เข้าป่า เดินสตรีท กินฟู้ดอะไรดี ที่อุตรดิตถ์

เข้าป่า เดินสตรีท กินฟู้ดอะไรดี ที่อุตรดิตถ์

เข้าป่า เดินสตรีท กินฟู้ดอะไรดี ที่อุตรดิตถ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ใครว่าอุตรดิตถ์เป็นแค่เมืองรองหรือเมืองทางผ่าน เราขอเถียงขาดใจ เพราะเท่าที่สัมผัสมาด้วยตัวเอง บอกเลยว่าอุตรดิตถ์เป็นเมืองที่มีอะไรน่าค้นหาเยอะมาก ตั้งแต่อาหารสตรีทฟู้ดในตัวเมือง วัดวาอารามเก่าแก่ และยอดดอยสูงเสียดฟ้า ไม่เชื่อลองไปอุตรดิตถ์แบบไม่ซ้ำฤดูสิ แล้วจะรู้ว่าที่นี่มีเสน่ห์ตลอดทั้งปี

เริ่มต้นทำความรู้จักมุมมองใหม่ๆ กันตั้งแต่ในตัวเมืองอุตรดิตถ์ก่อนเลย เมื่อศิลปินท้องถิ่นพากันวาดภาพบนผืนกำแพงอาคารเก่าแก่ในตลาดคลองโพธิ์ จนเกิดเป็นสีสันของสตรีทอาร์ตใหม่ๆ ให้นักท่องเที่ยวสายฮิปสเตอร์เดินถ่ายภาพกราฟฟิตี้ท้องถิ่นสวยๆ กันอย่างเพลิดเพลิน

จากนั้นไปต่อกันที่ “ถนนคนกิน” ซึ่งตั้งอยู่บนถนนราษฎร์อุทิศ ในอำเภอลับแล ซึ่งก็อยู่ไม่ไกลจากอำเภอเมือง ถนนสายนี้เรียงรายไปด้วยร้านอาหารเจ้าเด็ดประจำถิ่น เริ่มต้นด้วยสารพันของทอดแห่ง ร้านเจ๊นีย์ของทอดลับแล ที่ขายแต่ของทอดอย่างเดียวมานานกว่า 30 ปี มีทั้งเผือกทอด หน่อไม้ทอด เต้าหู้ เกี๊ยวหมู ขนมปังทอด ผักทอด ข้าวโพดทอด และกุ้งแม่น้ำทอด เหตุผลที่เจ๊นีย์มั่นใจว่าฉันจะขายแต่ของทอดอย่างเดียว ก็เพราะเจ๊ทอดทุกอย่างออกมาได้หอมอร่อย กรอบนอก นุ่มใน แถมยังมีน้ำจิ้มสูตรเด็ดที่ผ่านการเคี่ยวจนเหนียว หอมหวานเจือรสเผ็ด โรยถั่วกรุบกรอบ สมกับเป็นผู้เชี่ยวชาญงานทอดตัวจริง

ก้าวเท้าออกเดินต่อไปยัง ร้านหมี่พันป้าหว่าง ปากซอยราษฎร์อุทิศ 5 ที่หยิบเอาอาหารพื้นถิ่นของคนลับแลอย่างข้าวแคบมาปรับโฉมเสียใหม่ ซึ่งข้าวแคบแบบออริจินัลนั้นทำมาจากแผ่นแป้งข้าวเจ้าหมักปรุงรสตามสูตรของชาวบ้าน แล้วนำไปละเลงแบบข้าวเกรียบปากหม้อ จนแป้งสุกได้ที่ จึงแซะออกเป็นแผ่นกลมๆ จากนั้นนำไปตากแดดจนแห้ง นำมาโรยงานบ้าง ใส่พริก ผสมใบเตย หรือใช้อัญชันแต่งสีบ้าง เวลาจะกินก็ฉีกกินได้เลย เพราะมีความอร่อยในตัวเนื้อแป้งอยู่แล้ว

ส่วนข้าวแคบห่อเส้นหมี่ของป้าหว่างนั้นปรุงรสด้วยคะน้าลวก ถั่วงอก กากหมู กระเทียมเจียว น้ำตาล น้ำส้ม และพริกป่น ผสมกันจนรสชาติออกนวลๆ กินเป็นของว่างก็ได้ หรือจะกินให้อิ่มท้องก็ดี ถ้าอิ่มจากร้านป้าหว่างแล้วอยากลองชิมข้าวแคบรสมืออื่นกันต่อก็ย่อมได้ เพราะบนถนนสายนี้มีร้านขายข้าวแคบอยู่ติดๆ กันหลายร้าน จนถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ถนนข้าวแคบ

ข้ามถนนไปแวะ ร้านข้าวพันผักพื้นบ้านลับแล ในซอยยางกะได หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ร้านใต้ถุน เพราะเปิดครัวขายข้าวพันผักกันตรงใต้ถุนบ้านนั่นแหละ ข้าวพันผักมีกรรมวิธีเริ่มต้นเหมือนข้าวแคบ แต่เมื่อแป้งสุกบนผ้าขาวบางที่ขึงบนปากหม้อ ก็ใส่ผักนานาชนิดลงไป จากนั้น ปิดฝาอบต่อสักพัก แล้วจึงตลบแผ่นแป้งขึ้นพับเป็นสี่เหลี่ยม โรยด้วยกระเทียมเจียว เสิร์ฟพร้อมกับน้ำจิ้มซีอิ๊วปรุงรสเค็มหวานเปรี้ยว หรือจะปรุงรสด้วยซอสพริกทางร้านก็มีตั้งไว้บนโต๊ะ นอกจากนี้ ยังมีไข่ม้วนไส้ต่างๆ ให้เลือกชิมตามชอบใจ

อีกหนึ่งไฮไลท์ขของคนรักผลไม้ ห้ามพลาด ตลาดผลไม้หัวดง ที่คึกคักมากในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เพราะบรรดาพ่อค้าแม่ขาย รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างถิ่นพากันดั้นด้นไปกินทุเรียนหลงลับแล หลินลับแล ลางสาด และลองกอง สมกับฉายาของที่นี่ว่าเป็น “ภูเขากินได้”

โดยเฉพาะทุเรียนหลงลับแล ที่ถือเป็นผลไม้ขึ้นชื่อประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่คอทุเรียนยกให้เป็นทุเรียนที่อร่อยที่สุด ด้วยมีรสชาติหอมหวาน ไม่มีกลิ่นเหม็น เม็ดลีบ เนื้อทุเรียนนิ่ม เหนียว และเสน่ห์อยู่ตรงความที่หากินได้ยากนี่แหละ หลงลับแลจะออกสู่ตลาดปีละครั้ง ระหว่างเดือน มิ.ย.-ส.ค.เท่านั้น ยิ่งปีไหนแล้งผิดปกติ ทำให้ผลผลิตมีไม่เพียงพอกับความต้องการ ราคาของทุเรียนหลงลับแลสามารถขยับขึ้นไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 500 บาท ได้ทันที แถมยังต้องจองกันข้ามปีอีกต่างหาก

อิ่มเปรมกันเป็นที่เรียบร้อย ค่อยไปออกแรงกันต่อด้วยกิจกรรมเดินเขาขึ้นไปสอยดาวกันก่อนเลย แน่นอนว่าจุดหมายของเราก็คือ ภูสอยดาว อุทยานแห่งชาติที่มียอดสูงเป็นอันดับ 4 ของประเทศ โดยยอดสูงสุดของภูสอยดาวสูงจากระดับน้ำทะเล 2,102 เมตร ตลอดเส้นทางที่เราค่อยๆ ไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จึงเห็นความเปลี่ยนแปลงของป่าไปทีละน้อย

การเดินทางไปเที่ยวลานสนสามใบภูสอยดาว ต้องเดินทางเท้าจากน้ำตกภูสอยดาวขึ้นสู่ยอดภูสอยดาว ระยะทางประมาณ 6.5 กิโลเมตร ความโหดระดับที่ต้องใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 4-6 ชั่วโมง ผ่านเนินต่างๆ ที่ชื่อชวนท้อแท้ ไม่ว่าจะเป็นเนินส่งญาติ เนินปราบเซียน เนินป่าก่อ เนินเสือโคร่ง และเนินมรณะ ซึ่งเป็นเนินสุดท้ายที่ลาดชันที่สุด แต่ในเมื่อเรารู้อยู่แล้วว่ามีความงามของธรรมชาติรออยู่ข้างหน้า ต่อให้เส้นทางจะโหดแค่ไหนก็ต้องฝ่าฟันไปให้ได้!

ไฮไลท์ของภูสอยดาวอยู่ที่ ลานสนสามใบภูสอยดาวและทุ่งดอกไม้ในป่าสน ซึ่งกินพื้นที่ประมาณ 1,000 กว่าไร่ สภาพพื้นที่ของลานสนสามใบจะเป็นเนินสูงต่ำสลับกันไป ถ้าไปช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายนของทุกปี ก็จะได้อิ่มเอมหัวใจไปกับทุ่งดอกไม้ดินที่ชูช่อแย่งกันออกดอกเป็นกลุ่มหนาแน่น มีทั้งดอกหงอนนาค ดอกสร้อยสุวรรณา และดอกหญ้ารากหอม ส่วนถ้าไปในฤดูหนาวก็จะมีดอกกระดุมเงิน กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ และต้นเมเปิลเปลี่ยนเป็นสีแดงสวยเป็นของกำนัลสายตา

เมื่อพิชิตยอดเขาสำเร็จ ก็เตรียมสัมผัสอากาศหนาว นั่งผิงไฟ มองดูดาวพร้อมหน้ากันได้ที่ลานกางเต็นท์ ที่ทางอุทยานฯ มีไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว ติดต่อที่พัก อาหาร เต็นท์ และลูกหาบล่วงหน้าก่อน 3-4 วัน ในเวลาทำการ (8.00 น.- 16.30 น.) ได้ที่โทร 055-436-793, 055-436-001 และ 055-436-002  
การเดินทาง: จากจังหวัดพิษณุโลก ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 แล้วแยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1246 ถึงบ้านแพะแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 1143 ผ่านอำเภอชาติตระการ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 1237 ผ่านบ้านบ่อภาคไปบรรจบกับเส้นทางแผ่นดินหมายเลข 1268 ถึงน้ำตกภูสอยดาว อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว รวมระยะทางประมาณ 188 กิโลเมตร

ส่วนใครที่ไม่ใช่สายเดินป่า แต่ก็อยากใกล้ชิดธรรมชาติพอประมาณ แนะนำให้ไปชิลกันได้ที่ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งที่บริเวณเหนือเขื่อนมีทะเลสาบขนาดใหญ่ชื่อ ทะเลสาบสุริยันจันทรา คอยท่าให้คุณไปสัมผัสอากาศเย็นๆ และสายหมอก เมื่อน้ำและป่ามาเจอกัน อีกทั้งที่นี่ยังเต็มไปด้วยดอกไม้นานาพันธุ์ที่พร้อมใจจกันออกดอกสะพรั่งไม่แพ้บนยอดดอยเลย
การเดินทาง: จากตัวเมืองอุตรดิตถ์เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1045 อีกประมาณ 50 กม.

ไปบ้านไหนเมืองไหน เราก็ต้องไปไหว้พระประจำท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล และสำหรับอุตรดิตถ์ก็ต้องเป็นที่ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ตั้งอยู่ในตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล ไม่ไกลจากตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ วัดแห่งนี้เป็นวัดสำคัญประจำเมืองทุ่งยั้ง ซึ่งถือเป็นเมืองที่มีผู้คนอาศัยติดต่อกันมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยก่อนการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย

ภายในวัดมีสถานที่สำคัญๆ อย่าง เจดีย์พระบรมธาตุ หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า พระบรมธาตุทุ่งยั้ง เจดีย์เก่าแก่แบบลังกาทรงกลมฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม 3 ชั้น ฐานล่างมีเจดีย์องค์เล็กๆ เป็นบริวารอยู่ 4 มุม ฐานชั้นที่ 3 มีซุ้มคูหา 4 ด้าน สันนิษฐานว่าได้บูรณะขึ้นภายหลัง เชื่อกันว่าบรรจุพระพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่เรียกว่า อุรังคธาตุ คืออัฐิส่วนหน้าอก

นอกจากนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปปางปรินิพพาน ตั้งอยู่ด้านข้างของพระวิหารหลวง ซึ่งตามปกติแล้วการสร้างพระพุทธรูปปางนี้มักจะสร้างเฉพาะองค์พระพุทธรูป แต่สำหรับที่นี่ยังสร้างเหล่าสาวกที่มาชุมนุมกันในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานอีกด้วย
การเดินทาง: ตั้งอยู่ที่หมู่ 3 บ้านทุ่งยั้ง ตำบลทุ่งยั้ง จากตัวเมืออุตรดิตถ์ไปตามทางหลวงหมายเลข 102 ประมาณ 3 กม. จะมองเห็นวัดอยู่ทางซ้ายมือ

ปิดท้ายด้วยการไปนมัสการ หลวงพ่ออกแตก แห่งวัดบ้านแก่งใต้ ที่มีความโดดเด่นอยู่ตรงองค์พระประธานชื่อ หลวงพ่อเพชร หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า หลวงพ่ออกแตก เนื่องจากพระประธานองค์เดิมที่ทำจากศิลาแลงผุกร่อนลงมาก ทางวัดและชาวบ้านจึงลงความเห็นว่าควรสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาครอบองค์เดิมไว้ เพราะไม่มีสถานที่สร้างแห่งใหม่แล้ว แต่ในระหว่างนั้นเอง ช่างชาวพิจิตรผู้ทำหน้าที่บูรณะองค์พระได้พบรอยแตกพังทลายที่บริเวณหน้าอกขององค์พระประธาน มองเห็นใบหน้าและเศียรพระพุทธรูปองค์เดิมอยู่ด้านใน จึงคงสภาพนั้นไว้ และเป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้านเรื่อยมา
การเดินทาง: จากตัวเมืองอุตรดิตถ์ ใช้ถนนหมายเลข 1204 ไปจนถึง อ.ตรอน

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณคงอยากสตาร์ทรถแล้วรีบขับไปเที่ยวอุตรดิตถ์แล้วล่ะสิ บอกแล้วว่าจังหวัดนี้มีดีทุกฤดู ว่างเมื่อไรก็ไปเที่ยวได้ทุกเมื่อ

(Advertorial)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook