เปิดให้ชมแล้ว! 'อุทยานบัว' แหล่งรวบรวมพันธุ์บัว ม. เกษตรฯ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร
เปิดให้ชมแล้ว!!!อุทยานบัว แหล่งรวบรวมพันธุ์บัว และเรียนรู้พันธุ์ไม้น้ำ ที่ ม. เกษตรฯ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร
“บัว” เป็นพันธุ์ไม้น้ำที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ราชินีของพรรณไม้น้ำ” มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ได้จัดสร้างอุทยานบัว ให้เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์บัวทั้งในและต่างประเทศในพื้นที่ 50 ไร่ และมีพันธุ์บัวมากกว่า 34 สายพันธุ์ พร้อมการแสดงพันธุ์บัวในกระถางกลางแจ้ง 74 พันธุ์ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้พันธุ์ไม้น้ำซึ่งผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมายาวนาน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเปิดอุทยานบัว และทอดพระเนตรภาพวาดบัวของศิลปิน นิทรรศการบัว ส่วนแสดงพันธุ์บัว รวมทั้งทอดพระเนตรตัวอย่างผลงานวิจัยการใช้ประโยชน์จากบัว ณ อุทยานบัว อุทยานหนองหารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดสกลนคร โดยมีนายอดิศักด์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ รศ.ดร.วิไลศักดิ์ กิ่งคำ รักษาการแทนรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร พร้อมด้วย ข้าราชการ บุคลากร และนิสิต เฝ้ารับเสด็จ ฯ ณ อุทยานหนองหารเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559
โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกบัวผัน – เผื่อน “สุทธาสิโนบล” (N.Sutdhadinobol) ซึ่งเป็นชื่อของ บัวผัน – เผื่อน ที่มีการนำเข้ามาสู่ประเทศไทยจากหมู่เกาะชวา เมื่อ พ.ศ.2444 ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมมาจากทวีปแอฟริกา โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nymphasea capensis var.zanaibariensis (นิมเฟียคาร์เพนซิส วาไรตี้ แซนซิบาร์เรนซิส) โดย พระวิมาดาเธอกรมขุนสุทธาสินีนารถ จึงเป็นที่มาของชื่อสามัญของบัวพันธุ์นี้ในไทย เพราะทรงดอก กลีบดอกซ้อนมาก และมีสีฟ้าอมม่วงเนียนสวยหวาน (ลาเวนเดอร์) ที่แตกต่างจากบัวผัน – เผื่อน ที่มีอยู่ในประเทศไทยสมัยนั้น
บัวผัน-เผื่อน ถือเป็นพันธุ์บัวต้นแรก ๆ ที่มีหลักฐานบันทึกว่าได้มีการนำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นทางการ และเป็นเวลานานถึง 105 ปี (นับถึงปี 2559) และเป็นบัวพันธุ์ที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมของพื้นที่อุทยานบัวได้เป็นอย่างดี เพราะฟื้นตัวได้เร็วที่สุดในบรรดาบัวที่นำมาปลูกศึกษา เมื่อปี 2553
ความเป็นมาอุทยานบัว
อุทยานบัว มีพื้นที่ทั้งหมด 50 ไร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานหนองหารเฉลิมพระเกียรติ เดิมเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำและแปลงปลูกบัว ต่อมาปี 2548 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ได้เริ่มนำบัวพันธุ์ต่าง ๆ มาทดลองปลูก และเริ่มทำวิจัยเกี่ยวกับพันธุ์บัวและการใช้ประโยชน์จากบัวพันธุ์ต่าง ๆ ต่อมาปี 2551 ปรับปรุงพื้นที่เพื่อนำบัวพันธุ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธุ์บัวหลวงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้ทำการวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง จนปี 2552 ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ร่วมกับสมาคมบัวแห่งประเทศไทยและกลุ่มผู้รักบัว ได้ริเริ่มดำเนินการโครงการสร้างอุทยานบัว เพื่อให้เป็นสถานที่จัดงานมหกรรมบัวนานาชาติ เมื่อปี 2553 โดยใช้งบประมาณจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ ออกแบบและพันธุ์ไม้ต่าง ๆ จากสวนนงนุช และทางจังหวัดได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
อุทยานบัว แบ่งเป็น 5 ส่วนสำคัญ คือ
ส่วนรวบรวมพันธุ์บัว ได้รวบรวมพันธุ์บัวทั้งในและต่างประเทศ มากกว่า 34 พันธุ์ เช่น บัวกระด้ง บัวสาย บัวผัน-เผื่อน และบัวฝรั่ง รวบรวมไว้ในรูปแบบสระบัวบนพื้นที่ 10 ไร่ โดยมีทางเดินที่สามารถเดินลงไปชมบัวได้อย่างใกล้ชิด
ส่วนแสดงพันธุ์บัว ได้นำบัวสายพันธุ์ต่าง ๆ จำนวน 74 สายพันธุ์มาจัดแสดงในกระถางกลางแจ้ง เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัย และประชาชนที่มาชมสามารถถ่ายภาพกับดอกบัวที่มีสีสันสวยงามอย่างใกล้ชิด พร้อมพร้อมป้าย อธิบายชื่อวิทยาศาสตร์สายพันธุ์บัว
ส่วนนิทรรศการถาวร เป็นส่วนที่รวบรวมองค์ความรู้และความเป็นมาเกี่ยวกับบัวพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ผู้เข้ามาศึกษา ค้นคว้า ได้เป็นอย่างดี ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับบัวต่าง ๆ เช่น การจำแนกพันธุ์บัว ประวัติบัวในประเทศไทย การปลูกบัว การดูแลรักษา โรคและศัตรูที่สำคัญ การปรับปรุงพันธุ์ การทำนาบัว และประโยชน์จากบัว
ส่วนแสดงบัวธรรมชาติ ที่จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ และปลูกบัวหลากหลายพันธุ์ให้เจริญเติบโตมีความสวยงามตามธรรมชาติและเพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัยบัวสายพันธุ์ต่างๆ
ส่วนนาบัวสลับนาข้าว เป็นพื้นที่ปลูกบัวเพื่อสร้างเศรษฐกิจ
“บัว” ราชินีของพรรณไม้น้ำ
“บัว” จัดเป็นพันธุ์ไม้น้ำที่รับได้การยกย่องว่าเป็น “ราชินีแห่งพรรณไม้น้ำ” เนื่องจากมีความงดงามของดอกบัวหลวงและบัวสายที่ชูบนผิวน้ำ หรือเหนือผิวน้ำ ลักษณะดอกมีขนาดใหญ่เห็นได้ชัดเจนมีสีสันที่สดสวยหลากหลาย
คนไทยรู้จัก “บัว” มานานมาก จากศิลาจารึกที่มีอายุมากกว่า 600 ปี ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้บันทึกถึงบัวหลายชนิด และยังพบในพระไตรปิฎก ในวรรณคดี บทประพันธ์ ตลอดจนภาพวาดในวัดและศิลปะอื่น ๆ อีกมากมาย คนไทยรู้จักนำ “บัว” มาใช้ประโยชน์โดยเฉพาะทางพุทธศาสนิกชน นิยมนำดอกบัวหลวงมาใช้บูชาพระและพิธีทางศาสนา แม้แต่ประเทศอินเดีย ที่กำเนิดของศาสนาพุทธ ก็ใช้ดอกบัวหลวงเป็นดอกไม้ประจำศาสนาพุทธ และเป็นดอกไม้ประจำชาติ ส่วน “บัวสาย” ก็เช่นกันเป็นพืชที่มีกำเนิดมายาวนาน และยังเป็นดอกไม้ประจำชาติของอียิปต์
ทั้งบัวหลวงและบัวสาย เป็นพืชที่มานานแล้ว และหลักฐานทางพฤกษศาสตร์ ก็จัดให้พืชในวงศ์บัวหลวงและบัวสายอยู่ในอันดับแรก ๆ ของอาณาจักรพืช และจัดว่าเป็นพืชที่มีวิวัฒนาการต่ำสุดของกลุ่มพืชมีดอกประเภทพืชใบเลี้ยงคู่
วงศ์บัวหลวง ลักษณะทั่วไปมีทั้งลำต้นเป็นเหง้าในดิน และไหล เหนือดินใต้น้ำใบเดี่ยวแตกจากข้อของลำต้นใต้ดิน ในประเทศไทยมีหลายสายพันธุ์ เช่น บัวหลวงพันธุ์ดอกสีชมพู บัวหลวงพันธุ์ดอกสีชมพูซ้อน บัวหลวงพันธุ์ดอกเล็กสีชมพู บัวหลวงพันธุ์ดอกสีขาว บัวหลวงพันธุ์ดอกสีขาวซ้อน บัวหลวงพันธุ์ดอกเล็กสีขาว ซึ่งแต่ละสายพันธุ์จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น สัตตบงกช สัตตบุษย์ บัวหลวงจีนชมพู เป็นต้น
วงศ์บัวสาย ลักษณะทั่วไป ลำต้นอยู่ในดินใต้น้ำ ลักษณะเป็นเหง้า หรือเป็นหัว มี 6 สกุล คือ สกุลไส้ปลาไหล สกุลบัวยูรีอาเล่ สกุลนูพ่าร์ สกุลออนดิเนีย สกุลบัววิกตอเรีย (บัวกระด้ง) และสกุลบัวสาย
ประโยชน์ของบัว ปลูกเป็นไม้ประดับ รับประทานเป็นอาหาร ทั้งสดและสุก เหง้า เมล็ด ดีบัว เกสรเพศผู้ ไหลบัว กลีบดอก หรือใช้เป็นประโยชน์อื่นๆ เช่น ใยบัว ใบบัว นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณทางยา แก้ร้อนใน บำรุงกระดูก เป็นต้น
อุทยานบัว เปิดให้ประชาชนไปชมความงดงามและถ่ายภาพดอกบัว พร้อมทั้งหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องบัว ซึ่งที่ได้รวบรวมพันธุ์บัวจากทั่วโลกไว้ที่อุทยานบัว กว่า 300 สายพันธุ์ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 18.00 น. ทุกวัน