การละเล่นผีขนน้ำ บุญเดือนหกบ้านนาซ่าว จ.เลย ประเพณีโบราณที่เดียวในเมืองไทย
“ผีขนน้ำ” หรือชื่อเรียกอีกแบบหนึ่งว่า “แมงหน้างาม” การละเล่นพื้นบ้านที่สืบสานกันมายาวนานของชาวบ้านนาซ่าว ต.นาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย
แม้ว่าการละเล่นผีขนน้ำ จะถูกพูดถึงตามสื่อต่าง ๆ มากขึ้น แต่นวลเชื่อว่าหลายคนยังคงเข้าใจว่า “ผีขนน้ำ” คือ ผีตาโขน ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นการละเล่นคนละรูปแบบและมีความต่างกันนะครับ
ซึ่งผีขนน้ำ เป็นการละเล่นที่สืบทอดกันมายาวนานของชาวนาซ่าว ที่จากเดิมคือชนกลุ่มน้อยเผ่าไทยพวน ที่อพยพมาจากเมืองหลวงพระบาง ได้มาตั้งหลักแหล่งกันที่บ้านนาซำหว้า และในสมัยนั้นชาวบ้านยังไม่มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงนับถือผีบรรพบุรุษและผีปู่ย่า และเชื่อกันว่าการเล่นผีขนน้ำ คือพิธีกรรมไหว้ผีบรรพบุรุษที่ชาวบ้านรวมตัวกันจัดขึ้น หรือเรียกว่า “เลี้ยงบ้าน” เพื่อแสดงความเคารพและตอบแทนบุญคุณ “ผีเจ้าปู่” ที่ให้ความคุ้มครองให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาล และมีพืชผลอุดมสมบูรณ์
แต่เดิมการบวงสรวงนั้น จะมีการนำวัว ควาย มาเพื่อเป็นเครื่องเซ่นสังเวยตามพิธีกรรม แต่ในเวลาต่อมา ผีเจ้าปู่ได้บอกความผ่านร่างทรงว่าให้ชาวบ้านทำ “แมงหน้างาม” หรือ “ผีขน” ขึ้น แทนการนำ วัว ควาย ซึ่งมีบุญคุณต่อชาวบ้านมาฆ่าเพื่อเป็นเครื่องสังเวยบูชา รวมถึงยังเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลตอบแทนบุญคุณของวัว ควาย ที่มีต่อชาวบ้านอีกทางหนึ่งด้วย
อีกหนึ่งความเชื่อคือ ชาวบ้านเชื่อกันว่า “ผีขนน้ำ” เป็นวิญญาณของสัตว์จำพวก วัว ควาย ที่ตายไปแล้วยังล่องลอยวนเวียนอยู่ตามที่เคยอาศัย เพราะมักจะมีคนได้ยินเสียงกระดึงหรือกระดิ่ง พบแต่ขนไม่เห็นตัวตน จึงเรียกว่า “ผีขนวัว ผีขนควาย”
ในยุคแรกๆ ชาวบ้านจะพากันเรียกผีขนน้ำว่า “การละเล่นผีขน” แต่ทุกครั้งหลังจบการละเล่นผีขนฝนมักจะตก ชาวบ้านจึงพากันเปลี่ยนเรียกว่า “ผีขนน้ำ” เพราะขนน้ำมาจากฟ้า จนกลายเป็นชื่อที่เรียกกันติดปากจนทุกวันนี้
สำหรับวันที่ใช้ละเล่นผีขนน้ำในปัจจุบัน ได้กำหนดไว้ระหว่าง แรม 1-3 ค่ำ หลังวันเพ็ญเดือนหก(วันวิสาขบูชา) โดยขบวนแห่ในวันที่สองของงาน ผีขนน้ำทุกคุ้มหมู่บ้านจะไปรวมกันที่โรงเรียนบ้านนาซ่าว หากมีโอกาสนวลอยากจะเชิญชวนแฟนจ๋าไปเที่ยวชมประเพณีผีขนน้ำ กันดูสักครั้งนะครับ เพราะเป็นประเพณีที่จัดขึ้นทุกปี ของชาวบ้านนาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย
อัลบั้มภาพ 71 ภาพ