ตะลุยแดนมัมมี่ IX เยือนเขื่อนอัสวาน ชมวิหาร Abu Simbel
หลังจากชมวิหารและเล่าขานตำนานแห่งเทพของอิยิปต์กันไปจนเต็มอิ่มแล้ว เราก็ยังคงท่องเที่ยวกับไกด์สุดเนิร์ดคนเดิมเพื่อไปชมวิหาร Abu Simbel อันเลื่องชื่อ ซึ่งเราต้องดั้นด้นตื่นกันตั้งแต่ตีสองเลยทีเดียวเพราะรถ Police convoy จะนำออกเดินทางตั้งแต่ตีสี่ จากนั้นเราจะได้ไปชมเขื่อนอัสวานและชมวิหารกลางน้ำที่ Philae ต้นกำเนิดของตำนานรักของไอซิสและโอสิริสและกำเนิดของเทพโฮรัส ก่อนจบลงที่ unfinished obilisk กลางแดดร้อนระอุของแถบใต้ของอิยิปต์ พร้อมแล้วตามไปดูกันเลยค่ะ
อ่านเรื่องราวตอนก่อนๆได้ที่
"ตะลุยแดนมัมมี่ I ชมพีระมิดเมือง Dashur - Saqqara ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์เมือง Memphis"
"ตะลุยแดนมัมมี่ II สัมผัสความอลังการของพีระมิดแห่งกิซ่า...หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก"
"ตะลุยแดนมัมมี่ III ชมวิหาร Deir al-Bahri วิหารของฟาโรห์หญิงผู้เกรียงไกร"
"ตะลุยแดนมัมมี่ IV วิหารแห่งองค์ฟาโรห์...สู่ชีวิตหลังความตายอันเป็นนิรันดร์"
"ตะลุยแดนมัมมี่ V ท่องลักซอร์ตะวันออก ชมวิหารคารนัคอันเลื่องชื่อ"
"ตะลุยแดนมัมมี่ VI ชิลยามบ่ายในลักซอร์ ต่อด้วยแสงสีเสียงตระการตาที่คาร์นัคยามค่ำคืน"
"ตะลุยแดนมัมมี่ VII มุ่งลงใต้ตามคุณไกด์สุดฮิปไปฟังเทพปรณัมของอิยิปต์กันเถอะ"
"ตะลุยแดนมัมมี่ VIII เยือน Sil sila ก่อนจะพากันลอยคว้างกลางแม่น้ำไนล์"
วันนี้พาไปชมวิหาร Abu Simbel กันค่ะ ก่อนไปก็เกร็งๆ เพราะเค้าบอกว่าต้องไปกับ Police convoy แต่จริงๆไม่มีอะไรเลยค่ะ เค้าแค่จัดให้มีรถเข้าไปได้แค่วันละสองรอบคือ ตีสี่และสิบเอ็ดโมง และต้องมีรถตำรวจนำเท่านั้นเอง
ห้องแรกที่เข้าไปมีนิทรรศการย่อมๆ เกี่ยวกับการขนย้ายวิหาร Abu Simbel ซึ่งเดิมตั้งอยู่ในที่ต่ำ เมื่อมีโครงการสร้างเขื่อนอัสวานก็พบว่าจะทำให้วิหารทั้งวิหารจมอยู่ใต้น้ำ โอ้ว ม่ายยย UNESCO เลยยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือโดยให้เงินทุนในการขนย้ายวิหารนี้ขึ้นมาตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งปัจจุบัน เข้าไปส่วนภายในได้แล้ว เราก็เดินลงไปชมวิหารกันใกล้ๆ
ที่นี่นอกจากจะมีกฏห้ามถ่ายภาพด้านในวิหารแล้วยังมีกฏห้ามไกด์เข้าไปบรรยายด้วย ไกด์เราก็เลยต้องบรรยายกันตั้งแต่ด้านนอก โดยรอจนกระทั่งเราเดินเข้าไปใกล้หน้าวิหาร คงกะให้สัมผัสความยิ่งใหญ่ได้เต็มสองตา ให้อยู่ในโหมดอึ้งและทึ่งกับความอลังการของสิ่งก่อสร้างตรงหน้าก่อนจะเริ่มเข้าสู่บทเรียน
วิหาร Abu Simbel นี้สร้างขึ้นเมื่อราว 1220 BC ตั้งตระหง่านกว่าสามพันปี จนทรายพัดทับถมจนวิหารจมอยู่ใต้ดิน จนกระทั่งนักสำรวจชาวอิตาเลียนเข้ามาขุดค้น
วิหารนี้ตั้งอยู่ริมทะเลสาบนัซเซอร์ที่มีความยาวถึง 500 กม. ซึ่งขุดขึ้นโดยฝีมือมนุษย์ โดยเป็นส่วนหนึ่งในการก่อสร้างเขื่อนที่อัสวาน แหล่งน้ำที่มาของน้ำในทะเลสาบนัซเซอร์ก็คือทะเลสาบวิคตอเรีย ต้นน้ำของแม่น้ำไนล์นั่นเอง
บริเวณนี้เดิมเป็นอาณาจักรของชาวอิยิปต์เชื้อสายนูเบีย การสร้างทะเลสาบนั้นกินบริเวณของชาวเบียไปมาก จึงถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐาน ทำให้อารยธรรมนูเบียซึ่งมีแต่ภาษาพูดไม่มีภาษาเขียนกระจัดกระจายไป
หากพูดถึงอาณาจักรนูเบียแล้ว คำว่า “นูเบีย” ในภาษาโบราณนั้นแปลว่าทองคำ ในสมัยโบราณอาณาจักรนูเบียนั้นมีความสำคัญต่ออิยิปต์มากเพราะเป็นทั้งแหล่งทองคำแหละแหล่งทาสที่อิยิปต์นำไปใช้แรงงาน จึงไม่แปลกที่อิยิปต์ต้องการจะครอบครองแถบนี้ นูเบียจึงเป็นไม้เบื่อไม้เมากับอิยิปต์และมีการแข็งข้อบ้างเรื่อยมา
วิหาร Abu Simbel นี้ถูกสร้างขึ้นในถิ่นนูเบียก็เพราะฟาโรห์รามซิสที่สองผู้ยิ่งใหญ่ ท่านได้แต่งงานกับพระมเหสีชาวนูเบียคือพระนางเนเฟอร์ทารี (Nefertari) เพื่อกระชับสัมพันธไมตรี
เนเฟอร์ทารีเป็นพระมเหสีที่ท่านรักมาก ท่านจึงสร้างวิหารของท่านขึ้นในถิ่นนูเบียนี้ อีกทั้งยังสร้างวิหารให้พระนางเนเฟอร์ทารีไว้เคียงกันด้วย ซึ่งการสร้างวิหารให้ราชินีนี้ นอกจากฮัทเชปชัตซึ่งดำรงตนเป็นฟาโรห์มากกว่าจะเป็นราชินีนั้นไม่เคยมีประเพณีมาก่อน การที่พระนางเนเฟอร์ทารีมีวิหารที่สร้างแด่ท่าน จึงแสดงถึงความรักอันมากล้นที่รามซิสที่สองมีให้พระชายาชาวนูเบียคนนี้ นอกจากนี้แล้ว ในรูปสลักฝาผนังยังมีรูปท่านคู่กับพระนางเสมออีกด้วย
อย่างที่กล่าวไว้ว่าวิหารได้ถูกเคลื่อนย้ายเพื่อหนีน้ำท่วม ตัววิหาร Abu Simbel นั้น ถูกตัดเป็นชิ้นส่วนย่อยถึง 870 ชิ้น
ส่วนวิหารของพระนางเนเฟอร์ทารีนั้น ถูกตัดเป็น 233 ชิ้นก่อนที่จะนำมาประกอบขึ้นใหม่ ณ ที่ปัจจุบัน
เราก็ได้แต่จินตนาการถึงความยากลำบากและความอุตสาหะของทีมงานที่ทำให้วิหารนี้ยังคงอยู่ให้เราได้ชม
ที่น่าทึ่งกว่านั้นก็คือการออกแบบประตูทางเข้า ณ วันเกิดและวันขึ้นครองราชย์ของฟาโรห์คือวันที่ 21 ก.พ. และ ต.ค. แสงอาทิตย์จะสาดส่องผ่านช่องประตูเข้าไปถึงห้องลึกสุดข้างในวิหารที่มีรูปปั้นสี่รูปในท่านั่งเรียงกัน แสงจะทับทาบลงบนรูปปั้นสามรูปในห้องนั้นคือเทพ Ra รูปปั้นฟาโรห์และ และรูปปั้นเทพ Horus แต่จะส่องไม่ถึงรูปปั้นของเทพ Ptah ทางซ้ายสุด ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความมืด ช่างคิดจริงๆ
เมื่อวิหารถูกย้ายมาตั้งก็มีการคำนวนมุมให้ใกล้เคียงเดิมที่สุด เนื่องจากที่ตั้งสูงขึ้นจากระดับเดิมเพื่อให้พ้นน้ำท่วม ปัจจุบันแสงจึงส่องเข้ามาช้าไปหนึ่งวันค่ะ
ถัดไปเราก็ไปแวะชมวิหารอันเล็กของพระนางเนเฟอร์ทารี ซึ่งมีรูปปั้นของพระนางขั้นอยู่ระหว่างรูปปั้นของรามซิสทั้งสี่ (ปกครองสี่ทิศ)
วิหารนี้แสดงเนเฟอร์ทารีในร่างเลียนแบบเทพีฮาเธอร์หรือเทพีวัวของเรานั่นเอง เพราะเป็นวิหารที่บูชาเทพีฮาเธอร์ และยกย่องเนเฟอร์ทารีเสมอเหมือนเทพีฮาเธอร์
กลับมาถึงอัสวาน ก็ได้ฤกษ์ไปเดินดูเขื่อน High Dam ต้นเหตุที่ทำให้วิหารต้องถูกขนย้ายกัน
ไกด์บอกว่าเขื่อนนี้ส่งเสริม 30% ของการเกษตรของประเทศอิยิปต์และสร้างพลังงานไฟฟ้า 60% ของไฟฟ้าพลังน้ำที่ได้จากแม่น้ำไนล์เลยทีเดียว แถมโปรเจกนี้ยังเป็นโปรเจกที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีในทวีปแอฟริก ปกติแม่น้ำไนล์นั้นจะท่วม นำความเสียหายให้พืชผลเป็นอันมาก
อย่างไรก็ดี การที่น้ำท่วมก็จะนำพาดินอุดมสมบรณ์มาทับถมให้พื้อนที่เกษตรด้วยเป็นการชดเชยกันไป เมื่อมีการสร้างเขื่อน ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดอย่างที่เล่าไปข้างต้นก็คือชาวนูเบีย ดินแดนที่เคยเป็นถิ่นฐานชาวนูเบียยาวราว 300 กม.นั้นจะต้องจมอยู่ใต้น้ำทั้งหมด รัฐบาลก็จัดสรรที่ดินให้ชาวนูเบียย้ายไปอาศัย แต่เป็นพื้นที่แห้งแล้งไม่สมบูรณ์เหมือนก่อน ชาวนูเบียก็เลยลำบากเหมือนกัน ไกด์เล่าว่าแถวนี้จระเข้เยอะมาก แถมตัวหนึ่งๆ กินปลาราวเก้ากิโลต่อวัน ตัวใหญ่ๆ นี่ยาวสักสามเมตรได้ บรึ๋ย การสร้างเขื่อนทำให้จระเข้ถูกกักอยู่บริเวณนี้มาก ทำให้ระบบนิเวศน์และประชากรปลาเสียสมดุล (คุณไกด์อินเทรนด์ วันนี้มาแนวอีโค่ด้วยนะเออ) ที่เห็นคล้ายๆดอกบัวคืออนุสรณ์ที่อิยิปต์สร้างเป็นการระลึกถึงและขอบคุณสหภาพโซเวียตที่ให้ยืมเงินมาสร้างเขื่อนอัสวาน ถัดจากเขื่อนอัสวานเราก็ออกเดินทางไปวิหาร Philae อันนี้ต้องนั่งเรือไป เราก็ได้แต่ภาวนากันว่าอย่าให้ดับกลางทางเหมือนคราวก่อนอีกล่ะค่ะ
จบกันไปแล้วกับวิหาร Abu Simbel ทึ่งในความยิ่งใหญ่ตระการตา รวมถึงเทคโนโลยีวิศวกรรมและความรู้ทางดาราศาสตร์ของชาวอิยิปต์โบราณกันไหมคะ
ตอนหน้าเราจะมาต่อกันด้วยวิหาร Philae กับ Unfinished Obelisk ก่อนจะพากินข้าวมื้อยิ่งใหญ่เต็มไปด้วยกุ้งหอยปูปลามากมายจากใต้สันเขื่อนค่า