พาเที่ยว “ไดโจเคียว” วัดพุทธญี่ปุ่นในอินเดีย
เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสตามคุณแม่ไปแสวงบุญที่ประเทศอินเดียเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และได้ไปวัดญี่ปุ่นที่นั่นด้วย ซึ่งจริง ๆ แล้ววัดนี้ไม่ได้อยู่ในแผนการเดินทาง แต่เพราะว่ามีเวลาเหลือก็เลยได้แวะไปค่ะ วันนี้เลยจะพาเพื่อน ๆ ไปเที่ยวที่อำเภอพุทธคยา ประเทศอินเดีย ซึ่งเรียกว่าเป็นจุดศูนย์รวมของพุทธศาสนาในระดับนานาชาติเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากวัดญี่ปุ่นแล้ว ที่นี่ยังมีวัดไทย จีน ทิเบต ภูฏาน ลาว พม่า และวัดพุทธของประเทศอื่น ๆ อีกมากมาย
ความเป็นมาของไดโจเคียว วัดญี่ปุ่นในพุทธคยา
ไดโจเคียว (大乗教) เป็นองค์กรพุทธศาสนานิกายมหายานที่ก่อตั้งขึ้นที่ญี่ปุ่นเมื่อประมาณ 90 ปีที่แล้วโดยคุณท่านทัตสึโกะ สุงิยามะ ซึ่งเหล่าผู้ศรัทธาเชื่อว่าคือพระสุปรติษฐิตจาริตระโพธิสัตว์ที่ลงมาเกิดใหม่ในโลกมนุษย์เพื่อช่วยเหลือมวลมนุษย์ทั้งปวง
ไดโจเคียวเริ่มส่งมิชชันนารีเข้าไปเผยแพร่พุทธศาสนามหายานในอินเดียครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1977 และสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นในปีค.ศ. 1983 จากนั้นในปีค.ศ. 1989 ได้ทำพิธีสถาปนาพระใหญ่แห่งไดโจเคียว ซึ่งพระทะไลลามาที่ 14 ได้เข้าร่วมในพิธีด้วย โดยใช้เวลาก่อสร้างตั้งแต่ปีค.ศ. 1993-1996 รวม 3 ปี
หลักการสำคัญของไดโจเคียวคือ สัทธรรมปุณฑรีกสูตร (Lotus Sutra) ซึ่งเป็นสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าเทศนาในช่วง 8 ปีสุดท้ายก่อนปรินิพพาน เป็นพระสูตรที่เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนิกชนมหายาน โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออก
ทำไมไดโจเคียวถึงเลือกเผยแพร่พุทธศาสนาในประเทศอินเดีย?
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมไดโจเคียวถึงข้ามน้ำข้ามทะเลมาสร้างวัดไกลถึงอินเดียกันนะ? คำตอบมีอยู่ 3 ข้อหลัก ๆ ดังนี้ค่ะ
ข้อแรก เพราะว่าอินเดียคือสถานที่ที่พระโคตมพุทธเจ้าเคยใช้ชีวิตอยู่ แผ่นดินนี้จึงเปรียบได้กับ “บ้านของพุทธศาสนา”
ข้อสอง เหตุผลที่เลือกอำเภอพุทธคยาเพราะที่นี่เป็นสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในบรรดาที่ตั้งของสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง (พุทธคยา, ลุมพินี, สารนาถ และกุสินารา) นั่นคือเป็นสถานที่ที่เจ้าชายสิทธัตถะตื่นรู้ทางจิตวิญญาณและตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ใต้ต้นโพธิ์ อันเป็นจุดกำเนิดของพุทธศาสนา
ข้อสาม เกี่ยวข้องกับหลักคำสอนของคุณท่านทัตสึโกะ สุงิยามะ ผู้ก่อตั้งไดโจเคียว ที่ได้ตั้งคำมั่นสัญญาไว้ว่า “ตนจะเป็นดวงอาทิตย์ที่ให้แสงสว่างแก่ Embudai” คำว่า Embudai หรือ Jambudvipa ในภาษาสันสกฤต หรือที่เราคุ้นหูกันว่า “ชมพูทวีป” มีหลายความหมายด้วยกัน เช่น “โลกที่มนุษยชาติอาศัยอยู่ (ทั้งโลกใบนี้)” และ “อนุทวีปอินเดีย” ซึ่งหมายถึงอำเภอพุทธคยา แหล่งกำเนิดของพุทธศาสนานั่นเอง
ฉะคะโด (Shakado) เจดีย์สามชั้น
ฉะคะโด (Shakado) เป็นอาคารหลักของวัดพุทธไดโจเคียว (Daijokyo Buddhist Temple) มีทั้งหมด 3 ชั้น ชั้นแรกเป็นที่บูชารูปเคารพที่สำคัญของไดโจเคียว ได้แก่ พระศรีศากยมุนี, พระวิศิษฏจาริตระโพธิสัตว์, พระอนันตจิตโพธิสัตว์, พระวิศุทธจาริตระโพธิสัตว์ และพระสุปรติษฐิตจาริตระโพธิสัตว์ ชั้นสองเป็นที่ตั้งรูปปั้นของคุณท่านทัตสึโกะ สุงิยามะ ผู้ก่อตั้งไดโจเคียว และชั้นสามเป็นที่เก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
รูปปั้นพระใหญ่แห่งไดโจเคียว (The Great Buddha of Daijokyo)
จุดที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ของวัดนี้คือ รูปปั้นพระใหญ่แห่งไดโจเคียว (The Great Buddha of Daijokyo) ขนาด 19.5 เมตร ทำจากหินทรายและหินแกรนิตที่ตั้งเด่นตระหง่านอยู่ภายในเขตวัด เห็นแล้วชวนให้นึกถึงพระใหญ่ไดบุทสึที่ประเทศญี่ปุ่นเลยทีเดียว
รูปปั้นพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้าทั้ง 10 องค์
สองฝั่งซ้ายขวาด้านข้างพระใหญ่ เป็นรูปปั้นของพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้าทั้ง 10 องค์ ที่ต่างมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่พุทธศาสนาให้กว้างไกลออกไปในสมัยพุทธกาล ช่วยเสริมส่งให้พระใหญ่ยิ่งดูศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนที่แวะมากราบไหว้บูชา
แม้ว่าปัจจุบันศาสนาพุทธจะไม่ใช่ศาสนาหลักของประเทศอินเดีย แต่ผืนแผ่นดินนี้คือดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ แสดงพระธรรมสูตร และปรินิพพาน (สถานที่ประสูติอยู่ในเขตประเทศเนปาล) จึงถือเป็นจุดศูนย์รวมของพุทธศาสนาที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง วัดพุทธไดโจเคียวต้อนรับผู้มาเยือนทุกคนโดยไม่จำกัดความเชื่อและศาสนาที่รับถือ ถ้าเพื่อน ๆ มีโอกาสไปเที่ยวที่พุทธคยา ลองแวะไปไหว้พระใหญ่แห่งไดโจเคียวแล้วกลับมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ