“ตามสบาย BE MY GUEST” สิทธิมนุษยชนในนิทรรศการป็อปอาร์ต 9 วัน 9 คืน

“ตามสบาย BE MY GUEST” สิทธิมนุษยชนในนิทรรศการป็อปอาร์ต 9 วัน 9 คืน

“ตามสบาย BE MY GUEST” สิทธิมนุษยชนในนิทรรศการป็อปอาร์ต 9 วัน 9 คืน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ที่ผ่านมา เมื่อพูดถึงเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องซีเรียส ไกลตัว และไม่น่าสนใจ แต่วันนี้ สิทธิมนุษยชนกลับถูกนำเสนอในรูปแบบศิลปะป็อปอาร์ต ในนิทรรศการ “ตามสบาย BE MY GUEST” โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย ซึ่งเป็นนิทรรศการศิลปะที่นำเสนอเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ในประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัยและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม 2562 และจะมีกิจกรรมทั้งเวิร์กช็อป การแสดง ดนตรี และงานเสวนา ยาวไปถึง 9 วัน 9 คืนเลยทีเดียว

>> “ผู้ลี้ภัยไม่ใช่อาชญากร” เรียนรู้ความหลากหลาย เพื่อความเข้าใจและสันติภาพ

ในขณะที่นักกิจกรรมสายสิทธิมนุษยชนตกเป็นเป้าโจมตีจากความไม่เข้าใจหลายครั้ง นิทรรศการนี้จึง “เชื้อเชิญ” ให้คนทั่วไปเข้ามาทำความรู้จักการทำงานของแอมเนสตี้ รวมทั้งเรื่องราวของสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด โดยในโซนแรกเป็นเรื่องราวความเป็นมาและความสำเร็จของแอมเนสตี้ ซึ่งก็คือกลุ่มคนธรรมดาทั่วโลก กว่า 7 ล้านคน ที่รวมตัวกันเพื่อรณรงค์ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนที่ถูกละเมิดสิทธิ ร่วมมือกับรัฐเพื่อผลักดันกฎหมายและนโยบายที่คุ้มครองสิทธิ รวมทั้งสร้างความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนให้กับเยาวชนและคนในสังคม

ผู้ลี้ภัย = มนุษย์คนหนึ่ง

จากโซนเปิดตัว เราเข้าสู่โซนนิทรรศการหลักที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของแอมเนสตี้ ผ่านเกม interactive ที่ปูพื้นฐานให้เราเข้าใจวิถีชีวิตของผู้ลี้ภัย ที่ไม่มีใครอยากออกจากบ้านเกิดเมืองนอน แต่สถานการณ์บีบบังคับให้พวกเขาต้องเอาชีวิตรอด และเดินทางสู่ดินแดนที่ตนไม่คุ้นเคย นอกจากเกมแล้ว โซนนี้ยังบอกเล่าเรื่องราวของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา จากประเทศเมียนมา ผ่านภาพถ่ายและคำพูดของผู้ลี้ภัย ซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจและความฝันไม่ต่างจากคนทั่วไป

“นักปกป้องสิทธิมนุษยชน” คือใคร

ถัดจากโซนผู้ลี้ภัย เราพบกับสาวน้อยในชุดไทยที่รอมอบของที่ระลึกเป็นยาหม่อง “สยามบาล์ม” ซึ่งมีให้เลือก 3 สูตร ได้แก่ สูตรชาติมั่นคง สูตรสงบเรียบร้อย และสูตรศีลธรรม พร้อมเนื้อเพลงฮิตอย่าง “สยามเมืองยิ้ม” ซึ่งถือเป็นการเปิดไปสู่ชีวิตในดินแดนแห่งรอยยิ้ม ที่หากคุณไม่ยิ้ม ก็ไม่รับประกันความปลอดภัย

หลังจากสูดดมยาหม่องจนชื่นใจได้ที่ ก็ได้เวลาชมนิทรรศการว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเป็นใคร อาชีพใดก็ได้ โดยในส่วนนี้ ประกอบด้วยชะตากรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวไทย 3 คน ได้แก่

คดีโพสต์เนื้อเพลงคืนความสุขฯ

โซนนี้ใช้หน้าจอโทรทัศน์วงจรปิด ที่ดูเหมือนจะสอดส่องชีวิตประจำวันของผู้คน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของชายคนหนึ่งที่โพสต์เนื้อเพลงท่อนฮุคของซิงเกิลฮิต “คืนความสุขให้ประเทศไทย” จำนวน 7 วรรค ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อถามความเห็นของคนที่ติดตามว่าพวกเขาคิดว่าข้อใดถูกต้อง และผู้ติดตามกว่าร้อยละ 90 ตอบว่า “ผิดทุกข้อ” พร้อมแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ส่งผลให้เขาถูกจับในข้อหานำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) เขาต้องยื่นเงินสดหนึ่งแสนบาทเพื่อประกันตัว และตอนนี้คดีก็ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน

เทใจให้เทพา

ธงสีเขียว สัญลักษณ์ของกลุ่ม “เทใจให้เทพา” หรือกลุ่มชาวบ้านเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ที่สวมเสื้อสีเขียวสกรีนข้อความ “No Coal” พร้อมถือธงสีเขียว เดินเท้าจาก อ.เทพา จ.สงขลา ไปยังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ต่อหัวหน้า คสช. ทว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเข้าสลายการชุมนุม และจับกุมผู้ชุมนุมไปทั้งหมด 16 คน โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าผู้ชุมนุมไม่แจ้งการชุมนุมก่อนตามกฎหมายกำหนด แม้ผู้ชุมนุมจะยืนยันว่าได้แจ้งแล้วก็ตาม

สุดท้าย ผู้ชุมนุมถูกสั่งฟ้องในข้อหาขัดขวางการจับกุม ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่รัฐ กีดขวางการจราจร ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และพกพาอาวุธในที่สาธารณะ ซึ่งหมายถึงคันธงที่ใช้ถือในการเดินขบวน และผู้ชุมนุมอีก 2 คน ถูกลงโทษปรับคนละ 5,000 บาท เหตุไม่แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ซึ่งแม้จะไม่มีใครติดคุก แต่กรณีนี้ก็ชี้ให้เห็นถึงการที่เจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้กฎหมายกีดขวางการชุมนุมอย่างสงบเพื่อเรียกร้องความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน

ดอกกุหลาบกับฟาสต์ฟู้ด

อีกหนึ่งการจัดแสดงที่สะดุดตาไม่น้อยก็คือ รั้วตาข่ายที่ประดับด้วยดอกกุหลาบกับถุงและกล่องอาหารฟาสต์ฟู้ด ซึ่งเป็นตัวแทน “ของกลาง” ในกรณีที่ข้าราชการบำนาญคนหนึ่งมอบดอกกุหลาบและอาหารฟาสต์ฟู้ดให้แก่นักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งลูกชายเสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุมปี 2553 ขณะทำกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” เรียกร้องให้หยุดใช้ศาลทหารกับคดีพลเรือน เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558

จากเหตุการณ์เล็กๆ ครั้งนั้น ทำให้ข้าราชการผู้นี้ถูกดำเนินคดีโดยศาลทหาร และมีคำพิพากษาให้จำคุก 6 เดือน และปรับ 8,000 บาท ในความผิดข้อหาเดียวคือฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองเกิน 5 คน ทว่าลดโทษลงครึ่งหนึ่งโดยให้เหตุผลว่าจำเลยไม่เคยทำความผิดมาก่อน และการกระทำไม่ร้ายแรง คงเหลือโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 4,000 บาท และโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี

นอกจาก 3 เรื่องราวของคนธรรมดาที่พยายามปกป้องสิทธิในฐานะประชาชนแล้ว ยังมีกลุ่มศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนด้วย เช่น พิสิฐกุล ควรแถลง, Olga Volodina, Fortify Rights, Stephff, Gerda Lieeibmann, Dan Fethke, Abi และศิลปินกราฟฟิตีสุดฮอตแห่ง พ.ศ. นี้ อย่าง Headache Stencil ซึ่งศิลปินกลุ่มนี้ได้ตีความชื่อนิทรรศการ และสร้างผลงานตามสไตล์ของแต่ละคน

ก่อนจะเดินทางไปสู่โซนต่อไป นิทรรศการได้เน้นย้ำคำพูดที่ว่า “ใครๆ ก็เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้” ด้วยเรื่องราวการปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ประสบความสำเร็จด้วยฝีมือของคนทั่วโลก ซึ่งรวมถึงกรณีของฮาคีม อัล-อาไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรน ที่ลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศออสเตรเลีย แต่กลับถูกจับกุมตัวที่ประเทศไทย และราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัล-กูนุน ที่เกือบถูกจับกุมที่ประเทศไทย ระหว่างเดินทางลี้ภัยไปยังประเทศแคนาดา ทั้งคู่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้คนในโลกออนไลน์ ผ่านแฮชแท็กในทวิตเตอร์ #SaveHakeem และ #SaveRahaf จนสามารถเดินทางไปยังประเทศปลายทางได้ในที่สุด

>> "ฮาคีม อัล อาไรบี" คือใคร? ทำไมเขาถึงถูกจับที่ไทย?
>> “ราฮาฟ” สาวซาอุฯ ถึงแคนาดาแล้ว ยิ้มมีความสุขกับบ้านหลังใหม่

Amnesty International Thailand

Born this Way

Born this Way โซนที่สะดุดตาไม่แพ้โซนอื่นๆ จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) จำนวน 30 ข้อ เช่น ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน สิทธิในการมีชีวิต และการได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เป็นต้น เพื่อสื่อสารให้ผู้ชมเข้าใจถึงสิทธิมนุษยชน ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้ลี้ภัย นักโทษ หรือกลุ่ม LGBT เท่านั้น แต่เป็นสิทธิของคนทุกคนที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด โซนนี้โดดเด่นด้วยการนำแผ่นกระจกมาเขียนปฏิญญา 30 ข้อ ด้วยปากกาสีช็อกกิ้งพิงค์ ที่ดึงดูดให้ผู้ชมได้เข้ามาอ่าน

Amnesty International Thailand

เมื่อมองในภาพรวมของนิทรรศการ เราพบว่านิทรรศการนี้นำเอาเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงมาถ่ายทอด และพยายามเชื่อมโยงประสบการณ์ของผู้ชมเข้ากับเนื้อหาของนิทรรศการ รวมทั้งเห็นถึงความพยายามสื่อสารเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วยภาษาสากลอย่างศิลปะ ซึ่งก็ถือเป็นก้าวใหม่ของแอมเนสตี้ในการสื่อสารเรื่องสิทธิมนุษยชนให้คนทั่วไปเข้าใจมากขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม “ตามสบาย BE MY GUEST” ไม่ได้มีเพียงนิทรรศการเท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนรูปแบบอื่นๆ ทั้งเวิร์กช็อป การแสดงละคร ดนตรี และการเสวนา ให้เลือกเข้าร่วมได้ตามใจชอบอีกด้วย

การแสดง Physical Theater ส่วนหนึ่งของพิธีเปิดนิทรรศการการแสดง Physical Theater ส่วนหนึ่งของพิธีเปิดนิทรรศการ

นิทรรศการ “ตามสบาย BE MY GUEST” เปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2562 ที่ Whiteline สีลม ซอย 8 กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป
การเดินทาง: บีทีเอสศาลาแดง หรือหากเดินทางโดยรถยนต์ สามารถจอดรถได้ที่ตึก The Fifth สีลม ซอย 3 ชั่วโมงละ 30 บาท
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และเช็กตารางเวิร์กช็อปได้ที่ ตามสบาย BE MY GUEST

อัลบั้มภาพ 26 ภาพ

อัลบั้มภาพ 26 ภาพ ของ “ตามสบาย BE MY GUEST” สิทธิมนุษยชนในนิทรรศการป็อปอาร์ต 9 วัน 9 คืน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook