มองลาวจากสายตานักท่องเที่ยว : ลาวซบเซาลงเพราะอะไร?

มองลาวจากสายตานักท่องเที่ยว : ลาวซบเซาลงเพราะอะไร?

มองลาวจากสายตานักท่องเที่ยว : ลาวซบเซาลงเพราะอะไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พูดถึงการท่องเที่ยวในอาเซียน ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่เที่ยวง่ายที่สุดคงจะเป็น สปป.ลาว ประเทศที่เราไม่ต้องเตรียมตัวมากนัก ด้วยภูมิประเทศ วัฒนธรรม ภาษาที่ใกล้เคียงกับเรา สามารถใช้เงินบาทใช้จ่ายได้ มีชายแดนติดกับประเทศไทย มีเพียงแม้น้ำโขงกั้น สามารถเดินทางไปได้หลายวิธี ลาวจึงเป็นประเทศหนึ่งที่รับนักท่องเที่ยวไทยเข้าประเทศมากเป็นอันดับหนึ่ง นั่นคือประมาณ 1.9 ล้านคนต่อปี (ข้อมูลในปี 2018) รองลงมาก็เป็นเวียดนาม จีน เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา

แถมกระแสในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาที่มีนักท่องเที่ยวเกาหลีเข้าไปเที่ยวประเทศลาวเยอะขึ้นมาก ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวหลายที่สร้างมาตรการรองรับนักท่องเที่ยว มีทัวร์ มีการปรับปรุงสถานที่และบริการเพื่อนักท่องเที่ยวมากขึ้น

ลาวหวังพึ่งเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวแค่ไหน?
ความจริงแล้วลาวไม่ได้มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว ลาวเหมือนเป็นแหล่งผลิตพลังงานและส่งออกผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติอย่างเช่น ไม้แปรรูป ถ่านหิน เสื้อผ้าสำเร็จรูป แต่ในเรื่องการท่องเที่ยวก็ถือว่าเติบโตขึ้นในช่วงปีหลังๆ มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี แล้วทางลาวเองก็คาดหวังว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะมากขึ้นด้วย

ถึงตัวเลขหลายภาคส่วนจะรายงานว่านักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่บรรยากาศการท่องเที่ยวจริงๆ กลับดูซบเซา และมีหลายสื่อออนไลน์ของลาวเองที่รายงานเกี่ยวกับความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวต่อประเทศลาว ว่าทำไมนักท่องเที่ยวดูมีท่าจะลดลง?

เสียงบ่นจากนักท่องเที่ยวที่เริ่มเบนเข็มไปเที่ยวประเทศอื่น
ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวประเทศลาวจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นประเทศที่ค่าครองชีพแพงมากประเทศหนึ่ง ยิ่งถ้าเทียบกับประเทศในอาเซียนรอบๆ ลาวแทบจะแพงเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งๆ ที่คุณภาพไม่ต่างกันมาก

ประเด็นแรกที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ ระบบขนส่ง ในนครหลวงเวียงจันทร์มีรถประจำทางอยู่เหมือนกัน แต่จะกระจุกอยู่ในตัวเมืองหรือในสถานที่สำคัญ และต้องรอนาน และด้วยความที่เมืองหลวงอยู่ชายแดนประเทศ ทำให้ความเจริญยากที่จะกระจายไปสู่ภูมิภาคอื่นด้วย ทำให้นักท่องเที่ยวต้องไปเหมารถตุ๊กๆ แทน ซึ่งก็จะโดนคิดราคานักท่องเที่ยวที่แพงเกินจริง

อีกประเด็นคือค่าครองชีพ ด้านของบริโภค จากการสอบถามชาวลาวทำให้รู้ว่าปกติแล้วเค้าจะไม่ทานข้าวนอกบ้านกันเพราะว่ามีราคาสูง คืออาหารทั่วไปเริ่มต้นที่จานละ 60 บาท ชาวลาวจึงเลือกที่จะซื้อของสดแล้วทำกินกันเองในครอบครัว ส่วนร้านอาหารนั้นก็มีไว้บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งก็จะราคาแพง

ยังไม่รวมถึงประเด็นยิบย่อยอย่างสถานที่ท่องเที่ยวที่เดินทางไปลำบาก ไม่ได้อยู่ติดกัน ซึ่งก็ต้องไปหวังพึ่งระบบขนส่งที่ไม่ทั่วถึงหรือต้องเหมารถเอา และแต่ละที่ที่เก็บค่าเข้าบริการ

แล้วทำไมค่าครองชีพที่ลาวถึงแพงมาก?
ก๋วยเตี๋ยวในบ้านเราที่สามารถหาได้ในราคา 30-50 บาท เฝอจากเวียดนามที่อิ่มได้ในราคา 40-50 บาท แต่ในลาวหลายร้านจะเริ่มที่ 60 บาทขึ้นไป ซึ่งถือว่าราคาสูง

อย่างแซนวิชที่ขายกันทั่วไป ขนมปังฝรั่งเศสสอดไส้หมู ไก่ ผัก และไข่ ในประเทศลาวขายในราคาสูงถึง 60-80 บาท (15,000 – 20,000 กีบ) ในขณะที่ Banh Mi แซนวิชลักษณะเดียวกันในเวียดนาม ขายในราคา 10-20 บาทเท่านั้น (8,000 – 12,000 ดอง)

อาจจะเพราะลาวไม่ค่อยมีสินค้าอุปโภคบริโภคที่ผลิตในประเทศตัวเอง ต้องนำเข้าสินค้าหลายๆ อย่างจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งจากไทย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ขนม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทำให้ค่าครองชีพแพงขึ้น รวมถึงค่าน้ำมันที่แพงกว่าไทยประมาณ 2-3 บาทต่อลิตร

ถึงแม้บรรยากาศการท่องเที่ยวในลาวจะดูเงียบเหงาลง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีนักท่องเที่ยวไปเลย เนื่องจากลาวก็ยังมีเสน่ห์ความดั้งเดิมบางอย่างที่ชวนให้ไปสัมผัสอยู่

อย่างซอยแคบๆ ซอยหนึ่งในหลวงพระบางที่เต็มไปด้วยร้านอาหารบ้านๆ อย่างส้มตำ ไก่ย่าง ปลาย่าง และอาหารท้องถิ่น เราจะเห็นนักท่องเที่ยวทั้งตะวันตกและเอเชียนั่งกินกันอยู่เต็มซอย กับตลาดเช้าที่ขายของสดของชาวบ้านที่ค้าขายกันเอง ในโซนนี้นักท่องเที่ยวอาจจะไม่ได้จับจ่ายซื้อของกันมากนัก แต่ก็ยังเดินกันคึกคักกว่าที่อื่น

มันทำให้เห็นว่าเสน่ห์ของการท่องเที่ยวจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่ถูกสร้างมาเพื่อเอาใจนักท่องเที่ยว แต่กลับเป็นความเรียล ความพื้นบ้านดั้งเดิมที่นักท่องเที่ยวต้องการไปสัมผัสมากกว่า นั่นอาจจะทำให้เมืองหลวงพระบางที่มีตลาด Night Market ขายของรองรับนักท่องเที่ยวไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร หรือความนิยมลดน้อยลงในตอนนี้

ไม่เพียงแต่นักท่องเที่ยวเท่านั้นที่เริ่มมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการท่องเที่ยวลาว แต่คนลาวที่ต้องหวังพึ่งรายได้จากนักท่องเที่ยวเองก็มีเสียงติติงมาเหมือนกัน ซึ่งลาวกับจีนก็ได้ร่วมกันเพื่อสร้างทางด่วนสายนครหลวงเวียงจันทร์-วังเวียง เพื่อหวังจะเป็นประเทศเชื่อมโยงประเทศลุ่มแม่น้ำโขงให้เดินทางกันได้สะดวกขึ้น ซึ่งก็น่าจะส่งผลต่อการท่องเที่ยวลาวอยู่เหมือนกัน เนื่องจากเวียงจันทร์ – วังเวียง – หลวงพระบาง ขึ้นไปทางเหนือของลาวเต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวเด่นๆ และดีไม่ดีเราอาจจะได้เส้นทางการท่องเทียวใหม่ที่มาพร้อมกับทางด่วนสายใหม่ให้นักท่องเที่ยวไปสัมผัส ก็จะต้องติดตามกันต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook