วิธีเลือกทุเรียนอย่างไรให้ได้ลูกโดนใจ
ทุเรียนเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น “ราชาแห่งผลไม้” ฉายานี้คาดว่าน่าจะมาจากรูปร่างและกลิ่นที่รุนแรงของทุเรียน หรืออาจเป็นเพราะลักษณะภายนอกของผล ที่เป็นหนามคล้ายมงกุฎของพระราชา และเนื้อในที่มีรสชาติอร่อยที่ยากจะหาผลไม้อื่นมาเทียบ และถึงแม้ว่าทุเรียนจะไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในไทย แต่ก็สามารถปลูกได้ในทุกพื้นที่ของประเทศ ประเทศไทย เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกหลักในการส่งออกทุเรียน จากผลผลิต 781,000 ตันที่ผลิตได้ในประเทศไทย จากผลผลิตรวมทั่วโลก 1,400,000 ตัน และในปี พ.ศ. 2542 มีการส่งออกถึง 111,000 ตัน
ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีผลผลิตเป็นฤดูกาล สำหรับในประเทศไทยฤดูกาลของทุเรียนในภาคตะวันออก คือ เดือนเมษายนถึงมิถุนายน และภาคใต้ คือ เดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ทุเรียนจะมีราคาสูงกว่าเมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดอื่น ส่วนที่รับประทานได้ของทุเรียนนั้นคือเยื่อหุ้มเมล็ดหรือที่เรียกกันว่า “เนื้อ” หรือ “พู” ซึ่งมีน้ำหนักเพียง 15-30% ของน้ำหนักรวมของผล แต่ถึงกระนั้นผู้บริโภคจำนวนมาก ก็ยังเต็มใจที่จะจ่ายเงินในการซื้อทุเรียนเพื่อไปแบ่งกันทานในครอบครัว
โดยในหนังสือ Larousse Gastronomique (สารานุกรมการปรุงอาหาร) ได้ระบุไว้ว่า ทุเรียนพร้อมรับประทานได้เมื่อเปลือกเริ่มแตก อย่างไรก็ตามระยะความสุกงอมที่เหมาะสมนั้น มีความชอบหลากหลายต่างกันไป ตามแต่ละพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และชนิดของทุเรียน ทุเรียนบางชนิดมีลำต้นที่สูงมาก ทำให้เราสามารถเก็บผลของมันได้ก็ต่อเมื่อตกลงพื้นแล้ว ประชากรบางส่วนในภาคใต้ของประเทศไทย ก็ชอบทุเรียนที่ยังห่าม เนื้อสด กรอบและมีรสที่จืดนุ่ม ในภาคเหนือของประเทศไทย ชอบเนื้อนิ่ม และมีกลิ่นแรง
ความชอบของผู้บริโภคที่แตกต่างกัน ในความสุกของทุเรียน ทำให้ยากที่จะบอกถึงการเลือกทุเรียนที่ดีได้ ทุเรียนที่ตกลงมาจากต้นจะสุกงอมในสองถึงสี่วัน แต่หลังจากห้าถึงหกวันจะสุกมากเกินไป คำแนะนำทั่วไปสำหรับผู้บริโภคทุเรียนในการเลือกผลไม้นี้ในตลาด คือ ให้พิจารณาก้านทุเรียนที่แห้งตามอายุของมัน มีขนาดใหญ่ ก้านที่แข็งบอกถึงความสดของทุเรียน มีรายงานถึงการคดโกงของผู้ขายด้วยการห่อ ทาสี หรือนำก้านออกไป คำแนะนำที่พบบ่อย ๆ อีกอย่าง คือ เขย่าทุเรียน และฟังเสียงเมล็ดที่เคลื่อนไหวอยู่ภายใน ซึ่งแสดงถึงว่าทุเรียนสุกมาก เพราะเนื้อฝ่อลงเล็กน้อย ในหนังสือสารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน เล่ม 28 กล่าวถึงวิธีดูทุเรียนสุกไว้ดังนี้
1.สังเกตก้านผล
ก้านผลจะแข็งและมีสีเข้มขึ้น เมื่อลูบจะรู้สึกสากมือ เมื่อจับก้านผลแล้วแกว่งผลทุเรียน จะรู้สึกว่าก้านผลทุเรียนยืดหยุ่นมากขึ้น ก้านผลบริเวณปากปลิงจะบวมโต เห็นรอยต่อชัดเจน
2.สังเกตหนาม
ปลายหนามแห้ง มีสีน้ำตาลเข้ม เปราะและหักง่าย ดังนั้น เมื่อมองจากด้านบนของผลจะเห็นหนามเป็นสีเข้ม หนามมีลักษณะกว้างออก ร่องหนามห่าง เวลาบีบปลายหนามเข้าหากันจะรู้สึกว่ายืดหยุ่น
3.สังเกตรอยแยกระหว่างพู
ผลทุเรียนที่แก่จัดจะสังเกตเห็นรอยแยกบนพูได้อย่างชัดเจน ยกเว้นบางพันธุ์ที่ปรากฏไม่เด่นชัด เช่น พันธุ์ก้านยาว
4.การชิมปลิง
ผลทุเรียนที่แก่จัด เมื่อตัดขั้วผลหรือปลิงออก จะพบน้ำใสซึ่งไม่ข้นเหนียวเหมือนในทุเรียนอ่อน และเมื่อใช้ลิ้นแตะชิมดูจะมีรสหวาน
5.การเคาะเปลือกหรือกรีดหนาม
เมื่อเคาะเปลือก ผลทุเรียนที่แก่จัดจะมีเสียงดังหลวม ๆ เนื่องจากมีช่องว่างระหว่างเปลือกและ เนื้อภายในผล เสียงหนักหรือเบาแตกต่าง กันไป ขึ้นอยู่กับพันธุ์และอายุของต้นทุเรียน
6.การปล่อยให้ทุเรียนร่วง
ปกติดอกทุเรียนแต่ละรุ่นในแต่ละต้นจะบานไม่พร้อมกัน และมีช่วงต่างกันไม่เกิน 10 วัน ดังนั้น เมื่อมีผลทุเรียนในต้นเริ่มแก่ สุก และร่วง ก็เป็นสัญญาณเตือนว่า ผลทุเรียนที่เหลือในรุ่นนั้นแก่แล้วสามารถเก็บเกี่ยวได้
7.การนับอายุ
โดยนับอายุผลเป็นจำนวนวันหลังดอกบาน เช่น พันธุ์ชะนี ใช้เวลา 100 – 105 วัน เป็นต้น การนับวันหรืออายุของผลจะแตกต่างกันเล็กน้อยในแต่ละปี และในแต่ละท้องถิ่น ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ เช่น ถ้าปีใดมีอุณหภูมิเฉลี่ยค่อนข้างสูง ผลทุเรียนจะแก่เร็วกว่าปีที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า