางลาดครับ ขนาดไม่มี มอเตอร์ไซต์ยังวิ่งกันให้พรึ่บ แล้วยังมีเสาสารพัด มาตั้งกีดขวาง ยังไม่นับป้าขายข้าวแกง น้าขายผลไม้ พี่วิน เสาสะพานลอย ป้ายรถเมล์ ตู้โทรศัพท์
ในไทเป สะพานลอยเป็นของหายาก พยายามมองหาก็ไม่เจอ ส่วนตู้โทรศัพท์ มักจะอยู่ในอาคาร หรือชิดกำแพง ไม่ใช่อันเท่าครึ่งฟุตบาท ป้ายโฆษณาบนฟุตบาทไม่มีครับ เสาไฟฟ้า สายโทรศัพท์ก็ไม่มีครับ ในเมืองลงดินหมด ป้ายรถเมล์บนถนนสายหลักจะอยู่บนเกาะกลางเพราะเค้าจัดบัสเลนไว้กลางสุด แล้วมีเกาะกลางคั่นให้รถวิ่งด้านข้างแทน ส่วนป้ายเล็กๆ ก็เป็นแค่เสาริมฟุตบาท อาจมีหลังคาหรือม้านั่งด้วยก็ได้ แต่จะถัดลึกเข้ามา เว้นที่ให้คนเดินกับจักรยาน
คนไต้หวันกับจักรยาน : จักรยานพบได้ทุกหนทุกแห่ง มากพอๆกับมอเตอร์ไซต์ แต่เราจะไม่ค่อยได้เห็นจักรยานไฮเอ็น หลักแสนอัพสักเท่าไร จักรยานที่เห็นบ่อยๆก็เป็นแบรนด์ที่ผลิตในไต้หวัน เช่น Giant, Merida, Mosso, Centurian, Specialized Etc. จุดเริ่มของกระแสปั่นจักรยานอย่างกว้างขวางในไต้หวัน เริ่มจากหนังเรื่อง Island Etude(2006) ที่เกี่ยวกับเด็กหนุ่มผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยิน(ต้องใส่เครื่องช่วยฟัง) เขากำลังจะจบการศึกษา ได้ออกปั่นจักรยานรอบไต้หวันพร้อมเป้สัมภาระ และ กีตาร์ที่กำลังฝึกเล่นตัวหนึ่ง ระหว่างทางก็ได้เจอเหตุการณ์ เรื่องราวต่างๆ มีตอนหนึ่งพระเอกได้ตอบคำถาม ที่ว่าทำไมเขาถึงคิดจะปั่นจักรยานรอบเกาะไต้หวันว่า "บางสิ่งเมื่อเราคิดแล้วก็ต้องลงมือทำ ไม่เช่นนั้นแล้วคุณอาจไม่ได้ทำเช่นนั้นอีกเลยไปตลอดชีวิต” ซึ่งสร้างแรงบรรดาลใจกับคนมากมายที่จะตามรอยหนังเรื่องนี้ ทั้งรัฐบาลไต้หวันก็ช่วยสนับสนุนโดยสร้างทางจักรยานเพิ่มเติม อำนวยความสะดวกในทุกๆทาง รวมถึงพัฒนาระบบจักรยานเช่าสาธารณะ เรียกว่า U-Bike ที่ผมได้ลองใช้แล้วสะดวกมากๆ เดี๋ยวมีรายละเอียดในหัวข้อ U-Bike อีกที
ร้านจักรยานในไต้หวันมีไม่มากเท่าที่คิด ราคามีทั้งถูกกว่า และ แพงกว่าที่ไทย ร้าน Giant ก็เหมือน LA shop คือขายแต่ของยี่ห้อตัวเอง
ขี่จักรยานในไต้หวัน : มันไม่ได้เป็นเรื่องผิดธรรมชาติ ผิดปกติวิสัยของคนที่นั่น การขี่จักรยานไม่ได้เป็นเครื่องหมายแสดงฐานะ ก็แค่ยานพาหนะชนิดหนึ่ง ที่สามารถพา"คน" ไปถึงจุดหมายได้ คุณจะใช้รถหรู รถอีแต๋น รถมอเตอร์ไซต์ รถเข็น รถไฟฟ้าของผู้สูงอายุ รถคนพิการ ฯลฯ มันก็ไม่ใช่ปัญหา ตราบใดที่มันไปถึงที่หมายอย่างปลอดภัย
ที่ว่าปลอดภัย มันปลอดภัยขนาดที่ว่า เด็กตัวกะเปี๊ยก น่าจะราวๆห้าขวบ ก็ขี่จักรยานเด็กแบบไม่มีล้อพยุง ปั่นตามพ่อแม่ไปไหนมาไหนได้แล้วกัน ส่วนใหญ่เด็กจะให้ใส่หมวกกันน็อค โตแล้วไม่ค่อยใส่กัน และคนขี่จักรยานที่นี่ ไม่ค่อยใช้สัญญาณมือกัน ยกเว้นขี่เป็นกลุ่ม คงเพราะไม่ได้ขี่ร่วมกับรถยนต์อยู่แล้ว
นอกจากการที่มีเลนจักรยานในถนนสายหลักๆ และ บนฟุตบาทแล้ว แม้แต่การขับขี่ร่วมกันบนถนน เค้าก็มีระเบียบวินัยสูง ไม่มีการขับเร็ว ฉวัดเฉวียน ไฟแดงไม่มีจอดเลยเส้น และ มีสัญญาณไฟแดงเยอะมาก บางทีผมก็ว่าจะถี่ไปไหน อิอิ แม้แต่ซอยเล็กนิดเดียวยังอุตส่าห์มีไฟแดง และยังมีไฟแดงให้จักรยาน คนเดินด้วยนะ
เวลาไฟแดงที่นี่ เขาจะมีกรอบสี่เหลี่ยมสีขาว เพ้นท์รูปคนขี่มอเตอร์ไซต์ตรงกลาง แปลว่าเป็นช่องให้นักบิดมาจอดรอไฟแดงในช่องนี้ จะได้ออกตัวไปก่อน และ บางที่จะมีช่องสี่เหลี่ยมอีกช่อง ขนาดเล็กกว่า อยู่ฝั่งชิดไหล่ทางเพื่อให้จักรยานจอดรอในช่องนั้นด้วยนะ
ถึงที่นี่จะมีมอเตอร์ไซต์มาก แต่กลับไม่เจอเด็กแว๊นส์ แบบบ้านเรา สงสัยไม่เคยส่งคนมาดูงานที่ไทย เค้าขับรถกันถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่ขับเบียด จะมีโอกาสเกิดอันตรายก็คือ รถยนต์จอดซื้อของแล้วเปิดประตูไม่ร
นอกจากนี้ยังมีรถอีกประเภทหนึ่งที่ผมชอบมาก เห็นทีไรต้องสะกิดแฟนดู (เธอคงคิดว่าไม่เห็นจะแปลกตรงไหนเลย) ก็คือรถไฟฟ้าคันเล็กๆ เหมือนรถกอล์ฟย่อส่วน นั่งได้คนเดียว หรือสองคนเรียงกัน มีหลังคา วิ่งได้ช้าๆประมาณคนวิ่งเหยาะๆ คนที่ใช้รถแบบนี้จะเป็นคนสูงอายุ หรือพิการ ใช้ไปตลาด ไปธุระ ซื้อของ ประเทศไต้หวันเป็นสังคมคนสูงอายุ เพราะคนเกิดใหม่น้อยลง ไทยเราก็คงจะเจริญรอยตามในไม่ช้า ที่นี่ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุครับ รถวีลแชร์ไปได้ทุกที่จริงๆ แม้กระทั่งรถเมล์ยังมีลิฟท์ยื่นมารับวีลแชร์
พูดถึงรถคนแก่ ก็ อดที่จะพูดถึงจักรยานคนแก่ไม่ได้ เสียดายไม่ได้ถ่ายรูปมา แต่ลองจินตนาการตามแล้วกัน มันมีสองแบบ คือแบบจักรยานสามล้อ อันนี้ธรรมดา บางทีคนไม่แก่ก็ใช้ ขนของ ย้ายบ้าน มีหลายขนาดน่ะ อีกแบบหนึ่งมันก็คือจักรยานธรรมดา แต่ติดล้อช่วยพยุงซ้ายขวา เหมือนตอนเราเด็กๆนั่นแหละ แต่ล้อพยุงเค้าจะใหญ่ขึ้นมามาก ขนาดสักหนึ่งคืบผู้ชายตัวใหญ่ แต่อันนี้จะ Rare item หน่อยนะเจอแค่สองสามคันเองในตลาด
เห็นรถแบบนี้ก็ทำให้นึกถึง มอเตอร์ไซต์คนพิการหรือคนสูงอายุ (ประเทศนี้ของเล่นเยอะนะ) คือเป็นสกูตเตอร์ที่ติดล้อพยุงซ้ายขวาเข้ากับตัวถังรถอย่างแน่นหนา ล้อพยุงมีโช๊คด้วย ไม่มีติดหลังเต่าแน่นอน อิอิ
นักปั่นที่ไต้หวัน จะต้องมีออฟชั่นมากกว่าพี่ไทยหน่อย เพราะว่าต้องดูสภาพอากาศ บางวันมีทั้ง ร้อน ฝน และ หนาว ครบสามฤดู ไม่เหมือนตอนอยู่ไทย คว้าจักรยานโดดขึ้นไปได้เลย นี่ต้องพกร่ม หรือเสื้อกันฝน พกเสื้อกันลมหนาว แต่หมวกกันน๊อค ที่นี่ไม่ได้บังคับนะครับ ไฟหน้าหลังก็มีบ้าง ไม่มีบ้าง เพราะเค้ามีเลนแยกต่างหาก ไฟฟ้าสว่างไสวดี
ด้วยภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงตอนกลาง และ ที่ราบโดยรอบ ทำให้ไต้หวันมีแน่น้ำสั้นๆจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีน้ำ บางทีแม่น้ำกว้างตั้งสองร้อยเมตร มีส่วนที่เป็นน้ำจริงๆเท่าคลองแสนแสบ เค้าบอกว่าต้องเป็นช่วงมรสุมนั่นแหละ ถึงจะ
มีน้ำเยอะ ผมก็จินตนาการไม่ถูกว่ามันจะเยอะสักแค่ไหน แต่เดาเอาจากขนาดของคันดินกั้นน้ำสองฝั่งแม่น้ำ ที่สูงประมาณตึกสองชั้น ก็คงจะเยอะอยู่ ข้อดีของคันกั้นน้ำนี้คือ เขาทำทางจักรยานเอาไว้ข้างบน อนุญาตเฉพาะ คนเดิน กับ จักรยาน เวลาปั่นก็เห็นวิวแม่น้ำ บ้านเรือน ธรรมชาติ เจริญตา เจริญใจ ทางเรียบดีด้วย
จักรยาน Ubike : ในที่สุดก็มาถึงหัวข้อนี้สักที ส่งการบ้านพร้อมปลากรอบสักหน่อย ยิ้ม มีน้องๆพี่ๆฝากให้ไปลองให้ได้ จะได้กลับมาแชร์ประสบการณ์ให้ฟัง ว่าจะสู้ ปันปั่น ของเราได้อ๊ะป่าว!!! สู้ได้รึเปล่าไม่รู้นะ เพราะไม่เคยใช้ ปันปั่นเลย อิอิ
เล่าตั้งแต่ต้นเลยแล้วกันว่าประวัติของมันเริ่มมาตั้งแต่ปี 2009 โดยความร่วมมือของทางการไทเป สมาพันธ์จักรยานไต้หวัน และบริษัทจักรยาน Giant โดยในช่วงแรกๆจะอยู่ในบริเวณเล็กๆใกล้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่ระยะแรกไม่ค่อยสะดวก มีความยุ่งยากในการสมัครใช้งาน ค่าบริการ แต่เขาก็พยายามปรับปรุงระบบให้สะดวกขึ้น เช่นสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ หรือจากตู้คีออสที่มี 64 ตู้กระจายอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า ปัจจุบันมีสถานี U-bike 418 สถานี ใน 4เมือง และ มีจักรยานรวม 6,046 คัน ปี2014ที่ผ่านมา มีคนใช้ถึง 22ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัวจากปีก่อนหน้า
จักรยานสีส้มนี่ดูดีทีเดียว มีเกียร์ดุมสามสปีด ดรัมเบรคหน้าหลัง มีตะกร้าหน้า และที่เจ๋งสุดในความคิดผม คือมีสายสลิงล็อคในตะกร้า ที่ดึงไปคล้องเสา หรือร้อยผ่านล้อหน้า แล้วเสียบเข้าไปในช่องแม่กุญแจ บริเวณใต้ตะกร้า จึงจะสามารถดึงเอาลูกกุญแจ ที่ติดกับรถออกมาได้ เวลาจะปลดล็อคก็ไขกุญแจ พอดึงสายล็อคออก ก็จะไม่สามารถเอาลูกกุญแจออกมาได้อีก จากข้อมูล จักรยานนี้คันละประมาณ 10,000 บาทเชียวนะ เพราะถูกสร้างมาให้ทนทานมาก และมีแท็กกันขโมย ที่สามารถติดตามกรณีสูญหายได้อีกด้วย
หลังจากที่คุณแฟนพาผมไปกินอาหารญี่ปุ่น แถวๆหน้ามหาลัยแห่งชาติไต้หวัน และ พาเดินชมรำลึกความหลัง (ที่เธอภูมิใจนำเสนอมาก) ในมหาลัยแล้ว เราก็เจอสถานี U-bike ที่ผมหมายเล็งไว้ตั้งแต่เช้า ก็เลยรบเร้าว่าเราปั่น U-bike กลับบ้านกันเถอะ เราแอบยืนสังเกตุการณ์อยู่ครู่หนึ่งว่าเค้าทำกันยังไง ถึงรู้ว่าเราต้องมีบัตร Easy card ก่อน แต่...ผมไม่มีบัตร Easy card ก็เลยเดินลงไปในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อซื้อบัตรจากตู้อัตโนมัติ หลังจากได้บัตรมาแล้ว ก็ไปอีกตู้นึงที่ตั้งติดกัน เพื่อเติมเงินเข้าไป แล้วถึงกลับขึ้นมาลงทะเบียนผ่านตู้ตีออส
เราจึงเริ่มลงทะเบียนทีละคน นี่ก็เป็นครั้งแรกของคุณแฟนเช่นกัน เธอว่าปกตินั่งแต่รถเมล์ หรือ รถไฟฟ้า ก็ไม่มีอะไรมาก จิ้มๆตามไปทีละสเต็ป ใครอ่านภาษาจีนไม่ออก ให้กดเลือกภาษาอังกฤษได้ แล้วก็ต้องมีเบอร์โทรศัพท์ไต้หวันด้วยนะ เพราะระบบจะส่งรหัสเข้ามือถือเพื่อลงทะเบียนบัตร แต่ผมเห็นในเมนูแวบๆ ว่ามีให้เลือกแบบตัดบัตรเครดิตด้วย คือไม่ต้องใช้เบอร์โทรศัพท์ก็ได้ ถ้าจะเช่าครั้งเดียว แต่คงจะยุ่งยากกว่า
พอลงทะเบียนเสร็จ ก็แค่เอาบัตร Easy card ที่ลงทะเบียนไว้แล้ว ไปแปะตรงหัวเสาข้างจักรยานนั่นแหละ แต่ละเสามีจักรยานสองคัน แล้วไฟจะเปลี่ยนสีพร้อมปลดล็อค เราก็จะสามารถดึงจักรยานออกมาได้ แต่มีข้อแนะนำว่า ก่อนจะแปะบัตร ให้เช็คยางหน้าหลัง และ เบรค ให้ดีก่อน เพราะเจอหลายคันอยู่ ที่ยางแบนแต๊ด
สิ่งที่ยังข้องใจ คือ การซ่อมบำรุงจักรยาน เค้าไปทำตอนไหน จักรยานตั้งมากมาย และได้ยินว่าชั่วโมงเร่งด่วน บางสถานีจักรยานถูกยืมออกไปหมด ต้องรอให้คนเอามาเสียบคืน หรือไม่ก็ต้องเดินไปสถานีใกล้ๆแทน อันนี้เค้าว่ามีการเตรียมจักรยานสำรองเผื่อไว้ รวมถึงเวลาจะคืน เพื่อนๆก็ต้องหาเสาที่ว่างเพื่อคืนจักรยานนะ แต่เค้ามี App ให้โหลดดูว่าตรงไหนมีจักรยานเหลือ หรือว่างกี่ช่อง สะดวกมาก
อัตราค่าบริการ U-bike นี้ปัจจุบันอยู่ที่ครึ่งชั่วโมงแรก 5NTD และ 10NTD ต่อครึ่งชั่วโมงถัดไป ไม่มีค่าบริการายปี
7-Eleven และร้านสะดวกซื้อ : ความเหมือนที่แตกต่าง ร้านสะดวกซื้อที่นี่มีหลายแบรนด์ แต่ที่เห็นเยอะสุด ก็คือ Family mart และ 7-Eleven โลโก้ การจัดผังร้านเหมือนกับสาขาในไทย มีสินค้าคล้ายๆกัน ที่ไม่เหมือนก็คือ มีไข่ต้มขายด้วย ต้มในหม้อหุงข้าว น้ำดำๆคล้ายน้ำพะโล้ อร่อยดี นอกจากนี้แทบทุกสาขายังมีโซนเคาเตอร์บาร์เล็กๆติดกระจกหน้าร้าน หรืออาจจะมีชุดโต๊ะเก้าอี้ ให้นั่งกินกาแฟ อาหารที่ซื้อจากทางร้านได้ด้วย
อ้อ ที่ไม่เหมือนอีกอย่าง คือ ไม่มีถุงพลาสติคให้นะ ซื้ออะไรก็หอบหิ้วกลับกันเอาเอง
ตลาด : เป็นหัวใจของเมืองทุกเมือง ผมจึงไม่พลาดที่จะขอไปเดินตลาดบ้านๆ เพื่อดูว่าคนไต้หวันเค้าซื้อขายอะไรกัน มีอะไรแปลกจากบ้านเราแค่ไหน ก็ไปเดินดู เดินชิม ชิมได้จริงๆเพราะร้านที่ขายของกินทุกร้าน จะมีถ้วยเล็กๆ ใส่ตัวอย่างขนม หรือ น้ำ ให้เราทดลองรสชาติได้เสมอ บอกเลยว่าอร่อยทุกร้าน และ คนขายยิ้มแย้มแจ่มใสดีมาก เป็นอีกสิ่งสิ่งน่าประทับใจของคนที่นี่
ในตลาดเราจะพบชาวสวน ชาวไร่ตัวจริง มาตั้งแผงเล็กๆขายของ บนรถเข็น ส่วนใหญ่จะเป็นผักผลไม้ที่ปลูกเอง ไม่มีการเก็บค่าที่ ช่วยๆกัน ของแปลกสำหรับผม ก็มีอาทิเช่น มะระสีขาว ปลาหน้าตาน่ากลัว ยอดเฟิร์นข้าหลวงหลังลาย(เค้าผัดกินกัน อร่อยนะ) แตงโมลูกยักษ์ พืชผักที่ดูอวบอัด สดน่ากินกว่าบ้านเรา
อาหารการกินของคนไต้หวัน ก็คืออาหารจีนนี่แหละ ซาลาเปา หมั่นโถว นี่ขาดไม่ได้ และเค้าก็กินบะหมี่ กินข้าวเหมือนเรา แต่ข้าวไต้หวันจะเมล็ดอวบสั้น และ เหนียวกว่า คนนิยมกินข้าวกล้อง ไม่มีอาหารแปลกๆกินแฮะ แบบสัตว์แปลกๆ คนไต้หวันกินเนื้อวัวนะ บอกเค้าว่าคนจีนในไทยไม่นิยมกินเนื้อวัว เค้าก็ยังแปลกใจเลย ขนมหวานมีหลากหลาย อร่อยๆทั้งนั้น เบียร์ก็อร่อย อิอิ ร้านเบเกอรี่ก็เยอะมากๆ อร่อยด้วย ขนมปังที่ไต้หวันหลายอย่างชอบใส่ต้นหอม แต่ก็อร่อยพอที่ทำให้คนไม่ชอบต้นหอมอย่างผม กินจนหมดได้ทุกครั้ง
สวนสาธารณะ : มีหลายแห่ง ที่นี่เน้นให้เป็นพื้นที่ของครอบครัว มีมาปิคนิคกันด้วยนะ และยังมีลานสเก็ต ให้เด็กๆมาหัดเล่นสเก็ตกัน บางคนตัวนิดเดียวแต่คล่องแคล่วมาก มีสนามเด็กเล่น ปูพื้นยางอย่างดี ของเล่นเพียบ อยากมีลูกเป็นของตัวเองเลยครับ บางทีก็มีจัดกิจกรรมรณรงค์ ให้ความรู้ต่างๆ
อีกอย่างที่เห็นบ่อยๆในที่สาธารณะ คือ เครื่องปั๊มหัวใจ อยู่ในตู้ มีวิธีใช้กำกับด้วย เพราะว่าที่ไต้หวันมีคนเกิดหัวใจวายเฉียบพลันบ่อยๆ
เมาไม่ขับ : จริงๆนะเออ ถึงแม้ว่าผมจะเห็นตำรวจน้อยมากในไต้หวัน และ ไม่เคยเห็นการตั้งด่านเลย แต่คนไต้หวันบอกว่า ตำรวจอาจจะสุ่มเรียกตรวจที่ไหนเมื่อไรก็ได้ และ ที่นี่กล้องวงจรปิดเยอะมาก รวมถึง ค่าปรับกรณีเมาแล้วขับก็สูงมาก ซึ่งน่าจะจริงนะ เพราะขนาดในเมืองเล็กๆ เพื่อนคนไต้หวันพาไปเลี้ยงเบียร์ แต่เค้ากลับไม่แตะเลยแม้แต่นิดเดียว แม้แต่ในเมืองก็ไม่ได้มีบาร์มากมายเหมือนกรุงเทพฯ จะออกแนวมีเบียร์ขายในร้านอาหารมากมาย แต่เบียร์ที่นี่ไม่แพงนะ ถูกกว่าในไทยเล็กน้อย พอถามถึงว่ากินเบียร์แล้วปั่นจักรยานได้ใหม เค้าว่าไม่เป็นไร
ขยะ : แม้ว่าถังขยะตามท้องถนน จะไม่ได้มีมากมาย แต่ก็ไม่มีขยะสักชิ้นบนถนน หรือตามที่สาธารณะ แม้แต่ข้างถนนนอกเมืองก็ไม่มีขยะซุกอยู่ตามพุ่มไม้ ขยะตามครัวเรือน จะมีรถขยะมาเก็บห้าวันต่อสัปดาห์ ในช่วง บ่าย-ค่ำ ก่อนรถขยะจะมาถึง เราจะได้ยินเสียงดนตรีนำหน้ามาก่อน ทำนองคล้ายๆรถไอติม รถขยะจะมาแพ็คคู่ คันนำหน้าจะเก็บขยะทั่วไป ส่วนคันหลัง จะเก็บพวกขยะรีไซเคิล จึงเป็นหน้าที่เราที่จะต้องแยกขยะในบ้านใส่ถุงตามประเภท ส่วนในไทเป จะต้องใส่ถุงดำที่ทางการกำหนด ใครจะแอบเอาขยะบ้านตัวเองไปใส่ถังขยะตามถนนไม่ได้นะ จับได้โดนปรับ
ช่วง คำถามจากทางบ้าน
สาวขายหมาก : อ่านเจอจากในเน็ทนี่แหละ ว่าที่ไต้หวันยังมีประชากรกินหมากอยู่พอสมควร (แต่ไม่เคยเห็นคนพ่นน้ำหมากกระจายนะ) ส่วนใหญ่จะเป็นพวกขับรถบรรทุก แต่ในเน็ทเค้าว่า ทีเด็ดมันอยู่ที่สาวขายหมาก ที่จะนุ่งน้อยห่มน้อย ไอ้เราก็เป็นเด็กช่างสงสัย จึงได้ไปสอดส่องดูว่าจริงอย่างในรูปใหม แต่ไม่ได้ซื้อกลับมานะ (กลัวหัวแตก) สรุปว่า ร้านขายหมาก มีจริง! เค้าจะมีไฟประดับหน้าร้านกระพริบแวบๆ อยู่บนถนนที่จะออกนอกเมือง สาวขายหมาก มีจริง! แต่นุ่งน้อยห่มน้อย ม่าาายยยจริง! ฮือ คุณหลอกดาว..... คนขายเป็นผู้หญิงจริง แต่เป็นป้าบ้าง สาวบ้าง ไม่มีโป๊ เอ๊กซ์ สักนิดเดียว สงสัยที่เค้าถ่ายรูปมาในเน็ท มันจะมีเฉพาะที่นะ
จบแล้วจ้า ขอบคุณที่ติดตามอ่านจนจบครับ
ขอบคุณข้อมูล จาก Friskybike