ย้อนเวลาสู่อดีตกับ Street Art ย่านเมืองเก่าสงขลา
ภาพชีวิตบางภาพ เราอาจไม่เห็นในปัจจุบันแล้ว แต่มันยังมีชีวิตอยู่ในความทรงจำของผู้คน และเหลือร่องรอยบางอย่างให้ค้นหา
โดยเฉพาะในย่านเก่าของแต่ละเมืองที่มักมีวิถีชีวิตหลากหลาย เรื่องราวมากมาย มีเสน่ห์ชวนหลงใหลอยู่เสมอ ดังเช่นย่านเก่าเมืองสงขลา ในจังหวัดสงขลา ที่เราอยากแนะนำในวันนี้
ย่านเก่าเมืองสงขลาตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง เมื่ออดีตราว 200 ปีก่อน ตัวเมืองไม่ได้อยู่บริเวณในปัจจุบันนี้ แต่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบ
เรียกว่า เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน จนกระทั่ง พ.ศ. 2385 จึงขยายมาทางฝั่งตะวันออกบริเวณตำบลบ่อยางในปัจจุบัน เรียกกันว่า “เมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง”
แรกเริ่มมีถนน 2 สาย คือ ถนนนครนอก เป็นถนนเส้นนอกติดกับทะเลสาบ และถนนนครใน เป็นเส้นถนนในเมือง ต่อมามีการตัดถนนสายที่ 3 เพื่องานสมโภชเสาหลักเมือง
เรียกว่าถนนเก้าห้องหรือย่านเก้าห้อง เนื่องจากเริ่มแรกมีห้องอยู่ 9 คูหา หรือ 9 ห้อง จนกระทั่งในปี พ.ศ.2478 จังหวัดสงขลา
ได้จัดงานปีใหม่พร้อมกับจัดประกวดนางงามสงขลา มีสาวคนงามคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในแถบนี้ได้รับตำแหน่งนางงามสงขลา ชาวบ้านจึงเปลี่ยนมาเรียกกันติดปากว่า “ถนนนางงาม”
ในอดีตย่านถนนนครใน ถนนนครนอก และถนนนางงาม เป็นย่านการค้าที่คึกคัก เพราะเป็นจุดจอดเรือประมงและเรือสินค้าทั้งไทยและต่างชาติที่มาค้าขายในทะเลสาบสงขลา
ต่อมาการสัญจรทางน้ำลดบทบาทลง ย่านเมืองเก่าก็ซบเซาตามไปด้วย แต่ก็ยังเหลือบรรยากาศเก่าๆ ของอาคารบ้านเรือน และของกินอร่อย ให้เรามาเดินตามรอยอดีต
ถนนทั้งสามสาย ต่างเต็มไปด้วยร้านรวงเก่า อาคารบ้านเรือนที่มีอายุยาวนานกว่าร้อยปี ซึ่งเป็นการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมจีนฮกเกี้ยนและตะวันตกในยุคอาณานิคม
จึงสวยงามและมีเสน่ห์เฉพาะตัว บางหลังก็เป็นห้องแถวไม้แบบจีน แบบชั้นเดียวและสองชั้น มุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผาจากเกาะยอ บางอาคารก็เป็นตึกแถวปูน
มีปูนปั้นประดับลวดลาย คล้ายกับอาคารในย่านเก่าเมืองภูเก็ต สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรวมของกินและขนมสีสันแปลกตา
เช่น ขนมค้างคาว ขนมทองเอกและสัมปันนี ต้มสามเหลี่ยม ข้าวมันแกงไก่ ไอศกรีมไข่แข็ง เป็นต้น เดินไปก็แวะชิมไป อิ่มอร่อยมีความสุขมาก
ตามผนังต่างๆ ในย่านยังเต็มไปด้วยงานศิลปะและภาพสตรีทอาร์ตฝีมือคนรุ่นใหม่ เหมาะกับการไปเดินเที่ยว ถ่ายภาพกันเพลินๆ มีสตรีตอาร์ตทั้งหมด 15 จุด
ให้เราตามหา เช่น อาแปะเปิดประตู ยื่นหมวกกันน็อก, ภาพเด็ก 3 เชื้อชาติ ไทย มุสลิม และจีน
ซึ่งเป็นตัวแทนเคน 3 เชื้อชาติที่มาอยู่ร่วมกันที่นี่, ภาพเรือสำเภา, ภาพร้านบะหมี่ (หมี่เปี่ยก), ภาพการทำข้าวเกรียบ, ภาพการทำบูดู, ภาพหมา แมว หนู,
ภาพกำแพงศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เป็นต้น แม้วันนี้ภาพเหล่านี้จะแทบไม่มีให้เห็นแล้ว แต่เมื่อปรากฏอยู่บนกำแพงให้คนรุ่นเก่าที่ยังทันเห็นได้บอกเล่ากับคนรุ่นใหม่
ก็เหมือนกับทำให้ภาพเหล่านี้มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง
งานนี้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน “สงขลาสู่เมืองมรดกโลก” แม้ต้นความคิดมาจากสตรีตอาร์ตในรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย
แต่ก็พยายามนำเสนอวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนสงขลา และให้ศิลปินท้องถิ่นเป็นผู้สร้างสรรค์งาน
อาคารหลังหนึ่งที่น่าสนใจ และเพิ่งเปิดให้เข้าชมไม่นานนี้คือ บ้านนครใน อาคารเก่าที่ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงของใช้โบราณ เช่น เตียงอายุ 100 ปี
ตู้โบราณ ถ้วยชามจากจีน ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตคนสงขลาในอดีต
อีกที่หนึ่งที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของเมืองนี้ คือ โรงสีหับ โห้ หิ้น ลักษณะคล้ายโกดัง สีแดงสด สร้างเมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้ว
ในยุคนั้นถือเป็นโรงสีที่ใหญ่ที่สุดในเมืองสงขลา ผลิตข้าวสารส่งออกไปมาเลเซียและสิงคโปร์ด้วย “หับ โห้ หิ้น”
เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน แปลว่าความสามัคคี ความกลมเกลียว ความเจริญรุ่งเรือง
ไม่ไกลกันเท่าไร มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ตัวอาคารเป็นเรือนหมู่ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งผสมจีน
คือเป็นตึกสองชั้นหลังคาแบบเก๋งจีน แสดงศิลปวัตถุต่างๆ ที่น่าไปเดินชม อาคารหลังนี้ในอดีตเป็นบ้านของพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา)
ผู้ช่วยเจ้าเมืองสงขลา และเคยใช้เป็นศาลากลางจังหวัดก่อนปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์
ทุกเย็นวันศุกร์-เสาร์ ตั้งแต่สี่โมงเย็นถึงสี่ทุ่ม บนถนนจะนะ ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์จะมีถนนคนเดินสงขลาแต่แรก มีอาหารพื้นถิ่นและสินค้าวางขายมากมาย บรรยากาศคึกคักน่าเดินมาก
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของเมืองที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองท่าริมทะเล และวันนี้ยังคงมีชีวิตชีวาน่าไปเยี่ยมเยือน ...ถ้าพร้อมแล้วก็เก็บกระเป๋าไปเที่ยวกัน
การท่องเที่ยวบริเวณย่านเก่าเมืองสงขลา สามารถเดินชมได้ด้วยตนเอง หรือบริการรถรางนำเที่ยว ซึ่งให้บริการทุกวัน วันละ 5 รอบ ค่าบริการคนละ 30 บาท
หรือถ้ามาเป็นหมู่คณะไม่เกิน 20 คิดราคาเหมาได้ที่ 1,400 บาท โดยจุดเริ่มต้นเส้นทางอยู่ที่ สวนประวัติศาสตร์พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เทศบาลนครสงขลา โทร. 074 311 015
อัลบั้มภาพ 18 ภาพ