เกาะพยาม ไม่ต้องพยายามก็มาได้ เกาะเล็ก ๆ ที่รอคุณอยู่
เรียกได้ว่ากว่าคอนเทนต์ “เกาะพยาม ไม่ต้องพยายามก็มาได้” จะเป็นรูปเป็นร่างให้ได้อ่านกันนั้น มันก็กลายเป็นคอนเทนต์ในตำนานไปแล้ว
เกาะพยาม เกาะเล็กๆ เงียบๆ ที่แฝงความดิบอยู่ในเกาะ แต่ความดิบนี่แหละครับ คือเสน่ห์อย่างดีเลยทีเดียว เริ่มต้นจากการนั่งรถทัวร์จากขนส่งสายใต้ หลับไปตลอดทาง
ตื่นเช้ามาก็ถึงแล้วครับ ขนส่งระนอง ล้างหน้าล้างตา หารถไปท่าเรือ อยากไปเรือแบบไหน ก็อยู่กับคุณแล้ว อยากนั่งชิวๆ รับลมทะเล ก็เรือใหญ่ครับ ราคาไม่แพง 20-30 บาท ประมาณ 1 ชั่วโมงถึง แต่ถ้าใจร้อนก็ Speed Boat ครับ 20 นาทีก็ถึงแล้ว พอถึงท่าเรือที่เกาะ ก็เช่ามอเตอร์ไซค์ ขับหาที่พักเอาได้ตามสะดวกเลยครับ มีหลากหลายแบบ หลายราคา
ท่าเรือเกาะพยาม จะอยู่อ่าวแม่ม่าย ทางทิศตะวันออกของเกาะ บริเวณนี้เป็นชุมชนมีบ้านเรือน ร้านค้า ร้านอาหารหลายร้าน
ท่าเรือ บริเวณอ่าวแม่หม้าย
ผมพักที่วิจิตรบังกะโลครับ ตั้งอยู่ที่หาดเขาควาย ราคาถูกดี เป็นห้องพัดลม อาหารก็ถูกปาก พอได้ที่พักแล้ว ก็ขับมอเตอร์ไซค์ไปตามทางเรื่อยๆ เส้นทางบนเกาะที่ตัดผ่านหมู่บ้าน สลับกับป่าต้นกาหยู หรือต้นมะม่วงหิมพานต์ แต่อย่าได้ไปขับตอนกลางคืนนะครับ เพราะมันวังเวงมาก
เส้นทางบนเกาะพยาม ล้อมรอบไปด้วยสวนยางพาราและสวนมะม่วงหิมพานต์(กาหยู) ที่ยังคงหนาแน่น ที่สำคัญมีของแถมมมมมมมม ด้วยนั้นคือ ตุ๊กแก ตัวเป็นๆ และขอบอกว่า มันหญ่ายมว๊าก
ถนนบนเกาะพยาม ถ้าเป็นถนนเส้นหลัก จะเป็นทางคอนกรีต ขับง่าย ไม่ค่อยมีทางชันขึ้นเขามากเท่าไหร่ ยกเว้นทางไปอ่าวเล็ก ๆ หรือทางลงบังกะโล จะเป็นทางลูกรัง ขึ้นลงเนิน ต้องขับขี่ระวังเล็กน้อย
อีกหนึ่งจุดเด่นของเกาะพยามคือนี่ครับ โบสท์ที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางท้องทะเล วัดเกาะพยาม ที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะพยาม ใกล้กับท่าเรือ จุดเด่นของวัดนี้อยู่ที่โบสถ์กลางน้ำรูปทรงกลมมีกลีบด้านข้างคล้ายดอกบัว ที่ด้านบนโบสถ์มีพระพุทธรูปปางลีลาหันหน้าออกทะเล
โบสท์ที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางท้องทะเล อันเป็นเอกลักษณ์ ของที่เกาะพยาม
ใครอยากลองไปสัมผัสบรรยากาศที่แสนเรียบง่าย สบายๆ ลองไปได้ครับ รับรองต้องติดใจแน่ๆ แต่ขอเตือนนะครับ เกาะนี้ไม่เหมาะกับคนกลัวตุ๊กแกอย่างมาก ตอนกลางคืนนี่ ร้องขานรับ ขานส่งกันทั้งคืน อย่างกับเปิดเสียงตามสายเลยทีเดียว
ธรรมชาติยังพิสุทธิ์บนเกาะพยาม
อ่าวเขาควาย เกาะพยาม เป็นอีกหนึ่งอ่าวที่มีหาดทรายขาว ทอดตัวขนานไปตามแนวท้องนามรอให้เราได้มาสัมผัส ถึงแม้จะมีที่พักอยู่บางแต่คนก็ไม่พลุกพล่านมากนัก หากยามน้ำลดจะเห็นหาดทรายเป็นแนวทอดยาวกว้างไกลสุดสายตา
อ่าวเขาควาย จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ อ่าวเขาควายใต้ กับ อ่าวเขาควายเหนือ ส่วนของบรรยากาสของทั้ง 2 ด้านจะแตกต่างกันนิดหน่อย
อ่าวเขาควายช่วงหนึ่ง มีสีอมชมพูจากหอยทับทิม
อ่าวเขาควาย มีลักษณะเป็นอ่าวโค้งยาวประมาณ 2 กม. มุมทั้ง 2 โค้งโง้งเข้ามาคล้ายเขาควาย เมื่อน้ำลงที่หาดเขาควาย จะมีเปลือกหอยอยู่เต็มชายหาด ราวกับเป็นหาดสีชมพู
อ่าวใหญ่ เกาะพยาม เป็นอ่าวที่มีขนาดและพื้นที่ใหญ่สมชื่อ มีลักษณะเป็นเวิ้งโค้งอ่าวยาวราว 4 กม. ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ไฮไลท์ของเกาะพยามครับ ทราย 2 สีผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์ด้วยฝีมือจากธรรมชาติ
อ่าวกวางปีบ เกาะพยาม ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะพยาม เป็นอ่าวที่ไม่ใหญ่มาก มีน้ำทะเลใส คลื่นไม่แรงมาก บริเวณริมอ่าวมีร้านอาหาร ที่พักบริการนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวชมอ่าวกวางปีบ บริเวณอ่าวที่มีความร่มรื่น สงบเป็นส่วนตัว มีหาดทรายสวยงาม
น้ำทะเลใส ๆ ที่อ่าวกวางปีบ เกาะพยาม
หาดทรายละเอียดที่อ่าวกวางปีบ เกาะพยาม
หาดทรายของอ่าวกวางปีป เกาะพยาม เงียบสงบ และสวยงามมาก น้ำทะเลใส
น้ำทะเลใส
สำหรับ อ่าวกวางปีบ นั้นมีนักท่องเที่ยวไม่มากนัก อาจจะเพราะด้วยการเดินทางนั้นค่อนข้างลำบากนิ๊ด…
ใครที่กำลังเบื่อความวุ่นวาย ความจอแจของผู้คน หรือเหน็ดเหนื่อยกับการเรียน การทำงาน อยากออกไปสูดความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ สัมผัสความงามของท้องทะเลสีครามที่ “เกาะพยาม” เพราะที่นี่เงียบสงบพร้อมสัมผัสกับวิถีชีวิตของ ชุมชนดั้งเดิมคือชุมชนชาวมอแกน(ชาวเล) ที่นี่จคุณจะได้สัมผัสกับชีวิตที่ช้าลง…. หลังจากได้เขียนเสร็จผมเอาคอนเทนต์ไปฝากเพื่อนๆ ที่ห้อง แบกเป้เที่ยว จากคุณ Wasamon P. Terky ทำให้ได้ข้อความดีๆ ประสบการณ์ตรงมาฝากกันลองอ่านกันดูนะครับ
เคยไปเกาะพยามหลายครั้ง แต่ครั้งแรกที่ไป ก็สงสัยเหมือนๆ กับคนอื่นเลยครับว่า " ทำไม บนเรือประมง มีแต่ฝรั่ง ฟระ? " ทั้งๆ ที่ เค้าน่าจะขึ้นเรือเร็ว speed boat แป๊บเดียวก็ถึง ผมคิดแบบนั้นเลยเข้าไปถาม นั่งคุย แชร์ประสบการณ์ท่องเที่ยวด้วยกัน เชื่อมั๊ยครับว่า .. ฝรั่งแทบจะทุกคน ล้วนตอบไปในทางคล้ายๆ กันว่า ถ้าทะเลใต้ ก็ไปมาเกือบทุกที่แล้วแต่ไม่ชอบบรรยากาศของ “คนไทย” ที่พอไปไหน ก็จะเอาความสนุก ความสบาย รื่นเริงสังสรรค์ เป็นหลัก ผมก็สงสัยเล็กน้อย เลยให้เค้าอธิบายเพิ่มเติมอย่างเช่น เกาะสมุย ภูเก็ตชายหาดไหน ที่คนไทยไปอยู่มากๆ ความสะดวกสบาย จะมาทุกอย่าง ทั้งร้านค้า โรงแรม ที่พัก ของกิน เครื่องเล่น เจ็ทสกี อาหารริมหาด ฯลฯ
และจะมาพร้อมความวุ่นวาย ซึ่งชาวต่างชาติเกือบร้อยละ 90 ที่มาเกาะพยามต่าง พร้อมใจแสวงหา “ความสงบ” “ความเงียบ” และ “ความเป็นธรรมชาติ” ที่ไม่ปรุงแต่งมากกว่าที่ไหน ไม่สะดวกสบาย .. คนไทย ก็จะน้อยธรรมชาติที่นั่นจะยังอุดมสมบูรณ์ที่ไหน ยังไม่เจริญทางเทคโนโลยี หรือความไฮเทค .. คนไทย ก็จะน้อยตาม ชาวบ้านที่นั่น จะอยู่อย่างสงบ และมีไมตรีจิตที่ดีต่อกันแทบจะทุกครัวเรือนผมเลยถามว่า .. แล้วพวกคุณ รู้จักกันได้อย่างไร เกาะพยาม คนไทยยังไม่ค่อยรู้จักเลย
เค้าก็ตอบแบบน่าภูมิใจครับว่ารู้จัก กันผ่านเว็บไซต์ และ email เพื่อนฝรั่งด้วยกัน ที่มาเที่ยวเกาะพยาม แล้วแชร์ความประทับใจกัน ปากต่อปาก ไม่ได้โฆษณาหรูหรา อะไรผ่านอินเตอร์เน็ต ทำให้ความรู้สึกของชาวต่างชาติ ที่มีต่อเกาะพยาม มันมีคุณค่าสำหรับเค้ามากๆ อยากมา อยากพัก อยากใช้ชีวิต แม้กระทั่ง อยากตายที่นี่ .. ผมฟังก็ชื่นใจแทนคนเกาะพยามด้วยซ้ำ
นี่คือมุมมองของฝรั่ง ที่มากับเรือประมง ใส่ชุดชิวๆ เสื้อกล้ามตัว กางเกงเลตัว หนีบสน๊อกเกิ้ล กับตีนกบอีกคู่หนึ่งมาด้วยผมได้ไปพักหลายที่ ที่เป็นบังกะโลบ้าง เป็นกระต๊อบบ้าง เป็นบ้านปูนบ้างจะเห็นฝรั่งเช่าห้องพัก คล้ายๆ กับที่ผมพัก เป็นเดือน บ้างก็ครึ่งปี และจะมีมุมหน้าห้องเล็กๆ เอาไว้อ่านหนังสือ เขียนไดอารี่ และจิบกาแฟแก้วน้อยๆ ทั้งวัน ไม่ลุกไปไหนวันทั้งวัน ผมก็จะเห็นบรรยากาศเงียบ สงบ หมาวิ่งผ่านหน้าหาด ชั่วโมงละตัวเดียวเสียงคลื่นทะเล เสียงลมกระทบใบต้นมะพร้าว เสียงมอไซค์แล่นผ่าน แต่ละวันที่แทบจะนับคันได้และชาวต่างชาติที่ต้องการ “ความเป็นส่วนตัว” ที่เกาะพยาม แทบทุกครั้ง
และที่จำได้ มีครั้งหนึ่งที่เจอฝรั่งคู่รักพักบนกระท่อมไม้ สูงจากพื้นทรายสัก 5-6 เมตร ได้ ทอดตัวบนแนวหิน (คล้ายๆ เป็นหน้าผา อะไรสักอย่าง)พอ ตอนเช้า เค้าก็จะออกมารับลม รับแดด นั่งอยู่อย่างนั้นทั้งชุดว่ายน้ำ และบิกินี่ … ซึ่งหาบรรยากาศใกล้ชิด ติดธรรมชาติ และอยู่อย่างสันโดษแบบนี้ ได้น้อยลง ในเมืองไทย ความเป็นธรรมชาติ ของเกาะพยาม ยังคงมีอยู่อย่างสมบูรณ์ อยู่ที่เราคนไทยทุกคนต้องช่วยกันดูแลรักษาให้เป็นสมบัติมีค่าของเมืองไทยต่อ ไปครับ
จาก … เด็กระนอง คนรักบ้านเกิด ^^
ติดตามทุกเรื่องกิน-เที่ยวก่อนใครไปกับพวกเราได้ที่ www.paapaii.com, Facebook Fanpage : facebook.com/Paapaiii
ขอบคุณข้อมูล จาก Paapaii.com