จากเวียนนา สู่ซาลซ์บูร์ก เดินทางไปตามเสียงดนตรี
วันนี้ผมได้เดินทางจากเมืองบูดาเปสต์ประเทศฮังการี มาสู่กรุงเวียนนาเมืองหลวงของประเทศออสเตรีย ดินแดนแห่งเสียงดนตรีคลาสสิค และความเนิบช้าของวัฒนธรรม
เวียนนา หรือที่ชาวเยอรมันเรียกกันเพียงสั้นๆ ว่า วีน เป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศออสเตรีย โดยเป็นทั้งศูนย์กลางเศรษฐกิจและการปกครองของประเทศ อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงานสหประชาชาติ และองค์กรระดับนานาชาติหลายแห่ง บริเวณตัวเมืองมีแม่น้ำดานูบไหลผ่านอย่างสวยงาม บรรยากาศโดยรวมเป็นเมืองที่เงียบสงบอากาศหนาวเย็นเหมาะสมกับการเดินทางท่องเที่ยวหรือพักผ่อนเป็นอย่างมาก
พระราชวังเชินบรุนน์
นักท่องเที่ยวเกือบทุกคนเมื่อเดินทางถึงกรุงเวียนนาต่างต้องเดินทางมาเที่ยวชมความงดงามทางศิลปะล้ำค่าของพระราชวังเชินบรุนน์ ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยปัจจุบันทางรัฐบาลออสเตรียได้ทำการบูรณะซ่อมแซมจัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ
ในอดีตพระราชวังเชินบรุนน์ นั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์ก เป็นพระราชวังที่ใหญ่และมีความสวยงามเป็นอันดับต้นๆ ของยุโรป ภายในมีการตกแต่งอย่างอลังการ จุดเด่นอยู่ที่โคมไฟห้อยระย้ามากมาย มัคคุเทศก์เล่าว่าแต่เดิมนั้นโคมไฟเหล่านี้จะใช้เทียนไขนับพันเล่มจุดให้เกิดแสงส่องสว่าง ผมดูแล้วอดคิดไม่ได้ว่าหากผู้ที่รับหน้าที่จุดเทียนไขมีจำนวนน้อย กว่าจะจุดเทียนครบทุกจุดเทียนเล่มแรกคงจะดับไปแล้วกระมัง ทางด้านฝาผนังและเพดานโค้งมีภาพวาดในสไตล์โรมันจากฝีมือจิตรกรชั้นเยี่ยมในยุคนั้น เป็นที่น่าเสียดายว่าที่ภายในพระราชวังไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ เลยไม่ได้นำความงดงามมาให้ชมกัน
เกี่ยวกับชื่อของพระราชวังเชินบรุนน์นั้นมีความหมายว่า น้ำพุอันสวยงาม ซึ่งเป็นน้ำที่ผุดขึ้นมาจากบ่อน้ำบาดาลธรรมชาติในบริเวณนี้ เมื่อจักรพรรดิแม็กซิมิเลียนที่ 2 ได้ทอดพระเนตรเห็นจึงตั้งชื่อตามความหมายที่ได้ทรงพบเห็น ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของพระราชวังเชินบรุนน์ยังมีอีกเรื่องหนึ่งคือ เป็นที่ประทับในวัยเยาว์ของพระนางมารี อองตัวเนต พระราชินีแห่งฝรั่งเศส รวมถึงพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ก็เคยประทับอยู่ ณ พระราชวังแห่งนี้ร่วมกับพระราชโอรสของพระองค์
และที่พระราชวังแห่งนี้มีเรื่องราวความเกี่ยวเนื่องกับ วอล์ฟกัง อามาเดอุส โมซาร์ท นักประพันธ์ดนตรีคลาสสิคด้วยที่ว่าเมื่อตอนที่โมซาร์ทมีอายุเพียง 6 ปี ได้มีโอกาสเข้ามาถวายการแสดงดนตรีต่อหน้าพระพักตร์ของพระนางมาเรีย เทเรซา ในคราวนั้นเมื่อโมซาร์ทแสดงเสร็จก็ได้กระโดดไปนั่งที่ตักของพระนางพร้อมหอมแก้มตามประสาเด็กเป็นที่น่ารักน่าเอ็นดูของผู้พบเห็นในวันนั้น ตามตำนานยังเล่าต่อกันมาว่า โมซาร์ทได้เดินสะดุดชายกระโปรงของเจ้าหญิงมารี อองตัวเนต ซึ่งเป็นพระธิดาของพระนางมาเรีย เทเรซา แต่เจ้าหญิงมารี อองตัวเนต ได้ประคองไว้ทันโมซาร์ทจึงไม่ได้ล้มไปถึงพื้น
ปัจจุบันพระราชวังเชินบรุนน์ ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งในกรุงเวียนนา
ชมบ้านเกิดของโมซาร์ท
จากกรุงเวียนนาผมได้เดินทางต่อไปยังดินแดนที่เป็นบ้านเกิดของโมซาร์ท คือเมืองชาลซ์บูร์ก ระหว่างทางผมได้ชื่นชมกับธรรมชาติที่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นต้นไม้เรียงรายยืนต้นแผ่กิ่งก้านสีดำโดยมีหิมะขาวเกาะอยู่เต็มไปหมด ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็จะเห็นเป็นภาพขาวดำจนสุดสายตา อากาศภายนอกรถยามนี้อุณหภูมิติดลบ 3 องศาเซลเซียส ความหนาวเย็นทำให้การเดินทางไม่รู้สึกเหนื่อย และผมได้เดินทางถึงเมืองชาลซ์บูร์กในช่วงบ่ายของวัน
ชาลซ์บูร์กเป็นอีกเมืองหนึ่งที่ความเงียบสงบ ว่ากันว่าผู้คนในเมืองนี้ชื่นชอบเสียงดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ ผมจึงไม่รู้สึกแปลกใจเลยว่า ณ ที่แห่งนี้จะเป็นที่ให้กำเนิด วอล์ฟกัง อามาเดอุส โมซาร์ท ในเมืองนี้ดารดาษไปด้วยสถาปัตยกรรมแบบบาโรก ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 17 คล้ายกับสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในประเทศอิตาลี อันมีลักษณะบ่งบอกถึงความโอ่อ่าและความยิ่งใหญ่ของศาสนาคริสต์ โดยจะเน้นเรื่องแสงเงา สี และคุณค่าของประติมากรรม ตัวเมืองชาลซ์บูร์กตั้งอยู่ริมแม่น้ำชาลซักค์ โดยมีเทือกเขาแอลป์เป็นฉากหลังจุดชมวิวที่สวยที่สุดของเมืองนี้ต้องขึ้นไปชมกันที่ระเบียงพิพิธภัณฑ์บนยอดเขามองช์เบิร์ก เป็นภูเขาที่ล้อมรอบเขตเมืองเก่าเอาไว้
เมื่อเดินทางมาถึงเมืองชาลซ์บูร์กสิ่งที่ต้องแวะไปเที่ยวชมคือ อนุสาวรีย์ของท่านโมซาร์ท ซึ่งตั้งอยู่ในสวนสาธารณะที่งดงามกลางเมือง ที่นี่เป็นทั้งจุดท่องเที่ยวและสวนพักผ่อนหย่อนใจของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองแห่งเสียงดนตรีนี้ ภาพของอนุสาวรีย์ท่านโมซาร์ทในอริยบทที่กำลังยืนสีไวโอลินอย่างมีความสุข
วอล์ฟกัง อามาเดอุส โมซาร์ท มีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1756 – 1791 คือในช่วงประมาณ 200 ปีมาแล้ว เป็นบุตรของเลโอโปลด์ โมซาร์ท นักประพันธ์ดนตรีชาวเยอรมัน โมซาร์ทได้แสดงอัจฉริยภาพทางการดนตรีออกมาตั้งแต่ตอนที่มีอายุเพียง 3 ปี เขาเป็นผู้ที่มีทักษะการฟังที่ยอดเยี่ยมและความจำที่แม่นยำ ทั้งยังสามารถแกะโน้ตจากบทเพลงที่ได้ยินและเล่นซ้ำได้อย่างถูกต้องตั้งแต่ที่เขายังไม่สามารถอ่านเขียนได้ ในช่วงอายุได้ 20 ปี โมซาร์ทได้ออกเดินทางไปทำการแสดงและทำงานทางด้านการดนตรีไปทั่วยุโรป แต่ทว่าชีวิตของโมซาร์ทมักพบปัญหาทางด้านการเงินและปัญหาทางด้านสุขภาพ โดยเงินที่เขาหามาได้นั้นได้หมดไปกับการใช้ชีวิตที่หรูหรา บั้นปลายก่อนเสียชีวิตโมซาร์ทได้ใช้ชีวิตอยู่ที่อพาร์ตเมนท์แห่งหนึ่งในกรุงเวียนนา การเสียชีวิตของโมซาร์ทยังไม่มีข้อสรุปอย่างชัดเจน แต่เล่าสืบต่อกันมาว่าเขาเสียชีวิตในช่วงต้นเดือนธันวาคมของปี ค.ศ.1791 เขาตายโดยที่ไม่เหลือเงินอยู่เลย และศพของเขาถูกฝังรวมอยู่กับหลุมศพของคนอนาถา ร่างของเขาถูกฝั่งอย่างเร่งรีบเนื่องจากเวลานั้นมีพายุเข้ามา แต่ข้อเท็จจริงนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปอย่างชัดเจนเนื่องจากไม่มีหลักฐานใดๆ ที่สามารถนำมายืนยันได้
ผมยืนมองอนุสาวรีย์ของอัจฉริยะคีตดนตรีเอกของโลกด้วยใจที่สลดหดหู่และรู้สึกสงสาร ดนตรีคือเสียงแห่งความสุขทุกคนทุกชาติทุกศาสนาล้วนปรารถนา ชีวิตหนึ่งที่เกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้เพื่อให้ความสุขแก่คนทุกระดับชั้น ตลอดชีวิตของเขามีแต่เสียงดนตรี จวบจนวาระสุดท้ายที่มาถึงวันที่เขาต้องจากไปอย่างเงียบๆ เพียงคนเดียว เขาก็ยังจรดปลายปากกาเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกออกมาเป็นบทประพันธ์ แต่เขาก็ไม่ทันได้ถ่ายทอดมาถึงตัวโน้ตตัวสุดท้าย..หรือว่าเขาเจตนาให้มัน จบ อยู่เพียงแค่นั้นเหมือนดังกับชีวิตของเขา...ใครจะรู้
อัลบั้มภาพ 10 ภาพ