"22 สัตว์ทะเลมีพิษ" ที่อยู่ห่างได้..ยิ่งดี
เกิดขึ้นอีกครั้งกับเหตุการณ์ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติโดนพิษของแมงกะพรุนกล่องจนทำให้เสียชีวิต ซึ่งบางครั้งถึงจะระวังตัวแล้วอย่างดี ก็อาจเกิดขึ้นได้ ยังไงต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตอีกครั้งนึงค่ะ ซึ่งวันนี้ Sanook! Travel เลยพยายามค้นหาบทความที่น่าสนใจว่าในท้องทะเลนั้นมี "สัตว์ทะเลมีพิษ" อะไรบ้าง ที่นักท่องเที่ยว ประชาชนทั่วไป หรือผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์นั้น อย่างเราจะต้องเรียนรู้และเฝ้าระวังในครั้งต่อๆ ไป ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณบทความของศูนย์พิษวิทยา ที่มีความรู้มาเผื่อแผ่กันค่ะ เผื่อว่าถ้าเราไปเล่นน้ำทะเล หรือไปดำน้ำจะได้ระวังตัวกันมากขึ้น..
อดิสรณ์ มนต์วิเศษ
สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล
มหาวิทยาลัยบูรพา ชลบุรี 20131
ท้องทะเลไทยนับว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด คนไทยได้นำสัตว์ทะเลเหล่านี้มาบริโภคเป็นอาหารกันเป็นเวลาช้านาน แต่ก็มีสัตว์ทะเลหลายชนิดที่ไม่สามารถนำมาบริโภคได้เนื่องจากมีพิษ และบางชนิดที่ไม่มีพิษต่อการบริโภค แต่จะเป็นอันตรายหากไปสัมผัส หรือไปอยู่ในบริเวณที่มีสัตว์ทะเลเหล่านั้นชุกชุม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวกับเนื้อหา Credit : istockphoto.com
อันตรายจากสัตว์ทะเลแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มดังนี้
1.อันตรายจากสัตว์ทะเลที่มีพิษ กัด ทิ่มแทง หรือต่อย (venomous animals) และปล่อยสารพิษเข้าสู่ร่างกายตรงบริเวณบาดแผลนั้น พิษของสัตว์ทะเลอาจอยู่ที่เงี่ยง ก้าน ครีบ เขี้ยว และมีเข็มพิษที่เรียกว่า นีมาโตศีย์สต์ (nematocyst) ตัวอย่างได้แก่ ดอกไม้ทะเล แมงกะพรุน งูทะเล ปลาสิงโต และเม่นทะเล
2.อันตรายจากการบริโภคเนื้อ และอวัยวะของสัตว์ทะเลที่มีพิษ (poisonous animals) สัตว์ทะเลบางชนิดมีการสะสมสารพิษในบริเวณเนื้อเยื่ออวัยวะภายใน และรังไข่ เมื่อมนุษย์นำเอาสัตว์ทะเลนั้นมาบริโภค จะได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น แมงดาทะเล ปูบางชนิด และปลาปักเป้า เป็นต้น สัตว์บางชนิดมีสารพิษสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อเป็นบางช่วงฤดูกาล เช่น หอยแมลงภู่ หอยนางรม ที่เพาะเลี้ยงอยู่ตามชายฝั่งที่มักเกิดปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีเป็นประจำในช่วงฤดูฝน หรืออาจได้รับสารพิษจากไดโนแฟลกเจลเลตที่เป็นสาเหตุของปรากฏณ์ดังกล่าวเข้าไป เมื่อมนุษย์นำสัตว์มาบริโภคทำให้ได้รับสารพิษนั้นได้ ในทำนองเดียวกันหากดินตะกอนบริเวณชายฝั่งมีการสะสมโลหะหนัก และยาฆ่าแมลง ที่พัดพามาจากแผ่นดิน สัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นอาจมีการสะสมของสารพิษดังกล่าวด้วยเช่น หอยสองกาบที่อาศัยอยู่ตามพื้นท้องทะเล ได้แก่ หอยลาย หอยแครง เป็นต้น ซึ่งกินอาหารโดยการกรองดินตะกอนและอินทรีย์สารเข้าไป เมื่อคนบริโภคหอยดังกล่าวทำให้ร่างกายได้รับสารพิษของโลหะหนัก และยาฆ่าแมลง อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานในประเทศไทยว่ามีการสะสมโลหะหนัก และยาฆ่าแมลงในหอยเหล่านี้ในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อการบริโภค
สัตว์ทะเลบางชนิดในกลุ่มที่ 1 ที่กล่าวมาแล้วนั้นสามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้เนื่องจากสารพิษที่มีอยู่บริเวณเงี่ยง หรือ ก้านครีบ เมื่อถูกความร้อนที่ใช้ในการปรุงอาหารจะสลายตัวไป เช่น พิษที่เงี่ยงปลากระเบน ปลาดุกทะเล เป็นต้น แต่ถ้าสารพิษสะสมอยู่ในกลุ่มที่ 2 ความร้อนจากการปรุงอาหารไม่สามารถทำให้สลายไปได้ เช่น พิษของไข่แมงดาทะเล เนื้อและอวัยวะภายในของปลาปักเป้า เป็นต้น
3.อันตรายจากสัตว์ทะเลที่ทำให้การเกิดบาดแผล (injurious animals) เนื่องจากถูกอวัยวะที่แหลมคม เช่น ฟัน หนาม ก้านครีบ หรือเงี่ยง รวมทั้งการปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมาของสัตว์ทะเลบางชนิด ตัวอย่างเช่น ฉลามกัด ปูหนีบ เพรียงหินบาด และเปลือกหินทิ่มตำ เป็นต้น สัตว์เหล่านี้มักมีฟัน ครีบ และเงี่ยงที่แหลมคมไว้ใช้ในการป้องกันตัว และล่าเหยื่อเท่านั้น หาได้มีไว้เพื่อโจมตี หรือทำร้ายมนุษย์แต่อย่างไร
เพื่อให้เกิดความเข้าใจและทราบถึงอันตรายที่อาจได้รับจากสัตว์ทะเลจึงนำตัวอย่างสัตว์ทะเลชนิดต่างๆที่ควรรู้จักเรียงตามลำดับหมวดหมู่ในอาณาจักรของสิ่งมีชีวิต ดังต่อไปนี้
1.ฟองน้ำ (Sponge)
ฟองน้ำเป็นสัตว์เกาะนิ่งอยู่กับที่ มีลำตัวเป็นรูพรุนดำรงชีวิตได้โดยอาศัยระบบท่อให้น้ำไหลผ่านลำตัว มีโครงค้ำจุนร่างกายเป็นหนามที่เรียกว่า สปิคุล (Spicule) หรือเส้นใยอ่อนนุ่ม (Spongin)
การป้องกันและรักษา หลีกเลี่ยงจากการสัมผัสฟองน้ำขนาดใหญ่ตามแนวปะการัง เช่น ฟองน้ำครก หากเป็นความบังเอิญที่ไม่ได้ระวังตัว การปฐมพยาบาลเบื้องต้นนั้น คือ การทำให้สปคุลของฟองน้ำหลุดออกไป โดยทำการล้างแผลบริเวณที่สัมผัสด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำกรดน้ำส้ม 5 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 15-30 นาที ยาจำพวกแอนติฮิสตามีน ใช้ทาบรรเทาอาการผื่นคัน
2.ขนนกทะเล (Sea feather)
ขนนกทะเลเป็นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายพืชและมีอยู่หลายชนิด แต่ละตัวมีรูปร่างเป็นโพลิปขนาดเล็กอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหรือนิคม มักพบตามแนวปะการังเกาะกับหลักที่ปักอยู่ริมชายฝั่ง เสาสะพานท่าเรือ ตลอดจนเศษวัสดุที่ลอยในทะเล บางชนิดมีลักษณะคล้ายขนนก และบางชนิดลักษณะคล้ายเฟิร์น เมื่อผิวหนังสัมผัสกับนิคมของขนนกทะเล โพลิปจะปล่อยนีมาโตศีย์สต์ ที่มีพิษแทรกเข้าสู่ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน
การป้องกันและรักษา หลีกเลี่ยงการสัมผัสขนนกทะเลโดยตรง การใส่เสื้อผ้าป้องกันอันตรายได้ ล้างบริเวณที่ถูกพิษด้วยแอลกอฮอล์ปะคบด้วยน้ำแข็งหรือน้ำเย็น หากมีอาการรุนแรงต้องส่งแพทย์ทันที
3.ปะการัง (Corals)
ปะการังเป็นสัตว์ทะเลกลุ่มใหญ่ที่มีมากกว่า 750 ชนิด ส่วนใหญ่อาศัยอยู่แบบเดี่ยว ปะการังมีฐานรองรับโพลิปหรือตัวปะการังเป็นหินปูน บางชนิดมีหนามหรือแง่ยื่นที่แหลมคม และบางชนิดมีนีมาโตศีย์สต์ที่มีน้ำพิษ ทำให้ระคายเคืองต่อผิวหนัง ปะการังที่อาจทำให้เกิดบาดแผล ได้แก่ ปะการังเขากวาง (Acropora) ปะการังแกแลคซี่ (Galaxea) ปะการังลูกโป่ง(Plerogyra) ปะการังดอกจอก(Pec-tinea) ปะการังสมองหยาบ(Symphyllia) เป็นต้น มีรายงานว่าปะการังเห็ดบางชนิดผลิตนีมาโตศีย์สต์ที่มีพิษทำให้เกิดอาการบวมแดงและผื่นคันได้
การป้องกันและรักษา หินปูนของปะการังมีความแข็งและแหลมคม การเดินเหยียบย่ำไปบนปะการัง หรือดำน้ำผ่านแนวปะการัง อาจทำให้เกิดบาดแผล เนื่องจากปะการังมักมีพวกแบคทีเรียอาศัยอยู่เป็นสาเหตุทำให้บาดแผลหายช้าจึงต้องล้างด้วยน้ำสะอาด หรือ แอลกอฮอล์โดยเร็ว และตรวจดูว่าไม่มีเศษปะการังติดค้างอยู่ ใส่ยาฆ่าเชื้อ ถ้าแผลมีขนาดกว้างและลึก ควรรีบนำส่งแพทย์
4.ปะการังไฟ (Fire coral)
ปะการังไฟ ไม่ใช่ปะการังแท้จริง แต่เป็นสัตว์ทะเลพวกเดียวกับขนนกทะเลและมีพิษเช่นเดียวกัน โพลิปมีขนาดเล็กอาศัยอยู่รวมกันเป็นนิคม โดยสร้างหินปูนฐานรองรับโพลิปจึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับปะการังมาก
ปะการังไฟมีรูปร่าง 3 แบบใหญ่คือ แบบแผ่น แบบก้อน และแบบแขนง โดยทั่วไปมักมีสีเหลืองอ่อนหรือน้ำตาล พบปะปนอยู่กับสัตว์อื่นในแนวปะการังทั่วไป หากสัมผัสกับปะการังไฟ จะทำให้เกิดรอยไหม้ บวมแดงและปวดแสบบริเวณผิวหนังที่สัมผัส
การรักษา การปฐมพยาบาลเบื้องต้นคือการล้างแผลด้วยน้ำส้มสายชูหรือล้างด้วยอะลูมิเนียมซัลเฟตอีกครั้งหนึ่งสิ่งที่ควรระมัดระวังคือ หากส่วนที่สัมผัสปะการังเป็นมือ ก็อย่าได้นำมาเช็ดหน้าหรือให้เข้าตาโดยเด็ดขาด เพราะน้ำพิษจากนีมาโตศีย์สต์ของปะการังไฟที่ยังเหลืออยู่ จะทำให้เกิดระคายเคืองได้ สำหรับครีมที่เป็นยาปฏิชีวนะนั้นใช้ป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ไม่ใช่การรักษาสารพิษจากนีมาโตศีย์สต์ โดยตรง
5.แมงกะพรุน (Jelly fish)
แมงกะพรุนทั่วไปมีรูปร่างคล้ายร่ม หรือ กระดิ่งคว่ำ (medusa) ลำตัวโปร่งแสงประกอบด้วยวุ้นเป็นส่วนใหญ่ ดำรงชีวิตโดยการว่ายเวียนและล่องลอยไปตามกระแสน้ำและแรงพัดพาของคลื่นลม อาหารที่แมงกะพรุนกินได้แก่ ปลา ครัสเตเซียน และแพลงค์ตอนอื่นๆ บริเวณหนวดและแขนงที่ยื่นออกมารอบปากมีเข็มพิษนีมาโตศีย์สต์ ใช้ฆ่าเหยื่อหรือทำให้เหยื่อสลบก่อนจับกินเป็นอาหาร ปริมาณของนีมาโตศีย์สต์อาจมีจำนวนถึง 80,000 เซลล์ใน 1 ตารางเซนติเมตรเท่านั้น ภายในนีมาโตศีย์สต์ มีน้ำพิษที่เป็นอันตรายทำให้เกิดอาการคัน เป็นผื่นบวมแดงเป็นรอยไหม้ปวดแสบปวดร้อน และเป็นแผลเรื้อรังได้ ขึ้นอยู่กับแมงกะพรุนแต่ละชนิด บางรายทำให้เกิดอาการจุกแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย เป็นไข้ บางรายถึงเสียชีวิต โดยทั่วไปเรียกแมงกะพรุนมีพิษว่าแมงกะพรุนไฟ
การป้องกันและรักษา การป้องกันการถูกแมงกะพรุนไฟ คือ การหลีกเลี่ยงลงเล่นน้ำทะเลบริเวณที่มีแมงกะพรุนชุกชุม หรือ ช่วงหลังพายุฝน เพราะจะมีกระเปาะพิษของแมงกะพรุนหลุดลอยไปในน้ำทะเลแม้จะไม่ได้สัมผัสกับแมงกะพรุนโดยตรงก็ตาม
การเกิดพิษเมื่อถูกแมงกะพรุน กระทำได้โดยใช้น้ำส้มสายชูล้างแผลเพื่อไม่ให้นีมาโตศีย์สต์ปล่อยน้ำพิษภายในกระเปาะออก หลังจากนั้นควรรีบปรึกษาแพทย์ ตำรา ยากลางบ้านที่มักใช้กัน คือ นำใบผักบุ้งทะเลบดแล้วพอกบริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุน จะช่วยให้อาการต่างๆบรรเทาลงได้
6.ดอกไม้ทะเล (Sea anemone)
ดอกไม้ทะเลเป็นสัตว์ทะเลที่มีลำตัวอ่อนนุ่ม ด้านปากมีหนวดเรียงรายอยู่รอบปาก ด้านล่างเป็นฐานยึดเกาะอยู่กับก้อนหิน ก้อนปะการัง หรือฝังตัวลงในพื้นทะเลบริเวณดินเลนหรือดินทราย ดอกไม้ทะเลเป็นสัตว์ที่ดำรงชีวิตแบบเดี่ยว ไม่มีการสร้างหินปูนเป็นฐานรองรับโพลิปเหมือนปะการัง
โพลิปดอกไม้ทะเลมักมีขนาดใหญ่ บางชนิดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 30 เซนติเมตร มักพบอาศัยอยู่ตามแนวปะการัง เมื่อสัมผัสหนวดของดอกไม้ทะเล นีมาโตศีย์สต์จากหนวดของดอกไม้ทะเล จะทำให้เกิดผื่นแดงและคันบริเวณที่สัมผัส ถ้าอาการรุนแรงมากจะทำให้เกิดอาการบวมแดง มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคน
การรักษา การปฐมพยาบาลในเบื้องต้น ให้ใช้น้ำส้มสายชูล้างแผล และพยายามล้างเอาเมือก และชิ้นส่วนของหนวดดอกไม้ทะเลออกให้หมด ถ้าผู้ป่วยมีอาการทรุดลงให้นำส่งแพทย์โดยด่วน
7.บุ้งทะเล (Fire worms)
บุ้งทะเลเป็นหนอนปล้องจำพวกเดียวกับแม่เพรียงหรือไส้เดือนทะเล แต่มีลำตัวสั้นกว่า เป็นสัตว์ทะเลพวกโพลีย์ฆีต (polychaete) ตามลำตัวมีขนยาวมาก และมีส่วนยื่นของร่างกายออกไปเป็นคู่ด้านข้าง ช่วยในการว่ายน้ำ ขนที่มีลักษณะเป็นเส้นแข็งนี้จะหลุดจากตัวบุ้งได้ง่ายและแทงเข้าสู่ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการคัน
ในธรรมชาติ บุ้งทะเลอาศัยอยู่ตามพื้นทะเลใต้ก้อนหินใต้ซอกปะการัง ตามลำคลองในเขตป่าชายเลน หรือตามพื้นทะเลและถูกจับมาโดยอวนหน้าดิน ตัวอย่างของบุ้งทะเลจึงพบปะปนอยู่กับสัตว์น้ำอื่นๆที่ถูกนำไปทำอาหารสัตว์
การป้องกันและรักษา ต้องระมัดระวังไม่ให้บุ้งทะเลสัมผัสกับผิวหนัง หรือใช้มือเปล่าหยิบจับบุ้งทะเล หากถูกบุ้งทะเล ทำการแก้ไขได้โดยหยิบขนบุ้งออกให้หมด แล้วใช้ครีม หรือ ยาน้ำคาลาไมน์ ทาเพื่อบรรเทาอาการคัน และป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดตามมาได้
8.เพรียงหิน (Rock Barnacle)
เพรียงหินเป็นสัตว์จำพวกเดียวกับกุ้งและปู ที่มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปจากพวกกุ้งมาก โดยสร้างเปลือกหินปุนออกมาช่วยยึดติดอยู่กับที่ และห่อหุ้มร่างกายเอาไว้ ทำให้สามารถอาศัยอยู่บนบกได้เป็นเวลานาน เพรียงหินอาศัยอยู่ตามโขดหิน เสาสะพานท่าเรือ หลักโป๊ะ หลักเลี้ยงหอยแมลงภู่ ฟาร์มหอยนางรม หรืออาจพบเกาะอยู่บนสัตว์มีเปลือก เช่น หอย แมงดาทะเล ปู เป็นต้น เป็นสัตว์ที่พบบ่อย และพบชุกชุมตามริมชายฝั่งทะเลทั่วไป
การป้องกันและรักษา อันตรายที่อาจได้รับจากเพรียงหิน คือการถูกบาดจากเปลือกที่แหลมคม ขณะเดินไปตามโขดหินหรือจากการดำน้ำเก็บหอยแมลงภู่ เป็นต้น หากถูกเพรียงหินบาดให้ทำความสะอาดบาดแผล และใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น ยาแดง และเสียเลือดมากให้นำส่งแพทย์เพื่อเย็บบาดแผลนั้นทันที
9.ปู (Crab)
ปูเป็นสัตว์ที่วิวัฒนาการจากกุ้ง โดยมีส่วนท้องลดขนาดลง และพับอยู่ใต้อก ปูมีขาเดิน 5 คู่ คู่แรกเปลี่ยนแปลงไปเป็นก้ามใช้หนีบจับเหยื่อและป้องกันตัว ปูส่วนใหญ่มีก้ามแข็งแรง ใช้หนีบศัตรูให้ได้รับบาดเจ็บได้ โดยเฉพาะปูทะเล ปูม้า และปูใบ้ขนาดใหญ่ การจับปูเหล่านี้จึงต้องระมัดระวังโดยเฉพาะปูที่ยังมีชีวิตและถูกแก้มัดออกแล้ว ปูใบ้มีเปลือกแข็ง ก้ามแข็งแรงมาก เมื่อหนีบแล้วไม่ยอมปล่อยง่ายๆ
อย่างไรก็ตาม อันตรายจากปูหนีบนั้นยังไม่ร้ายแรงเท่ากับการบริโภคปูมีพิษ เช่นเดียวกับแมงดาไฟ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ตัวอย่างปูมีพิษได้แก่ ปูใบ้แดง (Artergatis intergerrimus) และปูใบ้ลาย(Lophozozymus pictor) เป็นต้น
พิษอันเกิดจากปูที่นำมาบริโภค บางครั้งอาจเกิดจากปุม้าหรือปูทะเลก็ได้ เช่น ปูม้าที่ไม่สด หรือปูที่มีดินตะกอนจากพื้นทะเลติดอยู่ตามลำตัว โดยเฉพาะบริเวณเหงือกปู เมื่อนำมาปรุงอาหาร แบคทีเรียจากปูที่ไม่สดและดินตะกอนจะทำให้เกิดอาการท้องเดินได้เช่นกัน บางคนอาจไม่สามารถบริโภคปูได้เลยเนื่องจากแพ้อาหารทะเล หากบริโภคเข้าไปจะทำให้เกิดเป็นผืนคัน หรือ บวมที่ใบหน้าและลำคอก็ได้
การบริโภคปูมีพิษ ในไม่กี่ชั่วโมงจะเกิดอาการบวมที่ริมฝีปาก ลิ้น ปาก ลำคอและใบหน้า ถ่ายท้อง ปวดท้อง และช็อค
การป้องกันและรักษา การป้องกันอันตรายจากปูคือการหลีกเลี่ยงบริโภคปูชนิดที่ไม่คุ้นเคย แต่หากบริโภคปูที่มีพิษเข้าไป ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว และควรนำตัวอย่างปูที่มีพิษนั้นไปด้วย
10.แมงดาทะเล (Horse-shoe crab)
แมงดาทะเลเป็นสัตว์ทะเลโบราณที่ยังคงเหลืออยู่ในโลกปัจจุบันเพียง 4 ชนิด ที่พบในทะเลไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือแมงดาจานหรือแมงดาหางเหลี่ยม (Tachypleus gigas) และ แมงดาถ้วยหรือแมงดาหางกลม (Carcinoscorpius rotundicauda) ทั้งสองชนิดมีความเป็นอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างกัน แมงดาจานอาศัยอยู่ตามพื้นทะเล วางไข่ตามริมชายฝั่งที่เป็นดินทราย ส่วนแมงดาถ้วยอาสัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นดินโคลนและตามลำคลองในป่าชายเลน
เท่าที่มีรายงานในประเทศไทย เฉพาะแมงดาหางกลมเท่านั้นที่อาจเป็นพิษ และมักเรียกชื่อแมงดาที่เป็นพิษว่าแมงดาไฟ หรือ เหรา จนบางครั้งทำให้เข้าใจสับสนว่า เหรา เป็นแมงดาชนิดที่สาม จากคำบอกเล่ามักอธิบายถึงลักษณะของเหราว่าตามลำตัวมีขนยาวที่นักอนุกรมวิธานได้ศึกษาแน่ชัดแล้วว่า แมงดาไฟ หรือ เหรา ก็คือแมงดาหางกลมบางตัวนั่นเอง การเป็นพิษนั้นจะเกิดเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - กันยายน เหตุที่แมงดาถ้วยมีพิษเป็นบางช่วงนี้ สันนิษฐานว่าเวลาดังกล่าวอาจมีการเจริญแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วของแพลงก์ตอนบางชนิด เช่น ไดโนแฟลกเจลเลต ที่สร้างสารพิษ แล้วแพลงค์ตอนชนิดดังกล่าวถูกกินโดยหอยหรือหนอนซึ่งเป็นสัตว์หน้าดิน เมื่อพิษเข้ามาสะสมในหอยหรือหนอนแล้วถูกกินโดยแมงดาทะเล พิษจึงมาสะสมอยู่ในเนื้อและไข่ของแมงดาถ้วย เมื่อคนบริโภคแมงดาถ้วยตัวที่มีสารพิษสะสมอยู่ จึงทำให้เกิดอาการพิษได้ แม้ว่าจะได้ปรุงไข่หรือเนื้อที่บริโภคให้สุดแล้วก็ตาม
อาการของคนที่บริโภคแมงดาถ้วยที่มีสารพิษเข้าไป จะทำให้เกิดอาการมึนงง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว ปากชาพูดไม่ได้ แขนขาอ่อนเปลี้ย กล้ามเนื้อไม่ทำงาน หมดความรู้สึกและอาจเสียชีวิตได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณที่บริโภคเข้าไปมากหรือน้อย
การรักษา เมื่อพบผู้ที่บริโภคแมงดาทะเลแล้วเกิดเป็นพิษ ให้ทำการล้างท้อง ทำให้อาเจียน และรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
11.หอยเต้าปูน (Cone shell)
หอยเต้าปูนเป็นหอยกาบเดี่ยวพวกหนึ่งที่ล่าจับสัตว์อื่นกินเป็นอาหาร ลักษณะเปลือกเป็นรูปกรวยคล้ายถ้วยไอศกรีมโคน (cone) ส่วนใหญ่มีเปลือกหนา ด้านหน้าของลำตัวมีท่อน้ำยื่นออกไปยาว และมีงวงยื่นอยู่ทางด้านใต้ของไซฟอนด้วย ตรงปลายงวงหอยเต้าปูนนี้เองมีฟันแหลมคล้ายลูกธนูซึ่งหอยใช้แทงเหยื่อ หอยเต้าปูนมีจำนวนราว 500 ชนิด บางชนิดมีต่อมน้ำพิษร้ายแรง เท่าที่มีรายงานในต่างประเทศมีไม่น้อยกว่า 10 ชนิดที่เคยต่อยคนทำให้เสียชีวิตมาแล้ว
หอยเต้าปูนมีพิษที่พบในน่านน้ำไทยมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ชนิดที่พบบ่อยได้แก่
- หอยเต้าปูนลายผ้า (Conus textile)
- หอยเต้าปูนลายแผนที่ (C. geographus)
- หอยเต้าปูนลายหินอ่อน (C.marmoreus)
- หอยเต้าปูนจักรพรรดิ (C.imperialis)
ตามปกติแล้วหอยเต้าปูนที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ จะใช้น้ำพิษเพื่อฆ่าเหยื่อ และโอกาสที่หอยจะทำอันตรายให้คนนั้นน้อยมาก นอกจากคนไปเก็บจับหอยเหล่านี้ด้วยมือเปล่าและถือเอาไว้ หอยจึงป้องกันตัวโดยใช้งวงที่มีฟันพิษแทงพิษที่เกิดจากหอยเต้าปูนต่อย จะทำให้เกิดอาการบวมแดง ตาพร่ามัว หายใจติดขัด หรือ เสียชีวิตได้
การรักษา การปฐมพยาบาลเมื่อถูกหอยเต้าปูต่อย คือ การปฏิบัติเช่นเดียวกับถูกงูกัด โดยใช้สายยางรัดแขนเพื่อไม่ให้พิษไหลเข้าสู่หัวใจ ให้ผู้ป่วยนอนและเคลื่อนไหวน้อยที่สุด แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยนำหอยไปด้วย แม้ว่าทางโรงพยาบาลจะไม่มีเซรุ่มแก้พิษของหอยเต้าปูนโดยตรง แต่แพทย์ก็อาจใช้เซรุ่มแก้พิษงู ที่อาจมีประสิทธิภาพคล้ายคลึงกันช่วยรักษา
12.หมึก (Cephalopod)
หมึกเป็นมอลลัสพวกหนึ่งที่มีวิวัฒนาการสูงกว่าหอยโดยสามารถเคลื่อนทีได้รวดเร็ว สามารถไล่ล่าสัตว์อื่นกินได้ ลำตัวไม่มีเปลือกด้านนอก แต่มีแกนค้ำจุนอยู่ภายใน หนวดของหมึกจำนวน 8 เส้นได้เปลี่ยนแปลงมาจากเท้าของหอย ภายในปากของหมึกมีขากรรไกรแข็ง ซึ่งหมึกใช้ขบกัดเหยื่อ ยิ่งไปกว่านั้นหมึกสายบางชนิด เช่น หมึกสายวงหมึก (Hapalochlaena naculosa) ซึ่งอาศัยอยู่ตามแนวปะการังของออสเตรเลียแต่ไม่พบในน่านน้ำไทย มีต่อมพิษที่สามารถทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
การรักษา เมื่อถูกหมึกกัดควรรีบห้ามเลือด ทำความสะอาดบาดแผล ใส่ยาฆ่าเชื้อ ถ้าบาดแผลมีขนาดใหญ่ควรรีบพบแพทย์ และถูกอวัยวะทรงกลมสำหรับใช้ดูดบนหนวดหมึก (suction cub) ดูดอาจทำให้เกิดอาการห้อเลือด ควรใช้น้ำเย็นปะคบ ดังนั้นการจับด้วยมือขณะที่หมึกยังมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมึกสาย อาจถูกกัดทำให้บาดเจ็บได้
13.ดาวหนาม (Clown-of-thorn sea star)
ดาวหนามหรือดาวมงกุฎหนามเป็นดาวทะเลชนิดหนึ่งที่มีแขนจำนวนมาก ตามผิวลำตัวมีหนามยาวประมาณ 1 นิ้วอาศัยอยู่ตามแนวปะการังโดยกินโพลิปปะการังเป็นอาหาร นักอนุรักษ์ธรรมชาติถือว่าดาวหนามเป็นตัวทำลายแนวปะการัง และพยายามควบคุมปริมาณดาวหนามให้ลดลง
นอกจากผลกระทบต่อระบบนิเวศในแนวปะการังแล้ว ดาวหนามยังเป็นอันตรายต่อนักดำน้ำและชาวประมงที่ดำน้ำอยู่บริเวณปะการังด้วย เพราะหากเหยียบลงไปบนตัวดาวหนามแล้วจะทำให้เกิดบาดแผล และได้รับความเจ็บปวด
การรักษา เมื่อถูกหนามของดาวทะเลนี้ตำ แผลจะบวมแดง ถ้าหนามหักคาต้องผ่าหรือถอนออก ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด แช่ส่วนที่ถูกตำด้วยน้ำร้อน 50-60 องศาเซลเซียส ใช้ยาฆ่าเชื้อใส่บริเวณบาดแผล เพื่อป้องกันการอักเสบ
14.เม่นทะเล (Sea urchin)
เม่นทะเลเป็นสัตว์มีหนามตามผิวลำตัวเช่นเดียวกับดาวทะเล แต่เม่นทะเลมีหนามยาวจำนวนมาก ชนิดที่พบชุกชุมในแนวปะการังของชายฝั่งทะเลไทยคือเม่นดำหนามยาว (Diadema setosum) มีหนามขนาดยาวอยู่รอบตัว การเล่นน้ำ ดำน้ำในบริเวณที่มีเม่นทะเล คลื่นอาจซัดให้โยนตัวไปเหยียบย่ำหรือนั่งทับเม่นทะเลได้
หนามของเม่นทะเลมักเปราะหักง่าย เมื่อฝังอยู่ในเนื้อไม่สามารถบ่งออกได้อย่างเสี้ยนหรือหนามจากพืช เม่นทะเลบางชนิดมีต่อมน้ำพิษด้วยเมื่อถูหนามเม่นตำแล้ว น้ำพิษยังอาจเข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดอาการอักเสบ บวมแดง เจ็บปวดและเป็นไข้ได้ นอกจากหนามที่แหลมคมแล้วเม่นทะเลยังมีโครงสร้างพิเศษที่เรียกว่า เพดิเศลลาเรีย (อี) (pedicellariae) กระจัดกระจายแทรกอยู่ระหว่างหนามตรงปลายมักมี 3 แฉกคล้ายคีม ซึ่งทำหน้าที่เก็บเศษอินทรีย์และจุลินทรีย์ออกจากผิวลำตัว เพดิเศลลาเรียในเม่นทะเลบางชนิดมีต่อมน้ำพิษอยู่ด้วย ดังนั้นอันตรายจากเม่นทะเลจึงไม่เฉพาะหนามเพียงอย่างเดียว
หนามของเม่นทะเลจะทำให้เกิดอาการบวมแดง ชา เป็นอยู่นานประมาณ 30 นาที จนถึง 4-6 ชั่วโมง และหนามจะย่อยสลายไปภายใน 24 ชั่วโมง
การป้องกันและรักษา โดยปกติเม่นทะเลมักไม่เป็นอันตรายต่อนักดำน้ำ ถ้าไม่เข้าไปใกล้ หรือ จับต้อง เมื่อถูกหนามเม่นทะเลตำให้ถอนหนามออก ถ้าทำได้ หากถอนไม่ออกให้พยายามทำให้หนามบริเวณนั้นแตกเป็นชิ้นเล็กๆ โดยการบิดผิวหนังบริเวณนั้นไปมา หรือ แช่แผลในน้ำร้อนประมาณ 50 องศาเซลเซียส เพื่อช่วยให้หนามย่อยสลายได้เร็วขึ้น แต่หนามบางชนิดอาจไม่ย่อยสลาย ต้องผ่าออก
15.ปลากระเบน (Ray)
ปลากระเบนเป็นปลากระดูกอ่อน ลำตัวแบนด้านบนด้านล่าง รูปร่างค่อนข้างกลมและมีหางยาว ปากของปลากระเบนอยู่ทางด้านล่าง อาหารของปลากระเบนส่วนใหญ่เป็นสัตว์หน้าดินต่างๆ ปลากระเบนมีการป้องกันตัวด้วยการมีเงี่ยงแหลมคมอยู่บริเวณโคนหาง ผู้ที่เดินลุยน้ำอยู่ริมชายฝั่งทะเล จึงอาจเหยียบไปบนตัวปลากระเบนที่หมกตัวอยู่ตามพื้นทะเล และถูกเงี่ยงตำได้รับความเจ็บปวด ในแนวปะการังของไทย มีปลากระเบนทอง (Taeniura lymna) อาศัยอยู่ตามแนวปะการังทั่วไป ผู้ที่ดำน้ำลงไปในบริเวณดังกล่าว จึงมีโอกาสถูกเงี่ยงของปลากระเบนทองตำได้เช่นเดียวกัน
เมื่อถูกเงี่ยงของปลากระเบนตำจะได้รับพิษทำให้เกิดอาการปวดอย่างแรง บางครั้งอาจทำให้เกิดอาการช็อค หมดสติ และเสียชีวิตได้
การรักษา การปฐมพยาบาลในขั้นแรก คือ ห้ามเลือดที่บาดแผล แล้วตรวจดูว่ามีเศษของเงี่ยงพิษตกค้างอยู่รึไม่ เนื่องจากพิษของเงี่ยงปลากระเบน เป็นสารพวกโปรตีนย่อยสลายในความร้อน ดังนั้นควรแช่บาดแผลในน้ำร้อนเท่าที่จะทนได้ ประมาณ 30-60 นาที อาการปวดจะทุเลาบริโภคยาแก้อักเสบ หากมีอาการแพ้มากควรรีบส่งแพทย์
16.ปลากระเบนไฟฟ้า (Electric ray)
ปลากระเบนไฟฟ้ามีลำตัวแบนค่อนข้างกลม มีอวัยวะผลิตกระแสไฟฟ้าประกอบด้วยเซลล์รูปหกเหลี่ยม เรียงซ้อนกันเป็นกลุ่มตั้งอยู่ทางด้านข้างของตาถัดไปถึงครีบอก ภายในมีสารเป็นเมือกคล้ายวุ้น ทำหน้าที่เป็นตัวผลิตกระแสไฟฟ้าจะวิ่งจากด้านล้างขึ้นไปด้านบนภายใต้การควบคุมของสมอง
การปล่อยกระแสไฟฟ้าเกิดขึ้นเมื่อได้รับการกระตุ้น หรือถูกรบกวน ตามปกติใช้เพื่อล่าเหยื่อหรือทำร้ายศัตรู หากคนไปเหยียบปลากระเบนไฟฟ้าที่หมกตัวอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ กระแสไฟฟ้าที่ปล่อยออกมามักมีกำลังไฟประมาณ 40-100 โวลต์ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการชา จนอาจจมน้ำได้
การป้องกันและรักษา หากทราบว่าในบริเวณใดมีปลากระเบนไฟฟ้าอาศัยอยู่ ควรหลีกเลี่ยงในการลงเล่นน้ำในบริเวณดังกล่าว เนื่องจากกระแสไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาอาจทำให้หมดสติ เมื่อนำผู้ป่วยขึ้นบนผิวน้ำ และช่วยให้ผู้ป่วยหายใจ (CPR) แล้วนำส่งโรงพยาบาล
ปลากดและปลาดุก (Catfish)
ปลากดเป็นปลากระดูกแข็งที่พบในน้ำจืด และในทะเลลักษณะลำตัวค่อนข้างกลมเรียวหัวค่อนข้าง ใหญ่ บริเวณคางมีหนวดใช้รับสัมผัสดมกลิ่นเหยื่อตามพื้นทะเล ครีบหูและครีบหลังมีก้านครีบแข็งเป็นเงี่ยงซึ่งมีต่อมน้ำพิษอยู่ด้วย การถูกเงี่ยงของปลากดตำจึงทำให้เกิดอักเสบ เป็นไข้หรือมีการติดเชื้อบาดทะยักตามมา บางคนอาจแพ้จนถึงแก่ชีวิตได้ การเดินลุยน้ำด้วยเท้าเปล่าไปตามชายฝั่งทะเลที่เป็นดินโคลนหรือในป่าชายเลนจึงควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจเยียบย่ำไปบนก้านครีบหลัง ถุกทิ่มแทงเข้าผิวหนังคล้ายถูกตะปูตำหรือแม้แต่การจับปลาที่ติดอวนปลาที่นำมาบริโภคล้วนแล้วแต่เป็นอันตรายทั้งสิ้น หากขาดความระมัดระวัง
ปลาดุกเป็นปลาที่หากินอยู่ตามพื้นทะเลเช่นเดียวกับปลากด บางชนิดอยู่รวมกันเป็นฝูง เช่น ปลาดุกปิ่นแก้ว (Plotosus anguillaris) ปลาเหล่านี้มีเงี่ยงพิษบริเวณครีบหลังและครีบอก อันตรายที่อาจเกิดขึ้นลักษณะเดียวกับปลากด
การป้องกันและรักษา หากไม่จำเป็นอย่าจับปลาชนิดนี้ในขณะที่มีชีวิต ควรปล่อยให้ตายก่อน หรือไม่ควรไปเล่นกับมัน การรักษาเช่นเดียวกับการถูกเงี่ยงปลากระเบน
17.ปลาสิงโต (Lion fish)
ปลาสิงโตเป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามแนวปะการัง ว่ายน้ำเชื่องชา มักถูกจับมาเลี้ยงเป็นปลาตู้ สวยงาม จึงมักพบปลาชนิดนี้เลี้ยงเป็นปลาตู้สวยงาม น้ำเค็มแทบทุกแห่ง ปลาสิงโตมีครีบหลังและครีบอกยาว ประกอบด้วยก้านครีบแข็งขนาดยาวหลายเซนติเมตร ก้านครีบแข็งนี้มีอันตรายมาก สามารถทิ่มแทงเข้าสู่ผิวหนังของคนได้ลึกและมีต่อมน้ำพิษที่ทำให้เจ็บปวดรุนแรง
การป้องกันและรักษา ระวังอย่าจับปลาชนิดนี้ควรปล่อยให้ตาย หรือไม่ควรไปเล่นกับมัน การรักษาเช่นเดียวกับการถูกเงี่ยงปลากระเบน
18.ปลากะรังหัวโขน (Stonefish)
ปลาชนิดนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับปลาสิงโตและปลาแมงป่อง มีหัวขนาดใหญ่ ปากกว้าง มักนอนสงบนิ่งอยู่ตามพื้นทะเล เพื่อรอให้เหยื่อว่ายผ่านมา ปลาจะพุ่งตัวฮุบเหงื่อกินทั้งตัว ปลาชนิดนี้แม้ว่ายถูกจับมาได้ก็ไม่นิยมนำมาบริโภคปลากะรังหัวโขน มีรูปร่างคล้ายคลึงกับก้อนหิน มองดูกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ทำให้มองไม่เห็น จึงไม่เพียงทำให้เกิดบาดแผลเท่านั้น ที่ก้านครีบของปลาชนิดนี้ยังมีพิษที่เป็นอันตรายรุนแรงอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
การป้องกันและรักษา ระวังอย่าจับปลาชนิดนี้ หรือไม่ควรไปเล่นกับมัน การรักษาเช่นเดียวกับการถูเงี่ยงปลากระเบน
19.ฉลาม (Shark)
ปลาฉลามเป็นปลาที่คนโดยทั่วไปเข้าใจว่าเป็นสัตว์ดุร้าย หรือเป็นปลากินคน ความจริงแล้วปลาฉลามเป็นสัตว์กินเนื้อพวกหนึ่ง ซึ่งมีฟันแหลมคมไว้ช้ล่าเหยื่อเป็นอาหารแต่ก็มีบ่อยครั้งที่ปลาฉลามขนาดใหญ่เข้าจู่โจมกัดนักดำน้ำหรือผุ้คนที่เล่นน้ำอยู่ตามชายหาด ด้วยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาหาร ส่วนใหญ่แล้วข่าวเกี่ยวกับปลาฉลามกินคนหรือกัดนักประดาน้ำ นักท่องเที่ยว ที่เล่นน้ำตามชายหาด เกิดเฉพาะในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ฮ่องกง ตัวอย่างฉลามที่มีความดุร้ายและมีรายงานกัดคนได้แก่ ฉลามกินคน (mackeral shark) ฉลามขาว (white shark) ฉลามหัวฆ้อน(hammerhead shark) เป็นต้น
การป้องกันและรักษา ควรหลีกเลี่ยงการเล่นน้ำ หรือ ดำน้ำในบริเวณที่มีฉลามชุกชุม และไม่ควรแสดงอาการตื่นกลัวเมื่อพบฉลาม หลีกเลี่ยงการกระตุ้นความสนใจของฉลามเช่น ยิงปลา เพราะเลือดและการดิ้นของปลาจะกระตุ้นความสนใจของปลาฉลาม หากถูกฉลามกัดต้องพยายามห้ามเลือดทุกวิธี นำผู้บาดเจ็บขึ้นจากน้ำ หากหมดสติให้ออกซิเจนส่วนมากผู้ป่วยเสียชีวิตเนื่องจากเสียเลือด ดังนั้นการห้ามเลือดได้ดีจะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ดีที่สุด แล้วนำส่งโรงพยาบาล
20.ปลาไหลมอร์เลย์ (Morley eel)
ปลาทะเลในแนวปะการังหลายชนิดเป็นสัตว์กินเนื้อ และมีฟันแหลมคม โดยเฉพาะปลาไหลมอร์เลย์ซึ่งซ่อนตัวอยู่ตามโพรงหินปะการังและโผล่หัวออกมาเฝ้าระวังเหยื่อหรือศัตรู หากนักดำน้ำหรือผู้ที่ว่ายน้ำผ่านบริเวณที่ปลาอาศัยอยู่ ปลาก็อาจพุ่งตัวออกมาฉกกัดคล้ายงูได้ แม้ว่าปลาไหลมอร์เลย์จะไม่มีเขี้ยวพิษอย่างงูทะเล แต่เมือกในปากของปลาก็เป็นพิษอ่อนๆ
การป้องกันและรักษา ถ้าพบปลาไหลอย่าเข้าใกล้ อย่าล้วงมือเข้าไปในโพรงหิน หรือซากเรือจม อย่าเล่นกับปลาไหลที่ไม่คุ้นเคย เมื่อถูกกัดจะเกิดบาดแผลลึกจากเขี้ยวของปลา ทำให้เลือดออกมาก และอาจหมดสติได้ ต้องนำผู้ป่วยขึ้นจากน้ำ ห้ามเลือด และรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์โดยเร็ว แผลที่ถูกกัดมักมัขนาดลึกต้องรีบทำความสะอาดแผลให้ทั่วถึง
21ปลาปักเป้า (Puffer fishes)
ปลาปักเป้าเป็นปลาที่รู้จักกันดีว่ามีพิษโดยเฉพาะอย่างไข่ ตับ ลำไส้ ผิวหนัง ส่วนเนื้อปลามีพิษน้อย การนำปลาปักเป้ามาบริโภค ถ้าการเตรียมก่อนนำไปปรุงไม่รู้วิธีที่ถูกต้อง ทำให้พิษที่อยู่ในอวัยวะภายในปนเปื้อนเนื้อปลา ทำให้ผู้บริโภคได้รับสารพิษเกิดอาการชาที่ริมฝีปาก มีอาการคันแสบร้อนที่ผิวหนังและตา คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน ขาอ่อนแรง หรือเกิดอัมพาต กลืนลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เจ็บอก ความดันเลือดสูง จนถึงขั้นหยุดหายใจและเสียชีวิต พิษของปลาปักเป้าเป็นสารเตโตรโดทอกซิน (tetrodotoxin) ตัวอย่างปลาปักเป้าที่มีพิษได้แก่ ปักเป้าดำ ปักเป้าหนามทุเรียน
การป้องกันและรักษา งดบริโภคอาหารแปลกๆ ถ้าไม่แน่ใจให้ถามชาวประมง หรือคนในท้องถิ่น ถ้าหากได้รับสารพิษพยายามให้ผู้ป่วยอาเจียน โดยวิธีล้วงคอ หรือให้ผู้ป่วยดื่มผงถ่านกัมมันต์ ผสมน้ำ อัตราส่วน 10 กรัม ต่อน้ำ 100 มล. เพื่อดูดซับสารพิษที่ตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร ไม่ให้ดูดซึมเข้าร่างกาย แล้วรีบนำส่งแพทย์
22.งูทะเล (Sea snake)
งูทะเลมีลักษณะต่างจากงูบกคือ ลักษณะลำตัวส่วนท้ายค่อนข้างแบนทางด้านข้างจนถึงปลายหางคล้ายใบพายเพื่อใช้สำหรับว่ายน้ำ งูทะเลทุกชนิดมีพิษอยู่ที่เขี้ยวที่ปาก บางชนิดว่ายน้ำเหมือนอย่างปลา และบางชนิดขึ้นมาวางไข่บนชายฝั่งเช่นเดียวกับเต่าทะเล
พิษของงูทะเลมีอันตรายร้ายแรงมาก แม้จะถูกนำขึ้นมาบนบกแล้วก็ไม่ควรใช้มือจับ การเดินไปตามแนวปะการังควรใส่รองเท้ายางหุ้มข้อ งูที่ตายแล้วก็ยังต้องระวังพิษจากเขี้ยวที่สามารถออกฤทธิ์ได้ น้ำจากพิษงูทะเลมีผลโดยตรงต่อระบบกล้ามเนื้อ ทำให้ปัสสาวะของผู้ป่วยจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลภายในเวลา 3-5 ชั่วโมง เนื่องจากเม็ดสีถูกปล่อยออกมาจากเซลล์กล้ามเนื้อที่ถูกทำลาย มีการหายใจขัด หรือการทำงานของหัวใจล้มเหลว
งูทะเลที่พบในน่านน้ำไทยมีอยู่หลายชนิด บางชนิดมีพิษ บางชนิดที่พิษอ่อนหรือไม่มีพิษ ตัวอย่างเช่น งูแสมบัง งูแสมรัง งูคออ่อน งูผ้าขี้ริ้ว งูชายธง เป็นต้น รายละเอียดดูได้จากบทความเรื่องของงู
การป้องกันและรักษา ควรหลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำในบริเวณที่มีงูชุกชุม หากมีผู้ถูกงูทะเลกัด ควรให้ผู้ป่วยนอนนิ่งๆ และไม่ควรให้บาดแผลที่ถูกกัดเพื่อชะลอการไหลของเลือกพยายามอย่าให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหว ทำความสะอาดแผลและรีบนำส่งแพทย์โดยเร็วที่สุด ในประเทศไทยยังไม่มีเซรุ่มใช้กับงูทะเล แต่อาจใช้เซรุ่มสำหรับผุ้ป่วยที่ถูกงูสามเหลี่ยมกัดแทนได้
เอกสารอ้างอิง
1.ปลาวาฬ. คู่มือดำน้ำแบบสคูบ้า. กรุงเทพฯ: พีรุ่งโรจน์การพิมพ์ ; 2533. 184 หน้า
2.มุกดา ตฤษณานนท์, บุญยืน ทุมวิภาค, ทัศนีย์ จงศุภชัยสิทธิ์, สารรัตน์ ยงใจยุทธ, วิชัย รุ่งปิตะรังสี, วีรวิทย์ บุญยพิศิษฏ์. สัตว์มีพิษและการรักษาพิษสัตว์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พิฆเณศ; 2522. 201 หน้า.
3.โอภาส ขอบเขตต์, ยอดชาย ช่วยเงิน, เพ็ญศรี ขอบเขตต์. สัตว์ป่าที่เป็นภัยต่อนักท่องเที่ยว. วารสารเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม 2544;3:305-14.
4.Caras R. Venomous animals of the world. Prentice-Hall; 1974.
5.Halstead BW. Poisonous and venomous marine animals of the world. Princeton: The Darwin Press; 1978.
6.Ming CL. A Guide to the Dangerous Marine Animals of Singapore.Singapore Science Centre; 1993.
ที่มา: The Journal of Environmental Medicine. Vol.3 No.2 Jul.-Dec. 2001. Page 315-326.
ขอบคุณข้อมูล จาก ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา