ตะลุยไหว้พระเอาฤกษ์เอาชัย ณ แหล่งธรรมะใน “สุราษฎร์ธานี”

ตะลุยไหว้พระเอาฤกษ์เอาชัย ณ แหล่งธรรมะใน “สุราษฎร์ธานี”

ตะลุยไหว้พระเอาฤกษ์เอาชัย ณ แหล่งธรรมะใน “สุราษฎร์ธานี”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

5 แหล่งธรรมะในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นหนึ่งในจังหวัดทางภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ที่นอกจากจะโด่งดังในเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่างเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และเกาะนางยวน รวมทั้งอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะไข่เค็มไชยา ขนมจีนเส้นสด และเงาะโรงเรียนพันธุ์นาสารแล้ว สิ่งที่บ่งบอกตัวตนของจังหวัดสุราษฎร์ธานีอีกอย่างหนึ่งก็คือการเป็น “แหล่งธรรมะ” ซึ่งหมายถึงพื้นที่ที่เต็มไปด้วยวัดวาอารามที่สวยงาม และชี้ให้เห็นถึงความศรัทธา และความเจริญทางวัฒนธรรมของจังหวัดนี้ได้เป็นอย่างดี

สำหรับนักท่องเที่ยวที่นิยมสะสมแต้มบุญโดยการไหว้พระหรือขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อความเป็นสิริมงคล Sanook! Travel ก็ขอปักหมุดเบาๆ ให้ทุกคนได้ตามรอยกัน กับ “5 แหล่งธรรมะในจังหวัดสุราษฎร์ธานี” ที่สายบุญไม่ควรพลาด จะมีที่ไหนบ้าง มาดูกัน

ไหว้พระ สุราษฎร์ธานี 

1. ศาลหลักเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี
สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวสุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่ที่สนามศรีสุราษฎร์ ใน อ. เมือง ใกล้กับแม่น้ำตาปี เป็นอาคารสีขาว ศิลปะศรีวิชัย ลักษณะคล้ายกับพระบรมธาตุไชยา แต่มีขนาดใหญ่กว่า ตัวอาคารสร้างด้วยคอนกรีต ลักษณะทางสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลมาจากคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ที่เคยเจริญรุ่งเรืองในดินแดนแห่งนี้ ตั้งอยู่บนฐานจตุรมุข พร้อมบันไดทางขึ้น 4 ด้าน และซุ้มประดับลายปูนปั้นแบบศรีวิชัย รวมทั้งยังได้อัญเชิญเครื่องหมายตราสัญลักษณ์ฉลองราชสมบัติครบ 50 พรรษา ประดับไว้ทั้ง 4 ด้านด้วย ภายในอาคารประดิษฐานเสาหลักเมืองที่แกะสลักจากไม้ราชพฤกษ์ ยอดเสาเป็นรูปพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสี่หน้า มวยพระเกศาสลักเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ พร้อมกับลงรักปิดทอง เปิดให้เข้าชมและสักการะทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 น. - 18.00 น.
การเดินทาง:
รถยนต์ส่วนตัว ใช้ทางหลวงหมายเลข 401 เลี้ยวซ้ายเข้าตัวเมืองที่สามแยกท่ากูบ ไปตาม ถ. ศรีวิชัย ข้ามสะพานข้ามคลองมะขามเตี้ย ผ่านหน้าโรงแรมวังใต้ เข้า ถ. ตลาดใหม่ จากนั้น ขับผ่านสี่แยกดอนนกศาลหลักเมืองจะอยู่ซ้ายมือเยื้องกับสถานีตำรวจ
รถโดยสาร มีบริการรถตุ๊กตุ๊กในตัวเมืองสุราษฎร์ธานี

ไหว้พระ สุราษฎร์ธานี

2. วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร
วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหารตั้งอยู่ที่ ถ. รักษ์นรกิจ ต. เวียง อ. ไชยา ถือเป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเป็นที่ประดิษฐาน “พระบรมธาตุไชยา” หรือสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ พระบรมธาตุไชยา ยังเป็นหนึ่งในสามโบราณสถานศักดิ์สิทธิ์ของภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วย พระบรมธาตุไชยา จ. สุราษฎร์ธานี เจดีย์พระมหาธาตุ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ. นครศรีธรรมราช และพระพุทธไสยาสน์ในถ้ำคูหาภิมุข วัดคูหาภิมุข จ. ยะลา

พระพุทธรูปศิลาทรายแดงในระเบียงคดพระพุทธรูปศิลาทรายแดงในระเบียงคด
องค์พระบรมธาตุไชยา สร้างขึ้นตามคติความเชื่อในพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 – 14 ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นยุครุ่งเรืองของอาณาจักรศรีวิชัย ยอดพระบรมธาตุเป็นทองคำแท้ และถือว่าเป็นโบราณสถานศิลปะศรีวิชัยองค์เดียวที่อยู่ในสภาพดีที่สุด และขณะนี้อยู่ระหว่างการบูรณะองค์พระธาตุครั้งใหญ่ รอบองค์พระธาตุประกอบด้วยเจดีย์เล็กๆ 4 ทิศ รวมทั้งระเบียงคดที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาทรายแดง สกุลช่างไชยา จำนวน 180 องค์ ที่มีลักษณะเฉพาะอยู่ที่เปลวพระเกศา และใบหูที่ยาวจนถึงบ่า

พระพุทธรูป 3 พี่น้องพระพุทธรูป 3 พี่น้อง
นอกจากนี้ ด้านหน้าพระอุโบสถทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ยังประดิษฐาน “พระพุทธรูป 3 พี่น้อง” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสกุลช่างไชยา สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ส่วนอีกด้านมีวิหารหลวงพ่อโต ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานขององค์พระใหญ่หรือหลวงพ่อโตสมัยอยุธยา โดยจุดเด่นของวิหารนี้คือช่องประตูแคบ และขอบประตูต่ำ เพื่อให้ผู้ที่เข้าไปสักการะก้มศีรษะเพื่อแสดงความเคารพต่อพระพุทธรูปนั่นเอง

หลวงพ่อโตหลวงพ่อโต
การเดินทาง:
รถยนต์ส่วนตัว ออกจากตัวเมืองสุราษฎร์ธานี ประมาณ 54 กม. ตามทางหลวงหมายเลข 41 และแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 4011 เลี้ยวซ้ายบริเวณกิโลเมตรที่ 137 ก่อนถึงทางรถไฟ วัดอยู่ด้านขวามือ

3. พระธาตุศรีสุราษฎร์
พระธาตุศรีสุราษฎร์ หรือพระธาตุเขาท่าเพชร ตั้งอยู่บนเนินเขาท่าเพชร ในพื้นที่สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าเขาท่าเพชร สร้างขึ้นโดยชาวบ้านในชุมชนบ้านดอน เพื่อเป็นที่ระลึกในวาระกึ่งพุทธกาล ใน พ.ศ. 2500 องค์พระธาตุเป็นศิลปะศรีวิชัยผสมศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น ลักษณะเป็นทรงสูงเรียวคล้ายลำเทียน ประดับด้วยลวดลายปูนปั้น ตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยม
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทรงนมัสการพระธาตุ และทรงปลูกต้นพะยอม เพื่อเป็นสิริมงคลแก่จังหวัด และต่อมาใน พ.ศ. 2527 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุสาวก พร้อมทรงปลูกต้นเคี่ยม ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นที่ระลึกแก่จังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วย
พระธาตุศรีสุราษฎร์สามารถเดินทางไปเยี่ยมชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น.

ทิวทัศน์จากจุดชมวิวใกล้กับพระธาตุศรีสุราษฎร์ทิวทัศน์จากจุดชมวิวใกล้กับพระธาตุศรีสุราษฎร์
การเดินทาง:
รถยนต์ส่วนตัว ใช้ทางหลวงหมายเลข 4009 (บ้านดอน - นาสาร) แยกเข้าสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 5 ขึ้นไปบนเขาอีกประมาณ 1.5 กม.
รถโดยสาร สามารถใช้รถโดยสารสายสุราษฎร์ธานี-บ้านนาสาร และสายสุราษฎร์ธานี – กระบี่, รถโดยสารขนาดเล็ก สายมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และสายนิคมขุนทะเล และรถโดยสารสี่ล้อเล็ก

 

4. วัดพัฒนาราม
วัดพัฒนารามตั้งอยู่ที่ ถ. หน้าเมือง ต. ตลาด อ.เมือง สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2439 โดย “หลวงพ่อพัฒน์ นารโท” พระเกจิอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาคมที่มีชื่อเสียงในภาคใต้ เชื่อกันว่าหลวงพ่อพัฒน์เริ่มสร้างวัดในเขตป่าช้าของวัดพระโยค ซึ่งเป็นวัดที่ท่านจำพรรษาอยู่ขณะนั้น ด้วยปัจจัยเพียง 6 บาท เท่านั้น เมื่อสร้างแล้วเสร็จ วัดแห่งนี้ถูกเรียกขานโดยทั่วไปว่า “วัดใหม่” จนกระทั่งหลวงพ่อพัฒน์มรณภาพเมื่อ พ.ศ. 2485 ก็ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดพัฒนาราม" เพื่อเป็นการระลึกถึงท่านนั่นเอง

จิตรกรรมฝาผนัง ภาพฝรั่งขี่จักรยานอยู่มุมด้านขวาจิตรกรรมฝาผนัง ภาพฝรั่งขี่จักรยานอยู่มุมด้านขวา
จุดเด่นของวัดพัฒนาราม อยู่ที่พระอุโบสถหลังเก่า ที่มีหน้าบันเป็นไม้แกะสลักลายพระพุทธเจ้าปางยมกปาฏิหาริย์ ส่วนผนังด้านนอกประดับด้วยปูนปั้นรูปยักษ์ ทหารยาม และแขกยาม เพื่อทำหน้าที่ดูแลรักษาพระอุโบสถ ส่วนภายในมีภาพเขียนพุทธประวัติที่มีคำบรรยายเป็นภาษาใต้ และยังมี “กิมมิค” ที่ศิลปินในยุคนั้นแอบบันทึกไว้ นั่นคือภาพฝรั่งกางร่มและขี่จักรยานยี่ห้อราเลห์ ซึ่งเป็นจักรยานเพียงยี่ห้อเดียวที่นำเข้ามาจากประเทศอังกฤษ ในช่วง 120 กว่าปีก่อน รวมทั้งข้าราชการที่สวมนาฬิกาปาเต๊ะ แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มีการติดต่อค้าขายกับชนชาติต่างๆ ในอดีต


นอกจากนี้ ภายในพระอุโบสถยังประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวน 3 องค์ ได้แก่ พระพุทธรูปปางมารวิชัย มีเครื่องทรง สันนิษฐานว่าเป็นศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 3 – รัชกาลที่ 5 ตอนต้น ที่เรียกว่า “พระหน้าโรง” หรือพระพุทธรูปที่อยู่ในศาล และมีผู้ถวายให้วัดหลังจากที่หลวงพ่อพัฒน์สร้างวัดแล้วเสร็จ พระพุทธรูปปางอุ้มบาตรทรงเครื่อง และพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร โดยการจัดวางพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ แสดงถึงการยึดถือสัจจะเพื่อเอาชนะความชั่ว และการบิณฑบาตเพื่อไม่ให้คนทะเลาะเบาะแว้งกัน
พระอุโบสถจะเปิดทุกวัน วันละ 2 เวลา คือเวลา 8.00 น. เพื่อทำวัตรเช้า และ 17.00 น. สำหรับทำวัตรเย็น แต่จะปิดในช่วงกลางวันเพื่อมิให้นกเข้ามาสร้างความสกปรก และเพื่อเป็นการป้องกันการขโมยวัตถุโบราณภายในพระอุโบสถ

5. สวนโมกขพลาราม
นอกจากวัดที่มีความเป็นมาตั้งแต่ยุคโบราณ พร้อมสถาปัตยกรรมทางพระพุทธศาสนาอันวิจิตรอลังการ จังหวัดสุราษฎร์ธานียังมี “สวนโมกขพลาราม” ซึ่งมีความเป็นมาและลักษณะแตกต่างจากวัดอื่นๆ ในจังหวัดนี้อย่างสิ้นเชิง ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่รักความสงบและต้องการศึกษาธรรมะอย่างจริงจัง

รูปปั้นท่านพุทธทาสภิกขุ ผู้ก่อตั้งสวนโมกขพลารามรูปปั้นท่านพุทธทาสภิกขุ ผู้ก่อตั้งสวนโมกขพลาราม
สวนโมกขพลาราม ตั้งอยู่ที่เขาพุทธทอง ริมทางหลวงหมายเลข 41 ใน อ. ไชยา เดิมมีชื่อว่า “วัดธารน้ำไหล” สร้างขึ้นโดยท่านพุทธทาสภิกขุ เมื่อ พ.ศ. 2502 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นสถานที่สำหรับแสวงหาความสงบและศึกษาธรรมะ ซึ่งนอกจากจะมีบรรยากาศที่ร่มรื่นและเงียบสงบแล้ว สวนโมกขพลารามยังมีสถานที่สำหรับศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ทั้งกุฏิท่านพุทธทาส ซึ่งประดิษฐานหุ่นไฟเบอร์กลาสรูปเหมือนท่านพุทธทาส และโรงมหรสพทางวิญญาณ ที่มีแนวคิดมาจากภาพเขียนในถ้ำอชันตา ประเทศอินเดีย โดยภายในโรงมหรสพทางวิญญาณจะมีภาพจิตรกรรมฝาผนังหลากหลายรูปแบบ ทั้งบทกวี คติธรรมในพระพุทธศาสนานิกายต่างๆ ภาพพุทธประวัติ ภาพหินสลักจำลองเรื่องพุทธประวัติ สำหรับให้ผู้ที่มาเยือนได้ศึกษาธรรมะผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งลานหินโค้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ประกอบศาสนกิจของพระสงฆ์ และให้ฆราวาสได้นั่งฟังธรรมและนั่งสมาธิด้วย


และเนื่องจากสวนโมกขพลารามเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจึงควรแต่งกายสุภาพ งดใช้เสียงดัง และงดใช้โทรศัพท์มือถือภายในเขตของสวนโมกขพลาราม
การเดินทาง:
รถยนต์ส่วนตัว ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 ประมาณกิโลเมตรที่ 135-136
รถไฟ ลงที่สถานีไชยา นั่งรถสองแถวสีฟ้า ไชยา-สวนโมกข์-พุนพิน (สายบน)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook