10 สุดยอด 'เมนูขนมหวาน' จาก 10 ประเทศ ที่ต้องไม่พลาดชิมและชิล

10 สุดยอด 'เมนูขนมหวาน' จาก 10 ประเทศ ที่ต้องไม่พลาดชิมและชิล

10  สุดยอด 'เมนูขนมหวาน' จาก 10 ประเทศ ที่ต้องไม่พลาดชิมและชิล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความสุขอย่างหนึ่งของชาวเมือง ในวันที่วุ่นวาย คือ การได้นั่งจิบชา-กาแฟยามบ่ายแก่ๆ ในตอนที่มื้อเย็นก็ยังไม่ถึง และมื้อเที่ยงก็ย่อยสลายไปนานแล้ว พร้อมกับหยุดนั่งพักผ่อนกับตัวเอง ในสังคมที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบแข่งขันกับเวลา วันนี้ Jetradar จึงขอแนะนำจุดหมายปลายทาง 10 ประเทศ ที่เหมาะแก่การเปลี่ยนบรรยากาศ ไม่ได้บินไปเที่ยวเฉยๆ แต่ต้องไม่พลาดนั่งชิลๆ จิบชา-กาแฟพร้อมชิมขนมประจำชาตินั้นๆด้วย แอบแนะนำว่า เตรียมลาพักร้อนไว้ได้เลย…. เพราะไม่ว่าไปที่ไหน ก็ไม่แพงอย่างที่คุณคิด!!!

1. Gulab Jamun

เส้นทาง:  กรุงเทพฯ – มุมไบ ประเทศอินเดีย

Gulab jamun เป็นของหวานที่ขาดไม่ได้ในงานเลี้ยงสำคัญๆ ไม่ว่าจะพราหมณ์หรืออิสลาม ไม่ว่าจะงานแต่งงาน งานวันเกิด และเทศกาลสำคัญๆทางศาสนา ไม่เฉพาะในอินเดีย และคนในแถบชมพูทวีป แต่ยังรวมไปถึงแถวหมู่เกาะต่างๆ เช่น เมาริเชียส ตรินิแดดฯ จาไมก้า ฯลฯ สันนิษฐานกันว่า มีที่มาจากขนมทอดของชาวเปอร์เซียที่เข้ามายึดครองอินเดียในช่วงหนึ่ง โดยชื่อนั้น มีที่มาจากภาษาเปอร์เซีย Gulab = กุหลาบ แปลว่า “น้ำของดอกไม้” และ Jamun = ชื่อเรียกผลหว้าในภาษาอูรดู

สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำ Gulab Jamun คือ ส่วนไขมันจากนม ซึ่งชาวอินเดียใช้วิธีการต้มน้ำนมบนไฟต่ำๆเป็นเวลานานๆ จนส่วนที่เป็นน้ำระเหยหายไป เหลือแต่ไขมันที่แข็งตัวแล้ว เรียกว่า khoya (khoa) นำมานวดเป็นแป้งก่อนปั้นเป็นก้อนกลมๆ แล้วนำไปทอดกรอบในกระทะไฟไม่แรงนัก ระดับ 148 องศาเซลเซียส แล้วสุดท้ายชุบในน้ำเชื่อมพร้อมโรยเครื่องเทศหอมประดับให้สวยงาม สีสันออกแดง-น้ำตาล จากแลคโตสธรรมชาติในแป้งนั้น

2. Pavlova

เส้นทาง:  กรุงเทพฯ – ซิดนี่ย์ ประเทศออสเตรเลีย

Pavlova เป็นสัญลักษณ์ของฤดูร้อน ด้วยสีสันการแต่งหน้าเค้กที่สดใสจากผลไม้หลากหลายชนิด ถือเป็นของหวานที่ยังถกเถียงกันไม่รู้จบระหว่าง 2 ชาติ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ว่าใครเป็นคนคิดขึ้นก่อน แต่ที่แน่ๆ ชื่อ Pavlova (แพ็ฟ-โล๊-เว่อะ) มาจากชื่อนักบัลเล่ต์ชาวรัสเซีย ที่เคยมาแสดงบัลเล่ต์ที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในยุค 1920 และเป็นที่จดจำจากลีลาการเต้นที่นุ่มนวล และอ่อนหวาน จนเอามาเปรียบเทียบ ตั้งเป็นชื่อขนมเค้กสูตรพิเศษนี้เอง

Pavlova ใช้ “เมอแรงค์” (Meringe – ไข่ขาวตีกับน้ำตาล) เป็นฐานเค้ก แต่งหน้าด้วยวิปครีมและผลไม้  วิธีการทำแสนง่าย แค่ตีไข่ขาวให้ฟู แล้วส่งเข้าเตาอบเพื่อทำให้เมอแรงค์แข็งตัวเป็นฐานเค้ก จากนั้นตีวิปครีม ราดบนหน้าเมอแรงค์ แล้วปิดท้ายด้วยผลไม้สดๆ ซึ่งส่วนมากมักจะใช้สตรอเบอร์รี่และกีวี ฟังดูง่ายๆ แต่เคล็ดลับในการทำออกมาให้น่าทาน ไม่ว่าจะในส่วนเมอแรงค์ หรือผลไม้ที่ต้องสดใหม่จริงๆ นี่แหล่ะที่เป็นปัจจัยให้คุณต้องบินไปถึงซิดนี่ย์เพื่อชิมมันซะ

3. Churros

เส้นทาง:  กรุงเทพฯ – มาดริด ประเทศสเปน

ขนมเลื่องชื่อสัญชาติสเปน ที่ปัจจุบันไม่ได้กลายเป็นที่นิยมเฉพาะในสเปนแต่ยังถูกอกถูกใจนักชิมทั่วโลกถึงขนาด ชาวเกาหลีเอาไปดัดแปลง สอดไส้ไอศครีม กลายเป็นขนมเฟรนไชส์ยอดฮิตอีกอย่างในเมืองไทย Churros เป็นแท่งแป้งหน้าตาธรรมดาๆ ที่ปัจจุบันถูกพัฒนาให้มีไส้หลากหลายแบบ Churros จริงๆ ทำจากแป้ง dough ไม่มีไส้ และแค่โรยน้ำตาล ที่สเปนนิยมรับประทานเป็นอาหารเช้า กับกาแฟ Latte หรือไม่ก็ Champurrado เครื่องดื่มทำจากแป้ง สูตรเฉพาะของชาวสเปน

ว่ากันว่า นักเดินทางชาวโปรตุเกส เห็นชาวจีนทำ “ปาท่องโก๋” แล้วอยากทำบ้าง แต่ “ยืด” แป้ง dough ไม่เป็นเหมือนคนจีน จึงใช้วิธีใส่ในถุงแล้วบีบออกมาเป็นเส้นๆทอดลงในน้ำมัน บางก็ว่าเกิดจากคนเลี้ยงแกะที่ต้องพาแกะไปหาทุ่งหญ้าบนเขาแต่ละครั้งเป็นเวลานานๆ ไม่มีขนมปังทาน จึงใช้แป้งที่พอมี นวดกับน้ำและเกลืออย่างง่ายๆ ก่อนกลึงให้เป็นเส้นเล็กๆ และทอดแห้งๆไม่มีน้ำมันบนกระทะในกองไฟกลางป่า รับประทานแทนขนมปังจากบ้านที่เสียง่ายระหว่างทาง ปัจจุบัน Churros ทอดขายริมถนนสดๆ และมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งโรยน้ำตาลเฉยๆ หรือเสิร์ฟกับช็อกโกแลต

4. Trifle

เส้นทาง:   กรุงเทพฯ – ลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักรอังกฤษ

เกาะอังกฤษไม่ได้มีแต่อาหารน่าเบื่ออย่าง Fish & chips เสมอไป อย่างน้อยก็มี Trifle ที่เป็นเมนูของหวานเชิดหน้าชูตาชาวเมืองผู้ดี ที่จะเสิร์ฟในงานเลี้ยงหรูหรา หรือจะเป็นขนมหวานปิดท้ายมื้อเย็นที่บ้านกับครอบครัวก็ไม่แปลก โดยประวัติของมันมีมานานตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 16 แล้วด้วย ที่อิตาลี ประเทศแห่งขนมหวานขึ้นชื่อ ถึงขนาดก็อปปี้เอาไปดัดแปลง กลายเป็นของตัวเองในชื่อ  Zuppa Inglese หรือ “The English soup” เลยทีเดียว

Trifle ประกอบด้วยชั้นของส่วนประกอบ 3-4 ชั้น รองพื้นด้วยผลไม้ต่างๆหั่นเป็นลูกเต๋า สลับกับชั้นของ sponge cake หรือบิสกิต Ladyfinger ที่อ่อนนุ่ม นิ่มและซึมซับเหล้าไวน์ sherry หรือไวน์ผสมบรั่นดี บางครั้งมักเทเจลาตินเพื่อทำให้เป็นชั้นเยลลี่ชั้นเดียว ราดด้วยคัสตาร์ดเข้มข้นและแต่งหน้าด้วยวิปครีม พร้อมโรยผลไม้สดอยู่ชั้นบนสุด

5. Baklava

เส้นทาง:   กรุงเทพฯ – อิสตันบุล  ประเทศตุรกี

อาณาจักรอ็อตโตมันอันยิ่งใหญ่ ที่เคยรุ่งเรืองกว่าหลายศตวรรษ ทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่ามากมายให้แก่โลกปัจจุบัน ไม่เพียงสถาปัตยกรรมอันสวยงามที่กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆในประเทศตุรกีปัจจุบันเท่านั้น ยังมีอาหารและขนมหวาน อย่างเช่น “Baklava” ซึ่งว่ากันว่า มีต้นตอมาจากชาวเอเชียกลาง-มองโกล ซึ่งเป็นขนมหวานที่บอกความเป็นตุรกีได้ดีที่สุด ตามบันทึกโบราณกล่าวว่า สุลต่านจะแจกจ่าย Baklava แก่ทหารองครักษ์ของตนในทุกวันที่ 15 ของเดือนรอมฎอน เดิมจึงเป็นของเฉพาะที่ไม่ใช่หาทานได้ง่ายๆ สงวนไว้เฉพาะเป็นตำหรับอหารในวันเท่านั้น

Baklava ทำโดยการรีดแป้งให้เป็นแผ่นๆความหนาเท่ากับกระดาษ วางซ้อนกันก่อนทาเนยและโรยถั่ววอลนัท, พิสตาชิโอ, หรือเฮเซลนัทที่สับหยาบๆ โดยอาจวางชั้นแป้งกับชั้นถั่วสลับๆกันไปก็ได้ ก่อนตัดเป็นก้อนๆ แล้วจึงนำไปอบในเตาอบที่ความร้อนประมาณ 180 องศาเซลเซียส ก่อนที่จะนำมาราดน้ำเชื่อมหรือน้ำผึ้ง ให้แผ่นแป้งซึมซับความหวานของน้ำเชื่อมนั้นเข้าไปขณะเย็นตัวลงจนถึงอุณหภูมิห้อง จึงจะสามารถเสิร์ฟได้ โดยอาจโรยหน้าด้วยถั่วบดอีกรอบด้านบน ถือเป็นของฝากชั้นดีสำหรับคนที่บ้านจากตุรกี

6. Apple Strudel

เส้นทาง:  กรุงเทพฯ – เวียนนา ประเทศออสเตรีย

อะไรจะดีไปกว่า การเดินเล่นในเมืองที่สวยงาม เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์อย่างเวียนนา ก่อนนั่งแวะพักที่คาเฟ่ข้างทาง ก่อนทานของหวานขึ้นชื่อของที่นี่อย่าง “Apple Strudel” (ที่นี่เรียกว่า Apfelstrudel) ภายใต้เวทมนตร์ดนตรีแห่งเวียนนา Strudel มีบันทึกไว้ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 17 และเกิดขึ้นจากการผสมวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยมากมายในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ภายใต้ราชวงศ์ฮับสเบิร์ก โดยว่ากันว่า ลอกเลียนแบบมาจาก Baklava ของตุรกีเสียด้วย จริงๆแล้วไส้ข้างในมีหลากหลายรูปแบบ แต่ที่เป็นเอกลักษณ์ของออสเตรีย คือ ไส้แอปเปิ้ล ซึ่งถือเป็นอาหารประจำชาติออสเตรีย เช่นเดียวกับ Wiener Schnitzel และ Tafelspitz

ที่ต้องไปชิมถึงออสเตรีย ก็เพราะว่าถึงแม้ขั้นตอนการทำจะเหมือนๆกัน แต่รายละเอียดและความประณีตในการทำให้แผ่นแป้งที่ใช้ห่อไส้แอปเปิ้ลออกมาบางและอบแล้วดูน่ากินนั้น ว่ากันว่า ขึ้นอยู่กับฝีมือของคนทำจริงๆ โดยแผ่นแป้งใช้เพียงแป้งสาลี เกลือ และเนยเท่านั้น โดยต้องนวดและรีดแป้งให้บางที่สุด ถึงขนาดที่ต้องสามารถมองอ่านหนังสือพิมพ์ทะลุผ่านแผ่นแป้งได้ จึงจะถือว่าแผ่นแป้งพร้อมใช้งาน เมื่ออบออกมาแล้ว มักจะโรยด้วยน้ำตาลไอซิ่ง เสิร์ฟในอุณหภูมิอุ่นๆ ในปัจจุบันนิยมรับประทานกับไอศครีม

7. Bliny

เส้นทาง:  กรุงเทพฯ – มอสโก ประเทศรัสเซีย

หากเอ่ยชื่อ Bliny (блины – อ่านได้ว่า บลิน-นึย) หลายๆคนอาจจะงง แต่ถ้าบอกว่า “แพนเค้ก” ทุกๆคนจะเข้าใจทันทีว่าคืออะไร Bliny คือ แพนเค้กแบบรัสเซียแท้ๆ ที่ไม่ใช่แป้งกลมๆเล็กๆหนาๆ อย่างที่โดราเอมอนชอบทาน แต่เป็นแผ่นแป้งบางๆ ที่เกิดจากการราดส่วนผสมของแป้งกับนม(หรือนมเปรี้ยว)และเนย/น้ำมัน ลงบนกระทะที่ร้อนจัด ทอดไม่นาน แค่พอบางส่วนเริ่มเกรียมดูคล้ายดวงอาทิตย์ จึงยกออกจากกระทะและราดแป้งเพื่อทำแผ่นต่อไปอย่างรวดเร็ว ตามธรรมเนียมจะเรียงตั้งบนจานแบนจนเป็นกองตั้งสูงๆ

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เปรียบเจ้าแพนเค้กรัสเซียกับดวงอาทิตย์ เนื่องจาก Bliny นิยมทำในช่วงเทศกาล Maslenitsa (маслеица – มาสลินิตซา) ซึ่งตรงกับเดือนมีนาคม อันเป็นช่วงที่ฤดูหนาวใกล้จะผ่านไป และเตรียมต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ โดยแผ่นแป้งแพนเค้กนี้ เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์ ที่จะมาถึงรัสเซียอีกครั้ง หลังจากหายไปหลายเดือนในช่วงฤดูหนาว ปัจจุบัน รับประทานกันทั้งปี และไม่เพียงทานกับของหวาน เช่น นมข้นหวาน น้ำผึ้ง หรือแยมผลไม้ แต่ยังมีแพนเค้กแบบคาว ทานกับ ไข่คาเวียร์ ปลา แฮม เห็ด หรือครีมเปรี้ยว อีกด้วย

8. Waffle

เส้นทาง:  กรุงเทพฯ – บรุสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม

Waffle (มาจากภาษา frankish โบราณ แปลว่า “รังผึ้ง”) ไม่ใช่ของแปลกในเมืองไทยก็จริง แต่รสชาติที่ปัจจุบันถูกปรับแต่งจนไม่เหลือความเป็น waffle แบบดั้งเดิมจากประเทศต้นตำรับอย่างเบลเยี่ยม ทำให้เราไม่ค่อยได้รู้ว่า จริงๆแล้วขนมขึ้นชื่อนี้ รสชาติที่แท้จริงควรเป็นอย่างไร อย่างเช่น waffle ที่เรียกกันในอเมริกา-แคนาดาว่า “Belgian Waffle” นั้น จริงๆแล้วไม่มีจริงในเบลเยี่ยม โดย waffle ที่ขึ้นชื่อจริงๆ คือ Brussels Waffle และ Liege Waffle ซึ่งต่างกันหลักๆตรงรูปทรง และส่วนประกอบปลีกย่อยในการทำ

Belgian waffle ที่รู้จักกันในอเมริกาใช้ผงฟู และทำเป็นทรงกลม เสิร์ฟกับวิปครีมและสตรอเบอร์รี่สด โรยด้วยน้ำตาลไอซิ่ง ในขณะที่ Brussels waffle นั้นใช้ยีสต์ธรรมชาติในการทำ เบากว่า กรอบกว่า และ “หลุม” ของรังผึ้งนั้นใหญ่กว่ามาก รวมทั้งทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วน Liege waffle นั้นจะหอมมันกว่า หนากว่า หวานกว่า และเคี้ยวหนึบหนับกว่า แบบหลังนี้ เป็น waffle ที่พบเห็นได้ทั่วไปมากที่สุดในเบลเยี่ยม โดยพบได้ตามร้านข้างทาง เสิร์ฟกำลังอุ่นๆจากเตา มีทั้งรสชาติธรรมชาติ, ผสมวานิลลา, หรือผสมอบเชย

9. Babka

เส้นทาง:  กรุงเทพฯ – วอร์ซอว์ ประเทศโปแลนด์

โปแลนด์เป็นอีกประเทศที่คนไทยไม่ค่อยได้รู้จักเรื่องราวของประเทศนี้มากนัก Jetradar.co.th จึงขอส่งขนมรสชาติดีมาให้ทุกท่านลองชิม โดยมีชื่อว่า “babka” ซึ่งตามภาษาท้องถิ่น แปลว่า “คุณย่า/ยาย” โดยสันนิษฐานว่า อาจจะมาจากรูปทรงของมันที่ดูคล้ายกระโปรงมีจีบทรงโบราณๆเหมือนของคุณย่าคุณยาย หรืออาจจะมาจากสูตรขนมที่โบราณ สืบต่อๆกันมาหลายร้อยปีจากคุณย่าคุณยายที่บ้านก็เป็นได้

Babka จริงๆแล้วไม่มีอะไรซับซ้อนนัก เป็นเค้กที่ทำจากส่วนผสมของแป้ง ไข่ กับยีสต์ โดยมักจะราดหน้าด้วยช็อกโกแล็ตหรือวานิลลา ตกแต่งสวยงามด้วยแอลมอนด์ หรือผลไม้แช่อิ่ม หรือลูกเกด โดยจริงๆแล้ว ขนมนี้จะทำขึ้นเฉพาะในวันอีสเตอร์เท่านั้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ Babka เป็นที่รู้จักกันไม่เพียงในโปแลนด์เท่านั้น แต่ยังใช้เรียกกันในบัลแกเรีย มาเซโดเนีย และแอลเบเนีย อีกด้วย

10. Portuguese egg tart

เส้นทาง:  กรุงเทพฯ – ลิสบอน ประเทศโปรตุเกส

ทาร์ตไข่ที่ปัจจุบันมีขายเกลื่อนกลาด ทั้งในร้านไก่ทอดชื่อดังในเมืองไทย หรือจะไปฮ่องกง มาเก๊า ก็มีขาย แต่ทาร์ตไข่ของจริง ที่คุณควรจะบินไปรับประทานถึงที่เองนั้น อยู่ที่ประเทศโปรตุเกส โดยมีที่มาจากการคิดค้นโดยนักบวชคาธอลิกที่วัด Mosteiro dos Jerónimos ในนครหลวงลิสบอน ในสมัยศตวรรษที่ 18 ที่ต้องหาวิธีนำไข่แดงที่เหลือในวัดแต่ละวันเป็นจำนวนมาก มาทำอาหารให้มากที่สุด เนื่องจากสมัยนั้น เสื้อผ้านักบวช จะลงแป้งให้เงางามด้วยไข่ขาว ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ไข่แดงเป็นส่วนประกอบในขนมโปรตุเกสแทบทุกอย่าง (ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ฯลฯ) ดังนั้น จึงคิดค้น “ทาร์ตไข่” เพื่อนำไข่แดงมาเป็นขนมสุดพิเศษแบบนี้นั่นเอง

สูตรการทำทาร์ตไข่ หรือที่ภาษาโปรตุเกส เรียกว่า “Pastel de nata” นั้น ถูกเก็บงำเป็นความลับในวัดจนถึงปี 1834 ที่วัดถูกปิดตัวลง จากผลกระทบของการปฏิวัติภายในศาสนาคริสต์ เหล่านักบวชจึงขายสูตรให้แก่โรงฟอกน้ำตาลแถววัด ซึ่งซื้อสูตรมาเปิดร้านขายขนมเฉพาะ ชื่อว่า Fábrica de Pastéis de Belém ในปี 1837 โดยลูกหลานของเจ้าของร้านก็ยังคงขายทาร์ตไข่นี้เรื่อยมาจนปัจจุบัน และเป็นที่นิยมด้วยความหอมจากอบเชยและน้ำตาลผง จนทุกๆวัน มีคนมารอต่อคิวซื้อ ยาวราวกับซื้อ iPhone ในวันเปิดขาย และได้รับการจัดอันดับโดยหนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษ ให้เป็นขนมที่อร่อยที่สุดอันดับที่ 15 ของโลกอีกด้วย

สนับสนุนเนื้อหาโดย Jetradar

 

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ 10 สุดยอด 'เมนูขนมหวาน' จาก 10 ประเทศ ที่ต้องไม่พลาดชิมและชิล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook