ลิ้มรสวิถีแห่งศรัทธาของชาวปกากะญอ ที่ชุมชนพระบาทห้วยต้ม จ.ลำพูน
เดี๋ยวนี้การเดินทางท่องเที่ยวไม่ใช่เรื่องยากเย็นอีกต่อไป เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นนักท่องเที่ยวพากันหลั่งไหลไปเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลกันอย่างหนาแน่น จนทำให้เราไม่สามารถใช้เวลาซึมซับบรรยากาศในสถานที่นั้นๆ ได้อย่างเต็มที่
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เดินทางท่องเที่ยวเพื่อพบปะผู้คนและซึมซับ เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปจากชีวิตประจำวัน ขอให้ลางาน เก็บกระเป๋าแล้วตามเรามา Sanook! Travel จะพาคุณไปเรียนรู้วัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยที่มีชื่อว่า “ปกากะญอ” ที่ชุมชนพระบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน ซึ่งขอบอกว่าที่นี่ไม่ใช่แค่สถานที่ท่องเที่ยว แต่จะเป็นที่ที่คุณได้ใช้ชีวิตแบบ “อินไซด์” กับชาวปกากะญอเชียวล่ะ
ชุมชนพระบาทห้วยต้มถือกำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2514 จากศรัทธาของชาวปกากะญอ หรือชาวกะเหรี่ยง ที่อพยพจาก ต.แม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก เพื่อมาอาศัยอยู่ใกล้ชิดกับ “หลวงปู่ครูบาวงศ์” และได้ปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนากับหลวงปู่แทนการนับถือผีอย่างชาวเขาเผ่าอื่น ปัจจุบัน ชุมชนแห่งนี้กลายเป็นชุมชนชาวปกากะญอขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยชาวปกากะญอ 2 เผ่า คือ “ปกากะญอสะกอ” ที่อพยพมาจาก จ.ตาก และ “ปกากะญอโป” ที่อพยพมาจาก จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.เชียงใหม่ ซึ่งยังคงยึดถือแนวทางการปฏิบัติตนตามคำสอนของหลวงปู่ครูบาวงศ์อย่างเคร่งครัด จนกลายเป็นเสน่ห์ของชุมชนนี้
อย่างที่บอกว่าชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนชาวพุทธที่ปฏิบัติตนตามหลักธรรมะอย่างเคร่งครัด สถานที่ท่องเที่ยวในชุมชนจึงเป็นวัดและพระธาตุ ที่มีเรื่องราวความผูกพันกับชุมชน รวมทั้งมีสถาปัตยกรรมที่งดงาม
ก่อนอื่นก็ต้องเริ่มด้วยการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชนที่ “วัดพระบาทห้วยต้ม” วัดที่ใหญ่ที่สุดของ อ.ลี้ ที่มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ รวมอยู่ด้วย เช่น วิหารครอบรอยพระพุทธบาทห้วยต้ม, เจดีย์ 84,000 , มณฑปพระเขี้ยวแก้ว และมณฑปพระเจ้าเก้าตื้อ ที่หลวงปู่ครูบาวงศ์สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 มีลักษณะเป็นโดม ภายในปิดกระจกเงารอบ ประดิษฐานพระพุทธรูปทองเหลืองปางมารวิชัยที่จำลองมาจากเจ้าเก้าตื้อวัดสวนดอก จ.เชียงใหม่
ทุกวันพระ วัดพระบาทห้วยต้มจะจัดงาน “ประเพณีตักบาตรผัก” ขึ้น เพื่อให้ชาวบ้านนำพืชผักมาทำบุญและฟังเทศน์ ชาวบ้านจะแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองสีสันสดใสมาถวายข้าวพระพุทธและพระสงฆ์ตั้งแต่ตี 5 โดยผู้ชายจะเริ่มนำข้าวมาใส่บาตรก่อน ตามด้วยคนเฒ่าคนแก่ ผู้หญิงและเด็ก และรับพร กรวดน้ำพร้อมกัน
จากนั้น ชาวบ้านผู้ชายจะนำผักผลไม้ที่ชาวบ้านใส่ไว้ในภาชนะมาวางเรียงไว้หน้าอาสนะของพระสงฆ์ และหลังจากที่ประกอบพิธีทางศาสนาเสร็จ ก็จะมีการเทศนา และมีการเวียนเทียนในช่วงเย็นที่วัดพระบาทห้วยต้มและพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย ใครที่สนใจก็ลองเช็ครายละเอียดกับทางชุมชน แล้วมาร่วมทำบุญตักบาตรผักกันได้
สถานที่ต่อมาที่ควรมาสักการะก็คือ พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย เจดีย์ขนาดใหญ่สีทอง ที่จำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวดากองในประเทศพม่า สร้างขึ้นโดยหลวงปู่ครูบาวงศ์ ตามความเชื่อที่ว่ามีการขุดค้นพบมูลและเขาของพระโคอุสุภราช พระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า หลวงปู่จึงอธิษฐานสร้างพระธาตุครอบมูลและเขาของพระโคซึ่งกลายสภาพเป็นหินไว้ และจะมีเทศกาลสรงน้ำพระธาตุ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 หรือประมาณเดือนมิถุนายนของทุกปี นอกจากนี้ ที่นี่ยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีมะเมียอีกด้วย
นอกจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชนแล้ว อีกหนึ่งสถานที่ที่คุณควรมาสักการะก่อนจะเข้าพักในชุมชนก็คือ วิหารพระเมืองแก้ว วิหารสีขาวที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางเปิดโลกและร่างของหลวงปู่ครูบาวงศ์ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชน และทุกวันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี จะมีประเพณีการสักการะสรีระทิพย์ของหลวงปู่ครูบาวงศ์ และประเพณีเปลี่ยนผ้าหลวงปู่ ซึ่งเป็นประเพณีใหญ่ที่ชาวบ้านในชุมชนจะมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง
ว่ากันว่า เวลาเดินทางไปต่างถิ่น สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกคือเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์” ของท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อเป็นการ “บรีฟ” คร่าวๆ ว่าชุมชนท้องถิ่นนั้นมีความเป็นมา และมีวัฒนธรรมชุมชนเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นก่อนจะเข้าไปในชุมชนพระบาทห้วยต้ม ก็ลองแวะชมพิพิธภัณฑ์ชุมชนก่อนไปเจอกับของจริงได้นะ
หลังจากเยี่ยมชมสถานที่และเรียนรู้ข้อมูลคร่าวๆ เกี่ยวกับชุมชนชาวปกากะญอแห่งนี้แล้ว ก็ได้เวลาเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่กันซะที
ชื่อ “ปกากะญอ” หมายถึง คนที่มีความเป็นอยู่แบบสมถะ เพราะฉะนั้น วิถีชีวิตของที่นี่จึงมีความเรียบง่ายและผูกพันกับธรรมชาติเป็นหลัก
แต่เดิมชาวปกากะญอจะสร้างที่อยู่อาศัยแบบเรือนเครื่องผูกด้วยไม้ไผ่ ไม่ใช้ตะปู มุงหลังคาบ้านด้วยใบตองตึง ฝาบ้านลาดเอียงเพื่อป้องกันแรงลม มีครัวอยู่ภายในบ้าน เพื่อให้ควันไฟป้องกันแมลงที่มากัดกินฝาบ้านซึ่งเป็นไม้ไผ่ และปลูกพืชผักเพื่อยังชีพ แต่ในปัจจุบัน บ้านหลายหลังมีรูปแบบสมัยใหม่ และเปิดเป็นโฮมสเตย์ไว้รองรับนักท่องเที่ยวให้มาอาศัยอยู่ด้วยกัน เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตชาวปกากะญอให้ลึกซึ้ง
เสน่ห์เฉพาะตัวอีกอย่างหนึ่งของชุมชนพระบาทห้วยต้มก็คือ เป็นชุมชนมังสวิรัติ ซึ่งชาวบ้านทุกคนจะไม่บริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิด และไม่อนุญาตให้นำเนื้อสัตว์เข้ามาในชุมชน โดยชาวบ้านจะปลูกผักเพื่อรับประทานเอง ซึ่งนอกจากจะประหยัดแล้ว ยังมั่นใจได้ว่าปลอดสารพิษแน่นอน
เมนูเด็ดที่น่าจะถูกใจนักท่องเที่ยวที่มาพักที่โฮมสเตย์ก็คือ “ขันโตกมังสวิรัติ” มีทั้งต้มยำเห็ดใส่หมูยอเจที่ทำจากเห็ดหอม เต้าหู้ทอดจิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ดเจ รสชาติคล้ายน้ำจิ้มข้าวมันไก่ ผัดผักรวมมิตรเจ และน้ำพริกดำที่เรียกว่า “มุ่ยและซู” ทำจากพริกกะเหรี่ยงตากแห้งและนำไปเผาให้ดำ
ไหนๆ จะลองเป็นสมาชิกในชุมชนแล้ว ก็ต้องแต่งตัวให้เนียนไปกับชุมชนเขาหน่อย ด้วย “แฟชั่นปกากะญอ” เครื่องแต่งกายที่ทำจากผ้าฝ้ายทอด้วย “กี่เอว” และตัดเย็บเป็นเสื้อหรือชุดยาวประดับด้วยพู่ ที่มีด้านหน้าและด้านหลังเหมือนกัน แสดงถึงความจริงใจต่อผู้อื่นทั้งต่อหน้าและลับหลัง โดยชุดสำหรับหญิงที่แต่งงานแล้วจะเป็นเสื้อครึ่งท่อนแล้วมีผ้าถุง ส่วนหญิงที่ยังไม่แต่งงานจะใส่ชุดยาว ส่วนผู้ชายจะสวมเสื้อ และนุ่งโสร่ง อาจจะดูซับซ้อนนิดหน่อย แต่เลือกให้ถูกก็จะเนียนเหมือนเป็นทีมเดียวกันเลย
นอกจากอาหารการกินและการแต่งกายแล้ว คุณยังสามารถลงลึกในวิถีชีวิตชาวปกากะญอได้อีก กับกิจกรรมที่ให้คุณได้ลงมือ “ทำงาน” แบบชาวปกากะญอ นั่นคือ การทอผ้าฝ้ายโดยใช้กี่เอว และการทำเครื่องประดับเงิน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาวปกากะญอ เครื่องประดับทุกชิ้นจะทำด้วยมือทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการหลอมเงิน การขึ้นรูป การตอกลาย แม้กระทั่งการออกแบบลวดลาย ซึ่งมีทั้งลายดั้งเดิมที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติรอบตัว เช่น ลายดอกไม้และลายปลา ไปจนถึงลวดลายแฟชั่นต่างๆ ที่เก๋ไม่แพ้ใคร งานนี้อาจจะต้องใช้ฝีมือและความอดทนมากหน่อย แต่ไม่ต้องห่วง เพราะเรามีชาวบ้านเป็นเทรนเนอร์ให้ด้วย รับรองว่าสนุกแน่นอน
หลังจากทำงานมาเหนื่อยๆ ช่วงบ่ายแก่ๆ แดดร่มลมตก ก็ได้เวลาไปเดินเล่นชมแปลงปลูกผักอินทรีย์ในระบบโรงเรือน ซึ่งสนับสนุนโดยศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม พร้อมซื้อผักผลไม้ตามฤดูกาล หรือใครที่ตกหลุมรักหัตถกรรมท้องถิ่นเข้าแล้ว ก็สามารถไปช้อปปิ้งได้ที่ศูนย์หัตถกรรมบ้านห้วยต้ม ด้านหน้าชุมชนได้ด้วย
ชุมชนพระบาทห้วยต้มรอให้คุณเข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชนชาวปกากะญอ ใครที่หลงรักเสน่ห์ที่เรียบง่ายแต่งดงามแบบนี้ ก็สามารถติดต่อขอเข้าพักในโฮมสเตย์ของชุมชนได้ที่คุณธีรนาถ น้อยแสง โทร. 083-3243063 คุณวิมล สุขแดง โทร. 093-1869469 หรือศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม โทร. 053-518059
ส่วนการเดินทางสามารถเดินทางโดยรถยนต์ได้ 2 เส้นทางคือ 1. จากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 106 (สายเชียงใหม่-ลำพูน) เมื่อถึง อ.ลี้ให้เลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1087 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 7 จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าสู่ชุมชนอีก 1 กิโลเมตร และ 2. จากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 (สายเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน) ผ่านดอยเต่า แล้วเข้ามาที่ อ.ลี้ ได้เลย
ทริปเรียบง่ายแต่สนุกสนาน แถมยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ ที่แตกต่างจากชีวิตประจำวันแบบนี้ Sanook! Travel เชื่อว่าการเดินทางของคุณจะสนุกและมีความหมายมากกว่าเดิมอย่างแน่นอน!
[Advertorial]