“ปิล๊อก” เมืองแห่ง ฝนแปด แดดสี่
เข้าสู่ฤดูฝน ช่วงเวลาที่หลายคนคิดว่าไม่เหมาะกับการเดินทางท่องเที่ยว ด้วยเหตุผลที่ว่าจะไปทางไหนก็เฉอะแฉะเปียกลื่นไปเสียหมด ค่อนข้างลำบากลำบนกับการไปเดินชมวิวทิวทัศน์ ด้วยเกรงว่าสายฝนที่พร่ำโปรยลงมาจะลบเลือนแป้งบนใบหน้าให้เห็นริ้วรอยอันอย่างชัดเจน แต่สำหรับนักเดินทางที่ชื่นชอบหมู่มวลพฤกษาพนาวัลย์แล้วละก็ ฤดูฝนนี้เป็นช่วงเวลาที่เขาเหล่านั้นเฝ้านับวันรอคอยมาเป็นเวลาหลายเดือน
ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก จังหวัดกาญจนบุรี เป็นจังหวัดที่มีป่าเขา ถ้ำ ลำธาร อยู่ดารดาษ ทั้งยังมีประวัติศาสตร์การสงครามหลายคราให้เมื่อเวลามาต้องคิดถึง นอกจากนี้แล้วยังมีอีกหลายท่านคงยังไม่ทราบว่าในพื้นที่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกอันมีแนวสุดเขตของประเทศไทย นั้นเป็นพื้นที่ที่น่าเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนในช่วงฤดูฝน เพราะว่าเป็นอำเภอที่มีธรรมชาติงดงาม ทั้งยังมีสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น มีมวลทะเลหมอกลอยคละคลุ้งฟุ้งกระจายราวกับเป็นเมืองในฝัน
แต่คุณอาจจะต้องขับรถเลยตัวอำเภอทองผาภูมิขึ้นไปประมาณ 60 กม. โดยผ่านเส้นทางคดโค้งขึ้นภูเขาราวกับเป็นการเดินทางในเส้นทางท่องเที่ยวของภาคเหนือ บางคนถึงกับบอกว่า “เส้นทางสายนี้ สามารถทดแทนการเดินทางไปเที่ยวในภาคเหนือได้อย่างสบาย” และนี่คือ ทางหลวงหมายเลข 3272 หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า เส้นทางสาย ทองผาภูมิ – บ้านอีต่อง ตำบลปิล๊อก
และทำไมถึงชื่อว่า ตำบลปิล๊อก ? คำถามนี้ค้างคาใจผมมาตลอดทั้งที่ได้เดินทางไปเยือนสถานที่แห่งนี้กว่า 5 ครั้งแล้วก็ตาม ในคราวก่อนๆ ผมทราบแต่เพียงว่า ปิล๊อก คือชื่อของเหมืองแร่แห่งหนึ่ง เพราะในบริเวณนี้เคยมีการทำสัมปทานเหมืองแร่ดีบุกกันมาก่อน เมื่อขุดหาแร่ได้ก็จะนำส่งออกไปทางด่านชายแดนไทย – พม่า ที่อยู่ไม่ไกลจากเหมือง ในช่วงนั้นสภาพเศรษฐกิจในบริเวณหมู่บ้านอีต่องค่อนข้างดี เนื่องจากมีคนงานที่มาจากอินเดีย เนปาล พม่า ไทย เข้ามารับจ้างขายแรงเป็นคนงานในเหมืองปิล๊อกกันเป็นจำนวนมาก
แต่แล้วก็เหมือนสัจธรรมมีการเกิดและต้องมีดับไป แร่ดีบุกจากที่เคยมีอยู่อย่างมากมาย ก็ลดน้อยลงจนแทบไม่มีหลงเหลืออยู่ในพื้นที่นี้อีกเลย ผู้คนแรงงานที่เคยมาอาศัยพักพิงเคยมีรายได้จากพื้นที่เมืองในหุบเขาป่าฝนและสายหมอก ต่างต้องเก็บข้าวของก้มหน้าเดินทางกลับสู่มาตุภูมิ ภาพที่คนงานกำลังเดินทางกลับในห้วงเวลานั้น ยังคงเป็นภาพขาวดำอันน่าเศร้าสลด ที่ผู้สูงอายุในหมู่บ้านอีต่องยังคงจดจำได้ดี
มาถึงวันนี้มีมัคคุเทศก์น้อยคนหนึ่ง เดินเข้ามาพาเที่ยวชมหมู่บ้าน ผมเลยได้คำตอบว่า ที่ชื่อปิล๊อกนั้นมาจากคำว่า “ผีหลอก” เพราะเคยมีคนตายที่นี่ แล้วมีคนเห็นเป็นผีมาเดินวนเวียนอยู่ เลยเรียกบริเวณนี้กันว่า “ผีหลอก” แต่เจ้ากรรมคนที่เรียกนั้นดันเป็นชาวพม่า พูดไทยไม่ค่อยชัด การออกเสียงจึงเพี้ยนจาก ผีหลอก เป็น ปิล๊อก....อืม พึ่งรู้วันนี้เอง
และเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา หมู่บ้านอีต่อง ตำบลปิล๊อก ได้กลับมาเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีอากาศดี โดยมีจุดเด่นอยู่ที่สายหมอกขาวลอยคละคลุ้งอยู่รายรอบตัวตลอดวัน บ้างก็ปะปนมากับเม็ดฝนบางเบาปกคลุมหมู่บ้านหลังคาสังกะสีไว้จนทั่ว มิวายโรงเรียนและวัดที่ตั้งอยู่บนเนินเขาเหนือหมู่บ้าน ชาวบ้านที่นี่มักจะพูดกันว่าทีนี่คือ “เมืองแห่ง ฝนแปด แดดสี่” เพราะในหนึ่งปีจะมีโอกาสที่จะพบแสงแดดเพียง 4 เดือน ในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น แต่ก็เพียงแสงแดดหลังก้อนเมฆไม่แผดร้อนรุนแรงเหมือนในเมืองใหญ่ ช่วงฤดูฝนเทือกเขาที่อยู่รอบตัวจะเป็นสีเขียวขจี มองไปแล้วรู้สึกสดชื่นเย็นตา ผมเห็นด้วยกับความรู้สึกนี้ เพราะทุกครั้งที่ได้มาเพียงเพื่อภาพประทับใจดังกล่าว
ปัจจุบันเส้นทางทองผาภูมิ – หมู่บ้านอีต่อง รถเก๋ง และรถตู้ขับขึ้นไปเที่ยวชมได้อย่างสะดวก ไม่เฉพาะเจาะจงว่าจะต้องเป็นรถกระบะเท่านั้น เส้นทางสายนี้เป็นทางลาดยาง คดโค้งไปมาให้ความรู้สึกท้าทายความสามารถ
ก่อนถึงหมู่บ้านอีต่องจะเป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ณ ที่แห่งนี้คุณสามารถใช้บริการที่พักได้อย่างสะดวก โดยมีบ้านพักแนวแปลกเข้ากับธรรมชาติอย่างบ้านทาร์ซาน บนยอดต้นไม้ไว้คอยบริการอยู่ 3-4 หลัง หรือ จะกางเต้นท์พักแรมแบบแค้มปิ้งค์ก็สนุกสนาน เพราะจุดกางเต้นท์นั้นชื่อว่าเนินกูดดอย ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่สวยงามมากที่สุดจุดหนึ่งของอุทยานฯ คุณสามารถประกอบอาหารรับประทานเองได้ โดยที่คุณควรจะคำถึงความสะอาดของพื้นที่ไว้สักหน่อย แต่ถ้าคุณไม่สันทัดในการเตรียมการทางอุทยานฯ ก็มีร้านค้าสวัสดิการบริการอาหารตามสั่งให้คุณได้รับความสะดวกอยู่ทุกวัน
หมู่บ้านอีต่อง ตำบลปิล๊อก นับเป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวหนึ่งที่น่าเดินทางไปเที่ยวชมในช่วงฤดูฝน ผมคิดว่าหมู่บ้านแห่งนี้ที่ตั้งอยู่ห่างจากกรุงเทพเพียง 300 กม. เศษ จะสามารถทดแทนการเดินทางถึงภาคเหนือได้ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาไม่มากนัก แต่ต้องการสัมผัสทะเลหมอกขาวเป็นริ้วยาวในวันพักผ่อน แล้วคุณจะประทับใจ “เมืองแห่ง ฝนแปด แดดสี่” ที่อำเภอทองผาภูมิ