อพท. เดินหน้าขับเคลื่อนแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาคุณค่าเมืองมรดกโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร

อพท. เดินหน้าขับเคลื่อนแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาคุณค่าเมืองมรดกโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร

อพท. เดินหน้าขับเคลื่อนแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาคุณค่าเมืองมรดกโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ‘สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร’ เมืองแห่งประวัติศาสตร์ที่อยู่คู่แผ่นดินสยามมายาวนานกว่า 700 ปี ยังคงเปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์และคุณค่าที่นับวันจะเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา และกลายเป็นมรดกล้ำค่าสำหรับคนรุ่นหลังที่ได้ดื่มด่ำกับอารยธรรม เรียนรู้วิถีชีวิต และสัมผัสความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรไทยในอดีต

     เมืองประวัติศาสตร์ทั้งสามแห่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานประวัติศาสตร์จากกรมศิลปากรในปี 2518 และได้รับการประกาศจากองค์การ UNESCO ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อปี 2534 จากการเป็นสถานที่แห่งประวัติศาสตร์ที่สร้างสรรค์ขึ้นอย่างชาญฉลาดและแสดงถึงอารยธรรมอันงดงาม โดยตั้งแต่นั้นมา โบราณสถานเหล่านี้ก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวแลนด์มาร์กของไทยที่เรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้แวะมาเยี่ยมเยือนได้อย่างไม่ขาดสาย

     อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ต่างแวดล้อมด้วยชุมชนเก่าแก่ที่อยู่อาศัยมายาวนานหลายร้อยปี และถือเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องราวอันทรงคุณค่าจากอาณาจักรสุโขทัย การพัฒนาชุมชนควบคู่ไปกับการอนุรักษ์โบราณสถาน จึงเป็นแนวทางสำคัญสำหรับการพัฒนาพื้นที่ในระยะยาว ภายใต้ความร่วมมือแบบบูรณาการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อันเป็นที่มาขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. หน่วยงานที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ให้เป็นพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน


     อพท. เริ่มเข้ามาพัฒนาพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ในปี 2552 โดยการศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่ และได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในราชกิจจานุเบกษา อีกทั้งเป็นพื้นที่ต้นแบบของการบริหารจัดการอนุรักษ์และพัฒนาคุณค่าของการเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา

     การดำเนินงานของ อพท. เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘มรดกโลกกินได้’ โดยมุ่งเน้นการอนุรักษ์และพัฒนาวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และประเพณีในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการสร้างแหล่งท่องเที่ยวและบริการใหม่ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาเยี่ยมชม ส่งผลให้รายได้ของคนในชุมชน ชีวิตความเป็นอยู่ และสภาพทางสังคมดีขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนทำให้คนในชุมชนเกิดความเข้าใจ หวงแหน และร่วมกันรักษามรดกโลกอันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน


     อพท. มีการจัดกิจกรรมเสวนา แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นประจำทุกปี เพื่อสร้างการรับรู้และตระหนักในคุณค่าของเมืองมรดกโลก รวมถึงพัฒนาแนวทางการดูแลเมืองมรดกโลกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้กิจกรรมจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมสุโขทัย เทรเชอร์ รีสอร์ท แอนด์ สปา โดยได้รับเกียรติจากคุณปิติ แก้วสลับสี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กล่าวเปิดงาน และมีวิทยากรภายในงาน ได้แก่ คุณทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ รองผู้อำนวยการ อพท. คุณสมชาย เดือนเพ็ญ รองปลัดเทศบาล ต.ในเมือง อ.สวรรคโลก คุณสันติ อภัยราช ผู้ทรงคุณวุฒิ คุณปองเลิศ เฉลิมสิริโรจน์ ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองเก่า-สุโขทัย และ ดร.ทวีศักดิ์ รักยิ่ง ผู้ดำเนินการเสวนา โดยภายใต้แนวคิดมรดกโลกกินได้นั้น อพท. มีการจัดกิจกรรมใน 3 แนวทางร่วมกัน ดังนี้


     1. การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีของชุมชนท้องถิ่น อาทิ การแสดงนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์ งานย้อนอดีตนุ่งผ้าไทยใส่เงินทองลายโบราณ ตลาดโบราณใครใคร่ค้าค้า กิจกรรมค้นหาช่าง 10 หมู่ ฯลฯ
     2. การพัฒนาสัญลักษณ์มรดกทางวัฒนธรรม โดยจัดทำแบรนด์ ‘มรดกพระร่วง’ เพื่อเป็น Destination Brand ที่สะท้อนถึงแก่นแท้และอารยธรรมของแผ่นดินไทยสมัยราชวงศ์พระร่วง ในรูปแบบตราสินค้า การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ และกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่อง
     3. การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่มีส่วนร่วมกับชุมชนในพื้นที่เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การจัดอบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่นผู้เชี่ยวชาญมรดกโลก กิจกรรมเพิ่มทักษะการท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกตามมาตรฐานสากล กิจกรรมพัฒนาเครือข่ายด้านการท่องเที่ยว ฯลฯ


     จากแนวคิดมรดกโลกกินได้สู่การประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวและบริการรูปแบบใหม่ในพื้นที่ ด้วยความร่วมมือของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำให้ศิลปวัฒนธรรมจากต้นกำเนิดแห่งแผ่นดินสยามได้รับการสืบทอด และมีการพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัย นอกจากนี้ ชุมชนเก่าแก่ในพื้นที่ยังมีระดับคุณภาพชีวิตดีขึ้น จึงนับเป็นการพัฒนาแบบรอบด้านที่ทำให้พื้นที่เมืองมรดกโลกแห่งนี้มีศักยภาพ และเกิดการขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน …

 


[Advertorial]

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook