ธรณีสัญจร การก่อเกิดถ้ำ
หลังจากมีข่าวเกี่ยวกับเยาวชน 13 คน ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย เมื่อช่วงระหว่างวันที่ 23 มิ.ย. - 8 ก.ค.61 รวม 15 วัน การติดอยู่ในถ้ำหลวงของ 13 ชีวิตนี้ นอกจากจะทำให้เห็นถึงความมีน้ำใจของชาวไทยแล้ว ยังทำให้คนทั้งประเทศได้มาให้ความสนใจกับคำว่า ธรณีวิทยา กันมากขึ้น วันนี้ผมจึงขอนำข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับความรู้และกิจกรรมที่ทางกรมทรัพยากรธรณีได้จัดขึ้น คือการนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เพื่อศึกษาระบบนิเวศน์ของถ้ำ , การเกิดขึ้นของถ้ำ และการเที่ยวถ้ำอย่างถูกวิธี โดยการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจากกรมทรัพยากรธรณี น่าสนใจมากทีเดียวครับ
แนะนำวิทยากร
กิจกรรมลงพื้นที่ธรณีสัญจร ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ของปี พ.ศ.2561 จัดขึ้นเมื่อระหว่างวันที่ 16-17 สิงหาคม 2561 ในพื้นที่ จ.ราชบุรี และ กาญจนบุรี โดยมีท่านอาจารย์ไชยพร สิริพรไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ และคณะทีมงานจากกรมทรัพยากรธรณี ร่วมเดินทางมาให้ความรู้แก่คณะสื่อมวลชน เกี่ยวกับประวัติผลงานของวิทยากร ท่านอาจารย์ไชยพร สิริพรไพบูลย์ นั้นไม่ธรรมดาเลยครับ ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องถ้ำและระบบน้ำใต้ดิน เป็นนักวิชาการที่ให้คำปรึกษา และร่วมกับคณะทำงานในภารกิจค้นหาช่วยเหลือ 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ทั้งยังเป็นมือสำคัญของกรมทรัพยากรธรณี มีหน้าที่จัดทำแผนที่ถ้ำทั่วประเทศอีกด้วย
ถ้ำเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
หลายท่านอาจจะเกิดความสงสัยว่า ถ้ำเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? วันนี้ท่านวิทยากรได้ช่วยไขปริศนานี้แล้วครับ “ถ้ำ หรือ โพรง มีลักษณะลึกเข้าไปใต้ดิน เกิดขึ้นได้ทั้งในภูเขา บนบก ใต้ทะเล มีขนาดใหญ่พอที่มนุษย์จะสามารถเข้าไปได้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากเปลือกโลกขยับตัว และมีน้ำไหลผ่านหินปูน น้ำจะเป็นตัวกัดเซาะเส้นทางก่อให้เกิดเป็นโพรง ใช้เวลานานหลายพันปี ซึ่งมักจะพบตามภูเขาหินปูน ตามภูเขาชายทะเล หรือในบริเวณที่เคยเป็นทะเลมาก่อน
ส่วน หินงอก ที่มีลักษณะเป็นตะกอนหินปูนที่จัดตัวเป็นแท่ง สูงจากพื้นถ้ำขึ้นไปหาเพดานถ้ำ เกิดจากหยดน้ำที่มีคราบหินปูน ไหลหยดจากเพดานถ้ำ เมื่อหล่นถึงพื้นถ้ำจะเกิดการสะสมตัว ก่อตัวเป็นแท่งหรือเสาหินสูงขึ้น หลายๆ แห่งมีความสูงจรดเพดานถ้ำ
และ หินย้อย ก็มีลักษณะคล้ายๆ กันกับหินงอก โดยเกิดจากหยดน้ำที่มีส่วนผสมของหินปูนไหลมาตามรอยแตกเพดานถ้ำ หินปูนที่มากับน้ำสะสมตัวทีละเล็กละน้อย และจับตัวกันจนแข็งเป็นรูปลักษณ์สวยงามให้เราพบเห็นตามเพดานถ้ำทั่วไป บางจุดยังมีการสะสมตัวอยู่ เราจะเรียกกันว่า ถ้ำเป็น ส่วนจุดที่ไม่มีการสะสมตัวแล้ว เราจะเรียกกันว่า ถ้ำตาย
การสะสมตัวของหินปูนนี้ใช้เวลานานหลายปี เพราะนั้นเวลาที่เราเดินทางไปเที่ยมชมถ้ำ จึงไม่ควรไปสัมผัสกับหินงอก หินย้อย เพราะอาจจะทำให้หินงอก หินย้อย หยุดการเจริญเติบโตกลายเป็น ถ้ำตาย หมดความสวยงามได้”
แหล่งท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นทางธรณี
ธรณีสัญจรทริปนี้เปิดความรู้ฉากแรกที่ อุทยานหินเขางู จ.ราชบุรี สถานที่แห่งนี้คือเหมืองหินปูนเก่า ในอดีตเมื่อประมาณ 30 ที่แล้ว เคยเป็นเหมืองที่ถูกสัมปทานการทำหินเป็นยุคแรกๆ ของ จ.ราชบุรี ในช่วงเวลานั้นเหมืองเขางูสร้างอาชีพและรายได้ให้กับ จ.ราชบุรี เป็นอย่างมาก ปัจจุบันในบริเวณอุทยานหินเขางูเราจะได้พบเห็น หินปูนในภาคถูกตัดขวาง เห็นชั้นหินอย่างชัดเจน บางจุดมีรอยแตกของชั้นหิน มีแร่ชนิดอื่นปะปนอยู่ในเนื้อหิน มีส่วนที่เป็นโพรงน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดถ้ำหินปูน ถือเป็นบริเวณตัวอย่างอันชัดเจน ง่ายต่อการศึกษาเรื่องชั้นหิน
จากอุทยานหินเขางู คณะของเราได้เดินทางต่อไปยัง ถ้ำจอมพล ถ้ำนี้มีลักษณะเป็นถ้ำลอย (ตั้งอยู่บนภูเขาสูงจากพื้นดิน) ต้องเดินขึ้นบันไดไปยังปากถ้ำ ภายในเป็นถ้ำที่มีช่องหน้าต่างอันเกิดจากการยุบตัวพังทลายลงมา แสงจากดวงอาทิตย์จึงลอดผ่านเข้ามาได้ มีอากาศถ่ายเท ภายในกว้าง สามารถพบเห็นหินงอก หินย้อย และชั้นหินได้อย่างชัดเจน
ธารน้ำร้อนบ่อคลึง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ในอดีตมีความรุ่งเรืองมากเนื่องจากเป็นบริเวณที่มีการทำเหมืองแร่ดีบุก มีการจ้างงาน ก่อตัวเป็นชุมชน จนกระทั่งหมดยุคการสัมปทานเหมือง พื้นที่แห่งนี้จึงแปรเปลี่ยนไป เหลือไว้เพียงธารน้ำร้อนบ่อคลึงที่เกิดจากน้ำไหลลงใต้ดินในรูปแบบแอ่งกระทะ ไปสะสมอยู่กับหินร้อนที่อยู่ใต้ดิน คล้ายกับน้ำที่ถูกต้มอยู่ใต้ดิน เมื่อความร้อนของน้ำถึงจุดเดือดแล้วจึงพุ่งขึ้นมากลายเป็นน้ำพุร้อน อย่างที่เราได้สัมผัสกัน
ออกจาก จ.ราชบุรี เรามุ่งหน้าสู่ จ.กาญจนบุรี เพื่อศึกษาปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกจนทำให้เกิดถ้ำขนาดใหญ่ต่อไป
วันต่อมา ถ้ำละว้า อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เป็นถ้ำลอยตั้งอยู่บนภูเขา ต้องเดินเท้าขึ้นบันไดไปประมาณ 100 เมตร ปากถ้ำไม่กว้างนัก มีทางเดินเชื่อมต่อโถงถ้ำแต่ละแห่ง โดยมีไฟฟ้าส่องสว่างช่วยให้มองเห็นทาง ท่านวิทยากรชี้ให้ดูร่องรอยบริเวณผนังถ้ำ ที่อาจจะเคยเกิดการเคลื่อนที่ของเปลือกโลก จนทำให้หินย้อยขนาดใหญ่หักตกลงมา บางโถงยังมีการก่อตัวของหินปูน ทำให้เกิดรูปร่างสวยงามตามธรรมชาติอย่างน่าอัศจรรย์ ถือเป็นถ้ำตัวอย่างต่อกรณีศึกษาหาความรู้ทางด้านธรณีได้เป็นอย่างดี
เราได้เดินทางต่อไปยังพิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด อ.ไทรโยค ย้อนไปในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 ช่วงปี พ.ศ. 2485 – 2488 บริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า (เส้นทางรถไฟสายมรณะ) มีหลายจุดที่มีภูเขาหินขวางอยู่ ทหารญี่ปุ่นต้องการขุดเจาะให้เป็นช่องทางเพื่อให้รถไฟสามารถวิ่งผ่านไปได้ ซึ่งที่ช่องเขาขาด หรือ ช่องไฟนรก เป็นจุดที่ใหญ่ที่สุดบนเส้นทางนี้ การขุดเจาะช่องเขาขาดเริ่มในเดือนเมษายนปี พ.ศ. 2486 แต่ว่างานล่าช้ากว่ากำหนด จึงมีช่วงที่เร่งงานซึ่งแรงงานแต่ละกะต้องทำงานถึง 18 ชั่วโมง โดยงานส่วนใหญ่ล้วนใช้แรงคนทั้งสิ้น เช่นการสกัดภูเขาด้วยมือ เป็นการทำงานที่ลำบาก หลายชีวิตต้องตายไปจากการถูกใช้งานอย่างทารุณ
นอกจากพิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาดจะได้จัดแสดงภาพถ่ายและวีดีทัศน์ภาพการทำงานเหล่านั้นไว้แล้ว ท่านวิทยากรจากกรมทรัพยากรธรณียังชี้ให้พวกเราได้เห็นถึงธรรมชาติบริเวณนี้ว่า อาจเคยเป็นน้ำตกมาก่อน เนื่องจากมีร่องรอยของหินปูนและทางน้ำไหลอยู่หลายจุด เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไปสภาพภูมิประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไป น้ำเปลี่ยนทิศทาง จึงเหลือไว้เพียงร่องรอยเพียงเล็กน้อยให้เราได้ศึกษากันต่อไป
หลังจากจบทริปธรณีสัญจร ครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ.2561 แล้ว ทำให้ผมและคณะสื่อมวลชนได้รับทราบ เรื่องราวความเป็นมาของการเกิดถ้ำ การปฏิบัติตัวในการเดินทางท่องเที่ยวถ้ำอย่างถูกวิธี เพื่อนำมาประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวที่มีความสนใจทางด้านธรณีวิทยา รับทราบข้อมูลอันเป็นสาระประโยชน์จากกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งต้องการให้นักท่องเที่ยวได้ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง คงไว้ซึ่งการอนุรักษ์ธรรมชาติ และเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว จะได้เดินทางเที่ยวชมถ้ำอย่างสนุกสนานรับความรู้สิ่งที่อยู่รอบตัวเรากันต่อไป