Slow Life บ้านป่าเหมี้ยง ลำปาง

Slow Life บ้านป่าเหมี้ยง ลำปาง

Slow Life บ้านป่าเหมี้ยง ลำปาง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนฝันที่จะตื่นขึ้นพบกับภาพป่าเชียวชอุ่มจากหน้าต่างห้องพัก  ฝันว่ามีเสียงน้ำไหลรินขับกล่อมให้เข้านอนและเป็นเสียงแรกที่ได้ยินเมื่อตื่น ทุกอย่างเป็นจริงได้ที่นี่ — “บ้านป่าเหมี้ยง” ชุมชนเล็กๆ ที่น่ารักในอำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง - เมืองรองต้องห้ามพลาด

339435
606831

บ้านป่าเหมี้ยงเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ซุกตัวอยู่หลังทิวเขาในอ้อมกอดของผืนป่า ผู้คนหล่อเลี้ยงชีวิตด้วยลมหายใจแห่งความสุขและวิถีชีวิตพอเพียง ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเก็บใบชาป่า ซึ่งนำมาแปรรูปเป็นของกินเล่นของคนภาคเหนือที่เรียกว่า “เหมี้ยง” หรือ “เมี่ยง” ในภาษากลาง จนเป็นชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านป่าเหมี้ยง”

ปลายฝนต้นหนาวนี้ อยากชวนคุณมาเที่ยว! ทดลองเก็บใบเมี่ยง ชิมอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย พักผ่อนในบรรยากาศธรรมชาติอันเย็นฉ่ำของผืนป่า แล้วดื่มด่ำความสุขแบบช้าๆ ให้เต็มอิ่ม!

599133

รู้จักกับ บ้านป่าเหมี้ยง

เส้นทางสู่บ้านป่าเหมี้ยงใช้ทางหลวงหมายเลข 1252 จะตัดผ่านผืนป่าอันหนาทึบของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน สองข้างทางมีหญ้าดอกขาวปลิวไหวตามแรงลม ก่อนถึงหมู่บ้านจะผ่านลานดอกเสี้ยว ซึ่งดอกไม้นี้จะบานสะพรั่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ที่นี่จึงเป็นสถานที่จัดงานเทศกาลวันดอกเสี้ยวบาน

ที่บ้านป่าเหมี้ยงมีโฮมสเตย์ให้พักหลายหลัง จัดการโดยคนในชุมชน ซึ่งต้องติดต่อมาล่วงหน้า เมื่อจัดแจงนำสัมภาระเข้าเก็บในบ้านแล้วชาวบ้านชวนเราเดินชมบรรยากาศหมู่บ้าน ความที่ตั้งอยู่เกือบใจกลางอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ที่นี่จึงร่มรื่นด้วยพรรณไม้หลายขนาด ตั้งแต่ไม้น้ำเล็กๆ ที่พลิ้วไหวอยู่ในลำธารไหลเย็นไปจนถึงไม้ใหญ่ขนาด 10 คนโอบ

ผืนป่ารอบบ้านป่าเหมี้ยงจัดเป็นป่าต้นน้ำระดับ 1-A ของแม่น้ำวัง ซึ่งได้รับการอนุรักษ์จากชาวบ้านในลักษณะที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน เพราะการทำเหมี้ยงต้องอาศัยร่มไม้ใหญ่ค่อนข้างหนาทึบในป่าดิบเขา ที่ความสูงระดับ 900-1,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล และระบบรากของเหมี้ยงต้องรับอาหารและแร่ธาตุผ่านไมคอร์ไรซา (mycorrhiza) เชื้อราชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเชื่อมโยงระบบรากของต้นไม้ในป่า ดังนั้นการที่ชาวบ้านดูแลรักษาป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ก็เท่ากับเป็นการทำนุบำรุงแหล่งผลิตรายได้ของชุมชน

808501

ตามชาวบ้านเข้าป่าไปเก็บเมี่ยง

กิจกรรมสำคัญเมื่อมาเยือนที่นี่คือการเที่ยวป่าเหมี้ยงหรือเมี่ยง ป้าเจ้าของสวนจะนำไปพร้อมอุปกรณ์ครบมือ ไล่ไปตั้งแต่ “ส่า” หรือตะกร้าขนาดพอเหมาะสำหรับใส่ใบเมี่ยงสะพายอยู่บนบ่า มีตอกเส้นเรียวบางเอาไว้มัดเมี่ยง มีดพร้าสำหรับฟันวัชพืช และ “ปอก” (หรือปลอก) ซึ่งทำจากแผ่นสังกะสีม้วนคล้ายแหวนใส่ที่ปลายนิ้ว ที่ปลายติดใบมีดโกนไว้ ใช้เก็บใบเมี่ยง รวมทั้ง “ขอ” ซึ่งเป็นเชือกยาวที่ปลายเชือกติดตะขอไม้ใช้โน้มต้นที่สูงให้ต่ำลงจะได้เก็บง่ายขึ้น  

เมี่ยงที่นี่ไม่ใช่เมี่ยงคำ-ของกินเล่นที่เราคุ้นเคย แต่คือชาพันธุ์อัสสัม ซึ่งเติบโตในป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ อากาศหนาวเย็นและความชื้นสูง ชาวบ้านทำเมี่ยงสืบต่อกันมาเกือบ 200 ปี ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ฤดูกาลเก็บเมี่ยงเริ่มตั้งแต่เข้าหน้าฝนไปจนหมดหน้าหนาว ราวเดือนพฤษภาคมจนถึงกุมภาพันธ์

ป้าใช้ “ปอก” ตัดฉับที่ใบอ่อนตามยอดอย่างคล่องแคล่ว การเก็บเหมี้ยงไม่ใช่เด็ดทั้งใบ แต่ให้ตัดโดยเว้นก้านใบเอาไว้ เพื่อให้ใบเมี่ยงได้หายใจ ไม่อย่างนั้นต้นจะไม่แตกยอด เน้นเก็บยอดสามใบแรกเท่านั้น คนตัดเมี่ยงมือสมัครเล่นอย่างพวกเรา จะตัดแต่ละทีจึงต้องเล็งแล้วเล็งอีกจนแน่ใจ

แม้วิถีของเหมี้ยงคือลมหายใจของที่นี่ แต่น่าเสียดายที่ลมหายใจนี้กำลังแผ่วลงไปทุกที ด้วยปัจจุบันเหมี้ยงไม่ค่อยเป็นที่นิยมอย่างที่ผ่านมา ชาวบ้านจึงนำพลับและกาแฟพันธุ์อะราบิกามาปลูกแซมในป่าเมี่ยง ในหน้าหนาวเม็ดกาแฟสุกสีแดงฉานและผลพลับสีเหลืองดกเต็มต้นให้ชิมกันอีก

736737
819894

ใช้ชีวิตแบบ Slow life

กลับจากป่าเมี่ยงแล้วอย่าลืมแวะบ้านทำเมี่ยง ซึ่งทำส่งขายเพียงเจ้าเดียวในหมู่บ้าน จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการทำไม่มีอะไรมาก ใส่ใบเมี่ยงที่นึ่งแล้วเรียงลงเป็นแถววงกลมในถังในถังซีเมนต์ เติมน้ำเปล่าแล้วหมักไว้ 20 วันถึง 1 เดือนขึ้นอยู่กับความอ่อนความแก่ของเมี่ยง จากนั้นนำขึ้นมาทุบเพื่อให้นุ่ม มัดส่งขายไปทั่วจังหวัดในภาคเหนือ  ลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงเป็นคนอายุ 40 ปีขึ้นที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมการกินเมี่ยงมาแต่ดั้งเดิม นิยมอมเล่นเวลาหลังอาหารหรือทำงาน เพราะจะช่วยให้กระชุ่มกระชวย ไม่ง่วงนอน เรียกกันเล่นๆ ว่าเป็น “โอเล่ดอย”

ถ้าไม่เคยชิมเมี่ยงมาก่อน อยากให้ลองหยิบเมี่ยงหนึ่งคำเข้าปาก แล้วก็พบว่ารสชาตินั้นสุดจะบรรยาย ทั้งเปรี้ยว หวาน และฝาดจับใจ ใครได้ชิมคงไม่ลืมไปตลอดชีวิต!

ในหมู่บ้านยังมีกลุ่มหมอนใบชาเพื่อสุขภาพ ที่กำลังยัดใบเมี่ยงแก่แห้งลงในปลอกหมอนสีหวาน ภายใต้ชื่อแบรนด์ “หมอนดอกเหมี้ยงหอมไก๋” หรือ หอมไกล นั่นเอง มีหลายแบบให้เลือก ทั้งหมอนทรงธรรมดาไปจนถึงหมอนเล็กใช้แขวนในตู้เสื้อผ้า  กลิ่นใบเมี่ยงหรือใบชามีสรรพคุณช่วยผ่อนคลายความเครียดและช่วยให้หลับสบาย  

เดินสำรวจการทำเมี่ยงจนเหนื่อย ก็ถึงเวลาอาหารที่เรารอคอย มีเมนูเด็ดอย่างยำใบเมี่ยงที่ทำกินกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่า ปัจจุบันกลายเป็นเมนูต้อนรับนักท่องเที่ยวไปแล้ว  วิธีทำไม่ยาก เพียงเด็ดใบอ่อนปานกลางไม่ขมไม่แข็งเกินไป นำไปล้างแล้วซอยละเอียด ใส่หอมใหญ่ซอย มะเขือเทศหั่นลูกเต๋า พริกขี้หนูซอยละเอียด กระเทียมสับละเอียดที่เจียวจนเหลืองหอม ลงคลุกเคล้า แล้วบีบมะนาว เติมน้ำปลา จากนั้นเทปลากระป๋องลงเคล้าให้เข้ากัน เพียงเท่านี้ก็จ๊าดลำ ยังมีเมนูจานเด็ดอีกคือน้ำพริกเห็ดหอมสด ซึ่งเพิ่งตัดมาใหม่ๆ และไส้อั่วที่ชาวบ้านทำกินเองจึงอัดเครื่องไม่ยั้ง กัดแล้วหอมกลิ่นสมุนไพรทั่วทั้งปาก กินทั้งหมดแล้วต้องสรรเสริญความอร่อยเป็นภาษาเหนือว่า ลำแต้ๆ

431030

ชีวิตช้าๆ ที่ดีต่อใจ

นอกจากมารู้จักวิถีชีวิตคนป่าเหมี้ยงแล้ว แค่การพาตัวเองมา “อยู่” ที่นี่ ก็เป็นความสุขอีกอย่างหนึ่ง เพราะตัวหมู่บ้านตั้งอยู่บนเทือกเขากลางป่า จึงมีอากาศเย็นสดชื่นตลอดปี มีลำธารไหลผ่านในหมู่บ้าน เดินๆ ไปได้ยินเสียงน้ำไหลให้รู้สึกผ่อนคลายสบายใจ แม้ตามรายทางแทบทุกครัวเรือนมีกระถางดอกไม้เล็กๆ ประดับอยู่ ทว่าความสวยงามกลับเป็นรอยยิ้มของชาวบ้านที่ส่งให้พร้อมคำทักทาย

121780
135548
321750

อีกวันชาวบ้านพาเราไป “กิ่วฝิ่น” จุดชมทิวทัศน์อีกแห่งที่อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน ซึ่งในอดีตเคยเป็นที่พักของคาราวานพ่อค้าฝิ่น กิ่วฝิ่นสูงจากระดับน้ำทะเล 1,517 เมตร ในช่วงฤดูหนาวอุณหภูมิบนยอดจึงอาจลดลงเหลือเพียง

3-4 องศาเซลเซียส  ตามทางขึ้นมีสนสามใบขึ้นทั่วไป จากกิ่วฝิ่นเราจะได้ตื่นตาตื่นใจกับสายหมอกขาวที่ปกคลุมทั่วหุบดอย จนนึกว่ากำลังยืนอยู่ในความฝัน

333951
566458
กลับจากบ้านป่าเหมี้ยงแล้วยังรู้สึกคิดถึง เป็นชุมชนเล็กๆ ในอ้อมกอดธรรมชาติ ที่ดีต่อใจอย่างแท้จริง

ข้อมูลเพิ่มเติม

ที่ตั้ง ต. แจ้ซ้อน อ. เมืองปาน จ. ลำปาง

ติดต่อชุมชนบ้านป่าเหมี้ยง โทร. 08-4894-9122,08-9560-6820

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลำปาง โทร. 054-222-214

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ Slow Life บ้านป่าเหมี้ยง ลำปาง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook