แบกเป้ไปดูบอลโลกที่รัสเซียแบบไม่ง้อทัวร์ (ตอนที่ 12)

แบกเป้ไปดูบอลโลกที่รัสเซียแบบไม่ง้อทัวร์ (ตอนที่ 12)

แบกเป้ไปดูบอลโลกที่รัสเซียแบบไม่ง้อทัวร์ (ตอนที่ 12)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรุง Moscow เพิ่งจัดงานเฉลิมฉลองการก่อร่างสร้างเมืองครบรอบ 870 ปี เมื่อ ค.ศ.2017 ที่ผ่านมา ก่อนจะเปิดบ้านอีกครั้งเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวและแฟนพันธุ์แท้ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซียจะเป็นเจ้าภาพในอีกไม่ถึง 2 เดือนข้างหน้า

ประวัติศาสตร์กรุง Moscow นั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องผูกพันและสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของสหภาพโซเวียตและประเทศรัสเซีย ในความหมายของการเป็นเมืองหลวงสำคัญของยุโรปตะวันออก ทวีปเอเชีย และของโลกกลมๆ ใบนี้

นอกจากระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์ที่ถือได้ว่า อดีตสหภาพโซเวียตและประเทศรัสเซียนั้น เป็นพี่ใหญ่ของระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์ แม้จะมีสายจีนที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน แต่ก็ต้องถือว่า รัสเซียนั้นเป็นเบอร์หนึ่งหากพูดถึงคอมมิวนิสต์

ความยิ่งใหญ่ของรัสเซียในด้านการเมืองการปกครองดังกล่าว ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ที่ทำให้เกิดสงครามเย็นระหว่างขั้วอำนาจสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นแกนนำประเทศเสรีนิยมและทุนนิยม ซึ่งขณะนี้ก็ยังมีปัญหาเรื่องสายลับสองหน้ากันอยู่เนืองๆ

ในแง่ของวิทยาการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แน่นอนว่า สหภาพโซเวียตและประเทศรัสเซียนั้นไม่เป็นสองรองใคร โดยเฉพาะในด้านของเทคโนโลยีอวกาศ ถึงขนาดเคยตบหน้าอเมริกาด้วยการส่งสุนัขไลก้าขึ้นสู่อวกาศก่อนอเมริกันชนมาแล้ว

แบกเป้ไปดูบอลโลกที่รัสเซียแบบไม่ง้อทัวร์ ทั้ง 11 ตอนที่ผ่านมา เราอาสาพาไปดูบรรยากาศของกรุง Moscow Landmark ระดับโลกของนักท่องเที่ยว ที่หากมาเหยียบรัสเซียและเหยาะย่างใจกลางกรุงมอสโกแล้วต้องไม่พลาดเป็นอันขาด

เราแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการได้มาซึ่งตั๋วเข้าชมบอลโลก การขอ VISA สายการบินราคาถูก โรงแรมที่พักราคาย่อมเยา และเราพาไปสำรวจตรวจตราสถานที่สำคัญของกรุง Moscow เพื่อตระเตรียมตัวสำหรับการเยี่ยมเยือนดินแดนหลังม่านเหล็ก

แบกเป้ไปดูบอลโลกที่รัสเซียแบบไม่ง้อทัวร์ในตอนที่ 12 จะเป็นการอำลากรุง Moscow เพื่อออกเดินทางต่อไปยังเมืองและสนามสำหรับจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย หรือ Russia World Cup 2018 ซึ่งมีอีกหลายเมืองที่มีความน่าสนใจ

แต่ก่อนจะอำลาไป จะขอทิ้งท้ายไว้ด้วยข้อมูลเกี่ยวกับกรุง Moscow เพื่อตระเตรียมรอไว้เพื่อจะได้พบกันอีกครั้งในนัดชิงชนะเลิศ หลังจากเราจะออกทัวร์เมืองอื่นๆ ที่ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้

ท่ามกลางสภาพอากาศอันหนาวเหน็บ ราวต้นปี ค.ศ.1147 กรุง Moscow ถูกค้นพบโดยหน่อเนื้อเชื้อพระวงศ์สองคน คือ Yuri Dolgoruky และ Sviatoslav Olgovich ซึ่งได้รายงานถึงชัยภูมิอันเหมาะสมสำหรับการสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ขึ้น

หลังจากเผชิญการปิดล้อมและต่อสู้กันอย่างยาวนาน ระหว่างศึกสงครามและการรบพุ่งจากขุนศึกแห่งแดนใต้ในนามกองทัพเจง กีสข่าน กษัตริย์นักรบจากมองโกเลีย กรุง Moscow ถูกยึดครองและทิ้งร้างความรุ่งเรืองเฟื่องฟูออกไปนับร้อยปี

ปี ค.ศ.1237 กรุง Moscow ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ให้เป็นเมืองหลวงของรัฐอิสระ นำโดยเจ้าชาย Yuri Dolgoruky ด้วยชัยภูมิของการตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมอสกวา ช่วยให้ Moscow เติบโตและขยับขยายตัวเองไปได้รวดเร็วอย่างที่ใครๆ ก็คาดไม่ถึง

ปี ค.ศ.1380 ชาว Moscow ได้เป็นแกนนำในการปลดปล่อยรัสเซียจากมองโกล และปี ค.ศ.1480 พระเจ้าซาร์อีวานที่ 3 ก็ได้ปลดปล่อยรัสเซียจากการปกครองของเผ่าตาตาร์ และได้ทำการโยกย้ายเมืองหลวงของประเทศมายัง Moscow นับตั้งแต่นั้น

ทว่า ในปี ค.ศ. 1712 พระเจ้าซาร์ปีเตอร์มหาราช กลับได้ทำการย้ายเมืองหลวงไปยังเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก เพราะ Moscow ได้เผชิญกับการปิดล้อมโดยอภิมหากองทัพของนโปเลียน โบนาปาร์ต มหาราชนักรบจากฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1812

แต่อย่างที่ได้เคยเขียนถึงเอาไว้ในคอลัมน์แห่งนี้ว่า หลังจากตรึงกำลังประชิดและประลองเชิงกันอยู่หลายสิบปี ในที่สุด กองทัพฝรั่งเศสของนโปเลียนมหาราช จำต้องกรีฑาถอยทัพกลับไปปารีสเนื่องจากทนความหนาวเย็นไม่ได้ และเสบียงก็ร่อยหรอ

หลังจากการปฏิวัติรัสเซีย ในปี ค.ศ.1917 วลาดีมีร์ เลนิน ผู้นำการอภิวัฒน์ นำรัสเซียสู่ยุคใหม่ ก็ได้ทำการย้ายเมืองหลวงกลับมายัง Moscow อีกครั้ง เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1918 ซึ่งทำให้ Moscow ยังคงเป็นเมืองหลวงตราบกระทั่งถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี กรุง Moscow ได้เผชิญหน้ากับการปิดล้อมอีกครั้งจากนาซีเยอรมัน ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1941 จวบจบสงครามสงบลง และสหภาพโซเวียตได้ล่มสลายไปในปี ค.ศ.1989 หลังกำแพงเบอร์ลินได้พังทลายลงดังที่ทราบกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook