“ตลาดริมยม 2437”
ในครั้งนี้เราจะพาทุกท่านไปตามล่าหาอาหารอร่อยๆ ไปสัมผัสกับมนตร์เสน่ห์ย้อนยุคแบบชาวอำเภอกงไกรลาศ ที่ตลาดริมยม 2437 ซึ่งจะจัดในทุกวันเสาร์แรกของเดือนเท่านั้น
เมื่อพร้อมแล้วเรามาเริ่มกันเลยค่ะ
คุณวันชัย พวงเงิน รองนายกเทศมนตรี เล่าเรื่องราวให้เราฟังว่า ทางเทศบาลและชาวกงไกรลาศร่วมกันคิดริเริ่มจัดตลาดริมยม 2437 เพื่ออยากพาลูกหลานในอำเภอและนักท่องเที่ยวมาร่วมย้อนอดีตกับชาวบ้านกงในแนวคิด นั่งคอกหมู ชิมขนม กินปลาน้ำยม ชมวิถีชีวิตคนกงไกรลาศ จำลองบรรยากาศตลาดท่าเรือที่เป็นศูนย์กลางในการค้าขายของบ้านกงในยุค 120 กว่าปีที่แล้ว อนุรักษ์รูปแบบการค้าขายที่ยังคงมีความเดิมๆ คือเป็นกันเอง มีการแถมการต่อรอง ซึ่งสมัยนี้หาได้ยาก
และเพื่อเป็นการเพิ่มสีสัน ทางเทศบาลบ้านกงได้เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวและพ่อค้าแม่ค้าแต่งกายด้วยชุดย้อนยุค
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่ง คืออาหารที่ขายจะเป็นอาหารคาวหวานโบราณสูตรดั้งเดิม อาทิ ขนมจ่ามงกุฎ ขนมโป๊งเหน่ง กระเช้าสีดา ปลาเห็ด (ทอดมันปลากราย) กล้วยปิ้งราดกะทิ และอีกมากมาย
ถ้าหากเดินชม ชอป ชิม มาจนครบทุกร้านแล้ว อย่าเพิ่งรีบกลับบ้านนะคะ ทุกท่านสามารถร่วมรำวงย้อนยุคกับคุณป้าคุณยาย ร่วมเล่นเกมสาวน้อยตกน้ำ หรือจะนั่งฟังเพลงชมการแสดงเพลินๆ ลิ้มรสบรรยากาศริมแม่น้ำยมยามค่ำก็ย่อมได้ค่ะ
คุณวันชัยแอบกระซิบบอกกับเราว่า วงดนตรีและการแสดงต่างๆ ที่มาเล่นโชว์นั้น ไม่ได้จ้างมาแต่อย่างใด แต่เป็นความเต็มใจของชาวบ้าน รวมถึงนักเรียนนักศึกษาที่อาสามาแสดงให้ทุกท่านได้ชมกัน
นับว่าตลาดแห่งนี้เป็นที่ที่รวมทุกอย่างของบ้านกงจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารขึ้นชื่อ วิถีชีวิต และยังเป็นเวทีแสดงความสามารถของชาวบ้านกง เป็นจุดที่ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง
ตลาดจะเริ่มตั้งแต่ 16.30-21.00 น. ทุกวันเสาร์ต้นเดือน หากใครได้มาเที่ยวสุโขทัยหรือผ่านมาก็อย่าลืมแวะ “ตลาดริมยม 2437” กันนะคะ
เกร็ดเกาะกง :
เมื่อถึงกงไกรลาศแล้วต้องมากราบนมัสการหลวงพ่อโตวิหารลอย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำอำเภอ ซึ่งเล่ากันต่อมาว่าสมัยที่พม่ายกทัพมาตีเมืองพิษณุโลกได้เดินทัพและพักแรมที่บ้านกง ด้วยความคึกคะนองอยากลองดีของทหารจึงยิงปืนใหญ่ถล่มวิหารหลวงพ่อโตจนพังเสียหาย
หลวงพ่อโตต้องตากแดดตากฝนอยู่หลายสิบพรรษา จนกระทั่งวันหนึ่งตอนกลางคืนชาวบ้านได้ยินเสียงเหมือนแผ่นดินไหว พอรุ่งเช้าพบว่าหลวงพ่อโตแสดงปาฏิหาริย์เคลื่อนองค์ท่านจากที่เดิมไปประทับอยู่ที่ต้นคูนซึ่งห่างจากเดิมประมาณ 3 วา
และทุกปีที่น้ำท่วมล้นแม่น้ำยม น้ำจะท่วมบริเวณทั้งหมดของชาวบ้านริมยม แต่วิหารหลวงพ่อโตกลับไม่ท่วม ดูเหมือนลอยพ้นน้ำ ทั้งๆ ที่อยู่บริเวณเดียวกัน