ผ้าทอ ไทลื้อ หัตถศิลป์อันทรงคุณค่า
วันนี้นวลจะพาไปสัมผัสกับความงดงามบนผืนผ้าทอไทลื้อที่บ้านศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย กันครับ จะพาไปสัมผัสความงดงามบนผืนผ้าทอที่บ้านแม่ครูดอกแก้ว ธีระโคตร ครูศิลปหัตถกรรม และพาไปชม พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ สถานที่รวบรวมประวัติความเป็นมาของชาวไทลื้อกันครับ
ไทลื้อ คือ กลุ่มชาติพันธุ์ไทกลุ่มหนึ่งที่มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในเขตสิบสองพันนา (ปัจจุบันอยู่ในเขตมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน) ชาวไทลื้อได้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานหลายครั้ง ในประเทศไทย ชาวไทลื้อได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดเชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน แพร่ น่าน และลำปาง
การแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ไทลื้อ คือ ผ้าซิ่นของผู้หญิงไทลื้อที่เรียกว่า “ซิ่นตา” ซึ่งเป็นผ้าซิ่นที่มี ๒ ตะเข็บมีลักษณะโครงสร้างประกอบด้วย ๓ ส่วนคือ หัวซิ่นสีแดง ตัวซิ่นลายขวางหลากสีต่อตีนซิ่นสีดำ ความเด่นอยู่ที่ตัวซิ่นซึ่งมีริ้วลายขวางสลับสีสดใส และตรงช่วงกลางมีลวดลายที่ทอด้วยเทคนิค ขิดจก เกาะหรือล้วง เป็นลายรูปสัตว์ในวรรณคดี ลายพรรณพฤกษา และลายเรขาคณิต เอกลักษณ์การทอผ้าที่สำคัญของกลุ่มชนนี้ คือ การทอผ้าด้วยเทคนิค เกาะหรือล้วง (Tapestry Weaving) หรือที่เป็นที่รู้จักกันว่า “ลายน้ำไหล” ซึ่งเป็นเทคนิคที่มีความยุ่งยากซับซ้อน แต่ทำให้เกิดลวดลาย และสีสันที่งดงามแปลกตา และเป็นอัตลักษณ์อันโดดเด่นเฉพาะกลุ่มที่แตกต่างจากผ้าซิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ไทกลุ่มอื่นๆ นอกจากผ้าซิ่นแล้ว ชาวไทลื้อยังทอผ้าชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น ผ้าหลบ
ในปัจจุบันมีชุมชนไทลื้อที่มีความสามารถทอผ้าเกาะล้วง แบ่งได้ ๓ กลุ่ม คือ
๑. กลุ่มไทลื้อ อำเภอเชียงของ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย
๒. กลุ่มไทลื้อ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
๓. กลุ่มไทลื้อ อำเภอปัว อำเภอทุ่งช้างและอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน
ขั้นตอนการทอผ้ามีดังนี้
- ปลูกฝ้ายในเดือนแปด เดือนเก้า เก็บฝ้ายในเดือนเกี๋ยงถึงเดือนยี่
- เก็บเอาฝ้ายมารวมกัน นำมาตาก แล้วเอาสิ่งที่ปนมากับฝ้ายออก
- นำมาอีดฝ้าย คือ เอาเมล็ดของฝ้ายออก เหลือเฉพาะยวงฝ้าย
- นำยวงฝ้ายมา “ปดฝ้าย” คือ ทำให้ฝ้ายกระจายตัว ในเข้ากันได้ดี
- นำมา “ฮำ” คือ พันป็นหางฝ้าย
- นำฝ้ายที่ได้มาปั่นด้วยเครื่องปั่นฝ้าย(ทำฝ้ายจากที่เป็นหางให้เป็นเส้นฝ้าย)
- นำมา “เป๋ฝ้าย” คือนำเส้นไหมที่ได้จากการปั่นฝ้ายมาทำเป็นต่อง (ไจ)
- นำต่องฝ้ายมา “ป้อ”(ทุบ) ฝ้าย แช่น้ำ 2 คืน ต่อมานำมานวดกับน้ำข้าว(ข้าวเจ้า) ผึ่งไว้ให้แห้ง
- นำเส้นฝ้ายที่ได้มา “กวักฝ้าย”
- นำมา “ฮ้วน” (เดินเส้น) กับหลักเสา
- นำไปใส่กี่ แล้วนำไปสืบกับ “ฟืม “
- ฝ้ายที่เหลือจากการใส่กี่ นำมาปั่นใส่หลอด แล้วเอาหลอดฝ้ายใส่สวยทอ(กระสวยทอผ้า)
เทคนิคการทอผ้าแบบ เกาะ / ล้วง
การทอผ้าเกาะ / ล้วง เป็นรูปแบบการทอผ้าที่นิยมกันในภาคเหนือของประเทศไทย ในกลุ่มไทลื้อ อำเภอเชียงคำ และอำเภอเชียงม่วนจังหวัดพะเยา และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เรียกเทคนิคนี้ว่า เกาะ ส่วนไทลื้อที่จังหวัดน่านเรียกว่า ล้วง
เกาะ เป็นวิธีการทอที่ไม่ได้ใช้เส้นพุ่งสอดจากริมผ้าด้านหนึ่งไปสู่ริมผ้าอีกด้านหนึ่ง ตามวิธีการทอแบบธรรมดาทั่วไป และไม่เพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษเข้าไปในเนื้อผ้าเช่นวิธีการจก แต่การทอแบบเกาะ ใช้พุ่งหลาย ๆ สีเป็นช่วง ๆ ทอด้วยวิธีธรรมดาโดยการเกี่ยวและผูกเป็นห่วง (hook and dove – tail) รอบเส้นยืน ไปเป็นช่วงตามจังหวะลวดลาย เป็นผ้าที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ผ้าลายน้ำไหล
ผ้าทอลายน้ำไหล มีชื่อเรียกกันไปตามลักษณะที่ทอ เช่น ลายทางยาวและเป็นคลื่นเหมือนกับบันไดมองดูเหมือนสายน้ำกำลังไหล เรียกลายนี้ว่า ลายน้ำไหล นับเป็นต้นแบบดั้งเดิม ต่อมาหยักของลายน้ำไหลเป็นลายคล้ายจรวดกำลังพุ่ง เรียกกันว่า ลายจรวด เมื่อนำลายน้ำไหลมาต่อกันมีจุดช่องว่างตรงกลางเติมเส้นลายเล็ก ๆ แยกออกรอบตัว มองดูคล้ายดอกไม้ หรือ แมงมุม
ลายอีกแบบหนึ่งที่เอาลายน้ำไหลมาหักมุมให้ทู่แล้วสอดสีด้ายเหลี่ยมกันเป็นชั้น ๆ เรียกลาย เล็บมือ อีกแบบหนึ่งได้นำลายน้ำไหลมาประยุกต์เป็นลักษณะคล้ายเจดีย์เป็นชั้น ๆ มียอดแหลม เรียกว่า ลายธาตุ ส่วนลายที่ใช้เส้นด้ายหลาย ๆ สี ทอซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เรียกว่า ลายกาบ เป็นต้น
แต่เดิมชาวไทลื้อนิยมทอผ้าลายน้ำไหลโดยใช้ฝ้ายสีสันที่สดใส ทอย้อนสลับกลับไปมาตามจังหวะลวดลาย และนิยมฝ้ายสีขาวทอเกาะเป็นขอบ คล้ายฟองคลื่นของสายน้ำ แทรกสลับระหว่างช่วงลวดลายในปัจจุบันได้มีการพัฒนาสีสันให้หลากหลาย และมีการใช้เส้นด้ายทำด้วยดิ้นเงิน ดิ้นทอง เพื่อเพิ่มความหรูหราแวววาวให้ผืนผ้า
หมู่บ้านศรีดอนชัยตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือตอนบนอยู่ในจังหวัดที่อยู่เหนือสุดของประเทศไทย ตำบลศรีดอนชัย ในอำเภอเชียงของ หมู่บ้านศรีดอนชัยนี้เป็นหมู่บ้านที่ชนเผ่าไทลื้ออาศัยอยู่ เดิมชาวไทลื้อในหมู่บ้านศรีดอนชัยนั้นมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่แคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนาน ประเทศจีนตอนใต้ ต่อมาการทำมาหากินเริ่มฝืดเคืองเพราะมีประชากรเพิ่มขึ้นแต่ทรัพยากรลดลง จนมาถึงปีพุทธศักราช 1428 ได้มีการอพยพโดยการนำของพญาแก้วออกจากเมืองอูเหนือไปยังดอยหลักคำที่ตั้งอยู่ในเขต จีน-ลาว อาศัยอยู่ในที่ดังกล่าวเป็นเวลา 1 ปี ต่อมาในปีพุทธศักราช 2429 ได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ที่ริมแม่น้ำโขง(อำเภอเชียงของในปัจจุบัน) ต่อมาย้ายมาอยู่ที่บ้านใหม่ทุ่งหมดตำบลสถาน และแยกย้ายกันไปอยู่ที่ต่างๆออกเป็นสามกลุ่ม
กลุ่มแรก ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ริมห้วยเมี่ยง(บ้านห้วยเม็งในปัจจุบัน) นำโดยพญาหงส์คำ และ พญาจันต๊ะคาด
กลุ่มที่สอง กลับไปประเทศลาวไปอยู่ที่บ้านโป่งและบ้านท่าฟ้า นำโดยพญาผัดดี
กลุ่มที่สาม ไปอยู่ที่บ้านท่าข้าม ตำบลม่วงยายในอำเภอเวียงแก่นเมื่อประชากรเพิ่มขึ้นอีกพ่อกำนันเสนา วงศ์ชัย อดีตกำนันม่วงยาย เลยพาลูกบ้านอพยพต่อมาอยู่ทำมาหากินและได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามหัวไร่ปลายนาริมหมู่บ้านศรีชัยมงคล ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ ในครั้งแรกเริ่มมีบ้านเพียง 8 หลังคาเรือน ต่อมามีคนอพยพมาจากบ้านก้อนตื่นประเทศลาวมาสมทบ
ในปีพุทธศักราช 2496 ชาวบ้านท่าข้ามจำนวนหนึ่งได้ย้ายจากบ้านไร่ปลายนามาสร้างบ้านอยู่ตามแนวพหลโยธินระหว่างอำเภอเทิง-อำเภอเชียงของและในอีก 5 ปีต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ประกาศพื้นที่ดังกล่าวจัดตั้งเป็นหมู่บ้านศรีดอนชัยในปัจจุบันนั่นเอง มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ นายทองดี วงศ์ชัย สาเหตุที่เรียกบ้านศรีดอนชัยเพราะที่ตั้งดังกล่าวเป็นที่ดอนและมีต้นโพธิ์มาก(ภาษาพื้นบ้านเรียกต้นโพธิ์ว่า ต้นสหลี)และเพิ่มความเป็นสิริมงคลด้วยคำว่า“ชัย” จึงรวมกันเป็น “บ้านศรีดอนชัย” นั่นเอง
ชาวไทลื้อในหมู่บ้านศรีดอนชัยมีความเป็นเอกลักษณ์หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นภาษาไทลื้อที่ใช้สื่อสารกัน การแต่งกายด้วยผ้าทอไทลื้อที่ทอเองมีความประณีตและสวยงาม อีกทั้งยังมีการละเล่น ความเชื่อและพิธีกรรมที่แตกต่างกับที่อื่น เช่น พิธีกำบ่อ พิธีสืบชะตา เป็นต้น
ครูศิลป์แห่งแผ่นดิน
ครูดอกแก้ว ธีระโคตร
(ครูช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2557)
“ผ้าทอไทลื้อ” จ.เชียงราย
ครูดอกแก้ว ธีระโคตร ได้สืบทอดและอนุรักษ์การทอผ้าไทลื้อจากแม่วรรณ วงค์ชัย และแม่อุ้ยเลา วงศ์ชัย เริ่มเรียนรู้การทอผ้าจากการสังเกตและแอบทอในช่วงที่แม่ไม่อยู่ การทอผ้าในช่วงแรกจะเป็นผ้าพื้นทั่วไปที่ไม่มีลาย พอทำได้ดีก็ฝึกการทอแบบมีลวดลายของไทลื้อ สมัยก่อนการทอผ้าเป็นวิถีชีวิตที่อยู่คู่ผู้หญิงชาวไทลื้อ ที่จะทอผ้าไว้สำหรับใช้ในครัวเรือน ครูดอกแก้วเห็นชาวบ้านทอผ้าเพื่อไว้ใช้อยู่แล้ว จึงได้รวมกลุ่มและจัดตั้ง “กลุ่มทอผ้าไตลื้อ” ขึ้น เพื่อทำเป็นอาชีพเสริมจะได้มีรายได้จากการทอผ้า โดยครูดอกแก้วทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดเทคนิคการทอผ้า และการย้อมเส้นด้ายด้วยสีธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น ซึ่งความรู้นี้ได้รับการถ่ายทอดมาจากแม่และยาย
“ผ้าทอไทลื้อ” มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่ตัวซิ่นริ้วลายขวางสลับสีสัน และมีลวดลายตรงกลางที่ทอด้วยเทคนิคเกาะหรือล้วงเป็นลวดลายเรขาคณิต หรือ “ลายน้ำไหล” ลวดลายที่ปรากฎบนผืนผ้าช่างทอจะสร้างสรรค์ลวดลายตามจินตนาการ มีการประยุกต์ลวดลาย สีสัน และรูปแบบผลิตภัณฑ์งานผ้าทอไทลื้อให้มีความหลากหลาย ตามความต้องการและความนิยมของผู้ซื้อ อาทิ ผ้าซิ่น ตุงลื้อ ผ้าฝ้ายปั่นมือ ผ้าปูที่นอน ผ้าสไบ ผ้าห่ม หรือผ้าขาวม้า เป็นต้น
และเมื่อผู้คนนิยมใช้ผ้าทอมากขึ้น ทำให้เกิดการเลียนแบบผ้าทอซึ่งกันและกัน จนลืมลวดลายสีสันและเอกลักษณ์ดั้งเดิมที่มีมาแต่โบราณ ครูดอกแก้วตระหนักในเรื่องนี้และยังคงรักษาอัตลักษณ์ของผ้าทอไทลื้อตามแบบที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ควบคู่กับปลูกฝังการทอผ้าไทลื้อให้กับเยาวชนได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้การทอผ้าไทลื้อ และเป็นวิทยากรอบรมเรื่องการทอผ้าของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนและเผยแพร่องค์ความรู้การทอผ้าไทลื้อให้เป็นที่รู้จักอย่างสม่ำเสมอ และ ในปี พ.ศ. 2544 ครูดอกแก้ว ธีระโคตร ได้รับโล่เกียรติคุณเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จัดการศึกษานอกโรงเรียนดีเด่น โดยกรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ “ดนดีศรีเชียงราย” ประจำปี 2551 ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น สาขาศิลปหัตถกรรม ระดับจังหวัด โดยสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย และได้รับการเชิดชูเกียรติจากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เป็นครูช่างศิลปหัตถกรรม ในปี พ.ศ. 2557
พิพิธภัณฑ์ "ลื้อลายคำ"
ตั้งอยู่บนทางหลวง 1020 หรือ เส้นทางเชียงราย - เชียงของ ในหมู่บ้านศรีดอนชัย ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 8.9 กิโลเมตร
มีตัวบ้านที่ทำจากไม้อยู่ 2 หลัง "เฮือน" - "เฮิน" หลังแรกเป็นตัวพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงประวัติความเป็นมาของชาวไทลื้อ
ประวัติผ้าทอ และวัฒนธรรมต่าง ๆ ของชาวไทลื้อ และหลังที่สองเป็นเหมือนเรือนรับรองที่จัดจำหน่ายผ้าทอไทลื้อ ส่วนด้านล่างเป็นโฮมสเตย์ ซึ่งบรรยากาศดีมาก ๆ
"เฮือนหลังแรก" พิพิธภัณฑ์
คุณแม่ของคุณสุริยาเล่าว่า เสื้อ และซิ่นบางผืนที่พิพิธภัณฑ์เก่าและมีอายุมาก บางผืนเก่าแก่กว่า 50 ปีก็มี ฟังอย่างนี้แล้วไม่กล้าแม้แต่จะจับเลย พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สะท้อนให้เห็นความตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมอันดีงามให้ดำรงอยู่สู่รุ่นลูกหลาน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดง 2 ภาษา ทั้งไทยและอังกฤษ บอกเล่าประวัติความเป็นมาของชาวไทลื้อแต่โบราณสืบจนไทลื้อในปัจจุบันที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วภาคเหนือของไทย รวมถึงในศรีดอนชัยด้วยเช่นกัน
ศิลปะที่โดดเด่นของชาวไทลื้อได้แก่งานผ้าทอไทลื้อ นิยมใช้ผ้าฝ้าย บางสมัยนิยมใช้เส้นไหมจากต่างถิ่น ทอลวดลายที่เรียกว่า "ลายเกาะ"
ด้วยเทคนิคการล้วง ซึ่งปัจจุบันนิยมเรียกว่า ลายน้ำไหล มีการฟื้นฟูและถ่ายทอดศิลปะการทอผ้าแบบไทลื้อในหลายชุมชนของภาคเหนือในปัจจุบัน