ไหว้พระ 9 วัด สืบสิริสวัสดิ์ 9 รัชกาล

ไหว้พระ 9 วัด สืบสิริสวัสดิ์ 9 รัชกาล

ไหว้พระ 9 วัด สืบสิริสวัสดิ์ 9 รัชกาล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เนื่องด้วยวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๓๒๕ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีฝังเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ และทรงสถาปนาการกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นเมืองหลวงของประเทศ ยืนยาวมาเป็นเวลา ๒๓๔ ปี จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ที่ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ กระทรวงวัฒนธรรมจึงกำหนดจัดงานใต้ร่มพระบารมี ๒๓๔ ปี กรุงรัตนโกสินทร์ (The ๒๓๔ nd Year of Rattanakosin City under Royal Benevilence) ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๔ เมษายน ๒๕๕๙ ณ บริเวณท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรี อีกทั้งเป็นการนำกิจกรรมทางศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ในมิติต่าง ๆ มานำเสนอให้คนไทยในสังคมได้เรียนรู้ ประวัติศาสตร์ของราชวงศ์จักรี การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีและความหลากหลายทางวัฒนธรรมของสังคมไทย อันจะไปสู่ความรัก ความหวงแหนและความภาคภูมิใจในความเป็นไทย

๑. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม (วัดโพธิ์) ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดพระอารามหลวงประจำรัชกาล เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ ทรงมีพระราชประสงค์ให้วัดโพธิ์เป็น “มหาวิทยาลัยสำหรับประชาชน” จึงโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมสรรพวิชาความรู้มาจารึกบนแผ่นศิลาติดไว้บริเวณพระอุโบสถ เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาหาความรู้ “พระพุทธเทวปฏิมากร” ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ภายในพระอุโบสถและเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านอีกด้วย สิ่งสำคัญภายในวัดคือ พระพุทธไสยาสน์ที่สวยงามที่สุด

สถานที่ตั้ง : ด้านหลังพระบรมมหาราชวัง ถนนสนามไชย เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

๒. วัดอรุณราชวราราม

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ พระองค์ทรงพระปรีชางานด้านทรงพุทธศิลป์ ทรงปั้นพระพักตร์ “พระพุทธธรรมิศรราชโลกธาตุดิลก” พระประธานในพระอุโบสถ ด้วยฝีมือพระหัตถ์ของพระองค์เอง และเมื่อทรงเสด็จสวรรคตแล้ว พระบรมอัฐิของพระองค์ ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่พระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามแห่งนี้ มีสิ่งสำคัญภายในวัด คือ พระปรางค์องค์ใหญ่ที่สุดในโลก สูง ๓๓ วาเศษ ประดับด้วยชิ้นกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ ยอดพระปรางค์เป็นนภศูล มีปรางค์ทิศทั้ง ๔ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประสูติ ตรัสรู้ ปางแสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน

สถานที่ตั้ง : ข้างกองทัพเรือ ถนนอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

๓. วัดราชโอรสาราม

เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๓ พม่าเตรียมยกทัพเข้ามาตีสยาม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓) ทรงเป็นแม่ทัพคุมกองทัพไปรบกับพม่า ทางด่านเจดีย์ ๓ องค์ จังหวัดกาญจนบุรี พระองค์ได้เสด็จฯ ประทับแรม ที่หน้าวัดจอมทอง และทรงทำพิธีเบิกโขลนทวารตามลักษณะพิชัยสงคราม อธิษฐานให้ประสบความสำเร็จกลับมาโดยสวัสดิภาพ แต่เนื่องจากพม่าไม่ได้ยกทัพมาตามที่เล่าลือ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ จึงเสด็จฯ กลับพระนคร และโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดจอมทองใหม่ทั้งวัด และถวายเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดราชโอรสาราม” งานศิลปกรรมต่าง ๆ ประดับตกแต่ง เป็นแบบไทยผสมจีน เช่น บานประตูหน้าต่างประดับด้วยเสี้ยวกางแทนลายเทพนม หน้าบันพระอุโบสถและพระวิหารประดับกระเบื้องเคลือบสี จึงนับเป็นครั้งแรกที่มีการประยุกต์ศิลปกรรม ไทย-จีน ได้อย่างประณีตเหมาะสม เป็นสัญลักษณ์แห่งศาสนสถานได้อย่างสง่าและงดงาม

สถานที่ตั้ง : ถนนเอกชัย แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร

๔. วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดพระอารามหลวงประจำรัชกาล ตามโบราณพระราชประเพณี วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร สิ่งสำคัญในพระอารามมีพระอุโบสถ และพระวิหารหลวง ตั้งอยู่บนฐานสูงมีลักษณะสถาปัตยกรรมไทย ภายในพระวิหารมีบุษบก ๓ ยอด อยู่เหนือฐานชุกชี บุษบกองค์กลางประดิษฐานพระพุทธสิหังคปฏิมากร ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จำลองมาจากพระพุทธสิหิงค์ในฐานพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานพระบรมอัฐิในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔)

สถานที่ตั้ง : เลขที่ ๒ ถนนสราญรมณ์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

๕. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงขยายพระนครซื้อที่ดินบริเวณคลองสามเสนและคลองผดุงกรุงเกษมตอนเหนือของวัดเบญจมบพิตรที่ทรุดโทรม ทรงทำผาติกรรมขึ้นเป็นวัดใหม่ให้ความงดงามสมกับเป็นพระอารามหลวง โปรดให้ก่อสร้างวัดใหม่ทั้งหมด และทรงพระราชทานนามเติมอักษร “ม” และเพิ่มสร้อยว่า “วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม” หมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ อีกทั้งพระบรมราชสรีรังคารในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัว ได้บรรจุไว้ใต้รัตนบัลลังก์พระพุทธชินราช พระประธานในพระอุโบสถ ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จำลองมาจากวัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก

สถานที่ตั้ง : ซ. ๖๙ ถนนนครปฐม แขวงจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

๖. วัดบวรนิเวศวิหาร

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ทรงพระราชดำริว่า วัดรังสีสุทธาวาสอยู่ติดกับวัดบวรนิเวศวิหาร มีสภาพทรุดโทรมมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยุบรวมเข้าเป็นวัดเดียวกัน เรียกว่า คณะรังสี และหลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมราชสรีรังคารมาบรรจุไว้ ณ ใต้บัลลังก์พระพุทธชินสีห์ในพระอุโบสถ เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๔๖๘ สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ พระอุโบสถ เป็นอาคารแบบตรีมุข หน้าบันประดับกระเบื้องเคลือบตรงกลางมีตรามหามงกุฎ พระไพรีพินาศ ตำหนักสมเด็จฯ วิหารพระศาสดาฯลฯ

สถานที่ตั้ง : ถนนบวรนิเวศและถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

๗. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้รับการบูรณะหลายครั้งในรัชสมัยต่าง ๆ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ลบภาพพระพุทธประวัติที่ผนังช่วงบนของพระอุโบสถออกและทาสีฟ้าอ่อนเป็นพื้นประดับด้วยลายดอกไม้ร่วงสีทอง เพิ่มเติมลวดลายที่ผนังระหว่างโคนช่วงเสาและด้านหลังพระประธาน ดูงดงามยิ่ง เมื่อสิ้นรัชกาลได้อัญเชิญพระบรมราชสรีรังคารมาประดิษฐานที่ฐานชุกชีของพระประธาน สิ่งสำคัญภายในวัด คือ พระพุทธอังคีรส เป็นพระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งตกแต่งสวยงามตามแบบตะวันตก

สถานที่ตั้ง : ถนนเฟื่องนคร แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

๘. วัดสุทัศนเทพวราราม

ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ ๘) พระองค์เคยมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับวัดสุทัศนเทพวรารามไว้ว่า “ที่นี่สงบเงียบน่าอยู่จริง” ดังนั้น เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตจึงได้อัญเชิญพระบรมราชสรีรังคารของพระองค์มาประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้ เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๔๙๓ โดยพระวิหารของวัดสุทัศน์ฯ นี้มีพระศรีศากยมุนีเป็นพระประธาน ซึ่งอัญเชิญมาจากสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยสัมฤทธิ์ ถอดแบบมาจากพระวิหารพระมงคลบพิตรกรุงศรีอยุธยา รอบพระวิหารมีถะหรือเจดีย์ศิลาแบบจีนตั้งอยู่บนฐานทักษิณ เป็นถะ ๖ ชั้น จำนวน ๒๘ องค์ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันเป็นฝีมือช่างชั้นครูในสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่งดงามมาก

สถานที่ตั้ง : บริเวณเสาชิงช้า แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

๙. วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เป็นวัดที่สร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้แก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย ด้วยวิธีเติมอากาศที่บึงพระราม ๙ ซึ่งเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และปรับปรุงสภาพพื้นที่เพื่อพัฒนาชุมชนบริเวณบึงพระราม ๙ จึงได้ดำเนินการจัดตั้งวัด เพื่อเป็นพุทธสถานในการประกอบกิจของสงฆ์ และเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจของราษฎรในการที่จะประกอบกิจกรรมต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อชุมชน

สถานที่ตั้ง : เลขที่ ๙๙๙ ถนนพระราม ๙ ซอย ๑๙ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

ขอขอบคุณข้อมูล จาก กรมศาสนา

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook