ทั่วไทยใน 12 เดือน! ปฏิทินท่องเที่ยวประจำปี พ.ศ. 2560

ทั่วไทยใน 12 เดือน! ปฏิทินท่องเที่ยวประจำปี พ.ศ. 2560

ทั่วไทยใน 12 เดือน! ปฏิทินท่องเที่ยวประจำปี พ.ศ. 2560
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เว็บไซต์ roamshutter.com ได้จัดปฏิทินท่องเที่ยวประจำปี พ.ศ.2560 โดยมี 12 สถานที่ในเมืองไทยที่สวยงาม และน่าจะวางแผนการท่องเที่ยวได้

วันนี้ เราเลยเอามาฝากกันครับ ลองไปดูว่า 12 เดือนต่อจากนี้ ควรเริ่มต้นท่องเที่ยวที่ใดกันบ้าง? 

  • ปฏิทินเดือนมกราคม พ.ศ.2560
    ภูลมโล จังหวัดเลย

     เดือนมกราคมเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะชมต้นนางพญาเสือโคร่งออกดอกสีชมพู บานสะพรั่งทั่วภู เหมือนกับได้ชมดอกซากุระที่ประเทศญี่ปุ่น และภูลมโลก็เป็นสถานที่ที่เหมาะมากๆในการชื่นชมความงามของดอกนางพญาเสือโคร่ง อากาศเย็นๆบนภู อะไรจะดีไปกว่านี้ไม่มีแล้ว

      
  • 2. ปฏิทินเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2560
    – เขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

     เขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี บางคนอาจเรียก เขาสก หรือเขื่อนรัชประภา ไม่ว่าจะชื่อไหนก็หมายถึงเขื่อนเดียวเขื่อนนี้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถ้ามาเที่ยวที่นี่ปกติแล้วก็จะหาที่พักเพื่อมานอนแพ สัมผัสบรรยากาศที่ห่างไกลความวุ่นวายในเมือง เพราะว่า… ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์นั่นเอง! มีแพให้เลือกพักมากมาย แต่ถ้าใครไม่อยากนอนแพ สามารถให้พี่คนขับเรือพาไปยังแพที่เข้าไปเพื่อเล่นน้ำอย่างเดียวก็ได้ บรรยากาศดี ฝนไม่ตก อากาศเย็นๆเพราะอยู่กลางป่าเขา ไม่ไปไม่ได้แล้ว

  • 3. ปฏิทินเดือนมีนาคม พ.ศ.2560
    – เขาแหลมหญ้า จังหวัดระยอง

     เขาแหลมหญ้าอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ทำให้บรรยากาศคงความเป็นธรรมชาติอย่างที่สุด ที่นี่มีทั้งเส้นทางศึกษาธรรมชาติ และวิวทะเลสุดลูกหูลูกตา เขาแหลมหญ้าอยู่ในจังหวัดระยอง ซึ่งไม่ได้อยู่ไกลจากกรุงเทพฯเลย จะขับรถไปเอง หรือนั่งรถตู้ก็สะดวก จริงๆแล้วที่นี่สามารถไปเที่ยวได้ทุกฤดู ยกเว้นก็แต่หน้าฝนอาจจะได้วิวที่ไม่สวยถูกใจมากนัก แต่ยังไงทะเลก็คือทะเล ยังคงมีเสน่ห์ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดก็ตาม

  • 4. ปฏิทินเดือนเมษายน พ.ศ.2560
    – ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่

    ถ้าถามว่าวันสงกรานต์จะไปเที่ยวไหนดี จริงๆแล้วเพื่อนๆเล่นสาดน้ำสงกรานต์ที่จังหวัดตัวเองก็ได้ แต่ถ้ามีเวลามาที่เชียงใหม่แล้วล่ะก็ ขอแนะนำให้มา การเล่นสงกรานต์ที่เชียงใหม่จะเล่นอยู่บริเวณรอบคูเมืองเชียงใหม่เป็นหลัก และเล่นกันหลายวัน มากกว่าจังหวัดอื่นๆมากนัก ประตูท่าแพก็เป็นที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมมา มีถนนคนเดินที่ยาวมากจนเกือบจะไปถึงประตูอีกด้านหนึ่ง ด้วยเทศกาลสงกรานต์และถนนคนเดินเชียงใหม่ เดือนเมษายนผมจึงแนะนำให้มาเยือนที่นี่ให้ได้



  • 5. ปฏิทินเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2560
    – เกาะนางยวน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

    ทะเลแหวกที่มีเสน่ห์ที่สุดในใจผมเลยก็คือเกาะนางยวน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เดือนพฤษภาคมนี้อยู่ในช่วงหน้าร้อน ไม่มีฝน ฟ้าใส อากาศร้อนหน่อยอันนี้คงเลี่ยงไม่ได้ แต่การได้มาเที่ยวเกาะ เที่ยวทะเล และเล่นน้ำในช่วงหน้าร้อนนี้ถือเป็นความน่าอิจฉาที่สุด การเดินทางมาเกาะนางยวนนั้นสามารถมาจากชุมพร หรือสุราษฎร์ธานีก็ได้ และยังได้เที่ยวเกาะเต่า เกาะสมุยเป็นของแถม ถ้าได้มาที่นี่และอยากถ่ายรูปที่ตำแหน่งเดียวกับภาพนี้ ไม่ยากเลยเพราะทุกคนมักจะมุ่งหน้าเดินมาที่จุดนี้ก่อนลงไปเล่นน้ำ



  • 6. ปฏิทินเดือนมิถุนายน พ.ศ.2560
    เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี

    "เกาะล้าน" คุ้นหูคุ้นตากันไหม เป็นการเที่ยวทะเลที่ใกล้ ประหยัด และสวยที่สุดจากกรุงเทพฯ เดินทางด้วยรถตู้มาถึงที่ท่าเรือ และนั่งเรือต่อมาที่เกาะล้านได้ในทันที ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯมาถึงเกาะล้านประมาณ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น ที่นี่สามารถเช่ารถมอเตอร์ไซค์ขี่เล่นรอบเกาะได้ หรือถ้าพักที่รีสอร์ทบางที่ก็จะมีมอเตอร์ไซค์ให้เช่าได้ไม่ยาก วันหยุดสุดสัปดาห์มาสูดกลิ่นอายทะเลใกล้เมืองให้เพื่อนๆอิจฉากันเถอะ

  • 7. ปฏิทินเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2560
    – หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา

    "หาดสมิหลา" จังหวัดสงขลา หาดนี้เป็นหาดที่มีพื้นที่ชายหาดที่กว้างใหญ่มาก และทางจังหวัดสงขลาได้มุ่งพัฒนาหาดสมิหลาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงโดยการปรับปรุงถนนหนทางให้เดินทางสะดวก มีการสร้างพื้นที่เดินเล่น และสร้าง landmark จำนวนมาก ที่เพื่อนๆเห็นในภาพนี้คือ ประติมากรรมพญานาคพ่นน้ำ ที่เห็นอยู่นี่คือส่วนหัวเท่านั้น หากเดินทางเลียบไปยังชายหาด สามารถตามหาส่วนท้อง และส่วนหางได้ ถือเป็นอุบายในการพานักท่องเที่ยวชื่นชมหาดสมิหลาอย่างทั่วถึงได้เป็นอย่างดี

  • 8. ปฏิทินเดือนสิงหาคม พ.ศ.2560
    – น้ำตกแสงจันทร์ จังหวัดอุบลราชธานี

    "น้ำตกแสงจันทร์" หรือน้ำตกลงรู จังหวัดอุบลราชธานี น้ำตกนี้มีความพิเศษตรงที่สายน้ำตกลงมาจากรูของช่องหิน และสีขาวนวลของน้ำตกและละอองน้ำตก ทำให้น้ำตกนี้ได้ชื่อเรียกว่าแสงจันทร์ ช่วงปลายหน้าฝนอย่างเดือนสิงหาคมนี้จะมีน้ำค่อนข้างมาก และจังหวัดอุบลราชธานีก็มีน้ำตกให้ท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก สามารถเที่ยวน้ำตกได้ทั้งวันเลย



  • 9. ปฏิทินเดือนกันยายน พ.ศ.2560
    – สะพานมอญ สังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

    สะพานมอญ สังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยเป็นรองเพียงแค่สะพานอูเบ็งของประเทศพม่าเท่านั้น สะพานมอญทอดยาวไปยังชุมชนมอญอีกฝั่งหนึ่ง การมาท่องเที่ยวที่นี่แนะนำให้มาในช่วงเช้า จะได้ชมวิถีชีวิตชาวมอญที่ออกมาใส่บาตรพระในตอนเช้า ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถร่วมใส่บาตรได้ และยังสามารถชื่นชมบรรยากาศพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าที่สวยงาม

  • 10. ปฏิทินเดือนตุลาคม พ.ศ.2560
    ภูกระดึง จังหวัดเลย

     เคยได้ยินกิติศัพท์ของภูกระดึงกันรึไม่ ที่ซักครั้งหนึ่งในชีวิตต้องได้ขึ้นด้วยตัวเองเพื่อทดสอบความสามารถทางด้านร่างกายและจิตใจ หากได้เดินทางพร้อมกับคนรู้ใจยิ่งเป็นการพิสูจน์รักแท้ให้อีกฝ่ายประทับใจ ความเหน็ดเหนื่อยจากการขึ้นเขามาหลายชั่วโมง ได้มาเห็นวิวพระอาทิตย์ตก มากางเต้นท์ค้างคืนที่นี่ ตื่นเช้าชมพระอาทิตย์ขึ้น(ด้วยกัน) สุดท้ายก็ได้ถ่ายรูปคู่กับป้าย “ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง” อาห์… อากาศเดือนตุลาคมไม่ร้อนมาก บนภูเริ่มเย็นแล้ว สามารถเที่ยวได้อย่างสบายๆ



  • 11. ปฏิทินเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2560
    ภูชี้ฟ้า จังหวัดเชียงราย

    ภูชี้ฟ้า จังหวัดเชียงราย ช่วงปลายปีแบบนี้ ถ้าไม่ขึ้นภูสัมผัสอากาศหนาวเย็นทางภาคเหนือแล้วก็นับว่าน่าเสียดายเป็นอย่างมาก การมาชมภูชี้ฟ้ามักจะพักค้างคืนกันบริเวณไม่ไกลจากยอดภูมากนัก เพื่อเวลาเช้าตรูก่อนพระอาทิตย์ขึ้นจะได้ขึ้นรถจากที่พักขึ้นมาบนภู เดินต่ออีกเพียงเล็กน้อยเพื่อมาชมพระอาทิตย์ขึ้น และสุดท้ายอาจสามารถถ่ายภาพทางช้างเผือกในช่วงที่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้นได้ด้วย



  • 12. ปฏิทินเดือนธันวาคม พ.ศ.2560
    ดอยเสมอดาว จังหวัดน่าน

    ดอยเสมอดาว จังหวัดน่าน ที่นี่มีลานผากว้างโค้งไปตามแนวสันเขา ชื่นชมทะเลหมอก พระอาทิตย์ พระอาทิตย์ตก เห็นแนวเขาสุดลูกหูลูกตาและลำแสงพระอาทิตย์ที่ลอดผ่านเมฆ ในช่วงเวลาที่มองไม่เห็นทะเลหมอก ด้านล่างยังมองเห็นแม่น้ำน่านได้อีกด้วย ดอยเสมอดาวจะมีอากาศเย็นตลอดทั้งปี และแน่นอนที่สุดเลยว่าช่วงเดือนธันวาคมสิ้นปีแบบนี้ อากาศยิ่งหนาวเย็นจับใจ สร้างความโรแมนติกอย่างที่สุด

    ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก :
    http://roamshutter.com
    http://fb.com/roamshutter
    http://instagram.com/roamshutter

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook