ตะลุยแดนมัมมี่ V ท่องลักซอร์ตะวันออก ชมวิหารคารนัคอันเลื่องชื่อ

ตะลุยแดนมัมมี่ V ท่องลักซอร์ตะวันออก ชมวิหารคารนัคอันเลื่องชื่อ

ตะลุยแดนมัมมี่ V ท่องลักซอร์ตะวันออก ชมวิหารคารนัคอันเลื่องชื่อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากไปเที่ยวลักซอร์ฝั่งตะวันตกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราก็มาต่อฝั่งตะวันออกกันบ้าง ที่โด่งดังเลื่องชื่อลือชาที่สุดก็เห็นจะหนีไม่พ้นวิหารคาร์นัค ใครที่ดูหนังฮอลลีวู้ดอย่างพวกมัมมี่รีเทิร์นก็คงจะคุ้นหูคุ้นตากันอยู่บ้าง

 

Karnak Temple
Karnak Temple

 

อ่านตอนก่อนได้ที่

"ตะลุยแดนมัมมี่ I ชมพีระมิดเมือง Dashur - Saqqara ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์เมือง Memphis"

"ตะลุยแดนมัมมี่ II สัมผัสความอลังการของพีระมิดแห่งกิซ่า...หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก"

"ตะลุยแดนมัมมี่ III ชมวิหาร Deir al-Bahri วิหารของฟาโรห์หญิงผู้เกรียงไกร"

 "ตะลุยแดนมัมมี่ IV วิหารแห่งองค์ฟาโรห์...สู่ชีวิตหลังความตายอันเป็นนิรันดร์"

 

วิหารคารนัคนั้นสร้างขึ้นเมื่อราว 2400 BC เพื่อเป็นวิหารที่ใช้ในการบูชาเทพเจ้าอมุนรา ซึ่งในยุค New Kingdom นี้ยกให้เป็นเทพเจ้าแห่งชัยชนะ (God of victory) จากวิหารคารนัคจะมีทางเดินเชื่อมไปถึงวิหารลักซอร์ (Luxor temple) โดยสองข้างทางของทางเดินเชื่อมต่อนี้จะมีรูปปั้นสฟิงซ์เรียงรายอยู่ ถนนเส้นนี้จึงมีชื่อเรียกว่า Sphinx Avenue โดย Sphinx Avenue สร้างขึ้นโดยพระเจ้ารามซิสที่สอง ตอนนี้เมืองลักซอร์กำลังมีโปรเจ็กท์ที่จะขุดและบูรณะ Sphinx Avenue นี้ขึ้นมาใหม่ ด้วยหลายส่วนยังคงจมอยู่ใต้ผืนทราย ซึ่งโปรเจ็กท์นี้จะทำให้ประชาชนมากมายที่บ้านตั้งอยู่บนทางเดินสายนี้ต้องถูกโยกย้าย แต่ก็คาดว่าจะส่งเสริมการท่องเที่ยวได้มากขึ้นอีกหลังการบูรณะเสร็จสิ้น

 

Sphinx Avenue
Sphinx Avenue

 

 

ไกด์เริ่มด้วยการพาไปดูโมเดลชมความยิ่งใหญ่อลังการของคอมเพล็กซ์อันยิ่งใหญ่ซึ่งกินเนื้อที่กว่าหกสิบเอเคอร์

เนื่องจากเป็นวิหารที่สร้างขึ้นเพื่อการบูชาเทพเจ้าเป็นหลัก ที่นี่จึงมีห้องต่างๆแบ่งไว้เพื่อให้คนทั่วไปและนักบวชได้มาจุดเทียนเผาเครื่องหอมถวายวิหารนี้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆตลอดช่วงเวลาหลายรัชสมัย ฟาโรห์แต่ละองค์เมื่อครองราชย์ก็เพิ่มโน่นเติมนี่ โบราณวัตถุทรงคุณค่าที่พบในวิหารนี้จึงมีอายุเก่าแก่แตกต่างกันไป ที่นี่จึงอุดมไปด้วยงานศิลป์ล้ำค่าจนถือได้ว่าเป็น Open museum เลยทีเดียว

ถัดออกมาเป็น Sphinx Avenue หรือทางเดินหน้าวิหารคาร์นัค มีจุดเด่นคือสฟิงซ์จะมีหัวเป็นแกะ (ram) และมีตัวเป็นสิงโต ที่หัวเป็นแกะแทนที่จะเป็นอย่างอื่นก็เพราะว่าแกะเป็นสัญลักษณ์ เป็นร่างหนึ่งของเทพอมุนรา โดยระหว่างขาของสฟิงซ์จะมีรูปปั้นฟาโรห์เล็กๆในท่ายืนอยู่ ซึ่งแสดงถึงว่าเทพอมุนราปกป้องฟาโรห์อยู่นั่นเอง

 

 

Karnak Temple & Sphinx Avenue
Karnak Temple & Sphinx Avenue

 

เมื่อผ่านประตูยักษ์ที่เรียกว่า pylon เข้าไป เราก็จะเห็นความยิ่งใหญ่ตระการตาของวิหารแห่งนี้

ตัวประตูของที่นี่เองก็มีความพิเศษอีกเช่นกัน กล่าวคือการสร้างประตูนั้นยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ตัวนั่งร้านที่ทำจาก mud brick จึงยังไม่ได้ถูกรื้อลงมา ซึ่งอันนี้เป็นหลักฐานชิ้นเอกให้คนรุ่นหลังเข้าใจวิธีการก่อสร้างไพลอนใหญ่ๆในสมัยก่อน กล่าวคือจะมีการใช้ดินถมเป็นทางเดินลาดเพื่อลากหินขึ้นพื้นเอียงไปต่อยอดเรื่อยๆจนประตูสร้างเสร็จ จากนั้นการตกแต่งจะตกแต่งจากบนลงล่างเพื่อให้ค่อยๆรื้อตัวเนินดินนี้ลงมาได้ตามลำดับ

 

ในบรรดาห้องที่มีมากมายนี้จะมีห้องหนึ่งที่มีรูปปั้นทองคำของเทพหลังทั้งสามคืออมุนรา มุต(มเหสี) และคอนโซ (khonso) บุตรชาย ซึ่งรูปปั้นทั้งสามนี้จะมีนักบวชหญิงมาคอยสรงน้ำหอม ผัดเปลี่ยนเครื่องทรง และ เผาเครื่องหอมถวายทุกวัน

โดยก่อนที่จะทำพิธีกรรมเหล่านี้นักบวชหญิงจะต้องชำระล้างร่างกายให้บริสุทธิ์เสียก่อน ที่วิหารนี้จึงมีสระน้ำขุด (man-made lake) ที่เรียกกันว่า sacred lake ขุดในสมัยพระเจ้า Amenophis III ไว้ให้นักบวชหญิงเหล่านี้อาบก่อนทำพิธีกรรมใดๆก็ตาม ซึ่งวันหนึ่งๆ นักบวชหญิงเหล่านี้จะต้องอาบน้ำกันถึงสี่รอบด้วยกันทีเดียว

 

Pylon & Sacred Lake
Pylon & Sacred Lake

 

เมื่อเดินลึกเข้าไปจะเจอโถงกว้างที่เรียกว่า Hypostyle Hall ที่เริ่มสร้างโดยพระเจ้า Seti I และสร้างเสร็จในรัชกาลของรามซิสที่สองผู้เป็นบุตรชาย

ซึ่งHypostyle Hall ของที่นี่คงสภาพสมบูรณ์เกือบที่สุด มีเสาถึง 134 เสาและเป็นตัวอย่างความรุ่งเรืองสูงสุดของสถาปัตยกรรมอิยิปต์ โดยเสาสูงเหล่านี้มียอดเป็นรูป Open หรือ close papyrus (ประมาณบัวตูมหรือบัวบาน) ที่ชาญฉลาดคือความสูงของเสาจะลดหลั่นเล็กน้อยทำให้แสงสว่างลอดเข้ามาได้เป็นชั้นๆ

หลังคาบางส่วนยังหลงเหลืออยู่ สีสันยังสดใส จะเห็นว่ามีการสลักพระนามฟาโรห์หรือคารทุช

ต่อมาเป็นห้องโถง ซึ่งโถงนี้มีความสำคัญคือเป็นที่ให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาถวายของเผาเครื่องหอมสักการะบูชาเทพเจ้า

คนธรรมดาจะเข้ามาสุดได้แค่โถงนี้ ส่วนห้องลึกกว่านั้น เฉพาะนักบวชเท่านั้นที่จะเข้าไปได้ ดังนั้นเมื่อนั่งประกอบพิธีที่โคนเสานี้แล้ว ของถวายต่างๆที่วางไว้นักบวชจะเป็นผู้ลำเลียงไปด้านใน อย่างไรก็ตาม มีบางส่วนของโถงซึ่งเริ่มชำรุดทรุดโทรม เราถึงเห็นมีทีมงานเข้ามาทำการบูรณะกัน

 

Hypostyle Hall
Hypostyle Hall

 

ออกจากโถงมาก็จะเห็นสร้างปรักหังพังของวิหารบางส่วนและ Obilisk

การสร้างโอบิลิกส์มีจุดประสงค์หลายอย่าง นอกจากจะบูชาเทพอมุนราแล้ว ยังสามารถใช้เป็นนาฬิกาแดด

และเนื่องจากนิยมเคลือบยอดด้วยทองคำและทองแดง โอบิลิกส์จึงทำหน้าที่เป็นทั้งสายล่อฟ้า และจุดสังเกตบอกทางมาวิหารแก่นักเดินทางไปในตัว

การสร้างโอบิลิกส์นั้นเป็นงานใหญ่ใช่เล่นโดยจะต้องเลือกหินจากภูเขาที่ใหญ่พอ และทั้งก้อนไม่มีรอยแตก หินก้อนใหญ่มโหฬารและสภาพดีก็ไม่ใช่จะหาได้ง่ายๆ แต่ละก้อนหนักเป็นร้อยๆตัน แล้วจึงค่อยๆใช้เข็ม ค้อน ทั่ง สกัดแกรนิตยักษ์ที่แข็งแกร่งเหล่านี้จนเป็นกรอบ จากนั้นเจาะรูข้างๆ แล้วเทน้ำลงเพื่อให้หินขยายตัวแล้วเปราะแตกตามที่วาดไว้ แล้วจึงใช้คนค่อยๆแซะด้านบนและสองข้างจนเป็นชิ้น จากนั้นก็ต้องรอหน้าน้ำท่วมเพื่อใช้น้ำจากแม่น้ำไนล์ล่องเรือมาจากอัสวานแหล่งหินที่อยู่ทางทิศใต้ลงมาถึงลักซอร์อีกที

ที่คารนัคนั้นเคยมีโอบิลิกส์อยู่ถึงหกอันแต่ปัจจุบันเหลือตั้งอยู่เพียงสองคืออันที่ฮัทเชปชัตสร้างถวายทุตโมสที่หนึ่งราชบิดาของเธอและของฮัทเชปชัต โดยที่สีไม่เสมอกันนั้นเป็นเพราะทุตโมสที่สาม ลูกเลี้ยงของเธอนั้นพยายามที่จะทำลายทุกสิ่งที่เธอสร้าง อย่างไรก็ดีโอบิลิกส์นั้นสร้างขึ้นเพื่อถวายเทพอมุนราทุตโมสจึงไม่กล้าทำลายเกรงเทพเจ้าพิโรธจึงเกณฑ์คนมาทำกำแพงล้อมรอยจารึกต่างๆไว้ไม่ให้เห็น

จึงกลับกลายเป็นว่าโอบิลิกส์ของฮัทเชปชัตได้รับการปกป้องจากแดดลมฝนเป็นอย่างดีจนเหลือไว้ประกาศพระนามและความยิ่งใหญ่ของเธอให้อนุชนรุ่นหลังได้รู้กัน ส่วนยอดโอบิลิกส์ที่เห็นที่พื้นนั้นเป็นยอดของโอบิลิกส์อีกอันที่หักโค่นลงเนื่องจากแผ่นดินไหว

 

Obilisk of Hatshepsut
Obilisk of Hatshepsut

 

ได้ความรู้กันเต็มเปี่ยมในช่วงเช้ากับการเข้าชมวิหารคารนัค ตอนหน้ามาติดตามชมวิหารลักซอร์ก่อนที่จะกลับมาชมการแสดงแสงสีเสียงที่วิหารคารนัคกันอีกรอบยามค่ำคืนค่ะ

 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ปกติแล้วจะเป็นบล็อกเกอร์สายรีวิวอาหารค่ะ ติดตามผลงานได้ที่ www.foodiesjourniecom และเพจ www.facebook.com/foodiesjournie

ซึ่งถึงจะเน้นรีวิวอาหารแต่ก็มีรีวิวท่องเที่ยวต่างประเทศบ้างเผื่อใครสนใจตามไปลองอ่านกัน

ต่อไปคงทยอยเขียนท่องเที่ยวให้มากขึ้นด้วยค่ะ ยังไงก็ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะคะ

 

สำหรับช่องทางอื่นๆ ที่ผู้เขียนบันทึกอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวจากเรื่องราวประจำวัน สามารถติดตามได้ทั้ง IG, Twitter และ Pinterest ในนาม “foodiesjournie” นะคะ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook