มัณฑะเลย์ - พุกาม อัญมณีเม็ดงาม แห่งลุ่มน้ำอิระวดี ตอนที่ 3
ต่อเนื่องจากตอนที่ 2 เลยนะคะ ตอนนี้ขอตามคุณ spras77 ไปยังวัดและโบราณสถานต่างๆที่มีกระจัดกระจายทั่วเมืองโบราณพุกาม ประเทศเมียนมาร์ กันค่ะ
หลังจากอิ่มท้องและสดชื่นกลับคืนมาอีกครั้ง เราเดินทางไปยังวัดและโบราณสถานต่างๆที่มีกระจัดกระจายทั่วเมืองโบราณพุกาม ว่ากันว่าหากจะอยู่เที่ยวและเรียนรู้ให้ครบ ต้องอยู่ยาวนานกันถึง 3 เดือนและออกเดินทางกันทุกวันเลยทีเดียวครับ
วัดมนุหา (MANUHA TEMPLE) หรือวัดอึดอัด
เสาหงษ์เคียงคู่กับวัดมอญเสมอ
ภายในศาลาKing Manuha จะมีภาพจำลองของพระเจ้ามนูหะ นั่งคู่กับมเหสี ที่ทั้งคู่มีสีหน้ากลุ้มและอึดอัดใจเมื่อต้องตกมาเป้นเชลยที่พุกาม
บาตรทองคำสำหรับผู้ที่ศรัทธา จะได้มีโอกาสปีนขึ้นไปทำบุญ
องค์ประธานมีทั้งหมด 3 องค์ครับ
วัดแห่งนี้เป็นวัดที่สร้างโดยพระเจ้ามนูหะกษัตริย์แห่งมอญเมื่อครั้งถูกจับมาเป็นเชลยพร้อมมเหสีที่เมืองพุกามแห่งนี้ พระโตภายในวิหารที่สะท้อนความอึดอัดคับข้องใจของพระเจ้ามนูหะ
ภายในวิหาร มีพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่มากโดยบริเวณอก ของพระพุทธรูปมีขนาดโตพอง คับสถานที่เพื่อถ่ายทอดแสดงความรู้สึกได้ถึงความอึดอัดที่ทับถมในจิตใจของพระเจ้ามนูหะ ที่ถูกจับตัวมา
สำหรับการเดินทางมาท่องเที่ยวเมืองโบราณพุกาม ในเมียนมาร์นี้ จะมีลัษณะคล้ายๆกับการไปวัดต่างๆทั่วเมียนมาร์ คือการแต่งการต้องสำรวม ไม่นุ่งสั้นและปกปิด อีกทั้งยังห้ามสวมรองเท้าเข้าไปในวัดหรือโบราณสถานต่างๆอีกด้วย ดังนั้นหลายท่านจึงเตรียมผ้าถุง โสร่งจากเมืองไทยมาเองและหลายท่านก็มาแวะซื้อเสียที่เมียนมาร์เลย ที่นี่อากาศร้อนพอสมควรครับ ดังนั้นการสวมใส่เสื้อผ้าสบาย ระบายเหงื่อและความร้อนได้ดี จะทำให้การท่องเที่ยวในเมืองพุกามสบายตัวและสนุกสนานมากยิ่งขึ้น
เจดีย์ชเวซิกอง (SHWEZIGON PAGODA) มีลักษณะเป็นสีทองขนาดใหญ่เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ที่ศักดิ์สิทธิ์และเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศพม่า โดยเป็นที่เคารพนับถือของชาวเมียนมาร์จำนวนมากในปัจจุบัน
ข้อมูลจาก muangboranjournal ระบุว่า การตกแต่งเจดีย์ในสมัยพุกามนั้นจะไม่นิยมหุ้มแผ่นโลหะและปิดทอง แต่นิยมตกแต่งด้วยแผ่นอิฐเคลือบสีเขียว - เหลือง โดยลักษณะการตกแต่งที่นิยมมากที่สุดคือการปั้นปูนประดับและทาด้วยน้ำปูนขาว
ส่วนการหุ้มแผ่นโลหะและปิดทองเป็นค่านิยมและรูปแบบที่พัฒนาขึ้นภายหลังสมัยพุกามสำหรับกรณีเจดีย์ชเวสิกองนั้น ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง จึงมีการหุ้มแผ่นโลหะและปิดทองทับตามความนิยมในสมัยนั้น
พระมหาเจดีย์แห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญเป็นอันดับสองรองจาก เจดีย์ชเวดากอง ในกรุงย่างกุ้งโดยเป็นศูนย์รวมจิตใจและศรัทธาของชาวพุทธในเมียนมาร์มาช้านานโดยเป็นที่บรรจุพระธาตุสำคัญ 3 ส่วน คือ พระเขี้ยวแก้วที่กษัตริย์แห่งศรีลังกาได้นำมาถวาย พระธาตุกระดูกไหล่ ที่นำมาจากเมืองศรีเกษตร (ใกล้เมืองแปร) และพระธาตุพระนลาฏ (หน้าผาก) นอกจากนี้ที่นี่ยังประกอบไปด้วย "นัต" 37 ตน (เทพ ภูติ ผี) ที่คอยปกปักษ์รักษาที่แห่งนี้
มีความเชื่อถึงความมหัศจรรย์ของพระเจดีย์ชเวซิกอง 9 อย่างดังนี้ สถานที่ตั้งดูเหมือนตั้งอยู่บนเนินเขา แต่จริงๆ อยู่บนพื้นราบเท่ากับสิ่งก่อสร้างอื่นๆ, ฉัตรบนยอดเจดีย์ปักอยู่บนยอดโดย ไม่มีลวดยึดไว้เลย, เมื่อกระดาษทิ้งลงมาจากยอดเจดีย์ จะไม่ปลิวออกจากบริเวณเจดีย์, เงาของเจดีย์จะไม่เกินออกไปจากฐานด้านล่าง, ต้นพิกุลในบริเวณนี้จะออกดอกตลอดปี, คนจะมานมัสการมากเท่าใดไม่เคยเต็ม สามารถรองรับได้หมด, ฝนตกมากน้ำไม่ขังในบริเวณเจดีย์, เมื่อตีระฆังด้านขวา ด้านซ้ายจะไม่ได้ยิน, เมื่อมีเทศกาลประจำปี ไม่เคยมีใครใส่ บาตรได้เป็นคนแรก เพราะถึงจะมาเช้าแค่ไหน แต่ก็จะมีคนใส่บาตรแล้ว (เทวดามาใส่ก่อนเสมอ)
จุดที่น่าสนใจคือศาลาใกล้กับเจดีย์ จะปรากฏภาพสลักพุทธชาดกและสะท้อนวัฒนธรรมความเชื่อของชาวเมียนมาร์ที่ชัดเจน
Wood Carvings at Shwezigon Pagoda, Bagan
เป็นภาพแกะสลักด้วยไม้แบบลอยตัว ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ แม้ความเชื่อและเรื่องราวพุทธประวัติชาวไทย-เมียนมาร์จะต่างกันไม่มาก แต่ในภาพสลักเหล่านี้ สะท้อนตัวตนและวิธีคิดแบบชาวพม่าครับหลายภาพบอกถึงวิถีชีวิต ของผู้คนได้อย่างดี บางคนนุ่งโจงกระเบน บางคนนุ่งโสร่งแบบพม่า
ปรากฏความเชื่อเรื่องพญานาคในลุ่มน้ำอิระวดี
ภาพสลักคนกำลังเล่นพิณพม่า saung guck
เราใช้เวลากับที่นี่นานเป็นพิเศษนอกจากจะเดินไม่รู้จักเหนื่อยแล้ว ที่นี่บริเวณทางเดินยังร่มรื่นเย็นสบาย
หลังจากนั้นเราก็เดินทางต่อกันมาที่ วัดอนันดา (ANANDA TEMPLE )
นักท่องเที่ยวหลายคนเรียกวัดแห่งนี้ว่า Ananda Phaya : The most beatiful TEMPLE in Bagan กันเลยครับ ความน่าสนใจของที่นี่อยู่ที่วิหารซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในพุกาม มีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส มีมุขยื่นออกไปทั้ง 4 ด้าน แผนผังเหมือนไม้กางเขนแบบกรีก ส่วนที่หน้าทึ่งของวิหารแห่งนี้ก็คือ ช่างได้ทำการส่องแสงสว่างเข้าไปในวิหารเจาะให้ตรงองค์พระประธาน
วัดอนันดา หรือ อนันดากู่พญา ตั้งอยู่ทางตะวันออกของกำแพงเมือง เป็นวัดสีขาวจะมองเห็นได้ชัดเจน
โครงสร้างของวัดอนันดานี้มีระเบียงทางเดินที่ไม่ซับซ้อน มีซุ้มประตูใหญ่สี่ซุ้มขนาดเท่ากันทุกด้านเปิดจากแนวกึ่งกลางกำแพงไปสู่ห้องคูหากลางวิหาร
ด้านบนก่อเป็นแกนทึบสี่เหลี่ยมขึ้นไปรับกับส่วนยอด ที่แกนทึบแต่ละด้านทำรวงเข้าไปเป็นซุ้มพระขนาดใหญ่ ผนังแต่ละด้านยาว 35 เมตร โครงสร้างวิหารมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ในซุ้มมีพระพุทธรูปยืนประจำหลักสูง 9.5 เมตร ประดิษฐานอยู่ทั้งสี่ซุ้ม แทนองค์พระอดีตพุทธเจ้าทั้งสี่
ภายในวิหารมีพระพุทธรูปยืนที่แกะสลักด้วยไม้สัก ประดิษฐานอยู่ทั้งสี่ทิศ ที่ทำช่องให้แสงส่องสว่างเฉพาะองค์พระพุทธรูปซึ่งพระพักตร์ของพระองค์นั้นมีรอยยิ้มปรากฏเสมอ
พระโคตมพุทธเจ้า ทางด้านทิศตะวันตก(องค์ใหม่)
พระโกนาคมพุทธเจ้า ทางทิศตะวันออก(องค์ใหม่)
พระกัสสปพุทธเจ้า ทางทิศใต้(องค์เดิม)
พระกกุสันโธพุทธเจ้า ทางทิศเหนือ(องค์เดิม)
ผนังภายในแต่ละทิศมีพระพุทธรูปปางต่างๆ รายล้อมกว่า 1,800 องค์
เสียดายที่ภาพเขียนสีจิตรกรรมที่ฝาผนังถูกทำลาย ลบเลือนด้วยการทาสีขาวทับโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ปัจจุบันเหลือเพียงซุ้มประตูเดียวที่ยังอยู่
เมืองพุกาม เมืองแห่งทะเลเจดีย์
เมืองพุกามโบราณมีที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำอิระวดี โดยปัจจุบันเหลือเพียงกำแพงเมืองด้านในและด้านตะวันออกเท่านั้น
มีข้อมูลว่าแท้จริงแล้วจำนวนเจดีย์ที่แท้จริงนั้นมีมากกว่า 10,000 องค์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปทำให้เจดีย์เหลืออยู่ประมาณ 4,000 องค์เท่านั้น เชื่อกันว่าส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ด้วยเชื่อว่าเมืองพุกามอยู่ในเขตแห้งแล้ง จึงน่าจะทำให้เจดีย์ต่างๆไม่ได้รับความเสียหายจากธรรมชาติมากนัก
สิ่งปลูกสร้างต่างๆในเมืองโบราณพุกามนั้น ถูกสร้างขึ้นด้วยอิฐเป็นหลัก
พุกามนั้นมีความเจริญสูงสุดเพราะความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของกษัตริย์ ซึ่งหลายพระองค์นิยมสร้างเจดีย์เพื่อเสริมสิริมงคลในรัชกาลของตนปัจจุบันทางการของเมียนมาร์ได้เสนอชื่อเมืองโบราณพุกามขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตามกลุ่มเมืองอาณาจักรพะยู ซึ่งได้รับการประกาศจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกแห่งใหม่และเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งแรกของประเทศเมียนมาร์
ที่นี่นักท่องเที่ยวต่างมีจุดหมายที่จะมาชมพระอาทิตย์ตกดิน / พระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้ากัน
นักท่องเที่ยวจากจุดต่างๆ พากันมุ่งตรงมาจับจองที่ แถบนี้จึงคึกคักมีของมาขายมากมาย
แม่ค้าพลอยได้ขายของ
บนเจดีย์ต่างแน่นขนัดในทุกชั้น
เพื่อรอชมทัศนีย์ภาพ
เรารีบกลับลงมาแบบ งง งง มีคำถามมากมายเกิดขึ้นตามมา มีข้อขัดแย้งในตัวเองเกิดขึ้น
บางทีการที่นักท่องเที่ยวปีนขึ้นไปนั่ง ปีนป่าย ห้อยขาเหยียบย่ำในวัด สถูป โบราณสถานเหล่านี้เหมาะสมแล้วหรือไม่
หรือที่สถานที่เหล่านี้ เอาเข้าจริงๆไม่ได้มีความหมายในทางพระพุทธศาสนมากนัก หลายสถานที่ถูกสร้างไว้เพื่อบูชานัต หรือสร้างไว้เพื่อเหตุผลอื่นๆที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบุชา สืบทอดพระพุทธศาสนา
หรือทางการเมียนมาร์ จำเป็นต้องการ บริหารที่ทางเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เพื่อเตรียมการตีตรารับรองมาตรฐานเป็นเมืองมรดกโลก ไม่เช่นนั้นสถานที่เหล่านี้จะไม่แตกต่างกับการเป็น " สวนสนุก หรือ Adventhure/Amazing Theme Park " ไปในที่สุด
มีข้อมูลว่าทางการเมียนมาร์กำลังร่วมกับภาคเอกชนเพื่อสร้างหอคอย Nann Myint Tower สูง 61 เมตรเพื่อเป็นสถานที่ชมพระอาทิตย์ตกดินท่ามกลางหมู่ทะเลเจดีย์โดยมีแม่น้ำอิรวะดีเป็นฉากหลัง ซึ่งได้ต่หวังว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้ที่กำลังจะสร้างขึ้นจะไม่กลายเป็นทัศนอุดจาด สิ่งปลูดสร้างที่ทำลายบรรยากาศที่สวยงาม หวังแต่ว่าจะสร้างสอดคล้องกับธรรมชาติและสิ่งปลูกสร้างโดยกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน
มื้อเย็นวันนี้เรายังคงอยู่ท่ามกลางกลิ่นอายวัฒนธรรมในเมืองพุกามโบราณ
อาหารรสชาดธรรมดา แต่การมีโอกาสร่วมโต๊ะกับศิษย์พี่น้อง ที่ร่วมรอนแรมมันก็ได้ทำให้มื้อนั้นพิเศษขึ้นมาอีกครับ
ร้านอาหารแห่งนี้มีฉากหลังเป็นทะเลเจดีย์ ที่เปิดไฟสะท้อนให้เห็นอย่างสวยงาม ขับกล่อมด้วยการร่ายรำและการแสดงหุ่นกระบอก จัดเป้นมื้อประทับใจอีกมื้อสำหรับทริปนี้ครับ
คืนนี้เราพักอยู่ในเขตพุกามเมืองใหม่ ที่เป็นเขตเศรษฐกิจของเมืองครับ
Bawga Theddi Hotel
ดึกแล้วที่นี่โซนแถบนี้ค่อนข้างเงียบสงบครับ
เราเลือกที่จะเข้านอนกันโดยเร็วแทน
ยามเช้าที่นี่สดชื่นครับ อากาศกำลังดี
บอลลูนยามเช้าลอยผ่านย่านชุมชนที่พักของนักท่องเที่ยว เพื่อให้บริการทุ่งทะเลเจดีย์
อาหารเช้าก่อนเดินทางเที่ยวพุกามอีกครึ่งวัน ก่อนตรงสู่มัณฑะเลย์ในบ่ายๆครับ
บริการสระว่ายน้ำและสปา
ตอนหน้าเรามาติดตามการเดินทางออกจากที่พักและแวะเที่ยวพุกามอีกนิดหน่อยแวะเดินเล่นที่ตลาดยองอูอีกเล็กน้อยก่อนออกเดินทางเข้าสู่มัณฑะเลย์กันค่ะ ติดตามตอนที่ 4 ได้ที่ลิงค์นี้ค่ะ http://travel.sanook.com/1395501/
ขอบคุณข้อมูลจากคุณ spras77