พาหลงพระตะบอง ตะลุยเมืองประวัติศาสตร์สุดเรียบง่าย

พาหลงพระตะบอง ตะลุยเมืองประวัติศาสตร์สุดเรียบง่าย

พาหลงพระตะบอง ตะลุยเมืองประวัติศาสตร์สุดเรียบง่าย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนคงสงสัยว่าเหตุใดนายรอบรู้จึงจะต้องพาเพื่อนๆไปหลง จริงๆแล้ว “หลง” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงหลงทาง แต่เราจะพาเพื่อนๆไปหลงใหลกับเมืองเก่าแสนเรียบง่าย นามว่า พระตะบอง พระตะบอง หรือ บัตดอมบอง (Batdambang) ในภาษาเขมร มีความหมายว่า กระบองหาย ตามนิทานปรัมปราที่เล่าว่าฤาษีที่ปกครองเมืองได้ทำกระบองหายระหว่างทำสงครามแย่งเมือง เมื่อกระบองหายจึงพ่ายแพ้เสียเมือง เป็นที่มาของชื่อกระบองหายหรือบัตดอมบอง ภายหลังตกอยู่ในอำนาจของสยามจึงเรียกเป็น “พระตะบอง” ในที่สุด ในครั้นที่สยามปกครองได้ส่งเจ้าเมืองเชื้อสายเขมรตระกูล “อภัยวงศ์” ถึง 6 คน

นอกจากนิทานเก่าแก่หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ พระตะบอง จากในหนังสือประวัติศาสตร์อยู่บ้าง อย่างที่รู้กันว่าสยามนั้นมีอิทธิพลในพระตะบองมานาน จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พระตะบองก็ต้องตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ทว่าในช่วงพระตะบองเจริญรุ่งเรืองนั้นเกิดขึ้นในสมัยพระยาคทาธรธรณินทร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) หรือที่รู้กันจักกันในตำแหน่งเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของสยามจึงปรากฎอยู่ให้เห็นอยู่หลายแห่ง

ถ้าใครมาเที่ยวพระตะบอง “นายรอบรู้” อยากชวนย้อนรอยสยามกันที่นี่ พวกเราเริ่มต้นที่ศาลากลางเก่าเมืองพระตะบอง(Battambong City Hall) ซึ่งเคยเป็นบ้านพักของพระยาคทาธรธรณินทร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์)และครอบครัว ทั้งยังดูคล้ายๆโรงพยาบาลเจ้าพระยอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี เพราะอาคารศาลากลางหลังนี้คือต้นแบบตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ จ.ปราจีนบุรี นั่นเอง

จากหลักฐานเล่าว่าพระยาคฑาธรฯ (ชุ่ม) ได้ว่าจ้างช่างชางอิตาลีเข้ามาสร้างอาคารนี้เป็นสถาปัตยกรรมแบบบาโรกเมื่อปี 2448 ทว่าไม่มีโอกาสใช้งานเพราะกว่าจะแล้วเสร็จสยามก็ต้องยกดินแดนให้กับฝรั่งเศส ต่อจากศาลากลางเมืองพระตะบอง เราไปต่อกันที่ วัดดัมรัยซอ (Wat Tahm-rai-saw)หรือวัดช้างเผือก วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 2448ซึ่งเป็นวัดที่คล้ายคลึงกับวัดแก้วพิจิตร ในจังหวัดปราจีนบุรีอีกเช่นกัน เพราะทั้งสองวัดสร้างโดยพระยาคทาธรธรณินทร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์)เช่นกัน

วัดนี้เป็นวัดที่มีศิลปะสวยงาม ภายนอกประดับด้วยปูนปั้นรูปสัตว์ต่างๆ อิทธิพลตะวันตกแต่เป็นฝีมือช่างพระตะบอง หน้าบันมีลวดลายมีตรา “แผ่นดินสยาม” ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปรากฎอยู่ทั้งหน้าและหลังโบสถ์ ส่วนใบเสมาถ้าสังเกตดีๆจะเห็นลายพระแม่ธรณีบีบมวยผม ซึ่งต่อมานายควง อภัยวงศ์ใช้เป็นสัญลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ในเวลาต่อมา ภายในโบสถ์ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธประวัติและปูนปั้นเรื่องรามเกียรติ์ที่บานประตูวัด และพระประธานปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่ภายในบุษบกคงคุณค่ากับการมากราบไหว้อย่างยิ่ง

ย้อนอดีตกันต่อกับปราสาทบานอน สร้างขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 11 และ พุทธศตวรรษที่ 12 ตอนต้น ในยุคของพระเจ้าอุทัยทิตย์วรมันที่ 2 ตั้งอยู่บนเนินเขา เราต้องเดินขึ้นบันใด 358 ขั้น ก่อนจะถึงตัวปราสาท ที่นี่เป็นสถานที่สำคัญของเมืองพระตะบองเพราะคนเขมรเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เรื่องการบนบานอย่างมาก ชาวเขมรมีความเชื่อว่า ไม่ว่าจะบนบานที่ใดในดินแดนเขมรมาก็ตาม มาที่นี่ก็สามารถแก้บนทั้งหมดได้

ตบท้ายด้วยกิจกรรมสุดฮิตชื่อดังของที่นี่ คือการนั่งBamboo Train รถไฟแบบชาวบ้านๆ ที่ทำจากแคร่ไม้ไผ่ วางบนล้อเหล็ก ที่วิ่งไปตามทางรถไฟสายเก่าของเมืองที่ปัจจุบันไม่มีรถไฟวิ่งแล้ว Bamboo Train เป็นกิจกรรมยอดฮิตที่ใครมาพระตะบองต้องห้ามพลาด เพราะนอกจากได้ลองนั่งรถไฟแบบบ้านๆแล้ว ยังได้สัมผัสธรรมชาติสองข้างทางที่สวยงามและเรียบง่ายของเมืองพระตะบองอีกด้วย

นอกจากสถานที่ทั้งหมดนี้ ในตัวเมืองพระตะบอง ยังเป็นเมืองน่ารักที่เหมาะแก่การเดินเล่นอย่างมาก เพราะตึกสองฝั่งถนนเป็นตึกเก่าแก่ที่มีความคลาสสิคมากๆ ใครที่ชอบเดินเล่นถ่ายรูปไม่ควรพลาดการเดินเล่นรอบเมืองพระตะบองอย่างยิ่ง

ถึงแม้ว่าพระตะบองจะไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวชื่อดังเหมือนเสียมราฐหรือพนมเปญ แต่ที่นี่ก็มีเรื่องราวประวัติศาสตร์และสถานที่เทียวที่สวยงามไม่แพ้ที่ใดในกัมพูชาเลยจริงๆ

ขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคตะวันออก

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ พาหลงพระตะบอง ตะลุยเมืองประวัติศาสตร์สุดเรียบง่าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook