ตามรอย..อิคคิวซัง ที่วัดคินคะคุจิ
ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะมีความคุ้นเคยกับวัดคินคะคุจิและท่านโชกุน จากภาพยนต์การ์ตูนอมตะเรื่องเณรน้อยเจ้าปัญญา หรือ อิคคิวซัง แต่ท่านรู้หรือไม่ว่าสถานที่ล้ำค่าแห่งนี้มีความเป็นมาอย่างไร
เมืองเคียวโตะ หรือที่ทั่วไปมักจะออกเสียงเรียกกันว่า เมืองเกียวโต นั้นเป็นอดีตเมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางความเจริญของเกาะฮนชู จากสถิติถือเป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 11 ของโลกในปี พ.ศ. 2555
ความเป็นมาของเมืองเคียวโตะนั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 8 นับเป็นช่วงเวลาที่นักบวชในพุทธศาสนามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก ช่วงเวลาดังกล่าวนักบวชได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการในราชสำนักของสมเด็จพระจักรพรรดิคัมมุ ทำให้จักรพรรดิตัดสินพระทัยที่จะย้ายนครหลวงไปยังภูมิภาคที่ห่างไกลจากอิทธิพลของพุทธศาสนา โดยทรงเลือกชัยภูมิแห่งใหม่ที่หมู่บ้านอุดะ นครหลวงแห่งใหม่นี้ได้รับนามว่า เฮอังเกียว หรือเมืองเคียวโตะในปัจจุบัน ซึ่งมีความหมายว่า นครหลวงแห่งสันติและสงบสุข โดยได้แนวคิดมาจากนครหลวงฉางอานแห่งราชวงศ์ถัง เพียงแต่ปรับขนาดให้เล็กลง และต่อมาในปี ค.ศ. 794 เฮอังเกียวก็ได้กลายเป็นนครที่ตั้งของราชสำนัก ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคเฮอัง นับเป็นยุคทองของประเทศญี่ปุ่น ที่ทั้งศิลปะและวัฒนธรรมรุ่งเรืองถึงขีดสุด มีการพัฒนาปรับปรุงวัฒนธรรมต่างๆ ที่หยิบยืมมาจากประเทศจีนและลัทธิขงจื้อ จนกลายเป็นวัฒนธรรมแบบเฉพาะตัวของญี่ปุ่น
รูปแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในยุคนี้คือ สถาปัตยกรรมแบบชินเด็ง (Shinden ) อันจะประกอบด้วยเรือนหลัก และเรือนต่อขยายออกไปทางด้านตะวันตกและตะวันออก เชื่อมกับเรือนหลักด้วยทางเดินที่มีหลังคาคลุม เรือนหลักนั้นจะหันหน้าไปทางทิศใต้ซึ่งเป็นทิศมงคลตามคติความเชื่อแบบจีน ส่วนเรือนทางทิศเหนือนั้นจะจัดให้เป็นที่พำนักของภรรยาหลวง ด้านหน้าทำเป็นสวนที่ประกอบไปด้วยสระน้ำ เนินเขาจำลอง เกาะ และสะพาน โดยมีกำแพงดินล้อมรอบหมู่คฤหาสน์ทั้งหมด ส่วนที่เป็นหลังคานิยมมุงด้วยเปลือกสนซ้อนกันเป็นชั้นหนามากกว่าการใช้กระเบื้อง เพราะกระเบื้องแบบจีนนั้นไม่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของญี่ปุ่น พื้นจะเป็นพื้นไม้กระดาน เรือนด้านตะวันออกส่วนใหญ่จะมีทางเดินยาวเชื่อมสู่เรือนตกปลาที่สร้างไว้เหนือลำธารหรือสระน้ำ
เรือนแบบชินเด็งแต่ละหลัง สามารถแบ่งห้องได้ตั้งแต่ 4 ห้องถึง 9 ห้อง โดยใช้ฉาก หรือ ราวผ้าม่านเป็นเครื่องกั้นห้องตามขนาดความต้องการใช้งาน สถาปัตยกรรมแบบชินเด็งนี้จะเย็นสบายในฤดูร้อน
นักท่องเที่ยวจึงมักพบเห็นสถาปัตยกรรมแบบชินเด็งแบบดั้งเดิมได้จากสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ในเมืองเคียวโตะ ซึ่งเป็นเมืองที่ได้รับการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมไว้ได้เป็นอย่างดี อย่างเช่นสถานที่สำคัญที่น่าเดินทางไปท่องเที่ยวกันเมื่อเดินทางมาถึงเมืองแห่งวัฒนธรรมนี้คือ
วัดคินคะคุจิ โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า วัดโรคุออนจิ แต่นักท่องเที่ยวชาวไทยมักจะเรียกกันว่า วัดทอง ซึ่งมีศาลาทองเป็นจุดเด่นตั้งตระหง่านอยู่ริมสระนำอันเงียบสงบ เริ่มแรกนั้นศาลาทองหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1940 เพื่อเป็นที่พักของโชกุนอาชิคางะ โยชิมิตสึ และผู้ติดตาม มีจุดเด่นอยู่ที่ตัวศาลานั้นเป็นสีทองจากทองคำเปลวและบนยอดสุดนั้นมีรูปหล่อนกฟีนิกซ์ยืนตระหง่านเป็นสง่าอยู่ ตัวเรือนประกอบไปด้วย 3 ชั้น ชั้นที่ 1 เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์ชินเด็ง ในรูปลักษณ์แบบพระราชวัง ชั้นที่ 2 สไตล์แบบบ้านซามุไร และชั้นที่ 3 มีสไตล์แบบวัดพุทธนิกายเซน ต่อมาผู้เป็นบุตรชายของท่านโชกุนได้เปลี่ยนแปลงให้สถานที่แห่งนี้เป็นวัดนิกายเซน
แต่เป็นที่น่าเสียดายเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนคือในปี พ.ศ. 2493 ศาลาทองล้ำค่าหลังนี้ได้ถูกเผาทำลายโดยพระวิกลจริตไปจนหมดสิ้น ศาลาหลังที่เห็นในปัจจุบันนี้ได้มีการสร้างขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2498 โดยมีการก่อสร้างให้เหมือนกับสภาพเดิมทุกส่วน นับว่าเป็นการแกะรอยสถาปัตยกรรมกันอย่างละเอียดอ่อน จนศาลาทองหลังใหม่นี้เสร็จสมบูรณ์มีความงดงามเสมอเหมือนกับศาลาทองหลังเดิมเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ในปี พ.ศ. 2537 วัดโรคุออนจิ รวมทั้งศาลาทอง ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกร่วมกับสถานที่สำคัญอื่นๆ ในเมืองเคียวโตะ
อีกหนึ่งความคุ้นเคยของชาวไทยส่วนใหญ่มักจะรู้จักวัดคินคะคุจิและท่านโชกุน จากภาพยนต์การ์ตูนอมตะเรื่อง เณรน้อยเจ้าปัญญาอิคคิวซัง จนนักท่องเที่ยวบางคนถึงกับเปลี่ยนชื่อวัดนี้ให้เสียใหม่ว่า วัดอิคคิวซัง ซึ่งก็เป็นอันเข้าใจตรงกันว่าเป็นสถานที่เดียวกัน หากคุณผู้อ่านมีโอกาสเดินทางไปเที่ยวชม ผมอยากให้ลองไปยืนอยู่บริเวณริมสระน้ำหน้าศาลาทองคำหลังนี้ แล้วลองหลับตาพลันจิตนาการถึงความน่ารักเฉลียวฉลาดของเณรน้อยเจ้าปัญญาอิคคิวซัง ที่ได้ผ่านตาพบพานผ่านจอโทรทัศน์ในบ้านเรา คุณอาจจะยืนยิ้มหรือหัวเราะอย่างมีความสุขเหมือนผมในวันนั้นก็เป็นได้
ทุกวันนี้เศรษฐกิจที่สำคัญในเคียวโตะนั้นมาจากอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากเมืองเคียวโตะนั้นเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทชั้นนำมากมาย แต่ทั้งนี้การท่องเที่ยวยังเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของเคียวโตะ จากการที่เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม ทำให้ในแต่ละวัน มีนักท่องเที่ยว นักเรียนนักศึกษาจากทั่วประเทศ เดินทางมาเยือนกันจำนวนมาก และจากการสำรวจและจัดอันดับระดับภูมิภาคในปี 2007 นครเคียวโตะได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่สองของเมืองที่น่าสนใจที่สุดในประเทศญี่ปุ่นรองจากเมืองซัปโปะโระ
นอกจากนี้งานฝีมือแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นยังคงเป็นงานที่สร้างรายได้สำคัญให้กับเมืองเคียวโตะ ซึ่งส่วนใหญ่จะดำเนินการโดยช่างฝีมือในโรงงานขนาดเล็ก เช่นการผลิตชุดกิโมโนของเคียวโตะนั้นมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก ถือเป็นศูนย์กลางของการผลิตชุดกิโมโนชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ดีธุรกิจนี้ก็ได้รับความนิยมน้อยลงในปัจจุบัน เนื่องจากการขาดแคลนทรัพยากรบุคคลด้านช่างฝีมือที่มีคุณภาพ ซึ่งก็คงประสบปัญหาเช่นเดียวกับงานฝีมือหลายๆ อย่างของประเทศไทย ที่น่าจะหาผู้สืบทอดไว้ก่อนที่สมบัติล้ำค้าจะสูญหายไปในอนาคตอันใกล้นี้