ตามหาความงามที่ซ่อนอยู่ "หมู่บ้านคีรีวงกต"
ปลายฝนต้นหนาวกับเรื่องราวการเดินทางอันแสนมหัศจรรย์ในหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ในอ้อมกอดแห่งขุนเขา
ลมเย็นๆ พัดผ่านร่างไปในขณะที่กำลังยืนสัมผัสกับกลิ่นหอมๆ ของพื้นดินและต้นไม้ กับความงดงามของสายหมอกและก้อนเมฆ ธรรมชาติได้สรรค์สร้างไว้ให้เกิดดินแดนอันน่าจดจำแห่งนี้
เราตกหลุมรักในบรรยากาศโดยรอบได้อย่างง่ายดาย นี่ไม่ใช่ดินแดนที่ห่างไกลเกินเอื้อม แต่ที่นี่คือบ้านคีรีวงกต จังหวัดอุดรธานี
ออกจากตัวเมืองอุดรมุ่งหน้าไปทางหนองคายบนถนนมิตรภาพ เลี้ยวซ้ายเข้าอำเภอบ้านผือ จุดหมายปลายทางของเราในทริปนี้คือ หมู่บ้านคีรีวงกต อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี
เราออกเดินทางจากอุดรในช่วงค่ำๆ เพราะต้องการจะไปเก็บบรรยากาศยามเช้าที่หมู่บ้านในวันรุ่งขึ้น
จากการศึกษาเส้นทางการเดินทางใน Google Map มาเป็นอย่างดีแล้ว เราจึงเลือกที่จะพักค้างคืนกันในตัวอำเภอน้ำโสมซึ่งอยู่ไม่ไกลจากปลายทางของเรานัก
ตื่นเช้ามาจะได้มุ่งเข้าสู่หมู่บ้านคีรีวงกตได้เลย (แลดูเตรียมพร้อมนะ) ที่พักในอำเภอน้ำโสมส่วนใหญ่อยู่แถวๆ หลังโรงพยาบาลน้ำโสม ขับรถเลือกดูกันได้เลย
เช้าวันรุ่งขึ้น เราออกจากที่พักตอนตีห้า ก็ยังคงเชื่อมั่นในข้อมูลเส้นทางที่เตรียมไว้อยู่ จากตัวอำเภอน้ำโสมเรามุ่งหน้าสู่อำเภอนายูง
เช้ามืดในวันนั้นมีเพียงรถเราคันเดียวในเส้นทางเล็กๆ คดเคี้ยวนั่น เริ่มเอะใจกันแล้วว่า “หลง” รึเปล่านะ แต่คุณเนวิเกอร์ก็ยังส่งเสียงให้ตรงไปเรื่อยๆ นี่นา
ขับไปตามทางบนถนนขรุขระเป็นระยะๆ นั้นจนฟ้าเริ่มสาง ทำให้เราพบว่าเส้นทางของเรานั้นไม่ได้เดียวดายเสียทีเดียว ต้นไม้ ภูเขา สายหมอก อยู่รอบๆ ตัวเรา
นี่มันดินแดนมหัศจรรย์อะไรกัน คำถามที่แล่นเข้ามาในหัว หมอกที่ลอยฟุ้งๆ เต็มไปหมดตามทางข้างหน้าและภูเขาที่วางตัวอย่างสลับซับซ้อน
นี่ฉันอยู่ในจังหวัดอุดรธานีจริงๆ หรือนี่ ถ้าหากเราจะหลงทางจริงๆ ก็ต้องถือว่านี่เป็นรางวัลปลอบใจที่มีคุณค่าและน่าจดจำต่อคนหลงทางมากๆ ขอบคุณอะไรก็ตามที่พาหลงมาทางนี้้
ขับตามสายหมอกไปสักพักใหญ่ เราสังเกตป้ายข้างทางได้ว่ากำลังนำทางไปสู่วัดป่าบ้านเพิ่ม เมื่อขับเลยวัดไปหน่อยจะเข้าสู่หมู่บ้าน เห็นได้จากยานพาหนะที่ใช้ทำมาหากิน
ซึ่งมีแค่แบบเดียวนั่นคือรถอีแต๊ก ก็ช่วยยืนยันว่าเราใกล้ที่หมายเข้าไปทุกทีๆ แล้วสายหมอกก็พาเรามาถึงหมู่บ้านคีรีวงกตในที่สุด
ถึงแล้ว แล้วยังไงต่อนะ ไปหาชาวบ้านที่พอจะให้ข้อมูลอะไรได้บ้างกันดีกว่า
เห็นคุณลุงนักการคนหนึ่งเดินอยู่แถวนั้นพอดี คุณลุงเป็นเป้าหมายและที่พึ่งเดียวของเราในเวลานั้น
เราถามคำถามอย่างคนที่ไม่รู้จะเริ่มอะไรตรงไหนในเวลานั้นว่า ถ้าจะดูหมู่บ้านนี้ในมุมที่สวยที่สุดจะต้องไปที่ไหน
คำตอบที่เราได้รับอย่างที่ไม่อยากจะเชื่อหูของตัวเองออกมาจากปากของชายผู้ซึ่งยืนอยู่ตรงหน้าเรานั้นว่า “ก็ดูจากที่ไร่ของลุงนี่แหละ” (นี่ลุงโม้รึเปล่าคะ ทำหน้างงทั้งทีม)
ถึงแม้จะไม่อยากเชื่อหูตัวเอง แต่ด้วยสีหน้า น้ำเสียง และแววตาแห่งความเป็นมิตรไมตรีที่คุณลุงมอบให้ก็ทำให้เราอยากไปพิสูจน์ให้เห็นกับตาสักครั้ง
เราจึงร้องขอให้คุณลุงพาไปในสถานที่ที่ว่านั้น ลุงก็ไม่รอช้า พาเราขึ้นรถโฟร์วีลของลุงเองมุ่งหน้าสู่ไร่อัมรินทร์ หรือไร่พ่อขวัญ หรือไร่ลุงสุรินทร์ซึ่งเป็นชื่อของคุณลุง ในทันใด
ใครเอารถเล็กมาก็ขอบอกไว้เลยว่าให้จอดไว้ในหมู่บ้านได้เลย เพราะเส้นทางสู่ไร่อัมรินทร์นั้นยากลำบากพอตัว ถนนขรุขระและฝนที่ตกทั้งคืนทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง
แต่ก็เพิ่มความน่าตื่นเต้นในเส้นทางที่จะนำเราไปจุดหมายปลายทางได้ไม่น้อย คุณลุงสุรินทร์ไม่ได้เปิดไร่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
แต่เพื่อให้ญาติ เพื่อนพ้อง และคนสนิทได้ขึ้นไปชมความสวยงามของหมู่บ้านในพื้นที่ของลุงเอง เห็นไหมว่าเราโชคดีแค่ไหน
เมื่อขับขึ้นไปถึงบ้านคุณลุงบนไร่ เราก็ต้องจอดรถไว้แล้วเดินขึ้นเขาต่ออีกสักหน่อย คุณลุงยังใจดีทั้งแบกขวดน้ำทั้งถางหญ้านำทางให้เรา
เราที่เหลือแค่เดินสะพายกล้องคนละตัวยังเหนื่อยเลย ไม่นานเมื่อถึงจุดที่คุณลุงภูมิใจนำเสนอ ในตอนนั้นเราตกอยู่ในภวังค์ของทิวทัศน์และบรรยากาศโดยรอบ 360 องศา
อย่างที่ไม่ต้องมีคำบรรยายอื่นใด ความงดงามของหมู่บ้านเล็กๆ ในดินแดนอีสานของเราอยู่ตรงหน้านี้แล้ว ลมเย็นและหมอกฟุ้งลอยอยู่ในระดับสายตาช่วงเช้า
หากมองมาจากอีกฝั่งของยอดเขา เราคงเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกหมอกเหล่านั้นปกคลุมด้วยเช่นกัน ถ้าได้จิบกาแฟร้อนๆ สักถ้วยคงเข้ากับบรรยากาศน่าดู
พระอาทิตย์ในวันนั้นคงทำงานหนักไม่เบา เพราะกว่าจะเบียดตัวส่องแสงมายังหุบเขาก่อกวนให้สายหมอกจางตาก็เป็นเวลาเกือบแปดโมงเช้า
ในตอนนั้นเองทำให้เรามองเห็นหมู่บ้านคีรีวงกตที่อยู่เบื้องล่างจากมุมที่คุณลุงภูมิใจนำเสนอว่าเป็นมุมที่สวยที่สุด ไม่ผิดเลยแม้แต่น้อย หมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ในหุบเขา
โอบล้อมไว้ด้วยความงดงามของธรรมชาติในทุกมุมมอง ขอบคุณโชคชะตาที่ทำให้เราได้มาเจอกับคุณลุง
สิบโมงเช้าเรามีนัดกับผู้ใหญ่อ๋อยเพื่อนั่งรถอีแต๊กล่องแก่งและกินข้าวป่าริมน้ำตก ก่อนถึงเวลานัดเรากินข้าวง่ายๆ กันที่ร้านค้าในหมู่บ้านใกล้กับโรงเรียน
คนในหมู่บ้านนี้มีน้ำใจมาก เจ้าของร้านค้าขับมอเตอร์ไซค์พาเราไปส่งที่บ้านผู้ใหญ่อ๋อย
ผู้ใหญ่อ๋อยเป็นผู้ใหญ่บ้านคีรีวงกต นักท่องเที่ยวท่านใดต้องการร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวในหมู่บ้านสามารถติดต่อผู้ใหญ่อ๋อยและทำการนัดหมายล่วงหน้าอย่างน้อยสักสามวัน
เนื่องจากผู้ใหญ่จะนำทีมชาวบ้านเตรียมกิจกรรมและการต้อนรับไว้ให้ ค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวโดยชุมชนอยู่ที่ 900 บาทต่อคน
เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการล่องแก่งโดยรถอีแต๊ก, ข้าวป่าริมน้ำตก, การค้างคืนแบบโฮมสเตย์ 1 คืน, อาหารและประเพณีพื้นบ้าน ในฤดูที่น้ำลดจะมีกิจกรรมพิเศษคือการจับปูโดยมีค่าสนับสนุนเพิ่มขึ้นอีก 100 บาท
เราเริ่มต้นออกเดินทางกันที่บ้านผู้ใหญ่ ระหว่างนั้นเราได้เห็นกรรมวิธีการทำที่คีบน้ำแข็งที่ทำจากไม้ไผ่โดยป๋าผ่าย ป๋าผ่ายเป็นคนขับรถอีแต๊กให้เราในทริปนี้
นักท่องเที่ยว 1 กลุ่มจะได้รับแก้วน้ำ, ช้อนตักอาหารและที่คีบน้ำแข็งกลุ่มละ 1 ชุดให้กลับไปเป็นที่ระลึกด้วย
สถานีแรกของเราคือสวนเงาะของผู้ใหญ่อ๋อย จอดรถแล้วลงไปสอยเองฟรีๆ เก็บไว้กินระหว่างทางได้เลย รสชาติหวานชื่นใจ หากใครติดใจก็สามารถขอซื้อหิ้วใส่ถุงกลับบ้านได้
แล้วการผจญภัยของเราบนรถอีแต๊กกับสายน้ำในลำธารเล็กๆ ก็เริ่มขึ้น สองข้างทางเป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ปลูกข้าวโพดบ้าง ทำนาบ้าง
บางช่วงเป็นอุโมงค์ต้นไม้ ความลึกของน้ำประมาณเท่าหัวเข่า ลึกสุดเท่าเอว น้ำไหลตลอดทาง เอาเท้าแตะน้ำรู้สึกเย็นสบาย บางช่วงต้องลงเนินที่ค่อนข้างชัน ต้องจับราวที่นั่งไว้ให้ดี
เป็นการล่องแก่งที่แหวกแนวและสนุกสนานมาก แถมมองไปทางไหนก็มีแต่สีเขียวเย็นสบายตา
สถานีปลายทางน้ำตก ตอนที่เราไปถึงก็เห็นชาวบ้านเตรียมหุงหาอาหารกันตรงนั้นไว้รอแล้ว อาหารแต่ละอย่างแค่ดูก็รู้แล้วว่าทำด้วยความปราณีตและตั้งใจ
ตั้งแต่ข้าวเหนียวห่อใบบัว ที่นึ่งในกระบอกไม้ไผ่ส่งกลิ่นหอมแตะจมูก แกงปลาใส่หยวกกล้วยในถ้วยกระบอกไม้ไผ่รสชาติถือว่าเด็ด
ส้มตำอย่างที่ชาวบ้านเขาตำกินกันเอง ปีกไก่บ้านเสียบไม้ย่าง ปลาจากน้ำตกเอามาเผาเนื้อหอมหวาน และน้ำจิ้มเครื่องเทศมะขามเปียก
แค่นึกถึงก็น้ำลายไหลแล้ว เสร็จจากมื้อเที่ยง เราก็เดิน นั่งเล่น พักผ่อนกันตามอัธยาศัย พออิ่มเอมกับบรรยายกาศกันแล้ว เราก็ได้เวลาร่ำลาคีรีวงกต
เราเก็บเกี่ยวความประทับใจของการใช้ชีวิตง่ายๆ ความสุขที่ราบเรียบ มิตรภาพและไมตรีของผู้คนรอบข้าง ความงดงามที่ซ่อนตัวอยู่ของธรรมชาติในหมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้
ได้เติมเต็มพลังในหัวใจกลับไปพร้อมกับความทรงจำดีๆ ที่เมื่อใดได้นึกถึงก็ทำให้ยิ้มได้เสมอ
เส้นทางการเดินทางเลาะของเรา
-ส่วนใหญ่แล้วคนมักเดินทางไปบ้านคีรีวงกตด้วยเส้นทางอุดร-นายูงโดยไม่เข้าอำเภอน้ำโสม ลองใช้เส้นทางน้ำโสม-นายูง ดูสิ ทางอาจจะเล็กหน่อยแต่สองข้างทางสวยงามมาก
ผู้ใหญ่อ๋อยก็แนะนำให้ใช้เส้นทางนี้เพราะใกล้กว่าเส้นทางแรก -เตรียมโลชั่นกันยุงติดตัวไปด้วย ยุงป่ามันโหดมาก