Na Cafe at Bangkok 1899 คาเฟ่เพียงแห่งเดียวในบ้าน 100 ปี ของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
บนพื้นที่แห่งประวัติศาสตร์ ณ บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี คฤหาสน์หลังใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่ริมถนนนครสวรรค์มานานเป็นร้อยปี ในวันนี้ได้กลายเป็นศูนย์รวมแห่งแรงบันดาลใจ ศิลปะ และความช่วยเหลือของเพื่อนมนุษย์ กลายเป็นเขตแดนแห่งการสร้างสรรค์ได้อย่างน่าสนใจ ในวันนี้ Sanook Travel จะพาคุณเข้าไปสัมผัสกับ Na Cafe at Bangkok 1899 คาเฟ่เพียงแห่งเดียวในเมืองไทยที่ได้รับการอนุญาตให้สร้างขึ้นในบ้านเก่า 100 ปีของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีหลังนี้
เราได้เดินทางไปพบกับคุณ ฮิม-ดิลกลาภ จันทโชติบุตร หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้าน Na Cafe at Bangkok 1899 ร่วมกับคุณ แซ็ก-เสกสรร รวยภิรมย์ เพื่อสอบถามประวัติความเป็นมาของคาเฟ่แห่งนี้
ก่อนจะมาเป็น Na Cafe at Bangkok 1899
คุณฮิม เล่าให้เราฟังว่าบ้านเก่าของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีแห่งนี้ได้เปิดเป็น "Bangkok 1899" ศูนย์กลางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์แห่งใหม่ จัดตั้งโดยครีเอทีฟ ไมเกรชั่น องค์กรไม่แสวงหากำไรด้านศิลปะ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยกระดับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ผ่านสามเสาหลักได้แก่ ศิลปะ การมีส่วนร่วมของประชาชน และความยั่งยืน กิจกรรมงานของ Bangkok 1899 ได้แก่ ที่พักศิลปินพำนักนานาชาติ พื้นที่สาธารณะ และงานอีเวนท์มากมาย รวมไปถึงการเป็นต้นแบบด้านความยั่งยืน Na Cafe ตั้งอยู่ภายใน Bangkok 1899 และถือเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เปิดสาธารณะตามที่ Bangkok 1899 ตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งประจวบเหมาะกับทางคุณฮิม และคุณแซ็ก ที่ก่อนหน้านี้คุณฮิมได้เข้าร่วมกับคุณแซ็กในการทำมูลนิธิเพื่อสังคมที่ชื่อว่า "สติ" เป็นมูลนิธิที่มุ่งเน้นในการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสตามชนบท และทางคุณแซ็กเองก็เป็นเจ้าของร้านอาหารมาก่อนอยู่แล้วด้วย ทางด้านคุณฮิมเองก็มีบทบาทอีกอย่างหนึ่งคือเป็นเจ้าของแบรนด์ Dilo's Granola ผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก เมื่อนำ Passion ของทั้งสองคนมารวมกัน จึงเกิดเป็นร้าน Na Cafe at Bangkok 1899 นี้ขึ้นมาได้อย่างตรงคอนเซ็ปต์ ทั้งอาหาร ศิลปะ และสังคม ซึ่งนี่ถือเป็นคาเฟ่เพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตจากทางผู้ดูแลบ้านให้เข้ามาสร้างคาเฟ่ในบ้านได้
Na Cafe คืออะไร?
คำว่า Na Cafe คุณฮิมบอกกับเราว่า คำว่า นา ในที่นี้มาจาก 3 Na คือ นา นาวา และ Nature & Native ซึ่งทั้ง 3 คีย์เวิร์ดนี้ขึ้นต้นด้วย ตัว Na ทั้งหมด
นา หมายถึง สถานที่ปลูกสิ่งต่างๆ ไม่เฉพาะเจาะจงว่าจะต้องเป็นนาข้าว และเป็นสถานที่ปลูกสิ่งต่างๆ ที่สามารถทำร่วมกันได้จากหลายภาคส่วนนั่นเอง
นาวา หมายถึง น้ำ ซึ่งทางร้านให้ความสำคัญกับน้ำเป็นอย่างมาก ทุกภาคส่วนของทางร้านจะมีความเชื่อมโยงกับน้ำทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่การเดินทางมาที่ร้านยังสามารถเดินทางมาโดยคลองแสนแสบได้ด้วย
Nature & Native หมายถึง ความเป็นธรรมชาติและความเป็นรากเหง้าของไทย ที่ถูกเติมแต่งเข้ามาในร้านนี้ได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งความเป็นธรรมชาติที่รายล้อมร้านแห่งนี้เอาไว้ และความดั้งเดิมของวัฒนธรรมที่ทางร้านต้องการอยากจะอนุรักษ์เอาไว้
Creative Social Impact Cafe คำนิยามของที่นี่
เมื่อเราถามถึงคำว่า Creative Social Impact Cafe เราก็ได้คำตอบมาจากชายหนุ่มผู้มีแววตาภาคภูมิใจในสิ่งที่เขายึดมั่นและได้กระทำลงไปอย่างเป็นรูปธรรมจนเกิดเป็นคำนิยามนี้ขึ้นมา คุณฮิมเล่าให้เราฟังว่า Creative Social Impact Cafe คือกระบวนการทำงานภายในร้านแห่งนี้ที่ผ่านความร่วมมือจากหลายภาคส่วน หลายมูลนิธิ และหลายชนชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหยิบยื่นโอกาสทางด้านงานฝีมือให้กับผู้ลี้ภัยจากหลายๆ เชื้อชาติ ที่มาอาศัยอยู่ในเมืองไทย ทางร้านมีการร่วมมือกันกับศิลปินที่มาแสดงผลงานภายในบ้านนี้ โดยทางศิลปินจะเอาผลงานศิลปะของตัวเองไปจ้างให้กับผู้ลี้ภัยที่มีฝีมือในการตัดเย็บ สร้างสรรค์งานศิลปะขึ้นมาจนสมบูรณ์และนำมาจัดแสดงในบ้านหลังนี้ อีกทั้งยังมีการให้โอกาสเด็กๆ จากมูลนิธิ "สติ" ของคุณแซ็กให้เข้ามาสร้างอาชีพภายในร้านตามความถนัดของตัวเอง ซึ่งเราก็จะสามารถพบเจอน้องๆ จากในมูลนิธิเข้ามาทำงานภายในร้านกันหลากหลายตำแหน่ง มีตั้งแต่บาริสต้าไปจนถึงคนทำหน้าที่ Workshop ย้อมครามเลยทีเดียว กลายเป็นการมอบชีวิตใหม่ สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างสุจริตให้กับเด็กๆ เหล่านี้ได้อย่างยั่งยืน เป็นแรงผลักดันให้กับสังคมได้อย่างดีเยี่ยมสมกับคำนิยามของคาเฟ่นี้จริงๆ
ความแปลกในทางธุรกิจแต่กลับปกติในการใช้ชีวิตของคาเฟ่แห่งนี้
เมื่อถูกถามถึงแรงบันดาลใจ คุณฮิมบอกกับเราว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่ทำให้เกิดแนวคิดเหล่านี้ขึ้นมาคือความชอบของตัวเอง ชอบกินของอร่อย ชอบเสพงานศิลปะ มีแรงเหลือพอก็ช่วยเหลือคนอื่นที่ขาดโอกาส สิ่งเหล่านี้ถูกตกตะกอนจนกลายเป็นรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากคาเฟ่อื่นๆ คุณฮิมเล่าให้เราฟังต่อว่า เขามีแนวคิดที่จะเวียนเอาเชฟจากต่างจังหวัดมาทำงานภายในร้าน โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเชฟชื่อดัง หรือแม้กระทั่งคุณพ่อ คุณแม่ ของเพื่อนๆ ที่ทำอาหารอร่อย ไม่เว้นแม้แต่นายช่างที่มาทำงานให้กับร้านคุณฮิม ซึ่งมีความสามารถทำไก่อบโอ่งอร่อยมาก คุณฮิมก็เลยจัดโซนในการทำไก่อบโอ่งให้กับช่างผู้นี้ทำขายในวันอาทิตย์เสียเลย เรียกได้ว่า อาจจะดูแปลกในเชิงธุรกิจ แต่ในแง่ของการใช้ชีวิตนั้น เพียงแค่เราถูกใจ เราชอบทานอาหารรสชาติแบบนี้ และคิดว่าอยากจะส่งต่อให้กับคนอื่นๆ ได้ลองทานบ้าง ซึ่งนั่นก็คือเรื่องปกติในชีวิตคนเราที่มีโอกาสได้ลองของดีๆ ของอร่อย ก็อยากจะแชร์ต่อ ถึงแม้ว่าอาหารเหล่านั้นจะไม่ได้มาจากฝีมือของเชฟชื่อดังแต่อย่างใด แต่ขอแค่มันอร่อย แค่นั้นก็คงเพียงพอแล้วจริงๆ
Zero Waste แนวคิดที่ถูกนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม
แนวคิด Zero Waste เป็นกระบวนการที่ถูกนำมาใช้ภายในร้านนี้ โดยทางร้านได้มีการร่วมมือกันกับมูลนิธิ รักษ์อาหาร ซึ่งทำให้ทางร้านได้องค์ความรู้ในด้านการจัดการกับขยะทางอาหาร นำมาทำเป็นปุ๋ยหมัก เพื่อใช้กับพืชผักภายในร้านต่อไป เป็นการหมุนเวียนทางด้านชีวภาพที่ทรงประสิทธิภาพและสามารถลดปริมาณขยะให้กับโลกได้ผลเป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีการ Reform ผลไม้ที่ใกล้จะเสีย เพื่อนำมาใช้ในการทำแยมผลไม้โฮมเมด แทนที่จะเหลือทิ้งไปอีกด้วย
ประวัติศาสตร์ของบ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ส่งผลอย่างไรต่อการทำคาเฟ่บ้าง
บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีหลังนี้ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2442 เป็นเวลากว่า 100 ปีแล้วสำหรับบ้านไม้ 2 ชั้นทรงโคโลเนียลหลังนี้ แต่เดิมถูกสร้างให้เป็นเรือนหอของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีและภริยา ภายหลังกลายเป็นโรงเรียนสตรีจุลนาค โดยมีหม่อมเจ้าหญิง มาลากนก ทองใหญ่ เป็นครูใหญ่ ซึ่งต้องบอกเลยว่าบ้านเก่าหลังนี้มีประวัติความเป็นมามาอย่างยาวนานก่อนที่ทางคุณฮิม และ คุณแซ็ก จะเข้ามาสร้างคาเฟ่ Na Cafe at Bangkok 1899 ขึ้น ซึ่งเราก็ได้ถามไปทางคุณฮิมว่าการที่ได้เข้ามาทำ Project อยู่ในสถานที่แห่งประวัติศาสตร์แบบนี้ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง ทางคุณฮิมเองก็บอกว่ารู้สึกสบายใจเสียมากกว่าในการทำ Project ต่างๆ เพราะตัวเขาเองรู้สึกว่าท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเองนั้น ในอดีตถูกยกให้เป็นบิดาแห่งการศึกษาไทย ท่านเป็นคนหัวก้าวหน้า และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นทุกกิจกรรมที่ได้เกิดขึ้นในร้านแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเวทีเสวนาของผู้ลี้ภัย การจัดสถานที่แฮงเอาท์ต่างๆ นั้น ท่านจึงน่าจะชื่นชอบสิ่งต่างๆ เหล่านี้
ส่อง Spotlight สู่วัตถุดิบระดับ Local
ในพาร์ทของอาหาร จุดเด่นของร้านนี้คือการนำเอาวัตถุดิบระดับ Local ที่ทางคุณฮิม และ คุณแซ็ก ได้ร่วมกันไปเสาะหาจากหลายๆ ภูมิภาคของเมืองไทย ที่เห็นว่าสามารถสู้กับวัตถุดิบระดับสากลได้ ไม่ว่าจะเป็น ช็อกโกแลต กาแฟ และน้ำผึ้ง เป็นต้น ซึ่งวัตถุดิบทั้งหมดล้วนมาจากเกษตรกรไทย ที่ได้พัฒนาวัตถุดิบเหล่านี้ให้มีคุณภาพและได้รับการยอมรับในระดับสากลเลยทีเดียว หรือแม้แต่สมุนไพรและผักที่ใช้ทางร้านก็ปลูกขึ้นเองด้วยกรรมวิธีแบบ Organic ปลอดภัยจากสารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นคุณจะสามารถวางใจได้เลยว่าการมาทานอาหารที่ร้านนี้นั้นจะได้สัมผัสกับรสชาติของความเป็นธรรมชาติและวัตถุดิบระดับคุณภาพอย่างแน่นอน
อาหารเปรูครั้งแรกในชีวิต
วันที่เราไปเยือน Na Cafe at Bangkok 1899 นั้นเป็นช่วงที่เชฟชาวเปรู ได้มีโอกาสมาประจำการที่ร้านพอดี นั่นจึงเป็นโอกาสที่ดีมากที่เราได้ลองชิมอาหารเปรูจากฝีมือของต้นตำรับเป็นครั้งแรกในชีวิต กับ 2 เมนูสุดพิเศษที่มีชื่อว่า Ceviche Seabass และ Fetuccini Saltado Beef ซึ่งต้องบอกเลยว่ารสชาติอาหารเปรูนั้นค่อนข้างจะมี Base คล้ายๆ อาหารไทยเลยทีเดียว อร่อยจัดจ้านไม่จืดชืด เป็นการเปิดประสบการณ์ทางอาหารที่ดีเยี่ยมเลย ใครอยากลองชิมอาหารเปรูแบบต้นตำรับลองไปกันได้ หาทานยากแน่นอนในเมืองไทย
บรรยากาศที่คอนทราสต์ระหว่างโลเคชั่นและการตกแต่ง
มาดูในส่วนของบรรยากาศร้านกันบ้าง ต้องบอกเลยว่าเมื่อมองจากรูปลักษณ์ภายนอก เราไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าภายในร้านจะมีความคอนทราสต์กับภายนอกได้มากมายขนาดนี้ ด้วยบรรยากาศของบ้านเก่าโบราณ เป็นบ้านครึ่งไม้ครึ่งปูน 2 ชั้นสไตล์โคโลเนียลสุดคลาสสิค ภายในบ้านยังคงคอนเซ็ปต์ด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้ทรงยุโรปเก่าๆ แต่แฝงไว้ด้วยลูกเล่นความเป็นสมัยใหม่ด้วยไฟนีออน แสงสีฉูดฉาด เกิดเป็นงานศิลปะที่ถูกจัดวางและออกแบบมาได้อย่างลงตัว เป็นแนวทางที่ดูจะถูกใจสำหรับคนชื่นชอบการถ่ายรูป เป็นการฉีกกฎเกณฑ์เดิมๆ ของการตกแต่งออกไปได้อย่างสิ้นเชิง และเป็นภาพความประทับใจที่จะต้องถูกบันทึกลงในความทรงจำของผู้มาเยือนอย่างแน่นอน
ข้อมูลเพิ่มเติม
พิกัด : Na Cafe at Bangkok 1899
ติดต่อ : 089 164 4454
เวลาเปิด - ปิด : อังคาร - ศุกร์ 10.00 - 21.30 / เสาร์ - อาทิตย์ 11.00 - 21.30 น. (ปิดวันจันทร์)
อัลบั้มภาพ 40 ภาพ