เรื่องน่ารู้ ก่อนปิดตำนาน “เขาดินวนา” สวนสัตว์แห่งแรกของไทย

เรื่องน่ารู้ ก่อนปิดตำนาน “เขาดินวนา” สวนสัตว์แห่งแรกของไทย

เรื่องน่ารู้ ก่อนปิดตำนาน “เขาดินวนา” สวนสัตว์แห่งแรกของไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ก่อนที่ “สวนสัตว์ดุสิต” หรือ “เขาดินวนา” หนึ่งในสถานที่สร้างความสุขของไทยรุ่นต่อรุ่น มานานถึง 80 ปี จะปิดตัวอย่างเป็นทางการ ภายในสิ้นเดือนกันยายน 2561 คุณรู้หรือไม่ ? สวนสัตว์ดุสิต ซึ่งเป็น “สวนสัตว์แห่งแรกของประเทศไทย” มีเรื่องราวอะไรที่น่าสนใจอีกบ้าง

วันนี้ เรา อาสาพาไปทำความรู้จักกับสวนสัตว์ดุสิตในแง่มุมที่คุณอาจเคยรู้ หรือไม่เคยรู้มาก่อน

39047132_783583205145237_6298

กว่าจะมาเป็น “สวนสัตว์แห่งแรก” หรือ “สวนพฤกษศาสตร์แห่งแรก” ของประเทศไทย

“สวนสัตว์ดุสิต” หรือ “เขาดินวนา” เป็นสวนสัตว์และสวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเกิดจากพระราชดำริของ“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5” เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป ได้ทอดพระเนตรกิจการสวนพฤกษชาติของต่างประเทศ

จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสวนพฤกษชาติขึ้น เมื่อปี 2438 โดยใช้พื้นที่ราบทางด้านทิศตะวันออกติดคลองเปรมประชากร (ถนนพระราม 5) ในการจัดสร้าง เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนส่วนพระองค์ และข้าราชการบริพารฝ่ายใน

ต่อมา พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้พระราชทานอนุมัติในนามของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ให้เทศบาลนครกรุงเทพ (ณ ตอนนั้น) รับบริเวณสวนดุสิตหรือเขาดินวนา สนามเสือป่า และสวนอัมพร มาจัดเป็นสวนสัตว์ของประชาชน โดยเปิดสวนดุสิตให้ประชาชนเที่ยวชม และพักผ่อนหย่อนใจ เป็นครั้งแรกในวันที่ 18 มีนาคม 2481

“กวางดาว” สิ่งมีชีวิตชนิดแรก ในสวนสัตว์ดุสิต

39008919_781438022026422_5098

เมื่อครั้ง รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสหมู่เกาะชวา (ประเทศอินโดนีเซีย ในปัจจุบัน) ได้ทรงนำกวางดาวฝูงหนึ่งจากชวามาเลี้ยงไว้ในสวนกวาง ต่อมา เมื่อสร้างสวนสัตว์ดุสิต เทศบาลนครกรุงเทพ จึงย้ายกวางดาวมาเลี้ยง ณ ที่แห่งนี้ ทำให้ “กวางดาว” กลายเป็นสัตว์ชนิดแรกที่เข้ามาอยู่ในการดูแลของสวนสัตว์ดุสิต

ช้างเผือก ประจำรัชกาลที่ 9 ที่เคยอยู่ในการดูแลของสวนสัตว์ดุสิต

ภายหลังที่ “พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ” ซึ่งเดิม ชื่อว่า “พลายแก้ว” ถูกคล้องได้ที่บ้านหนองจูด ต.ดินอุดม อ.ลำทับ จ.กระบี่ เมื่อปี 2499 ก็ได้ถูกนำมาตรวจสอบคชลักษณ์ กระทั่งพบว่า เป็นช้างสำคัญ จึงนำมาเลี้ยงไว้ที่สวนสัตว์ดุสิต เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2500

แม้ในเวลาต่อมา พล.ท. บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย (ณ ตอนนั้น) ได้นำพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2501 เพื่อประกอบพิธีขึ้นระวางเป็นช้างต้น

แต่พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ก็ยังเติบโต ภายใต้การดูแลขององค์การสวนสัตว์ที่สวนสัตว์ดุสิตเรื่อยมา ก่อนจะย้ายไปยังโรงช้างต้น ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อปี 2519

ต้นไม้ ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เดนมาร์ก

คือ “ต้นสัก” ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและราชอาณาจักรเดนมาร์ก เมื่อครั้ง เจ้าชายวัลเดอร์มาร์ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าคริสเตียนที่ 8 แห่งเดนมาร์ก ได้เสด็จมาเยือนประเทศไทยเมื่อปี 2443 และได้ทรงปลูกต้นสักเป็นที่ระลึกในการเสด็จเยือน

“หลุมหลบภัย” แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2

ในสวนสัตว์เขาดิน มี “หลุมหลบภัย” ในสมัยสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 หรือที่เรียกว่า “สงครามมหาเอเชียบูรพา” ซึ่งถูกสร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นที่หลบภัยของประชาชนที่มาเที่ยวสวนสัตว์ดุสิต และประชาชนในบริเวณใกล้เคียง ในกรณีที่ถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตร (สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ) โจมตีทิ้งระเบิด

ปัจจุบัน หลุมหลบภัยดังกล่าว ถูกปรับปรุงให้เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ อาทิ จัดนิทรรศการแสดงภาพถ่าย และข้อมูลเกี่ยวกับสงครามโลก

แม่มะลิ ฮิปโปโปเตมัส ที่มีอายุมากที่สุดในประเทศไทย

40101263_796948647142026_7592

เมื่อเอ่ยถึง “สวนสัตว์ดุสิต” ภาพที่ผุดขึ้นในความคิดของแต่ละคน คงไม่พ้นภาพของเหล่าสัตว์ อย่างช้าง ยีราฟ หรือนกเพนกวิน ที่รออวดโชว์อยู่ตามจุดต่าง ๆ ของสวนสัตว์

แต่หากพูดถึงดาวเด่นประจำสวนสัตว์แห่งนี้ คงไม่พ้นเป็น “แม่มะลิ” ฮิปโปโปเตมัส อายุ 52 ปี ซึ่งเป็นฮิปโปโปเตมัสที่มีอายุมากที่สุดในประเทศไทยนั่นเอง

โดยสวนสัตว์ดุสิตได้รับ “แม่มะลิ” มาจากสวนสัตว์ทีลเบิร์ก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2510 ในขณะนั้น แม่มะลิ มีอายุเพียง 1 ปี นับตั้งแต่แม่มะลิได้ย้ายเข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลของสวนสัตว์ดุสิต มีลูกทั้งหมด 14 ตัวด้วยกัน

และในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แม่มะลิจะถูกย้ายไปอยู่ในการดูแลของสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จนกว่าการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่จะเสร็จสิ้น

มุมถ่ายรูป มุมมหาชน

39026926_782498511920373_2937

สำหรับมุมมหาชน ที่ใครไปเยือนสวนสัตว์ดุสิตแล้วไม่ได้แชะภาพ ถือว่าไม่ถึง คือ มุมที่สามารถเห็น “พระที่นั่งอนันตสมาคม” เป็นฉากหลัง ตัดกับสระน้ำที่อยู่ตรงกลางสวนสัตว์เขาดินนั่นเอง

ส่วนใครจะ “ปั่นเรือจักรยานนาวา” เพื่อไปถ่ายภาพกลางสระน้ำ หรือเดินลัดเลาะรอบสระน้ำ เพื่อหามุมถ่ายภาพเก๋ ๆ ในแบบฉบับของตัวเองก็ได้

แต่หากคุณแวะไปทานอาหารที่ร้าน “ครัววังวนา” แนะนำให้ขึ้นไปนั่งที่บริเวณชั้น 2 ตรงจุดนั้น ก็เป็นอีกมุมยอดฮิตในการเก็บภาพพระที่นั่งอนันตสมาคม

หนึ่งในเหยื่อของความขัดแย้งทางการเมือง

เนื่องด้วยที่ตั้งสวนสัตว์ดุสิต อยู่ใกล้สถานที่สำคัญ ซึ่งเป็นจุดหมายของกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง ทำให้เวลาที่มีการชุมนุมฯ บริเวณโดยรอบสวนสัตว์ดุสิตอาจถูกปิด จึงทำให้ยอดการเข้าชมในช่วงดังกล่าวตกลง ขณะที่บรรดาสัตว์นานาชนิดก็ได้รับผลกระทบ ยามที่มีการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม เนื่องจากสัตว์บางตัวตกใจกับเสียงยิงแก๊สน้ำตา เสียงปืน จนวิ่งชนกรงได้รับบาดเจ็บ

ดังนั้น การตัดสินใจย้ายสวนสัตว์ดุสิตออกไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ ที่กว้างขวางกว่าเดิม และไม่ใช่จุดยุทธ์ศาสตร์ทางการเมือง อาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ณ เวลานี้

สถานที่สร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ คือ ที่ใด

สำหรับพื้นที่แห่งใหม่ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10” ทรงพระราชทานโฉนดที่ดิน ตรงบริเวณคลอง 6 ฝั่งตะวันออก ถนนรังสิต-นครนายก อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี จำนวน 300 ไร่ (ขนาดใหญ่กว่าสวนสัตว์ดุสิตเดิมถึง 3 เท่า) ให้กับองค์การสวนสัตว์ เพื่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่

ปัจจุบัน สวนสัตว์แห่งใหม่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของการออกแบบ โดยคาดว่า ใช้เวลาในการออกแบบโครงสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ อย่างน้อย 1-2 ปี และจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณปี 2565

และในระหว่างที่รอให้สวนสัตว์แห่งใหม่ก่อสร้างเสร็จ เหล่าสัตว์นานาชนิดภายในสวนสัตว์ดุสิต จะถูกเคลื่อนย้ายไปยังสวนสัตว์ที่อยู่ภายใต้การบริหารขององค์การสวนสัตว์ ได้แก่ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว, สวนสัตว์เชียงใหม่, สวนสัตว์นครราชสีมา, สวนสัตว์สงขลา, สวนสัตว์อุบลราชธานี และสวนสัตว์ขอนแก่น

สวนสัตว์แห่งใหม่ ยังคงใช้ชื่อ “สวนสัตว์ดุสิต” หรือไม่

ในเบื้องต้น สวนสัตว์แห่งใหม่ จะถูกเรียกในชื่อ “สวนสัตว์ปทุมธานี” ไปจนกว่า จะมีการตั้งชื่อให้ใหม่ (อาจขอพระราชทานชื่อสวนสัตว์หรือจัดประกวดตั้งชื่อ)

 

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ เรื่องน่ารู้ ก่อนปิดตำนาน “เขาดินวนา” สวนสัตว์แห่งแรกของไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook