เที่ยวสถานีเกษตรหลวงดอยอินทนนท์ ความสุขเหลือล้นที่บ้านแม่กลางหลวง

เที่ยวสถานีเกษตรหลวงดอยอินทนนท์ ความสุขเหลือล้นที่บ้านแม่กลางหลวง

เที่ยวสถานีเกษตรหลวงดอยอินทนนท์ ความสุขเหลือล้นที่บ้านแม่กลางหลวง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ต้นเดือนที่ผ่านมา “นายรอบรู้” แว่บไปขึ้นดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่  ...หลายคนคงเคยมากิ่วแม่ปาน หรือยอดดอยหลวงกันแล้ว แต่อาจไม่รู้ว่าบนดอยอินทนนท์มีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่นๆ โดยเฉพาะด้านท่องเที่ยวเชิงเกษตร คราวนี้เราได้รับเชิญจาก สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. เจ้าของพื้นที่ซึ่งดูแลงาน “โครงการหลวง” ทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาและวิจัยด้านเกษตรให้กับชาวเขา พาเราไปชมตั้งแต่สถานีเกษตรไปจนถึงหมู่บ้านชนเผ่าปกาเกอะญอ  ...ใครที่มาดอยอินทนนท์แล้วพลาดไป บอกเลยว่าต้องมาแก้ตัวให้ได้!! 

ชิมปลาเทราต์ ชมดอกไม้เมืองหนาว ที่สถานีเกษตรหลวงฯ

ไม่ต้องคนอื่นไกล ตัว “นายรอบรู้” เองขึ้นดอยอินท์ฯ ก็หลายครั้ง แต่ไม่ได้แวะเที่ยวสถานีเกษตรหลวงดอยอินทนนท์สักเท่าไร เลยไม่รู้ว่านอกจากดอกไม้สวยๆ แล้ว เดี๋ยวนี้เขามีที่พักน่านอนราคาไม่แพง มีร้านอาหารที่ปรุงจากพืชผักและปลาจากเมืองหนาวด้วย สถานีตั้งอยู่ที่บ้านขุนกลาง อยู่เลย กม.31 มานิดเดียว

สถานีเกษตรแห่งนี้ เกิดจากสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้ชาวเขาทำการเกษตรทดแทนการปลูกฝิ่น การตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย ที่จะสร้างปัญหาตามมาในอนาคต จึงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2522 เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรแผนใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง ดึงให้ชาวบ้านลดละเลิกการเกษตรวิถีเก่ามาสู่การเกษตรวิถีใหม่

ก่อนจะไปชิม เราขอชวนเดินเที่ยวสวนดอกไม้ ภายในสถานีเกษตรเต็มไปด้วยพรรณไม้ดอกไม้ที่ประดับไว้สวยงามตามจุดต่างๆ จุดแรกคือสวน 80 พรรษา ที่มีสวนดอกไม้และสระน้ำที่มีหงส์ดำและหงส์ขาวว่ายอวดโฉมไปมา มีสวนกุหลาบพันปี-พันธุ์ไม้หายากที่ขึ้นเฉพาะตามพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 2,000 เมตรขึ้นไปเท่านั้น แต่นักวิจัยโครงการหลวงสามารถนำมาปลูกและผสมพันธุ์ได้สำเร็จ



หากเดินลึกเข้าไปจะพบชาวบ้านง่วนอยู่กับแปลงต้นไม้ดอกไม้ ซึ่งเตรียมนำมาจัดแสดงในสถานีและส่งลงไปจัดแสดงในอุทยานหลวงราชพฤกษ์  คอกาแฟแนะนำให้แวะเติมคาเฟอีนที่ซุ้มกาแฟบริเวณหน้าสวน 80 ปี แต่ที่นับเป็นสุดยอดไฮไลต์พลาดไม่ได้คืออาหารที่สโมสรสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ มีเมนูเด็ดหาชิมยากหลายอย่างฝีมือของ “เชฟโจ” พ่อครัวมือหนึ่งของสถานีเกษตรหลวงฯ โดยเฉพาะเมนูจากปลาเรนโบว์เทราต์หรือปลาเทราต์และปลาสเตอร์เจียน

จานเด็ดคือสเต็กปลาสเตอร์เจี้ยนซัลซ่าซอส ปลาสเตอร์เจี้ยนคือปลาที่ให้ไข่ปลาคาร์เวียร์ (คาร์เวียร์เป็นชื่อเรียกวิธีการถนอมอาหาร) นำพันธุ์มาจากรัสเซียและเยอรมันมาเลี้ยงบนดอยอินทนนท์ เนื้อของมันก็กินอร่อยไม่แพ้กัน ทั้งนุ่มและมัน เข้ากับรสเปรี้ยวของซอส อีกอย่างที่พลาดไม่ได้คือปลาเรนโบว์เทราต์นึ่งซีอิ๊ว ปลาเทราต์นำพันธุ์มาจากอเมริกาเหนือ เนื้อปลาละเอียด นึ่งกับเบคอน รสชาติกลมกล่อม

นอกจากนี้ยังมีเมนูเด็ดอื่นๆ เช่น เป็ดอี้เหลียงอบกาแฟดอยคำ ที่เนื้อนุ่มกว่าเป็ดทั่วไป และหอมกลิ่นเมล็ดกาแฟอาราบิกาที่มาช่วยดับกลิ่นของเป็ด เป็ดอี้เหลียงเป็นเป็ดสายพันธุ์จีน นำมาเพาะพันธุ์และเลี้ยงที่ดอยอ่างขาง มีน้ำพริกเห็ดหอม ปลาสลิดทอด และแกงเหลืองปลาเทราต์ ผักที่นำมาประกอบอาหารก็สดใหม่ไร้สารพิษ ส่งตรงมาจากบ้านเมืองอางที่เป็นแหล่งปลูกผักโครงการหลวงแหล่งใหญ่ของดอยอินทนนท์

เส้นทางที่จะเข้าสู่ตัวน้ำตกจัดทำเป็นสวนหลวงสิริภูมิ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 8 ไร่ พัฒนาขึ้น พ.ศ. 2545 เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์เฟิน ปัจจุบันมีถึง 30 สกุล 50 ชนิด สวนแห่งนี้มาจากแนวคิดการปลูกเฟินเพื่ออนุรักษ์ต้นน้ำ เพราะรากเฟินช่วยยึดหน้าดิน สร้างขึ้นเลียนแบบธรรมชาติ โดยนำพันธุ์เฟินจากทั่วเมืองไทย มาเลเซีย ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ มาเพาะสปอร์แล้วนำมาปลูก ทำให้สวนแห่งนี้เป็นแหล่วงรวบรวมพันธุ์เฟินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย โดยเฉพาะ Tree Fern หรือกูดต้น ซึ่งเป็นเฟินสายพันธุ์ที่สูงที่สุด มีถึงกว่า 10 ชนิด นับว่ามีกูดต้นมากที่สุดในเอเชียอาคเนย์ Tree Fern เหล่านี้ต้องอาศัยอยู่บนพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 1,000 เมตร

นอกจากนี้ยังมีเฟินอุ้งตีนหมี เฟินลูกไก่ทอง เฟินกีบแรด กูดกิน ซึ่งเป็นเฟินหายาก ใกล้สูญพันธุ์แล้ว พี่อนุพันธ์ สุรินรังษี นักวิชาการเฟิน ที่ทำงานอยู่ที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ที่นำเดินชม บอกเล่าถึงเสน่ห์ของพืชชนิดนี้ว่าเป็นพืชโบราณ เกิดก่อนไม้ดอก มีเฟินมาตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ และปรับตัวมาอยู่จนถึงปัจจุบัน ในผืนป่าที่มีเฟินจะทำให้มองไปแล้วเย็นตา เย็นใจ ร่มรื่น จึงมีการขนานนามเฟินว่าเป็น “หยกของโลกสีเขียว” ความสวยของเฟินยังอยู่คู่กับป่าตลอดทุกช่วงเวลา ต่างจากไม้ดอกที่พอหมดดอกแล้วก็หมดสวย 

สัมผัสวิถีชาวปกาเกอะญอ ณ บ้านแม่กลางหลวง

บ้านแม่กลางหลวงอยู่ครึ่งทางก่อนถึงยอดดอยอินทนนท์ บริเวณกิโลเมตรที่ 26 จากสถานีเกษตรฯ ให้ย้อนลงมา เมื่อเข้าถึงหมู่บ้านจะพบนาขั้นบันไดผืนใหญ่ที่สุดในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ หมู่บ้านแห่งนี้เป็นที่ราบกลางหุบเขา มีลำธารหลายสายไหลผ่าน ทำให้เหมาะกับการทำเกษตรรวมทั้งทำประมงที่สูง ชาวบ้านเป็นชาวปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยง

แม่กลางหลวงมีไฮไลต์เด็ดหลายอย่าง ตั้งแต่นาขั้นบันไดที่สวยงาม เริ่มปลูกกันตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และข้าวออกรวงเหลืองทองเริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน ที่นี่ยังมีกาแฟอาราบิการสเยี่ยมเพราะปลูกที่ความสูงเหมาะสม อ้ายสมศักดิ์ บาริสต้าแห่งแม่กลางหลวงทั้งปลูกเอง คั่งเอง ก่อนมาเป็นกาแฟรสเยี่ยมให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มลอง นอกจากนี้ยังมีผ้าทอสีสวยๆ และเสื้อปกาเกอะญอเก๋ๆ ให้เลือกซื้อไปฝากคนที่คิดถึง หากได้เห็นชาวบ้านนั่งตีฝ้าย ปั่นฝ้ายทำเป็นด้ายแล้วนำมาทอมือทีละเส้นทีละเส้นแล้ว ก็จะเห็นว่ากว่าจะได้ผ้าแต่ละผืนนั้นไม่ง่ายเลย 

ด้วยความเย็นที่เหมาะสม บ้านแม่กลางหลวงยังเป็นที่เลี้ยงปลาสเตอร์เจี้ยนและปูขนของงานประมงที่สูง ซึ่งเป็นอีกส่วนในโครงการหลวง ปลาสเตอเจี้ยนเป็นปลากระดูกอ่อน ตัวเหมือนฉลาม ต้องเลี้ยงจนมีอายุ 8 ปีจึงจะรีดไข่ไปทำไข่ปลาคาร์เวียร์ได้ เนื่องจากเป็นปลาที่ต้องเลี้ยงในน้ำเย็น และนำไหลตลอดเวลาทำให้ต้องสร้างบ่อที่เหมาะสม ด้วยความเอาใจใส่ของชาวบ้านทำให้ได้ปลาที่มีคุณภาพและให้ผลผลิตราคาสูง

ในหมู่บ้านแม่กลางหลวงมีที่พักหลายแห่งซึ่งเป็นกิจการของชาวบ้านเอง เช่น อินทนนท์คีรีมายา บ้านโอมือเชอปอ (แม่กลางหลวงวิว) แพรว-พลอยรีสอร์ต ในวันที่เรามานอนพักนั้น ชาวบ้านทำพิธีมัดมือให้พวกเราด้วย ชาวปกาเกอะญอเชื่อว่าเป็นพิธีที่ขับไล่สิ่งไม่ดีให้ออกไป และเรียกขวัญของเราที่หนีหายไปให้กลับคืนมา ของที่ใช้ในการทำพิธีมีด้ายสีขาว ข้าวต้มมัด ไก่ต้ม เหล้าขาว และข้าวเบ๊อะ-อาหารประจำชาติของชาวปกาเกอะญอ ในสมัยก่อนพวกเขามีลูกหลานเยอะ บางปีปลูกข้าวไม่พอกิน จึงนำข้าวที่เหลือมาทำเป็นข้าวต้มโดยใส่พริก ใส่ผักหลากชนิดลงไปด้วย ลูกหลานจึงกินกันได้พออิ่ม – เราลองชิมแล้วรสชาติคล้ายกับข้าวต้มผสมแกงเขียวหวาน นับว่าอร่อยเลยทีเดียว    

ส่วนของฝากที่พลาดไม่ได้ คือโทงเทงฝรั่ง ผลไม้ลูกเล็กรสเปรี้ยวอมหวาน มีกลิ่นเฉพาะตัว ที่บ้านแม่กลางหลวงมีขายเป็นกองใหญ่ ราคาถูกกว่าข้างล่างเท่าตัว ใครได้ลองแล้วจะติดใจ มาเยือนดอยอินทนนท์เที่ยวนี้เราพบว่า ที่นี่ยังมีอะไรให้ค้นหาอีกมากมาย แว่วมาว่าทาง สวพส. มีโครงการพัฒนาหมู่บ้านอีกหลายแห่งให้เป็นจุดท่องเที่ยว หากมาครั้งหน้าคงมีอะไรตื่นตาตื่นใจอีกแน่นอน 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โทร. 0-5332-8496-8, www.hrdi.or.th

อัลบั้มภาพ 18 ภาพ

อัลบั้มภาพ 18 ภาพ ของ เที่ยวสถานีเกษตรหลวงดอยอินทนนท์ ความสุขเหลือล้นที่บ้านแม่กลางหลวง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook