หมออาสา กับ 1 เดือนให้หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เนปาล (ตอนจบ)
29 พฤษภาคม 2558
เช้าวันนี้ สืบเนื่องจากข้อมูลของรัฐบาลในการออกหน่วยที่ Dolakha เมื่อวาน ทำให้ทางทีมแพทย์อาสาต้องปรับแผนการทำงาน จึงได้ประชุมร่วมกับทางพระอาจารย์สุพจน์(เจ้าอาวาสวัดไทยลุมพินี) และทีมพระสงฆ์เนปาลว่าจะปรับทีมอย่างไรจึงจะช่วยเหลือชาวเนปาลได้อย่างเหมาะสม
พระอาจารย์สุพจน์ได้เสนอให้หารือกับ รพ.ในท้องถิ่น ขอการสนับสนุนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เป็นชาวเนปาลร่วมทีมไปกับเราด้วยเพื่อช่วยดูแลคนเนปาลที่เจ็บป่วยแทนการใช้แพทย์อาสาตามเป้าหมายเดิมและให้แพทย์ไทยดูระบบสาธารณสุขในส่วนอื่นแทน
พวกผมและทีมสงฆ์เนปาลจึงเดินทางไปยังโรงพยาบาล Sumeru General Hospital ได้พบกับ Dr. Karkee ที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ หลังจากหารือได้ข้อสรุปว่าทางโรงพยาบาลจะส่ง Medical officer พร้อมกับ Paramedic อย่างละหนึ่งคน ไปร่วมทีมกับเราด้วยเพื่อสนับสนุนภารกิจทางการแพทย์ให้เป็นไปตามเกณฑ์ของทางเนปาล และอำนวยความสะดวกของทีมงาน
เราเดินทางกลับมาที่วัดอีกครั้งเพื่อมารอรับทีมแพทย์อาสาที่ทีมถัดไป ทำให้ทีมพวกเรามีถึง8คน ช่วงบ่ายนี้หัวหน้าทีมแพทย์จึงแนะนำให้เดินทางไปยังค่ายผู้ประสบภัยภายในเมืองเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนออกหน่วยในวันพรุ่งนี้
พวกผมจึงออกเดินทางไปยังหมู่บ้าน "Balambu" หนึ่งในหมู่บ้านที่ได้รับความเสียหายพอสมควรและมีค่ายผู้ประสบภัยตั้งอยู่ แต่จะไปลุยโดยไม่มีล่ามไปด้วย นี่เหมือนกับไปดำน้ำกลางมหาสมุทรที่ไร้ทิศทางปราศจากจุดหมาย ทางทีมพระธรรมทูตจึงได้ไปนัดหมายทีมล่ามไว้ให้เราล่วงหน้าแล้ว
ล่ามแปลภาษาเนปาลีของผมมีชื่อว่า "สมิตรา" จึงไปยืนรอพวกเรา ณ ตรงนั้นแล้ว เธออายุ 17 ปีบริบูรณ์ในวันที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งแรก แบบว่าพึ่งจะเรียนจบ ม.ปลาย มาหมาดๆ กำลังไฟแรงอยากจะหากิจกรรมเพิ่มประสบการณ์ชีวิตพอดี ภัยพิบัติในครั้งนี้จึงเป็นล่ามสนามครั้งแรกในชีวิตของเธอ ชีวิตเธอหลังจากแผ่นดินไหวครั้งแรกก็จิตอาสามาทำงานเป็นผู้ช่วยแพทย์กับทางวัดพุทธฯมาโดยตลอด จนวันนี้จับผลัดจับผลูมาเจอกับพวกผม ไม่รู้ว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้ายของเธอกันแน่
เนื่องจากเรายังไปปฏิบัติภารกิจด้วยตนเองไม่ได้เนื่องจากนโยบายของทางรัฐบาล ตอนนี้จึงเป็นการเดินออกหน่วยหาผู้ประสบภัยที่ยังมีปัญหาทางการแพทย์อยู่แล้วค่อยส่งการช่วยเหลือมาในภายหลัง
หน้าที่จึงเปลี่ยนจากการรักษาไปให้คำปรึกษาและเยียวยาจิตใจแทนครับ แต่จะให้ไปทำอะไรก็ทำได้หมดอยู่แล้วครับ เพราะมันคืองานอาสา
สมิตราเริ่มพาพวกผมเดินเข้าไปในแค้มป์ เต็นท์มากมายตั้งเรียงรายอยู่เต็มไปหมด เต็นท์ที่ดูดีๆก็เป็นมรดกตกทอดของทีมกู้ภัยต่างชาติที่ฝากเอาไว้ให้ ส่วนเต็นท์ที่เหลือบางแห่งก็ทรุดโทรมจนเรียกได้ว่าถ้าพายุเข้าเต็นท์แห่งนี้คงปลิวไปกับสายลม
คนเนปาลที่นี่ ส่วนใหญ่นะครับ เริ่มคลายความกังวลไปได้มากแล้ว จึงกลับไปใช้ชีวิตในบ้านตามปกติ ยกเว้นแต่คนอีกกลุ่มที่เราพบเจอที่นี่ที่ยังมีความกังวลแฝงอยู่มาก จึงยังขอใช้ชีวิตกินกลางดิน นอนกลางทรายแบบนี้ไปอีกสักระยะ
ชาวเนปาลคนแรกที่ผมได้เจอคือ หญิงสาวอายุ 30 ปี มีอาการกระดูกข้อเท้าหักจากแผ่นดินไหวครั้งแรก ไปหาหมอมาแล้วและใส่เฝือกไว้อยู่ อย่างที่รู้กัน เฝือกที่แห้งแล้วมันหนักไม่ต่างจากก้อนหินดีๆก้อนหนึ่งเลย หมอมีนัดเธออีกครั้งในเดือนหน้า แต่ปัญหาตอนนี้ของเธอคือเธอเดินไปไหนมาไหนไม่ได้ ต้องนั่งอยู่ติดในเต็นท์ทั้งวันมาจะ 3 อาทิตย์แล้ว สิ่งที่เธอควรจะมีก็คือ "ไม้ค้ำ" ที่จะเป็นไม้ตายทำให้คุณภาพเธอชีวิตดีขึ้นได้ จะได้เอาไว้ให้พยุงตัวเองเวลาเดิน พวกผมจึงนำเรื่องของเธอมาเก็บไว้เพื่อนำเสนอทางทีมต่อไป
ผ่านไปคนแรก มีสิ่งหนึ่งที่ผมแปลกใจอย่างมากคือ "ทำไมภาษาอังกฤษของสุมิตราจึงยอดเยี่ยมกระเทียมดองขนาดนี้???" เพราะระหว่างที่เธอแปลภาษาให้ผม ทุกอย่างถูกถ่ายทอดได้อย่างแม่นยำ ศัพท์แพทย์บางคำยังเข้าใจเลยครับ ผมถามเธอว่าไปเรียนภาษามาจากไหน ตอนที่ผมอายุ 17 ปีเท่าเธอ ความสามารถผมน้อยกว่าเธอหลายเท่านัก
เธอตอบว่า "เด็กเนปาลเกือบทุกคนจะถูกเคี่ยวเข็ญอย่างหนักทั้งใน รร.รัฐ หรือ รร.เอกชน คุณครูที่นี่เขี้ยวลากดินทุกคน ทำให้เด็กเนปาลรุ่นใหม่ใช้ภาษาสากลได้ดีมาก เพราะภาษาอังกฤษเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เธอและครอบครัวหลุดพ้นจากวัฏจักรของความยากจน" ซึ่งสมิตราก็เป็นหนึ่งในนั้น
สมิตราพาผมเดินเข้าไปในหมู่บ้านที่อยู่ลึกขึ้น คราวนี้เป็นเต็นท์ขนาดใหญ่ มีสมาชิกครอบครัวสักเกือบ 10 คน เธอสอบถามกับชาวบ้านข้างในได้ใจความว่า มีเด็กท้องเสีย 1 คนแต่ตอนนี้อาการดีขึ้นแล้ว ท้องเสียส่วนมากก็มาจากอาหารไม่สะอาด น้ำสกปรก น้ำจึงเป็นอะไรที่น่าคิดถึงมาก
ผมจึงสอบถามประวัติทั่วไป ถามเรื่องสุขอนามัย เอาน้ำอะไรมาดื่มทุกวันในที่แบบนี้ ถ้าน้ำไม่สะอาดดื่มไม่ได้นี่รังโรคขนานแท้เลยนะครับ
"ปัจจุบันตอนนี้น้ำดื่มทุกลิตรเอามาจากน้ำประปาและผ่านการต้มทุกครั้ง" เธอตอบแบบนี้ ผมฟังแบบนี้ก็สบายใจว่าอย่างน้อยสิ่งที่น่ากังวลมากอย่างหนึ่งก็ไม่น่าจะเป็นปัญหามากนัก และอาการของเด็กก็ดูดีอย่างเห็นได้ชัด จึงคิดว่าไม่มีอะไรน่ากังวลสำหรับที่นี่
ผ่านไป 2 เคส เวลาตอนนี้ 16.30 แล้ว นั่นหมายความว่าผมมีเวลาอีก 30 นาทีเท่านั้นก่อนจะถึงเวลานัดหมาย
สมิตราถามผมอีกครั้งว่าจะไปต่ออีกไหมแต่ต้องทำเวลานะ ผมก็ตอบเยสไปตั้งแต่เธอยังไม่พูดไม่ทันจบ
คุณป้าชาวเนปาลที่นั่งอยู่บนศาลากลางค่ายผู้ประสบภัยคือคนสุดท้ายของผมในวันนี้ ปัญหาของคุณยายคือเดินไม่ได้ เนื่องจากปวดเข่าทั้ง 2 ข้างมาก และปวดมานานมากแล้ว พวกผมดูอาการของแกแล้วคล้าย "ข้อเข่าเสื่อม" อย่างมาก จึงแนะนำวิธีการปฎิบัติตนให้แก่คุณยายไป คุณยายฟังก็หัวเราะ ก็จริงๆครับ ถ้าใครมีญาติเป็นข้อเข่าเสื่อมก็จะเข้าใจเลยว่าทำไมคุณยายถึงหัวเราะออกมา
ชาวเนปาลทั้ง 3 คนที่ผมไปมีประสบการณ์ร่วมกันนั้น ชัดเจนครับว่า ตอนนี้พวกเขาอยู่ในสภาวะที่ดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่งแล้ว และสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกดีใจมากจนบางคนน้ำตาคลอเบ้า ก็เพราะว่ายังมีทีมอาสาสมัครนานาชาติที่เดินทางมาถามสารทุกข์สุกดิบเรื่อยๆแบบนี้ ถึงแม้อาจจะไม่ได้ทำอะไรให้เขาเลย แต่แค่ส่งใจมา คนที่นี่ก็บรรเทาทุกข์ไปได้กว่าครึ่งแล้ว และเมื่อพวกเขามั่นใจในสถานการณ์พอ ก็จะกลับไปสร้างบ้านในที่เดิม ทำให้ชีวิตกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกครั้ง สมิตรากล่าวสรุป
ผมเดินทางกลับมายังจุดนัดพบ พวกผมล่ำลากับสมิตราล่ามที่แสนน่ารักของเรา เราแลกอีเมล์กันไว้ติดต่อในอนาคต ถ้าเธอได้มาเมืองไทย ผมจะได้พาไปดูทะเลที่หาดูไม่ได้ในเนปาลเป็นการตอบแทนสำหรับจิตอาสาของเธอในวันนี้ครับ
กลับมาถึงที่วัดทานอาหารเย็นเสร็จประมาณทุ่มกว่าๆพอดีครับ หลังจากเสร็จงานหลัก ทุกๆคืนพวกผมก็ต้องมาจัดและทำสต็อกยาและเวชภัณฑ์ของวัดถัดไปตามกำหนดทุกๆวัน
ตกดึกวันนี้มีทีมงานจากกลุ่ม "สถาปนิกอาสา 1500 ไมล์" ได้เดินทางมาปรึกษากับพระอาจารย์สุพจน์เรื่องการช่วยชาวบ้านสร้างบ้านด้วยครับ พวกพี่ๆยอดเยี่ยมมากเลยครับ สายน้ำยังคงไหลอยู่ฉันใด ธารน้ำใจของคนไทยก็ยังคงหลั่งไหลเข้ามาเป็นระยะอยู่ฉันนั้น
กลับมาถึงเตียงนอน แอบเปิดดูเว็บไซต์เช็คแผ่นดินไหวแถวๆเนปาล ปรากฏว่าระหว่างที่ผมกำลังเพลิดเพลินกับการเดินในค่ายนั้น เกิดแผ่นดินไหวระดับเกือบ 5 ไปโดยไม่รู้ตัว แบบไม่ทันได้ตั้งตัวอีกด้วย
แบบนี่เล่นเอาคืนนี้ได้นอนไป เสียวไป ทั้งคืนอีกแล้วละสิแบบนี้
30 พฤษภาคม 2558
วันนี้เป็นวันที่ 4 แล้วในเนปาล ผมยังคงสัมผัสความสั่นไหวบนพื้นดินได้เป็นระยะ
ภารกิจของเราในวันนี้คือการไปออกหน่วยบริการสาธารณสุขภายในเมืองกาฐมาณฑุตามที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่เมื่อวานนี้
โดยจะมีแพทย์ชาวเนปาลอาสามานำทีมให้ตามนโยบายรัฐบาล
เวลาเที่ยงตรง หมออายุรแพทย์ชาวเนปาลสุดสวยในสไตล์เนปาลที่พวกผมนัดไว้ตั้งแต่เมื่อวานก็มาถึงที่จุดนัดพบที่วัดตามนัด เธอมาถึงที่ห้องเก็บยาของผมก็ไม่พูดพร่ำทำเพลงเลยครับ เปิดเกมส์บรรเลงกับกล่องยาที่พวกผมเตรียมกันมาอย่างสนุก ยาที่เราเตรียมไว้สไตล์หมอไทยไม่เป็นที่ต้องใจเธอมากนัก เนื่องจากเธอเป็นเจ้าถิ่นจึงเข้าใจความชุกของโรคแถบนี้เป็นอย่างดี พวกผมก็เลยได้แต่เซย์เยสไปกับเธอ
"เอา Amoxycillin ไปเยอะๆเลยคะ แล้วก็ Muscle relaxant ด้วย อ้อ Diclofenac gel ด้วยนะ ส่วนยานี้ Dicloxacillin ไม่ต้องเอาไปเยอะค่ะ ตอนนี้ไม่มีคนบาดเจ็บอีกแล้ว" แพทย์สาวเนปาลทำงานอย่างรวดเร็ว ผมกับวินที่ยืนอยู่ข้างๆจึงต้องแปลงร่างกายเป็นผู้ช่วยเธอไปชั่วคราว
"เอาไงก็เอากันวะ" ผมพูดกับวินระหว่างที่กำลังหยิบยาเข้าๆออกๆตาม order "ครั้งแรกในชีวิตเลยนะเว้ยที่ได้มานั่งจัดยาที่ตัวเองไม่มีโอกาสได้ใช้" วินตอบติดตลกกลับมา
เนื่องจากมีหมอถึง 8 คน วันนี้จึงจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มๆละ 4 คน ไปออกหน่วยทั้ง 2 แห่ง ผมและวินพร้อมกับหมอป่านและหมอตุ่มแยกออกมาเป็นทีมย่อยอีกหนึ่งทีม
เวลาผ่านไปประมาณ 10 นาที พวกผมจึงเริ่มต้นออกเดินทาง วันนี้ไม่ได้ไปหมู่บ้านที่ห่างไกลเหมือนวันแรก ไม่ได้ไปค่ายผู้ประสบภัยเหมือนวันที่สอง แต่วันนี้เราจะไปออกหน่วยกันที่โรงเรียน Miniland high school ใจกลางเมืองหลวงเลยนี่แหละ
ระยะทางแค่ประมาณ 5 กิโลเมตรจากวัด แต่กลับเหมือนกับการผจญภัยบนรถไฟในฮ่องกงดิสนีย์แลนด์
"วัวตัวใหญ่" นอนฟินอาบแดดรอผิวสีแทนอยู่กลางถนนที่เต็มไปด้วย
"รถเครื่องและรถเก๋ง" ที่พร้อมจะแซงซ้าย ปาดขวาแบบไม่สนใจบุคคลที่สาม ไม่ระวังแม้แต่
"คนข้ามถนน" ที่เดินฝ่าเอาตัวเข้าแลกแบบหนังหุ้มเนื้อเหมือนไม่กลัวไปโรงพยาบาล และที่สุดกับ
"เสียงแตรรถ" ที่ดังก้องไปทั่วเมืองจนบริษัททำแตรรถยนต์น่าจะมีรายได้มากสุดในประเทศ
คุณสมบัติระดับพรีเมี่ยมเหล่านี้ทำให้การเดินทางในกาฐมาณฑุตื่นในเต้นมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ผ่านไปเกือบๆชั่วโมงเราก็มาถึงที่หมาย
ชาวบ้านเขารู้ล่วงหน้าแล้วว่าหมอจะมาเลยไปปฏิบัติภารกิจกระชับพื้นที่จัดงานบวกกับป่าวประกาศ ตะโกนเสียงไปตามสายเชื้อเชิญชาวบ้านให้มาใช้บริการให้เรียบร้อยแล้ว
บรรยากาศการออกหน่วยคล้ายกับ หน่วยแพทย์ พอสว. พวกผมต้องให้เขาแบ่งโซนการทำงานเป็น 3 โซน เพื่อให้การทำงานลื่นไหลดุจปลาไหลใส่สเก็ตฉาบน้ำมันหล่อลื่น
โดยโซนแรกให้เป็นการซักประวัติ เขียนชื่อแซ่ วัดความดัน และคลำชีพจร โซนที่สองคือเจอหมอเนปาลเพื่อตรวจร่างกาย ทำการวินิจฉัย และสั่งการรักษา หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่โซนสุดท้ายคือการรับยา และรับคำแนะนำ
ทุกๆคนที่มาต้องเดินไปตามลำดับดังนี้ ห้ามมั่ว ห้ามแซง ห้ามเนียน เป็นกฎระเบียบง่ายๆที่นำมาใช้
หมอเนปาลรับหน้าที่ไปตรวจรักษา ส่วนพวกผมรับสัมปทานไปบริหารจัดการโซนแรกกับโซนสุดท้ายกันเอาเอง หมอป่านกับหมอตุ่มไปที่ซักประวัติกับวัดความดัน ส่วนผมกับวินไปจัดการเรื่องยา วางเสื้อกาวน์กับหูฟังลง แล้วไปสวมเสื้อเภสัชกรจำเป็นแทน
ล่าม คีย์แมนที่สำคัญที่สุดของการทำงาน
ตอนแรกทางวัดจัดทีมพาแม่ชีชาวเนปาลมาด้วยเพื่อขอให้ช่วยเรื่องภาษา แต่ที่ไหนได้ มีอาสาสมัครเป็นครูชาวเนปาลมาขอรับหน้าที่เป็นล่ามให้ผมแทน เรื่องภาษาอังกฤษสำหรับคนที่นี่ก็ยังดูเป็นเรื่องง่ายๆอีกตามเคย
ช่วงแรกชุลมุนวุ่นวายกันมากอย่างที่คิดเอาไว้ครับ บรรยากาศอย่างกับตลาดนัดวันเสาร์ที่ผู้คนมากมายหลายตาส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวแต่จับใจความไม่ได้ ผู้คนมากันพร้อมหน้าตั้งแต่รุ่น Baby Boomer, Gen X, Gen Y ยัน Gen Z
เด็กเล็กวิ่งเล่นไล่จับกันสนุกสนามเพราะคงคิดว่าผมมาแจกขนมเปิดสวนสนุก
คนหนุ่มๆสาวๆก็ถือเป็นโอกาสดีในการฝึกภาษาอังกฤษกับคนต่างชาติแบบไทยๆ
ผู้สูงอายุก็ใช้โอกาสนี้ในการวัดความดันและปรึกษาปัญหาสุขภาพกับหมอเนปาลไปในตัว
เริ่มต้นไปก็ตะกุกตะกักเหมือนกับผิวถนนในเมืองที่พึ่งผ่านแผ่นดินไหวมาหมาดๆ แต่หลังจากเห็นปัญหาระหว่างการทำงานพวกผมก็ค่อยๆแก้ไขมันไปเรื่อยๆจนเข้าที่เข้าทาง เหมือนกับสุดท้ายที่เป้าหมายคือการทำให้ผิวถนนเรียบเหมือนเดิม
จำนวนชาวบ้านที่มากว่า 130 คนที่มารับบริการในหน่วยของผม และอีกกว่า 120 คนในอีกหน่วยบริการ เท่ากับผู้มารับบริการทั้งสิ้นกว่า 250 คน คือเครื่องยืนยันเป็นอย่างดีกับความสำเร็จของการจัดการออกหน่วยนี้
อาการที่มาส่วนใหญ่ก็เป็น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมากกว่า 80% เราใช้ยานวดที่เตรียมกันมาหมดเกลี้ยง ผื่นผิวหนังก็เป็นอะไรที่พบบ่อยเป็นอันดับสองจนยาทาที่เอามาก็เกือบหมดไปอีกเช่นกัน
สารละลายที่ทำให้น้ำที่เห็นใสๆแต่ไม่แน่ใจนั้นปลอดภัยจนพอดื่มได้กลายเป็นของสำคัญที่คนเมืองกรุงเทพไม่เคยเข้าใจและไม่เคยเห็น ได้กลายเป็นของสำคัญของที่นี่
ถึงแม้จะร้อนกายมากจากอุณหภูมิที่สูงประมาณ 34 องศา และใจกลับเย็นอย่างเหลือเชื่อเมื่อเห็นสีหน้าของชาวเนปาลทุกๆคนที่ผ่านหน้าผมไป ทุกๆสีหน้าและการแสดงออกที่ผมได้รับหลังจากที่ผมมอบยาให้พวกเขาไปแล้ว มันทำให้บอกตัวเองได้เลยครับว่า ผมคิดไม่ผิดที่มาที่นี้ ตอนนี้ เวลานี้ เวลาที่คนเนปาลต้องการแรงใจในการดำเนินชีวิตบนแผ่นดินที่ยังรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนในทุกๆวัน
ถึงแม้โรคทางกายพวกเขาผมจะเข้าไปทำอะไรไม่ได้มากเนื่องจากกฎเกณฑ์ที่วางเอาไว้อยู่ แต่โรคทางใจของเขานั้นผมคิดว่าตัวเองทำได้เต็มที่และผลลัพธ์ที่ออกมาก็ยอดเยี่ยม
"ขึ้นชื่อว่างานอาสาแล้ว จะทำอะไรก็คืองานอาสาหมด หมอทุกคนตรวจคนไข้เป็นหมดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นหมอต้องทำได้มากกว่านั้น ไม่ใช่จำกัดแค่งานตรวจเท่านั้น" พี่หมอแหลมบอกกับผมตั้งแต่วันแรกที่ผมมาถึงเนปาล ตอนนี้ผมเข้าใจประโยคนั้นชัดแจ้ง 100%
หลังจากที่จัดการผู้มารับบริการคนสุดท้ายเสร็จสิ้นลง ทีมแพทย์อาสาไทย ทีมแพทย์อาสาเนปาล และคณะพระธรรมทูตสายเนปาล ได้ถ่ายรูปร่วมกันเป็นสักขีพยานถึงความรักความร่วมมือของคนที่มีชีวิตอยู่บนโลกใบกลมๆใบนี้ด้วยกัน
ผมขอบคุณหมอเนปาลที่อาสามาช่วยพวกเราทำให้ข้อจำกัดบางอย่างถูกทำให้หายไปได้อย่างง่ายดาย ขอบคุณล่ามอาสาสมัครที่ทำให้การทำงานของพวกผมราบลื่นเหมือน
วันพรุ่งนี้ผมจะเดินทางกลับเมืองไทยแล้วตามกำหนดการทั้งหมด 5 วัน วันที่ผมกลับมาแพทย์อาสาทีม A6 ก็จะมาดูแลหน่วยของพวกเราต่อไป
ผมต้องขอขอบคุณแพทยสภา ที่ได้ริเริ่มสร้างโครงการนี้ขึ้น แปรสภาพความฝันของผู้ที่มีจิตอาสาให้กลายเป็นความจริง มีแพทย์ไทยร่วม 800 คนที่สมัครเข้าโครงการนี้ แน่นอนว่าทุกๆคนล้วนมีจิตอาสาที่อยากช่วยเพื่อนมนุษย์เหมือนกับพวกผม ซึ่งถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ถือว่าได้ใช้โอกาสนี้ได้เรียนรู้ เพิ่มพูนประสบการณ์ จากรุ่นพี่ที่แก่กล้าประสบการณ์มากกว่า จากเหตุการณ์ที่ซับซ้อนกว่า เพื่อเอาไว้ใช้พัฒนาตนเองและประเทศชาติในอนาคต
ในอนาคตถ้ามีเหตุการณ์ภัยพิบัติทั้งในและต่างประเทศอีก แพทย์อาสาแพทยสภาจะเป็นอีกหนึ่งที่เป็นผู้นำธงไตรรงค์ เดินหน้าเข้าพื้นที่แทนน้ำใจคนไทยไปดูแลพวกเขาเหล่านั้นอย่างแน่นอนครับ..
ก้าวสุดท้ายในเนปาล
แต่เป็นก้าวแรกของโลกอีกใบของผม
"โลกของงานหมออาสาสมัคร"
กว่าจะมาเป็นแพทย์อาสาแพทยสภา
การรับสมัครของแพทยสภาใช้ระบบการลงทะเบียนผ่านเว็บไซด์ของแพทยสภา ซึ่งจำนวนแพทย์ที่มีจิตอาสาในครั้งนี้มีถึง 798 ท่าน และเมื่อตรวจสอบจนได้รหัสลงทะเบียนแล้ว จะได้สิทธิไปเลือกวันที่พร้อมเดินทางเป็นช่วงๆละ 5 วัน ในแต่ละช่วง จะมีกรรมการติดต่อประสานไปยังผู้สมัครแต่ละท่านให้รายละเอียดและถามความสมัครใจ ตามคุณสมบัติที่ให้ไว้ ก่อนจะคัดเลือกคนที่จะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งใน กว่า 700 คน แน่นอนว่าคงไปได้เพียงระดับสิบคนเท่านั้น และการจัดทีมต้องมีการคัดเลือกความชำนาญ ตามเพศชาย-หญิง(ตามข้อจำกัดของห้องพักในวัด) ตามเวลาที่ตนเองสะดวก
ทั้งนี้ เหตุการณ์ภัยพิบัติที่เนปาลไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่แพทยสภาได้เข้ามามีส่วนร่วม แพทยสภาได้เข้ามามีบทบาทในการปฏิบัติงานในพื้นที่ภัยพิบัติตามลำดับดังนี้
- เหตุการณ์ภัยพิบัติคลื่นยักษ์สินามิที่เมืองฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น พ.ศ.2554
- เหตุการณ์ภัยพิบัติทางภาคใต้ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม พ.ศ.2554
- เหตุการณ์มหาอุทกภัย น้ำท่วมใหญ่ภาคเหนือและภาคกลาง พ.ศ.2554
- เหตุการณ์ภัยพิบัติพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนถล่มเมืองทาโคลบาน พ.ศ.2556