พิษณุโลก จากเส้นไหม สู่ไอหมอก

พิษณุโลก จากเส้นไหม สู่ไอหมอก

พิษณุโลก จากเส้นไหม สู่ไอหมอก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“พระพุทธชินราชงามเลิศ ถิ่นกำเนิดพระนเรศวร สองฝั่งน่านล้วนเรือนแพ หวานฉ่ำแท้กล้วยตาก ถ้ำและน้ำตกหลากตระการตา”

วันนี้นวลจะพาทุกคนออกเดินทางมุ่งหน้าไปยังจังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางบน ณ จังหวัดพิษณุโลก

โดยนวลจะขออาสาพาทุกคนออกเดินทางตามรอยเส้นไหม เรียนรู้ประวัติของชาวไทครั่ง ไททรงดำ รวมทั้งกลุ่มทอผ้าอีกหลายกลุ่มในจังหวัดพิษณุโลก

ก่อนออกเดินทางตามหาสายหมอกที่หมู่บ้านแห่งร่องเขานครชุม ดื่มด่ำกับอาหารพื้นบ้าน ก่อไฟไล่ความหนาวพร้อมๆกับปิ้งข้าวจี่และข้าวโพดเพื่อเพิ่มความอบอุ่น พอเช้าก็ออกเดินทางฝ่าความมืดเพื่อไต่ภูเขาไปนั่งเคล้ากับไอหมอก รอรับแสงแรกแห่งรุ่งอรุณบนหน้าผาโปกโล้น ที่ความสวยของวิว180องศาจะทำให้อะดีนะรีนในร่างกายโลดเต้นด้วยความสดชื่น

เตรียมสูดหายใจให้เต็มปอดแล้วออกเดินทางไปกับนวลนะครับ

dsc03545
dsc03615

นวลเริ่มต้นการเดินทางกันตั้งแต่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นเพื่อไปยังจุดหมายแรกที่พิพิธภัณฑ์ผ้า พิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมเรื่องราวของเส้นไหมจากชาวไทครั่ง ไททรงดำ และผ้าจิตรลดาไว้ที่อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี2541 โดยมีจุดประสงค์เพื่อสานต่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นถิ่นด้านผ้าทอที่นับวันจะเลือนหายไปตามกาลเวลา และเริ่มรวบรวมผ้า เพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์คงไว้ซึ่งภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยได้รับความโครงการ “ร้าน จิตรลดา” โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในสมเด็จพระสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และได้ทำการจัดแสดงผ้าฝ้าย และผลิตภัณฑ์จากโครงการ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

dsc03202

ภายใต้ตึกของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ดูธรรมดา นวลก้าวเข้าไปด้านในด้วยความตื่นเต้นตามประสาคนรักผ้า ที่ชั้นหนึ่งทุกอย่างยังดูเรียบง่าย มีผลิตภัณฑ์จากผ้าขายและงานฝีมือจากแหล่งต่างๆตั้งขายอยู่ แต่นี่ยังไม่ใช่เป้าหมายของเรา ที่ชั้นสองต่างหากที่เป็น บนชั้นสองพิพิธภัณฑ์จะถูกแบ่งเป็น3ห้องด้วยกัน

นวลกับเพื่อนเลยเริ่มต้นกันที่ห้องพิพิธภัณฑ์ผ้าไทครั่ง กลุ่มชนที่อพยพมาจากประเทศลาวในสมัยราชกาลที่ 3 เป็นกลุ่มชนที่วิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายล้วนมีความผูกพันกับผ้าเป็นอย่างมาก มาตั้งแต่สมัยอดีตและยังคงสืบสานวัฒนธรรมการทอผ้าจนถึงปัจจุบัน ภายในห้องนี้นวลได้เรียนรู้เรื่อราวของผ้า ลวดลาย สีสันต่างๆ อันเป็นต้นกำเนิดของชื่อไทครั่ง เพราะชนเผ่านี้มักใช้เส้นไหมสีครั่ง หรือสีแดงทับทิมเป็นหลักในการทักทอสิ่งต่างๆรอบตัว โดยชื่อสีครั่งนั้นมาจากต้นกำเนิดของสีแดงที่ได้มาจากรังของตัวครั่งที่นำมาบดเพื่อนำไปต้มให้ออกสีแดงแล้วนำมาทอผ้าเป็นของใช้ เครื่องนุ่งห่มต่างๆตั้งแต่เกิด จนถึงเชิงตะกอน ห้องไล่บรรยากาศตั้งแต่อู่ที่ผูกจากผ้าขาวม้า ผ้าซิ่น เครื่องแต่งกายของสาวๆหนุ่มๆที่มีสีสันสดใส มีผ้าซิ่นที่ปักเองโดยแบ่งเป็นหัวซิ่น ตัวซิ่นและตีนซิ่น ทุกชิ้นล้วนมีลวดลายที่ละเอียด สวยงาม เพราะสำหรับชนเผ่านี้การทอผ้าคือวิถีชีวิต จนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในชนเผ่าที่มีฝีมือ และเทคนิคการทอผ้าอยู่ในระดับสูงชนเผ่าหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นวิธีทอ จก ขิด ฯลฯ ชนเผ่านี้นำมาผสานกันได้อย่างเชี่ยวชาญ ถัดมาเราจะได้เจอเตียงของบ่าวสาวที่ประกอบด้วย หมอน ผ้าปูเตียง มุ้ง ผ้าหัวมุ้ง ของกำนันที่เจ้าสาวต้องทำให้กับพ่อแม่ของฝ่ายชาย ต่อไปอีกนิดเราจะเจอมุมที่เล่าเรื่องราวอันเกี่ยวกับชาวไทครั่งและพุทธศาสนา การปักผ้าด้วยลวดลายเลขาคณิตและสีธรรมชาติเล่าเรื่องราวรอบตัวถวายเป็นพุทธบูชา ก่อนไปจบที่มุมเสื้อผ้าของชาวเผ่าในวัยสูงอายุที่จะใช้สีเข้มมากขึ้น มีลวดลายน้อยลง แต่สะดวกกับการลุกนั่ง

เมื่อเดินครบรอบห้องนอกจากความรู้ที่เราได้มากขึ้น อีกสิ่งหนึ่งก็คือความตื่นตาตื่นใจที่ได้รู้ว่าชีวิตของคนเราสามารถผูกผันกับผ้าได้ขนาดถึงขนาดนี้ และเมื่อเราใส่จิตวิญญานลงไปในการกระทำของเราสิ่งธรรมดาๆก็กลายเป็นน่าอัศจรรย์ได้

dsc03201

ห้องถัดมาคือห้องพิพิธภัณฑ์ผ้าไททรงดำ หรือไทดำ ลาวซ่งดำ ลาวโซ่ง กลุ่มชนที่อพยพจากเวียดนามเข้าสู่ประเทศไทย ตั้งแต่สมัย กรุงธนบุรีจนถึงรัชกาลที่ 3 ภายในห้องนี้จะเป็นการรวบรวมเสื้อผ้าของไททรงดำรูปแบบต่างๆตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น เสื้อฮี, เสื้อก้อม, เสื้อไท, ผ้าซิ่นลายแตงโม, กางเกงขาสั้น, ผ้าเปียว (ผ้าสไบหรือผ้าเบี่ยง), หมวก รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ เช่น กระเป๋า, ย่าม, ที่นอน, หมอน, มุ้ง และภาชนะสารพัดชนิด เช่น กระแอบ, ขมุก, ปานเผือน, ปานเสน, ข้าไก่ไค่, ตะข้องอีเบ็ด, โฮ่, กะเหลบ  ห้องนี้เราชอบความเรียบง่าย ความธรรมดาในการใช้ชีวิตของไททรงดำและเรื่องราวผ่านผ้าสีหม่น

dsc03208

ห้องที่3 คือห้องพิพิธภัณฑ์ผ้าจิตรลดา ห้องนี้นวลได้ชื่นชมชุดฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ , ผ้ายกลายโบราณ ซึ่งโปรดให้โครงการศิลปาชีพอนุรักษ์ไว้ , ของที่ระลึกสำหรับข้าราชบริพาร , ของที่จัดทำในวาระ 72 พรรษามหาราช ,จัดแสดงผ้าไหมและผ้าฝ้ายจากร้านจิตรลดาโครงการผ้าจิตรลดา แต่สิ่งที่ทำให้นวลตื่นเต้นมากที่สุดคือชุดฉลองพระองค์ทั้ง6ชุด ที่แบ่งเป็น3ช่วง คือช่วงแรกที่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรงเริ่มนำผ้าไทยมาประยุกต์ให้ใส่ได้ง่ายขึ้นแต่ยังคงความเป็นไทย เช่นการมีจีบหน้านาง ช่วงถัดมา ชุดฉลองพระองค์เริ่มมีการประยุกต์ผ้าและลวดลายมากขึ้น เช่น การใช้ลวดลายที่ต่างจากเดิม การนำรูปแบบของโจงกระเบนมาประยุกต์ จนถึงยุคปัจจุบันที่ทรงโปรดผ้าแพรวาและพัฒนาผ้าแพรวาให้มีขนาดใหญ่มากขึ้นเพื่อนำมาใช้สวมใส่ได้ จนผ้าแพรวากลายเป็นผ้าที่มีคุณค่าและมีชื่อเสียงมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากผ้าแพรวาแล้วผ้าจากที่ต่างๆของไทยก็ยังได้รับการส่งเสริมภายใต้พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถจนสร้างชื่อเสียงให้กับผ้าไทยไปทั่วโลก และทำให้ชาวบ้านมีรายได้มีอาชีพเพิ่มมากขึ้นในทุกหัวระแหงของประเทศไทย นับเป็นวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลแต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นไทยได้อย่างสูง

ian_5421

ห้องสุดท้ายที่นวลเข้าชมคือห้องนิทรรศการหมุนเวียน ครั้งนี้เราได้เห็นผ้าแบบต่างๆจากหลายๆที่ ได้เรียนรู้รูปแบบของผ้าจากทางอีสาน ทางเหนือ เทคนิควิธีการทอ การขิด การจกที่มีความแตกต่างกันออกไป เราได้เห็นสีสันที่ต่างกัน ลายผ้าที่ต่างกัน วิธีที่ต่างกัน แต่ทุกชิ้นมันคือเรื่องราวที่เหมือนกัน เรื่องราวที่บอกเล่าถึงความเชื่อและวิถีชีวิตอันเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ เรื่องราวที่ถ่ายทอดจากลมหายใจสู่เส้นไหมที่ถักทอ

dsc03250

ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เมื่อดูเผินๆมันอาจจะดูเรียบเฉย ดูน่าเบื่อหน่ายสำหรับวัยรุ่นหลายๆคน แต่นวลอยากให้ทุกคนได้ลองเปิดใจเข้ามาแวะเยี่ยมชม เข้ามาเรียนรู้ มาฟังเรื่องราวของผืนผ้าแต่ละเส้นที่เดินทางจากความรัก ร้อยเรียงผ่านกี่ จนออกมาเป็นผ้าทอที่ทรงคุณค่า ที่นี่นวลได้เรียนรู้อีกอย่างว่าชีวิตของคนเราจริงๆก็เหมือนเส้นด้าย วันแต่ละวันผ่านไปเหมือนเส้นไหมที่วิ่งผ่านกระสวย ดีงามบ้าง ติดขัดบ้าง สดใสบ้าง หม่นหมองบ้าง แต่ไม่ว่ามันจะดีหรือแย่เราสามารถเรียนรู้เพื่อแก้ไข ทำซ้ำเพื่อฝึกฝน และตกแต่งชีวิตของเราให้ออกมาเป็นผืนผ้าที่เราภูมิใจด้วยตัวเราเอง

dsc03244

ian_5434

ออกจากพิพิธภัณฑ์ผ้า นวลจะตามรอยเส้นไหมไปดูเหล่าเส้นไหมที่ยังโลดแล่นผ่านกระสวยที่ชุมชนผารังหมี หมู่บ้านที่รายล้อมไปด้วยทิวเขากับวิถีชีวิตที่เคียงคู่กับธรรมชาติ

dsc03329

ตะวันตรงหัวและเสียงโวยวายจากช่องท้องเป็นสัญญานบอกให้นวลรู้ว่า ร่างกายนวลต้องการอาหารบ้านๆอย่างปลาร้าปลาป่น ผักสด แกงไก่ และข้าวสวยร้อนๆ

dsc03251

หลังจัดอาหารมื้อใหญ่ไปจนจุกๆ นวลก็เดินตามเสียงกี่ทอผ้าที่กระทบกันไปเรื่อยๆและได้พูดคุยกับกลุ่มคุณป้ายอดนักทอแห่งบ้านผารังหมี แม้จะอยู่ในวัยที่ผมขาวมากกว่าผมดำกันแล้วแต่ทุกคนก็ยังสามารถทอผ้าออกมาได้สวยหมดจด

dsc03277

โดยลวดลายประจำของที่นี่คือลายมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง และช่อมะปรางผลไม้และดอกไม้ประจำอำเภอเนินมะปราง

dsc03315
ian_5487

นอกจากผ้าทอแล้วที่นี่ก็ยังมีการทอเสื่อจากกกราชินีที่มีความเหนียว ทนทาน เรียกว่าซื้อหนเดียวใช้งานได้นานปี จนนวลอดใจไม่ไหวต้องซื้อเสื่อลายพี่ติ๊กกลับมาบ้านด้วยหนึ่งผืน ที่ได้ชื่อว่าเสื่อลายติ๊ก ก็เพราะลายนี้พี่ติ๊กได้ซื้อเป็นคนแรกตอนมาถ่ายรายการ ชาวบ้านจึงเรียกติดปากว่าลายติ๊ก และนวลก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมระดับพระเอกแถวหน้ายังเลือกเสื่อลายนี้ ก็เพราะมันมีความโมเดิร์น เก๋ไก๋ เหมาะกับคนรุ่นใหม่เอาไว้แต่งบ้าน นั่งดูหมอลำเป็นอย่างมากจริงๆ

dsc03282
ian_5514

จากผารังหมีนวลขับรถมุ่งหน้าสู่อำเภอนครไทยเพื่อไปตามหาไปหมอก ณ หมู่บ้านแห่งร่องเขานครชุม ผ่านทางที่คดเคี้ยวขึ้นไปเรื่อยๆ พร้อมกับแสงตะวันที่กำลังลาลับของฟ้า และไอเย็นเริ่มพัดปะทะกับหน้าของนวลเวลาที่เปิดกระจกทดสอบความหนาว หลังแสงอาทิตย์ลาลับได้ไม่นานเราก็มาถึงร่องเขาแห่งนครชุมกันแล้ว คืนนี้นวลพักเอาแรงที่บ้านของแม่เนี้ยบ ใครอยากมาพักแบบโฮมสเตย์ก็สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ คุณตั้ม 095-815-3968 เพื่อจองที่พักและจ้างคนนำทางขึ้นเขาโปกโล้นยามเช้า สนนราคาที่พักหนึ่งคืนพร้อมอาหารเย็นอยู่ที่450บาทต่อคน ค่าไกด์นำทางขึ้นเขา300บาทต่อเที่ยว

dsc03403
ยังไม่ทันได้เก็บของเข้าห้องที่แม่เนี้ยบจัดไว้ให้เราก็ได้กลิ่นอาหารหอมกรุ่นลอยมาเตะจมูกดังเปรี้ยงจนท้องหิว เลยต้องขอเข้าไปในครัวช่วยแม่ทำกับข้าว ยกอาหารออกมาตั้งสำหรับ โดยเมนูวันนี้มี ผัดปูนา ผัดผัก หลามไก่ น้ำพริกผักต้ม ปลาทูกับข้าวสวยและข้าวเหนียวร้อนๆ ท่ามกลางอากาศหนาวๆและอาหารฝีมือชาวบ้าน ค่ำคืนนี้เลยเป็นความหนาวที่แสนอบอุ่น

ian_5530
ทานอาหารหลักเสร็จแม่ยังไม่สะใจก่อฟืนตั้งไฟ ปิ้งข้าวโพด บ้าวเหนียวจี่ให้เราได้กินเล่นเพลินๆกันอีก แต่งานนี้ข้าวเหนียวจี่นวลขอรีเควสแบบใส่เกลือไม่ชุบไข่ เพราะถูกใจมาตั้งแต่ครั้งเป็นเด็กที่ปู่ของนวลทำให้กิน ยิ่งรู้สึกอบอุ่นเข้าไปถึงหัวใจราวได้กลับไปบ้านของตัวเองอีกครั้ง นี่หล่ะมั้งคือเสน่ห์ของอาหารบ้านๆ ที่รสชาติจัดจ้านและเต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดถึง

ian_5539
ian_5545

ท้องอิ่มแล้วก็เหลือบมองไปบนฟ้าดาวนับล้านดวงที่ทอแสงแข่งกันบนฟ้าเป็นอีหนึ่งเสน่ห์ที่ชวนหลงไหล นวลนั่งดูดาวอยู่พักใหญ่ก็ได้เวลาอาบน้ำอาบท่าก่อนเข้านอน เพื่อเตรียมตัวสำหรับเช้าถัดไปที่เราต้องตื่นกันตั้งแต่แต่สี่กว่าๆและออกเดินทางไปยังตีนเขาโปกโล้นตอนตีห้า

ian_5549
ลมหนาวยังคงพัดกระหน่ำและผ้าห่มก็ยังห่อตัวนวลไว้เหมือนเด็กทารกที่กำลังซุกไออุ่นจากอกแม่ ความขี้เกียจเข้าเกาะกุมจิตใจ แต่เมื่อคิดถึงภาพสวยๆท่ามกลางสายหมอก นวลก็จำใจต้องลุกขึ้นเปลี่ยนเสื้อผ้าและออกเดินทางท้าลมหนาว ฝ่าบรรยากาศสีดำมืดที่มีเพียงแสงไฟของกลุ่มเราและชาวบ้านแหวกอยู่ในอากาศ เสียงฝีเท้าดังปนกับเสียงหอบของพวกเรา แม้จะเป็นทางเดินง่ายๆแต่ก็เล่นเอาหายใจลำบากอยู่นิดหน่อย ผ่านไปเกือบสี่สิบนาที นวลก็พาร่างจ้ำม้ำขึ้นมาถึงหน้าผาที่ชื่อว่าโปกโล้น นอกจากเสียงถอนหายใจจากความเหนี่อยหอบก็ไม่มีเสียงใดใดอีกเลย เพราะตอนนี้พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น ทั้งหน้าผาเลยมีแต่ความมืดมิด

ian_5606

พวกเรานั่งพักเอาแรงกันเล็กน้อย พร้อมกับถอดเสื้อกันหนาวออกเพื่อไล่ไอร้อนของแคลลอรี่ที่ถูกเบิร์นระหว่างทางขึ้น นวลและเพื่อนปูผ้าคู่ใจและจุดเทียนนั่งคอยแสงอาทิตย์ ไม่นานแสงสลัวๆก็เริ่มกระจ่างชัด ความสวยงามของเขาโปกโล้นเริ่มเผยให้เห็น เสียงชัตเตอร์เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆเป็นความสวยงามที่เรียบง่ายเหลือเกิน แค่ภูเขา แค่สายหมอก แค่ดอกไม้ แต่เมื่อทุกอย่างรวมกันมันเป็นเหมือนของขวัญจากธรรมชาติที่มอบให้กับนักเดินทางทุกคนที่พาตัวเองขึ้นมายังที่นี่อย่างแท้จริง

dsc03421

เวลาผ่านไปไวกว่าที่คิดเพราะพวกเรามัวแต่ถ่ายรูปและชื่นชมความสวยงามของที่นี่ ที่บอกเลยว่าใครอยากหาที่ชมวิวที่เดินไม่ยาก จ่ายไม่แพง คนไม่เยอะ ที่นี่ควรเข้าไปอยู่ในลิสต์สถานที่ต้องห้ามพลาดได้เลย ที่สำคัญไม่มีน้องทากุที่นวลๆกลัว บอกเลยว่ายิ่งทำให้นวลประทับใจการเดินทางครั้งนี้มากกว่าเดิม

dsc03435

จุดหมายสุดท้ายของเราที่บ้านน้ำกุ่ม หมู่บ้านที่อยู่เลยไปจากนครชุมเพียงห้านาที ที่นี่เราได้เจอกับคุณป้า ที่ทอผ้ามานานหลายสิบปี เรียกว่าทอทุกวัน ทอไม่มีวันหยุด ทอจนเรียกได้ว่าเป็นมืออาชีพกันเลยทีเดียว และฝีมือของป้าก็ไม่ธรรมดา เพราะผ้าทอของป้ายังได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ของร้านภูฟ้าอีกด้วย

dsc03573

เพราะที่หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จทุกสาม-สี่ปีครั้ง เมื่อทอดพระเนตรเห็นฝีมือของชาวบ้านกลุ่มนี้ จึงมีดำริให้สั่งซื้อผ้าทอของกลุ่มนี้แล้วนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย โดยลายประจำอำเภอแห่งนี้คือลายดอกแก้ว แต่น่าเสียดายที่ผ้าของป้าขายดิบขายดีจนนวลซื้อไม่ทันกันเลยทีเดียว งานนี้คงได้ไปตามหากันที่ร้านภูฟ้ากันซะแล้ว

ian_5630
ian_5636
และนี่คือเรื่องสองวันหนึ่งคืน จากเส้นไหม สู่ไอหมอก ณ เมืองพิษนุโลกในครั้งนี้ที่นวลไปสัมผัสและประทับใจจนต้องนำมาบอกต่อเพื่อนๆของนวลทุกคน มันเป็นการเดินทางที่เรียบง่าย ไม่รีบร้อน ที่ทำให้นวลได้พักผ่อน และได้ทำในสิ่งที่ชอบจริงๆ เป็นเหมือนการได้ชาร์ตแบต ชาร์ตพลังให้กับชีวิตของนวล แล้วทุกคนล่ะใช้เวลาสองวันหนึ่งคืนเพื่อชาร์ตแบตให้กับตัวเองที่ไหน ยังไง อย่าลืมเอามาแบ่งปันกับนวลด้วยนะครับ เผื่อเป็นไอเดียวให้กับนวลในครั้งหน้า ส่วนใครที่วางแผนการเดินทางมาหลายรอบแล้วแต่ยังนิ่งอยู่ ลองออกเดินทางกันดูนะครับ แล้วจะได้รู้ว่าความสุขหาได้ง่ายกว่าที่คิด และชีวิตมีอะไรให้ค้นหามากกว่าที่เห็น อย่ารอช้า ออกไปแตะขอบฟ้ากันดีกว่า
 

อัลบั้มภาพ 83 ภาพ

อัลบั้มภาพ 83 ภาพ ของ พิษณุโลก จากเส้นไหม สู่ไอหมอก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook