“งานประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่าและแข่งเรือยาว“ ริมแม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
นายประภาส อินทนปสาธน์ ผู้อำนวนการ ททท. สำนักงานสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ถึงช่วงเทศกาลออกพรรษาของทุกปี ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะจัดให้มีงานบุญประเพณีที่ยิ่งใหญ่ขึ้น คือ “งานประเพณีชักพระ - ทอดผ้าป่าและแข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน ฯ” เพื่อการร่วมทำบุญและร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในเทศกาลออกพรรษา ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐ / เอกชน และประชาชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
หากกล่าวถึงประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่าและแข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน ฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานีถือเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ ซึ่งได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษผ่านกาลเวลามาช้านาน มีกำหนดจัดขึ้นในช่วงเทศกาลวันออกพรรษา เป็นเวลารวม ๙ วัน ๙ คืน โดยกว่าหนึ่งเดือนก่อนถึงวันออกพรรษา ทางวัดและชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ทั่วทั้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี จะช่วยกันจัดเตรียมรถพนมพระและเรือพนมพระ ซึ่งวัดที่อยู่ติดแม่น้ำลำคลองก็จะใช้เป็นเรือพนมพระ ในขณะเดียวกันบางวัดก็มีทั้งรถและเรือ นำมาประดับตกแต่งลวดลายอย่างประณีตงดงามตามจินตนาการบวกกับความคิดสร้างสรรค์และภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นรูปสัตว์ในวรรณคดี บ้างเป็นพญานาค หงส์ พญาครุฑ บ้างหนุมาน นัยว่าเป็นราชพาหนะของพระพุทธเจ้า จากนั้นก็นำบุษบกขึ้นประดับ ก่อนนำพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกเพื่อทำการสรงน้ำ และพร้อมที่จะร่วมขบวนแห่ในวันแรม๑ ค่ำ เดือน ๑๑ (หลังวันออกพรรษา ๑ วัน) ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังโลกมนุษย์ และหากกล่าวถึงเรือพนมพระ ซึ่งเป็นการชักพระทางน้ำนั้น ทาง ททท. สำนักงานสุราษฎร์ธานี เป็น ผู้รื้อฟื้นขึ้นมา โดยการสนับสนุนวัดต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลำคลอง ในการจัดสร้างทุ่นเหล็กสำหรับการจัดทำเรือพนมพระ และในวันออกพรรษา คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๘) จะมีการประดับประดาตกแต่งพุ่มผ้าป่า เรียกว่า “พุ่มผ้าป่าหน้าบ้าน” ซึ่งมีเพียงที่เดียวในประเทศไทย ขึ้นในเขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ทั่วทุกมุมเมือง ตามหน้าหน่วยงาน ฯ องค์กร ฯ สถานศึกษา ห้างร้าน อาคารบ้านเรือนต่าง ๆ โดยการจำลองฉากเป็นภาพพุทธประวัติ หรือพุทธชาดก ประดับประดาตกแต่งด้วยวัสดุต่าง ๆ รวมทั้ง แสง สี เสียง มีต้นไม้สำหรับแขวนเครื่องอัฏฐะบริขาร ทำให้ภายในคืนออกพรรษาทั่วเขตตัวเมืองสุราษฎร์ธานี จึงสวยงามด้วยพุ่มผ้าป่าที่ประดับประดาด้วยดวงไฟและภาพพุทธประวัติที่สวยงาม ประชาชนทั่วไปและมีนักท่องเที่ยวจะออกมาเดินชื่นชมกันเกือบทั้งคืน และในรุ่งเช้าของวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ เวลาประมาณ ๕ นาฬิกา (วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๘) พระสงฆ์จากวัดต่าง ๆ จะทยอยกันออกมาทำการชักพุ่มผ้าป่าตามหมายเลขพุ่มที่ได้รับ มีการถวายภัตตาหารและพระสงฆ์ให้พรญาติโยม เวลา ๘ นาฬิกา ก็จะถึงเวลาชักพระ หรือลากพระ ขบวนรถพนมพระที่ทยอยมาตั้งขบวนตั้งแต่เย็นวันออกพรรษา ก็จะเริ่มทำการพระแห่ไปตามเส้นทางต่าง ๆ ในเขตตัวเมืองสุราษฎร์ธานี โดยการชักลากของชาวบ้านจากชุมชนของวัดต่าง ๆ รวมกว่าร้อยวัด มีขบวนแห่ที่สวยสดงดงามประกอบกับการแสดงต่าง ๆ โดยมีชาวบ้านและนักท่องเที่ยวต่างยืนรอชมความงดงาม บ้างก็เข้าไปร่วมชักลากและร่วมสมโภชทำบุญตลอดเส้นทางที่ขบวนผ่าน ขณะเดียวกันขบวนเรือพนมพระก็จะตั้งริ้วขบวนล่องมาตามลำน้ำตาปี นับเป็นภาพที่สวยงามและหาชมได้ยาก เป็นที่ประทับใจแก่ผู้เฝ้ารอชม โดยขบวนรถพนมพระและเรือพนมพระจะไปจอดเคียงข้างกันที่บริเวณริมแม่น้ำตาปี ตั้งแต่แยกตลาดสดเทศบาล ถึงบริเวณแยกนริศ ส่วนในแม่น้ำตาปีจะมีการแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน ฯ ซึ่งมีความสนุกสนานเร้าใจไม่แพ้สนามอื่น ๆ ขบวนเรือพนมพระและรถพนมพระจะจอดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวไปร่วมทำบุญกันได้ตลอดระยะเวลาการจัดงาน โดยการการหยอดเหรียญลงในบาตร นับเป็นการทำบุญได้ถึงร้อยวัดภายในวันเดียว และนี่คือความมหัศจรรย์แห่งเมืองคนดี ดังคำขวัญที่ว่า...
“เที่ยวเมืองร้อยเกาะ เลาะคลองร้อยสาย ไหว้พระร้อยวัด มหัศจรรย์เมืองคนดี” สำหรับในปี ๒๕๕๘ นี้ งานประเพณีชักพระฯ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๔ ตุลาคม - ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ บริเวณริมแม่น้ำตาปี ถนนหน้าเมือง และถนนบ้านดอน (ตั้งแต่สนามข้างโรงแรมวังใต้ถึงแยกนริศ) มีกิจกรรมต่าง ๆ ในการสมโภชมากมาย อาทิ การประกวดพุ่มผ้าป่าชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพ ฯ การประกวดเรือพนมพระและรถพนมพระชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพ ฯ, การแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน ฯ , การจัดถนนวัฒนธรรม, การแสดงแสง สี เสียงในแม่น้ำตาปี การแสดงทางวัฒนธรรมท้องถิ่น, การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน นิทรรศการภาพถ่าย กิจกรรมการท่องเที่ยว เป็นต้น
ในส่วนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุราษฎร์ธานี ได้ร่วมกับพันธมิตรทางการท่องเที่ยวกำหนดจัดกิจกรรม “ ไหว้พระร้อยวัด มหัศจรรย์เมืองคนดี” ขึ้นดังเช่นทุกปี โดยการจัดนำนักท่องเที่ยวกลุ่มสนใจทางศาสนา กลุ่มครอบครัวจากพื้นที่ต่าง ๆ ที่ตอบรับมาแล้ว จำนวน 800 คน เดินทางมาในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในช่วงงานประเพณีชักพระ ฯ เพื่อสัมผัสและเรียนรู้เกี่ยวกับประเพณี / วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาว สุราษฎร์ธานี รวมทั้งได้ร่วมสืบสานการจัดทำพุ่มผ้าป่าหน้าบ้านเข้าร่วมการประกวดด้วยเช่นทุกปี