ลุยเดี่ยว เที่ยวมาชูปิกชู (ตอนจบ)
มาชูปิกชู ใจกลางจักรวรรดิ “อินคา” ที่ยิ่งใหญ่มากในละตินอเมริกา
ไม่ใช่ วงดนตรี “อินคา” ที่คนไทยชอบฟังเพลง “หมากเกมนี้” “ยิ่งใกล้ยิ่งเจ็บ” ฮิๆ
มาชูปิกชู ตั้งอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองกุสโก ประเทศเปรู
คำถามอภิมหาอมตะนิรันดร์กาล ที่มีต่อ มาชูปิกชู ก็คือ สร้างขึ้นเพื่อ?
ถ้ามองกันแบบหยาบๆ ผ่านแว่นของคนยุคปัจจุบัน การวางผังเมืองของ มาชูปิกชู เกิดขึ้นจากความชาญฉลาดในการเลือกชัยภูมิที่ตั้งบนยอดเขาสูง โดยใช้ภูเขาธรรมชาติที่ยากต่อการเข้าถึงซึ่งหลบซ่อนสายตาศัตรูได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังมีระบบชลประทานชั้นยอดที่เอื้อต่อการดำรงชีพบนที่สูงของชาว “อินคา” อีกด้วย
หากเป็นในมุมนี้ นี่คือฐานที่มั่นทางการทหารอันสำคัญยิ่งสำหรับการสร้างแสนยานุภาพทางการรบของจักรวรรดิ “อินคา”
แต่ถ้าขยับขึ้นไปมองกันอีกชั้นหนึ่ง
การออกแบบทางสถาปัตยกรรมอันเลอเลิศที่เอื้อต่อการคิดคำนวณทางดาราศาสตร์เป็นอีกจุดหนึ่งซึ่งวงการสถาปนิกสมัยใหม่ต่างให้ความเคารพยกย่อง
นอกความมหัศจรรย์ทั้งในแง่ของสถาปัตยกรรมศาสตร์ รัฐศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ ที่ห้อมล้อมองคาพยพการก่อร่างสร้างเมืองแล้ว คุณค่าทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะผืนป่าที่ปกคลุมรอบหุบเขานี่เอง ที่นำพาให้ มาชูปิกชู ได้รับการจดทะเบียนให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก เมื่อปี ค.ศ. 1983 และเคยเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกมาแล้วอีกด้วย
การเป็นมรดกโลกนี้เอง ที่ทำให้ ในปัจจุบันนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลก ต่างพากันจ้องจะมาปักหมุดหยุดเวลาไว้ที่ มาชูปิกชู
รัฐบาลเปรูเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงออกกฎจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละวัน มีการเข้าคิวกันอย่างเอาจริงเอาจัง และมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการเข้าเยี่ยมชม โดยนักท่องเที่ยวสามารถขึ้น มาชูปิกชู ได้วันละ 2 รอบ คือรอบครึ่งวันเช้ากับรอบครึ่งวันบ่าย รอบละไม่เกิน 2,500 คน
ยอดเขา ฮูไอน่าปิกชู ขึ้นได้เพียงวันละ 400 คน (รอบละ 200 คน) และยอดเขา มาชูปิกชู ขึ้นได้วันละ 800 คน (รอบละ 400 คน)
การเดินทางมายัง มาชูปิกชู ส่วนใหญ่แล้วนักท่องเที่ยวมักบินไปลงที่เมืองลิม่า นครหลวงของประเทศเปรู แล้วจึงต่อเครื่องอีกลำไปลงที่เมืองกุสโก้
จากเมืองกุสโก้ สามารถเลือกว่าจะนั่งรถไฟหรือรถทัวร์ก็ได้ เพื่อไปยังเมืองแองกัส แคลเลียนเตส ซึ่งถือเป็นจุดออกตัวของทัวร์ มาชูปิกชู
เมื่อไปถึง แองกัส แคลเลียนเตส แล้ว ก็สามาถเลือกได้อีก ว่าจะขึ้นไป มาชูปิกชู อย่างไร ทั้งด้วยการเดินเท้า หรือนั่งรถบัสโดยสาร
สำหรับคำแนะนำต่อบอกต่อๆ กันมาแบบปากต่อปาก จากบรรดานักเดินทางรุ่นพี่ๆ ก็คือ ควรแวะค้างที่ลิม่ากันก่อนเป็นเวลา 1 หรือ 2 คืน อย่างน้อยๆ ก็น่าจะ 1 คืน ทั้งนี้ก็เพื่อ ให้ร่างกายของเราค่อย ๆ ปรับตัวกับระยะความสูงของ มาชูปิกชู
เพราะเมืองกุสโก้นั้นมีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลมากถึงเกือบ 3,500 เมตร ส่วนใหญ่แล้ว นักท่องเที่ยวที่ตีตั๋วยาวมาลงกุสโก้ มักประสบกับปัญหา Altitude Sickness กันแทบทุกคน
ทางแก้ นอกจากปักหลักพักค้างกันที่ลิม่า 1-2 คืนดังที่กล่าวไปแล้ว ยังให้ระงับการบิน ด้วยการถ่วงเวลาบนรถทัวร์ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางยาวนานกว่ารถไฟ สำหรับการดิ่งไปยังเมืองแองกัส แคลเลียนเตส เพราะที่แองกัส แคลเลียนเตส นั้น จะมีระดับความสูงต่ำกว่าที่กุสโก้ นั่นเอง
การขึ้นไปเที่ยว มาชูปิกชู นั้น ขอแนะนำให้ตื่นแต่เช้ามืด เพื่อค่อยๆ เดินขึ้นไป เพราะช่วงเวลาดังกล่าว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังไม่ตื่น และอากาศก็ยังไม่ร้อนจนเกินไป
สำหรับนักเดินทางชาวไทย ถือเป็นโชคดี ที่คนไทยสามารถเข้าประเทศเปรูโดยไม่ต้องใช้ VISA ดังนั้น การตะลุยเดี่ยว เที่ยว มาชูปิกชู จึงเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่หลายคนเล็งไว้ในช่วงปลายปีนี้นั่นเอง