วิถีแห่งควาญช้าง ณ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เรียนรู้วิถีชีวิตที่ผูกพันของคนกับช้าง
เชื่อว่าคนไทยแทบจะทุกคนคงเคยเห็นช้างกันมาตั้งแต่จำความได้ ด้วยความน่ารักของน้องช้าง สัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย วันนี้นวลจะพาไปเรียนรู้วิถีชีวิตความผูกพันระหว่างคนเลี้ยงช้างกับช้าง
ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง กันครับ จะสนุกสุดป่วนปนความรู้ขนาดไหน ตามนวลไปกันเลยครับ
มารู้จักกันก่อน ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ตั้งอยู่ที่บ้านทุ่งเกวียน ตำบลเวียงตาล อยู่ในความดูแลของฝ่ายอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือ ออป. ครับ แต่เดิม ออป.
เป็นศูนย์ฝึกลูกช้างซึ่งเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในโลกเลยนะ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 เป็นสถานที่เลี้ยงและฝึกลูกช้างเพื่อให้เชื่อฟังคำสั่ง และมีความชำนาญในการทำไม้ขณะที่แม่ช้างไปทำงานในป่า
และเนื่องจากมีนโยบายปิดป่าซึ่งทำให้ช้างต้องว่างงาน ศูนย์ฝึกลูกช้างจึงถูกปรับมาเป็นสถานที่ดูแลช้างแก่และเจ็บป่วย และที่นี่ยังเป็นสถานที่ตั้งของโรงพยาบาลช้างด้วย ออป.จึงได้ก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยขึ้นเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2535
มาแนะนำแม่สาวน้อยที่นวลจะมาอยู่กับนาง 3 วันกันครับ
"พังประจวบ" หรือที่นวลเรียกนางว่า "ป้าจวบ" สาวน้อยวัย 37 ขวบ ที่ชื่อประจวบ เพราะป้าจวบนางมาจากประจวบครับ
ป้าจวบเป็นช้างอารมณ์ดี เข้ากับทุกเชือกได้ดี เป็นแฟนกับโจโจ้ และมีเพื่อนซี้ชื่อ พระธิดาวนาลี ช้างทรงอุปภัมภ์ในสมเด็จฯพระพี่นางครับ
นวลเจอป้าจวบครั้งแรก ตอนแรกก็กลัวๆ แต่พี่ควาญนุช (ควาญที่ดูแลป้าจวบ) บอกว่าป้าจวบน่ารักและเชื่องมาก นางชอบกินกล้วย และเมล็ดทานตะวันเป็นที่สุด
การฝึกเป็นคนเลี้ยงช้างหรือควาญช้างนั้น ขั้นตอนแรกสุดคือการทำความรู้จักคลุกคลีกันก่อน ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะโดดขึ้นคอนางได้เลยนะครับ เพราะช้างเป็นสัตว์ที่ตกใจ และระแวงมาก
ข้อควรจำคือ เราห้ามเดินเข้าข้างหลังช้าง ห้ามจับหาง และห้ามเอามือดันงวงนาง ให้เข้าเฉพาะด้านหน้าช้างเท่านั้นนะครับ
ก่อนการฝึกช้างนั้นเราต้องมาเรียนรู้ลักษณะ และธรรมชาติของช้างกันก่อน
ช้างที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จะเป็นช้างเอเชียทั้งหมด ลักษณะเด่นของช้างเอเชียคือ กะโหลกศีรษะจะใหญ่ ใบหูจะเล็ก
และช้างที่นำมาเลี้ยงในศูนย์จะเป็นช้างบ้านทั้งหมด ช้างบ้านหรือช้างเลี้ยง จะเรียกเป็นเชือก ตัวผู้จะเรียกว่าพลาย ตัวเมียจะเรียกว่าพัง ช้างตัวผู้ไม่มีงาจะเรียกว่าสีดอซึ่งตัวจะใหญ่กว่าชาวบ้านเขา
เราต้องแยกให้ได้นะครับ ระหว่างช้างป่ากับช้างบ้าน ช้างบ้านก็เหมือนหมาที่เราเลี้ยงตามบ้านแหละ ถึงจะมีพื้นเพเป็นสัตว์ป่า แต่นางก็เกิดและโตมากับคน
เพราะฉะนั้นพฤติกรรมการหาอาหารจะต่างไปจากช้างป่าครับ เราไม่สามารถเอาช้างบ้านไปปล่อยป่าได้ ถ้านางหาอาหารเองไม่ได้ และระวังอันตรายที่จะเกิดกับตัวเองไม่ได้นางก็จะถูกล่าและตายในที่สุดนะครับ
เสร็จจากเรียนรู้ลักษณะของช้าง น้องเฟิร์น(ไกด์สาวที่ดูแลนวลตลอดสามวัน) ก็พานวลกับไมเคิล และเจนิเฟอร์ คู่รักชาวเมกาที่มาเป็นเพื่อนร่วมชะตากรรมกับนวลตลอดสามวัน มาเรียนวิธีทำกระดาษจากมูลช้างกันครับ
ฟังไม่ผิดหรอกแก...นวลกำลังจะทำกระดาษจากขี้ช้าง แต่อย่าเพิ่งตกใจนะ...นวลจะเล่าให้ฟัง มูลช้างหรือขี้ช้างเนี่ย มีไฟเบอร์สูง
เขาสามารถนำมาหมักเพื่อทำให้เกิดแก๊สแล้วเอามาใช้ในการหุงต้มได้ แล้วยังเอามาทำกระดาษ และปุ๋ยได้ด้วยนะแก
ศูนย์การเรียนรู้ด้านคชศาสตร์ อาคารกัลยาณิวัฒนาการุณย์ แหล่งเรียนรู้ วิถีควาญ วิถีธรรมชาติ ก่อตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ที่พระองค์มีพระเมตตาต่อช้างตลอดจนทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสถาบันคชบาลแห่งชาติไว้ในพระอุปถัมภ์ เป็นอาคารสำหรับให้ผู้เข้าชมหรือนักท่องเที่ยว ได้เข้ารับฟังรับชมเรื่องราวเกี่ยวกับช้าง
ภายในห้องจัดแสดงนิทรรศการเพื่อให้ได้รับความรู้ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึกให้ตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ช้าง และสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดความห่วงแหน และต้องการที่จะปกป้องรักษาช้างและสิ่งแวดล้อมไว้ครับผม
หลังจากได้รับความรู้กันเต็มอิ่ม ก็ถึงเวลา "ควาญนวล" จะออกลีลาแล้ว
ตอนบ่ายนวลก็เริ่มฝึกขึ้นลงช้างกับพี่นุช และป้าจวบกันก่อนเลย ป้าจวบค่อนข้างตัวเตี้ยครับขึ้นลงง่าย แต่ก็นะนวลก็ไม่เคยขึ้นช้างมาก่อนก็ได้แผลมาบ้าง เพราะผิวหนังช้างค่อนข้างสากแหละหนามาก หนาเกือบๆ สองเซนติเมตรเลยนะแก
นวลได้ฝึกขึ้นลงช้างจากท่าต่างๆ ฝึกการควบคุมช้าง ให้ช้างเก็บของให้ กว่าจะคล่องก็เล่นเอาเหงื่อแตกเหมือนกัน
สำหรับการแสดงช้างอาบน้ำ จะมีวันละ 2 รอบ
รอบแรกเวลา 9.45 น. และ รอบบ่าย เวลา 13.15 น.
ช้างจะลงอาบน้ำอย่างพร้อมเพียงกัน หลังจากนั้นช้างทั้งหมดจะถือหางของแต่ละเชือกและเดินทางเข้าสู่ลานแสดง
การแสดงช้างอาบน้ำของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจมากนะครับ ใครที่อยากมาเล่นน้ำกับช้างเขามีบริการด้วย 500 บาท เองแก
ถ้ามาโปรแกรมโฮมเสตย์แบบนวล จะได้อาบน้ำกับช้างวันละ 3 รอบเลยนะแก รอบไหนไม่โดนป้าจวบแกล้งก็ตัวแห้งไป รอบไหนป้าจวบจะแกล้งก็เปียกไปทั้งตัวเลยครับ
โดยธรรมชาติแล้วช้างชอบอาบน้ำเพื่อระบายความร้อน และช้างจะอาบน้ำวันละหนึ่งถึงสองครั้ง ซึ่งช้างจะใช้งวงพ่นน้ำใส่ต้วเอง และควาญช้างจะช่วยทำความสะอาด
การแสดงช้างใช้เวลาแสดงประมาณ 40 นาที
จุดเด่นของการแสดงช้างของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยได้แก่การสาธิตการทำไม้ด้วยช้างซึ่งแพร่หลายในอดีตและถูกห้ามในปี พศ. 2532
นอกเหนือจากการแสดงความสามารถของช้างที่แล้ว การสาธิตการทำไม้ด้วยช้างยังเป็นการแสดงความสามารถของควาญช้างในการควบคุมช้างในการทำไม้อีกด้วย อาทิเช่น การใช้ภาษาในการควบคุม ซึ่งมีมากกว่า 35-40 คำ และการใช้การเคลื่อนไหวของร่างกาย เป็นต้น
ด้านศิลปะ มีการแสดงความสามารถของช้างเช่น แสดงการวาดภาพ ได้แก่ ภาพตามจิตนาการ และ ภาพเหมือนจริง โดยช้างของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยวาดภาพครั้งแรกในปี พศ 2540และ ระหว่างการแสดงของช้าง
การแสดงจะมีวันละ 3 รอบ แสดงทุกวัน ยกเว้น วันช้างไทย ( วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี )
รอบแรก 10.00 น
รอบที่ 2 11.00 น.
รอบที่ 3 13.30 น.
ผู้ใหญ่
ชาวไทย อัตราค่าเข้าชม 100.- บาท/คน
เด็ก (ความสูงต่ำกว่า 135 เซนติเมตร)
ชาวไทย อัตราค่าเข้าชม 50.- บาท/คน
สำหรับใครที่อยากมาลองอยู่กับช้างแบบนวล นวลแนะนำโปรแกรมนี้เลยครับ
โปรแกรมโฮมสเตย์ 3 วัน 2 คืน 9,000.- บาท
วันที่ 1
08.30 น. ลงทะเบียนที่บ้านพักโฮมสเตย์
09.00 น. ฝึกการขึ้นลงช้างที่ลานแสดงช้าง
09.45 น. นำช้างไปอาบน้ำ
10.00 น. ร่วมแสดงกับช้าง
11.00 น. พัก
12.00 น. อาหารกลางวัน
13.15 น นำช้างไปอาบน้ำ
13.30 น. ร่วมแสดงกับช้าง
14.30 น. นำช้างไปป่า
16.00 น. พักผ่อนตามอัธยาศัย
18.00 น. อาหารเย็น
วันที่ 2
06.30 น. นำช้างออกมาจากป่า
08.00 น. รับประทานอาหารเช้า
09.00 น. ฝึกการขึ้นลงช้างที่ลานแสดงช้าง
09.45 น. นำช้างไปอาบน้ำ
10.00 น. ร่วมแสดงกับช้าง
11.00 น. เยี่ยมชมโรงพยาบาลช้าง
12.00 น. อาหารกลางวัน
13.15 น นำช้างไปอาบน้ำ
13.30 น. ร่วมแสดงกับช้าง
14.30 น. นำช้างไปป่า
16.00 น. พักผ่อนตามอัธยาศัย
18.00 น. อาหารเย็น
วันที่ 3
06.30 น. นำช้างออกมาจากป่า
08.00 น. รับประทานอาหารเช้า
09.00 น. ฝึกการขึ้นลงช้างที่ลานแสดงช้าง
09.45 น. นำช้างไปอาบน้ำ
10.00 น. ร่วมแสดงกับช้าง
11.00 น. รับใบประกาศนียบัตร
12.00 น. อาหารกลางวัน
จบโปรแกรม
ติดต่อสอบถามหรือจองโปรแกรมได้ที่ โทรศัพท์ 054 829 322 หรือemail : info@thailandelephant.org
อัลบั้มภาพ 174 ภาพ