หนึ่งเดียวในภาคใต้กับ "โรตีโอ่ง" จ.นราธิวาส
โรตีโอ่ง ซึ่งรู้จักกันทั่วไปในพื้นที่ จ.นราธิวาส มักเรียกเป็นภาษาท้องถิ่นว่า โรตีปาแย มาจากการใช้โอ่งในการอบโรตีให้สุก ก็เลยเรียกกันติดปากจนถึงปัจจุบัน โรตีโอ่งเดิมทีกลุ่มคนอาหรับที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ทำกินและคนในพื้นที่เห็นก็เลยทำตามกันมา แต่มีเฉพาะถิ่นไม่แพร่หลายมากนัก
ปัจจุบันได้มีการประยุกต์การทำโรตีจากอดีตที่ใช้โอ่ง หันมาใช้การทอดแทน เนื่องจากมีความยุงยากและขั้นตอนในการทำให้สุก จนปัจจุบันได้เลือนหายไปโดยปริยาย
ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ทำโรตีโอ่งนั้น ดูแล้วไม่ง่ายเหมือนกับที่เรามองเห็น โดยเคล็ดลับต่างๆมีมากมาย เริ่มตั้งแต่การเลือกใช้ถ่าน ถ่านที่ใช้ต้องเป็นถ่านที่ผ่านการเผาด้วยไม้เนื้อแข็ง ที่ต้องให้ความร้อนและมีเปลวไป ส่วนโอ่งที่ใช้สำหรับการอบโรตีนั้น ก็ต้องเป็นโอ่งที่ทำด้วยดิน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้กลิ่นของโอ่งไปติดกับรสชาติของโรตีเมื่อสุกแล้ว
นอกจากนี้ภายในโอ่งที่ใช้สำหรับอบโรตี เขาจะใช้เตาถ่านขนาดพอเหมาะ เมื่อติดไฟแล้วจะนำไปใส่ไว้ภายใน โดยจะมีแผ่นอลูมิเนียมขนาดเท่ากับเส้นผ่าศูนย์กลางของโอ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้โรตีตกลงไปภายในก้นโอ่ง ที่วางอยู่ในระดับแนวนอน ที่สำหรับโอ่งที่ใช้สำหรับอบโรตีต้องมีฝาปิดปากโอ่งอย่างมิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อนออก
เมื่อขั้นตอนของการอบโรตีพร้อม ต่อไปก็จะเป็นการนวดแป้งโรตี ซึ่งใช้แป้งสาลีผสมกับน้ำตาลทรายและน้ำเปล่าเท่านั้น นวดจนได้ที่แล้ว พยายามเก็บแป้งที่นวดไว้ในที่มิดชิด อย่างให้โดนลมโดยเด็ดขาด เพราะทำให้แป้งแข็งและด้าน เมื่อทำโรตีแล้วจะไม่อร่อย ซึ่งแตกต่างจากโรตีทั่วไปในปัจจุบัน ที่มีส่วนผสมของแป้งสาลี เนย ยีสต์ ไข่ไก่และเกลือ แถมนำไปทอดให้สุกก่อนรับประทาน ซึ่งมันจะเลี่ยนน้ำมัน
ส่วนขั้นตอนการทำโรตีโอ่ง เมื่อผ่านกระบวนการนวดแป้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะนำเข้าไปใส่ในโอ่งเพื่ออบให้สุกนั้น สิ่งที่สำคัญคือ ต้องมีการตัดใบตองให้มีขนาดเท่าแป้งโรตี แล้วนำไปวางบนตะแกรงสำหรับปิ้งย่างอาหารทั่วไป ก่อนที่จะนำแป้งโรตีวางทับใส่เข้าไปในเตาไปที่อยู่ในโอ่ง ซึ่งเป็นเคล็ดลับที่ไม่ทำให้แป้งโรตีที่อยู่ใกล้กับเตาไฟเกิดด้าน และเมื่อโรตีสุกด้านหนึ่งแล้ว ก็ทำลักษณะเดียวกันอีก 1 ด้าน เป็นอันเสร็จสิ้นกระบะอบแป้งโรตีให้สุก
และเคล็ดลับอีกอย่างหนึ่งที่ขาดเสียไม่ได้ คือ การนำผ้าที่ค่อนข้างหนามาทำการห่อแป้งโรตีที่สุกให้มิดชิด จะทำให้โรตีโอ่งที่สุกแล้วยังสามารถเก็บความร้อน ออกมารับประทานได้ตลอด กับแกงเนื้อ แกงแพะแล้วแต่คนที่รับประทานว่าจะชอบรับประทานกับแกงอะไร เพราะโรตีโอ่งเมื่อเรารับประทานเปล่าๆก็จะได้รสชาติที่หอมกรุ่นมีกลิ่นของแป้งสาลีไหม้นิดๆ แต่เมื่อรับประทานกับแกง ก็จะได้รสชาติแปลกไปอีกแบบหนึ่งทั้งหอมและกลมกล่อมด้วยความมันของแกง แถมราคาจำหน่ายก็เพียงลูกละ 20 บาท รับรองความอิ่มอร่อย ที่หาลิ้มลองรสชาดได้ยาก
ด้านนายฮามะซามาลี อาแว อายุ 43 ปี เจ้าของต้นตำหรับโรตีโอ่ง ซึ่งถือว่าเป็นแห่งเดียวในภาคใต้ ที่ได้วิชาตกทอดมาจากบรรพบุรุษ กล่าวว่า โรตีโอ่งแตกต่างจากโรตีทั่วไป คือ มีส่วนผสมเพียง 3 อย่าง หรือ แป้งสาลี น้ำตาลและน้ำ มานวดคลุกเคล้ากัน ซึ่งแตกต่างจากโรตีทั่วไป ที่มีส่วนผสมของแป้งสาลี เนย ยีสต์ น้ำตาล ไข่ไก่และเกลือ ซึ่งปกติตนจะขายโรตีโอ่งจากการสั่งจองของลูกค้า นำไปประทานในงานเลี้ยงต่างๆ แต่ทุกเดือนรอมฏอนหรือ เดือนถือศีลอดของพี่น้องชาวไทยทุกมุสลิมในทุกๆปี ตนจะไปจำหน่ายที่ตลาดโต้รุ่งตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ในช่วงเวลา 14.00 น.เป็นต้นไป
นี่คือเรื่องราวของโรตีโอ่งธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งเดียวในภาคใต้ ที่ยังหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ อ.ระแงะ ของ จ.นราธิวาส ท้าให้คุณมาลิ้มรสชาดและรับประกันความอร่อย ชนิดเอาพิซซ่ามาแลกก็ไม่ยอม