นั่งไทม์แมชีนสำรวจ “อุทัยธานี” เมืองดึกดำบรรพ์ที่ยังมีชีวิต
อุทัยธานีเป็นหนึ่งในจังหวัดน่าเที่ยวที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก ขับรถยังไม่ทันจะเหนื่อยก็ถึงซะแล้ว ทั้งยังเป็นจังหวัดเล็กๆ ที่เปี่ยมเสน่ห์ ด้วยชุมชนริมลุ่มน้ำสะแกกรังที่ยังใช้ชีวิตตามวิถีดั้งเดิมแบบสโลว์ไลฟ์ตามธรรมชาติ ใครอยากไปชาร์จพลังให้กับชีวิตในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ อุทัยธานีพร้อมที่จะมอบแรงบันดาลใจนั้นแด่คุณ
มากไปกว่าการใช้ชีวิตแช่มช้าตามจังหวะเมืองอุทัย ในหลายๆ พื้นที่ของที่นี่ยังอัดแน่นไปด้วยประวัติศาสตร์ที่น่าค้นหา ตั้งแต่ป่าดึกดำบรรพ์ไปจนถึงพระอุโบสถที่งดงามที่สุดในประเทศไทย ถ้าพร้อมแล้วก็ขึ้นไทม์แมชีนร่วมย้อนรอยจังหวัดอุทัยไปพร้อมกันเลย
จุดหมายแรกขับรถมุ่งหน้าบ้านสะนำ แห่งอำเภอบ้านไร่ เพื่อไปทักทายต้นไม้ยักษ์อายุกว่า 400 ปี! ที่ยังคงยืนต้นตระหง่านท่ามกลางป่าหมากที่แวดล้อมอยู่โดยรอบ ซึ่งพื้นที่ในบริเวณนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ ป่าหมากล้านต้น และเป็นป่าหมากผืนใหญ่ที่สุดยังคงหลงเหลือไว้ให้เราได้ไปศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติแบบดั้งเดิมของเมืองอุทัยธานี
ต้นไม้ยักษ์ต้นนี้คือ ต้นเซียง หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า ต้นผึ้ง เนื่องจากมีผึ้งทำรังอยู่นับร้อยรัง เป็นต้นไม้ที่มีพูพอนสำหรับค่ำยันลำต้นขนาดใหญ่ วัดเส้นรอบวงได้ถึง 97 เมตร หรือประมาณ 40 คนโอบ ในอดีตมีต้นเซียงขึ้นอยู่มากมาย แต่แน่นอนว่าเมื่อกาลเวลาหมุนไปข้างหน้า ไม้ใหญ่ก็ค่อยๆ หายไปจากป่าทีละน้อย เหลือเพียงต้นเซียงยักษ์ต้นนี้ยืนต้นเด่นเป็นสง่าอยู่กลางชุมชนเพียงต้นเดียว ชาวบ้านจึงให้ความเคารพนับถือไม้ใหญ่ต้นนี้ เช่นเดียวกับคนต่างถิ่นที่แวะเวียนมาถ่ายรูปมรดกของผืนดินต้นนี้อยู่ไม่ขาดสาย
การเดินทาง: ออกจากตัวเมืองอุทัย ใช้เส้นทางหมายเลข 333 จนถึงสามแยกด่านช้าง ระยะทาง 71 กม. จากนั้นตรงไปเข้าถนนหมายเลข 3011 มุ่งหน้าอำเภอบ้านไร่ ผ่านตัวอำเภอไปอีก 9 กม. ก็จะถึงทางเข้าชมต้นไม้ยักษ์
อุ่นเครื่องด้วยต้นไม้อายุ 4 ศตวรรษเป็นที่เรียบร้อย ก็พร้อมแล้วกับการมุ่งหน้าเข้าสู่ป่าดึกดำบรรพ์ภายใน ถ้ำหุบป่าตาด โถงถ้ำขนาดใหญ่ที่ภายในซ่อนความอลังการของผืนป่าที่เต็มไปด้วยต้นตาดและพืชพันธุ์โบราณแปลกตาเอาไว้
ถ้ำแห่งนี้ถูกค้นพบโดยพระครูสันติธรรมโกศล (หลวงพ่อทองหยด) เจ้าอาวาสวัดถ้ำทอง เมื่อ พ.ศ. 2522 โดยในครั้งนั้นพระครูได้ปีนลงไปในหุบเขาแห่งนี้ แล้วพบว่ามีต้นตาดขึ้นอย่างหนาแน่น ซึ่งต้นตาดนั้นจัดเป็นไม้ดึกดำบรรพ์ตระกูลเดียวกับปาล์ม ต่อมาใน พ.ศ. 2527 ท่านพระครูจึงได้เจาะถ้ำเพื่อเป็นทางเข้าไปสู่หุบป่าตาด โดยปัจจุบัน อยู่ในความดูแลของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน และถือเป็นพื้นที่อนุรักษ์ เนื่องจากมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่แปลกตาด้วยพันธุ์ไม้หายากมากมายหลายชนิด เช่น เต่าร้าง เปล้า คัดค้าวเล็ก ขนุนดิน เป็นต้น
สำหรับการเดินชมธรรมชาติภายในถ้ำหุบป่าตาดนั้นสามารถเดินเองได้สบายๆ เพราะเส้นทางเดินที่ชัดเจน เดินง่าย ไม่มีหลง ระยะทางไป-กลับประมาณ 700 เมตร ใช้เวลาครึ่งชั่วโมงก็เก็บรายละเอียดได้ครบ แต่ถ้าจะให้สนุกกว่านั้น ควรใช้บริการมัคคุเทศก์น้อยที่คอยส่งเสียงเจื้อยแจ้วทักทายอยู่หน้าปากถ้ำ เด็กๆ เจ้าถิ่นเหล่านี้มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยสนุกๆ มาช่วยทำให้การศึกษาป่าดึกดำบรรพ์สนุกขึ้นแน่นอน
แนะนำว่า ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการมาเที่ยวหุบป่าตาดคือ ตั้งแต่ 11 โมงไปจนถึงบ่ายโมง ซึ่งเป็นช่วงที่แสงส่องลงมายังหุบป่าตาด ทำให้เห็นประกายของหินแวววับในโพรงถ้ำสวยงามมาก
การเดินทาง: จากตัวจังหวัดอุทัยธานี ใช้ทางหลวงหมายเลข 333 (อุทัยธานี-หนองฉาง) และเข้าทางหลวงหมายเลข 3438 (หนองฉาง-ลานสัก) ไปอีกประมาณ 90 กม. ก็จะถึงจุดหมาย หุบป่าตาดอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน ค่าบริการเข้าชม ชาวไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท
ถ้ายังติดใจบรรยากาศแบบถ้ำๆ ป่าๆ ต้องไปย้ำบรรยากาศในยุคก่อนประวัติศาสตร์กันที่ ภาพเขียนสีเขาปลาร้า ที่อำเภอลานสัก ภาพเขียนสีเหล่านี้มีอยู่ประมาณ 40 ภาพ เขียนไว้บนเพิงหินของถ้ำประทุนบนไหล่เขา มีทั้งภาพคน หมา วัวกระทิง กวาง ไก่ เต่า กบ ทั้งหมดเขียนด้วยสีแดง สีแดงเข้ม บางส่วนลากเส้นสีดำเหมือนจะร่างภาพไว้ คาดการณ์ว่าภาพเขียนในยุคก่อนประวัติศาสตร์เหล่านี้มีอายุประมาณ 5,000-3,000 ปี แสดงให้เห็นถึงสภาพชีวิตการรวมกลุ่มเป็นสังคมของมนุษย์ยุคโบราณ ถือเป็นภาพเขียนสีที่มีความประณีตเหมือนจริงกว่าที่พบในแหล่งอื่นๆ
การเที่ยวชมต้องเดินทางขึ้นเขาโดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียด โทร. 084-819-7855 หรือ 089-270-7412
เรายังคงวนเวียนอยู่ในถ้ำกันต่อ แต่เปลี่ยนบรรยากาศมาเป็นที่ วัดถ้ำเขาวง วัดไม้เก่าแก่ที่อยู่ในวงล้อมของภูเขาหินปูน มองจากไกลๆ นึกว่าเป็นรีสอร์ท เพราะบรรยากาศต่างจากวัดทั่วไปที่เราคุ้นเคย ตัววัดเป็นสถาปัตยกรรมเรือนไทย 4 ชั้น ใต้ถุนดัดแปลงเป็นลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 เป็นวิหาร ที่มีรอยพระพุทธบาทจำลองให้พุทธศาสนิกชนได้ไปสักการะบูชา
ส่วนชั้น 3 เป็นหออริยบูชาไว้สำหรับปฏิบัติธรรม และพระอุโบสถจะอยู่ที่ชั้น 4 ด้วยความที่อยู่ชั้นบนสุดจึงทำให้มองเห็นวิวสวยๆ โดยรอบ พร้อมสูดอากาศบริสุทธิ์ได้อย่างเต็มปอด เนื่องจากแวดล้อมด้วยป่าเขานั่นเอง
แต่ถ้าใครอยากไปต่อ ก็มีถ้ำให้เดินขึ้นไปสำรวจอีกแล้ว ที่ถ้ำแห่งนี้มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เหมาะอย่างยิ่งแก่การปฏิบัติธรรมแสวงหาความสงบในจิตใจ
การเดินทาง: จากจังหวัดอุทัยธานีไปตามถนนสาย 333 ตามป้ายอำเภอหนองขาหย่าง อำเภอหนองฉาง จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าถนนสาย 3438 ตามป้ายไปอำเภอลานสัก
กลับเข้าตัวเมืองอุทัยธานี มาทำความรู้จักประวัติศาสตร์ในเมืองกันบ้าง เริ่มต้นที่ วัดโบสถ์ หรือ วัดอุโบสถาราม วัดเก่าแก่ริมลำน้ำสะแกกรังในเขตเทศบาลเมือง ที่โดดเด่นด้วยอาคารสถาปัตยกรรมเก่าแก่หลายหลัง ทั้งมณฑปแปดเหลี่ยม ที่มีบันไดวนอยู่ด้านนอกอาคาร ซุ้มหน้าต่างเป็นวงโค้งแบบอาคารในยุคอาณานิคม จึงมีลักษณะผสมแบบตะวันตก งดงามด้วยลายปูนปั้นคล้ายไม้เลื้อยที่กรอบหน้าต่าง และมีพระพุทธรูปปูนสลักนูนสูง อยู่ที่ด้านนอกของอาคาร
นอกจากนี้ ยังมีเจดีย์หกเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองทรงรัตนโกสินทร์ หอประชุมอุทัยพุทธสภา ซึ่งเป็นหอสวดมนต์ศาลาทรงไทย หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้น และแพโบสถ์น้ำซึ่งใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนาต่างๆ ทั้งงานบวช งานศพ ฯลฯ
สำหรับคนที่รักศิลปะต้องพึงใจเป็นอย่างมาก กับจิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์และวิหาร ซึ่งเป็นภาพเขียนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในโบสถ์เป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติเริ่มตั้งแต่ประสูติจนถึงปรินิพพาน ส่วนในวิหารเขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดเทพยดาบนสวรรค์และภาพปลงสังขาร ด้านบนฝาผนังเป็นพระสงฆ์สาวกชุมนุม สลับกับพัดยศราวกับกำลังไหว้พระประธานในวิหาร ฝาผนังด้านนอกหน้าวิหารมีภาพถวายพระเพลิงศพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงถือเป็นตำราประวัติศาสตร์ชั้นดีที่ใครก็ไปเยี่ยมชมได้
การเดินทาง: วัดโบสถ์ตั้งอยู่ริมน้ำสะแกกรัง ฝั่งเกาะเทโพ ตรงข้ามตลาดสดเทศบาล
ใกล้กับวัดโบสถ์มีสะพานข้ามแม่น้ำสะแกกรังข้ามไปยังฝั่งตรงข้าม จนถึงตลาดสดเทศบาล และชุมชนของชาวเมืองอุทัยธานี จึงเหมาะแก่การเดินเล่นชิลๆ สำรวจบ้านเมืองที่ยังคงความดั้งเดิมเอาไว้อย่างดีเยี่ยม ใครแวะไปตลาดตอนเช้าอย่าลืมแวะ ร้านป้าทอง กาแฟโบราณ ร้านกาแฟระดับตำนานประจำเมืองอุทัย ที่เปิดมานานกว่า 40 ปี จำหน่ายเมนูโอเลี้ยง กาแฟ และไข่ลวก สูตรโบราณที่หากินไม่ได้ง่ายๆ
ที่ตั้ง: 276/12 ถ.ท่าช้าง ต.ท่าช้าง อ.เมือง จ.อุทัยธานี โทร 056-512-375 เปิดบริการเวลา 8.00 – 20.30 น.
อิ่มแล้วเดินทางกันต่อไปที่ วัดท่าซุง วัดเก่าแก่ประจำจังหวัด ที่เริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อพระราชมหาวีระ ถาวาโร (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) พระเถระที่มีชื่อเสียง ได้สร้างอาคารต่างๆ เพิ่ม เช่น พระอุโบสถใหม่ที่ภายในประดับตกแต่งอย่างวิจิตรงดงาม บานหน้าต่างและประตูด้านในเขียนภาพเทวดาโดยจิตรกรฝีมือดี บริเวณโดยรอบสร้างกำแพงแก้ว มีรูปหล่อหลวงพ่อปาน และหลวงพ่อใหญ่ขนาด 3 เท่าอยู่มุมกำแพงด้านหน้ามณฑป
ไฮไลท์ที่ทุกคนต้องไปเยือนก็คือ วิหารแก้ว 100 เมตร วิหารสำคัญที่หลวงพ่อฤๅษีลิงดำสร้างไว้ก่อนมรณะภาพ ทั้งยังเป็นสถานที่รักษาสังขารร่างของหลวงพ่อที่ไม่เน่าเปื่อยในโลงแก้วอีกด้วย ภายในประดับด้วยโมเสกสีขาวใสราวกับแก้ววาววับ ยิ่งขับให้องค์พระพุทธรูปจำลองพระพุทธชินราช ซึ่งเป็นพระประทานในวิหาร ยิ่งงดงามและโดดเด่นยิ่งขึ้น วิหารแก้วเปิดให้ชมเป็นช่วงเวลา คือ ช่วงเช้าเวลา 9.00-11.45 น .และช่วงบ่ายเวลา 14.00-16.00 น.
นอกจากนี้ ภายในวัดท่าซุงยังมีจุดแวะชมอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น มณฑปพระปัจเจกพระพุทธเจ้า พระศรีอาริเมตตรัย วิหารสมเด็จองค์ปฐม หอพระไตรปิฏก ฯลฯ ควรเผื่อเวลาในการมาเยือนวัดนี้นานๆ
การเดินทาง: วิ่งตรงตามถนนเข้าเมืองมาจนสุดทาง จะเจอสามแยกมีป้ายแหล่งท่องเที่ยวที่ชี้บอกทางไปวัดท่าซุง เลี้ยวซ้ายตามทางหลวงสาย 3265 ถึงแยกไฟแดง เลี้ยวขวาตามป้ายอำเภอมโนรมย์
ก่อนเดินทางกลับอย่าลืมแวะกินปลาแรดทอดกระเทียม ของดีประจำลุ่มน้ำสะแกกรัง ซึ่งร้านอาหารส่วนมากในเมืองอุทัยมีเมนูนี้พร้อมเสิร์ฟอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้แนะนำ ก็ต้องไปที่ ร้านตุ๋ยปลาแรด แค่ชื่อก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าโดดเด่นในเรื่องความสดของปลาแรดขนาดไหน ส่วนปลาอื่นๆ ของที่นี่ก็สดจากแม่น้ำไม่แพ้กัน สั่งปลากะพงสองน้ำมากินอีกสักจาน จะได้เข้าถึงรสชาติของดีประจำอุทัยธานีอย่างแท้จริง
การเดินทาง: จากตัวเมืองอุทัยธานี เข้าถนนท่าช้าง ระหว่างทางจะผ่านสี่แยกไฟแดงท่าช้าง ให้เลี้ยวซ้ายประมาณ 300 เมตร จะเห็นร้านอาหารตุ๋ยปลาแรดอยู่ทางด้านซ้ายมือ โทร 056-512-375
ที่จริงแล้วเมืองอุทัยธานียังมีสถานที่ท่องเที่ยวดีๆ รอให้คุณไปทำความรู้จักอีกเพียบ อย่างผืนป่าห้วยขาแข้งเองก็น่าสนใจไม่น้อย ส่วนจะเที่ยวตามรอบเส้นทางดึกดำบรรพ์ของเราก่อน แล้วค่อยไปต่อก็น่าสนุกดีไปอีกแบบ
(Advertorial)