รักจริง...อย่าทิ้ง อีต่อง
ภูเขาเทวดา
บนเนินเขาที่ถูกปรับแต่งเป็นลานจอดฮอลิคอปเตอร์ ลมหนาวและพราวหมอกเข้าปกคลุมในยามเช้า จากจุดนี้สามารถชื่นชมขุนเขาที่รายล้อมหมู่บ้านกลางพนาไทยพม่าได้กว้างไกล ซึ่งใครๆ ต่างต้องการมาเยือนมาสูดอากาศบริสุทธิ์สัมผัสวิถีชีวิตเงียบสงบสวยงามในหมู่บ้านเล็กๆ
แม้ว่าเส้นทางจะคดเคี้ยวยากลำบากลัดเลาะไปตามไหล่เขา กลับไม่เป็นอุปสรรค ตรงกันข้ามมันคือความท้าทาย ณ ดินแดนแห่งนี้ชาวพม่าเรียกกันว่า ณัตเอ่งต่อง ซึ่งแปลว่า ภูเขาเทวดา และได้เรียกชื่อเพี้ยนกันต่อมาว่า บ้านอีต่อง ชายแดนไทย – พม่า อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
ผีหลอก
ที่ชาวพม่าเชื่อกันว่าเป็นภูเขาเทวดานั้น เนื่องจากว่าในอดีตเมื่อประมาณ 80 ปีที่แล้ว มีชาวพม่าเดินทางเข้ามาขุดหาแร่ดีบุกและแร่วุลแฟรมไปขายให้ชาวอังกฤษ จนต่อมามีการสัมปทานทำเหมืองแร่กันอย่างจริงจัง สินทรัพย์ในดินแดนแห่งนี้มีมูลค่ามหาศาล จึงเปรียบกันว่าเป็นดินแดนแห่งเทพเจ้าประทานมาให้
ส่วนชื่อเหมืองแร่ปิล๊อกนั้น ก็เพี้ยนกันมาจากในสมัยที่มีการทำเหมือง พื้นที่บริเวณนี้มีการเสียชีวิตกันบ่อย ชาวพม่าบางคนตื่นตระหนกว่าพบเจอผี เมื่อพูดภาษาไทยไม่ค่อยชัดจึงเพี้ยนจากคำว่า “ผีหลอก” เป็นคำว่า “ปิล๊อก” อันเป็นที่มาของชื่อเหมืองดังกล่าว
การเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้านอีต่อง
ปัจจุบันหมู่บ้านอีต่องมีนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาเยี่ยมเยือนกันเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านในพื้นที่ต่างเริ่มปรับตัวให้ทันกับความต้องการของนักท่องเที่ยว เช่น มีการปรับบ้านเรือนของตนให้เป็นโฮมสเตย์เพื่อเป็นที่พัก มีร้านอาหาร ร้านกาแฟเพิ่มจำนวนมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการที่มากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนจำเป็นต้องใช้บริการ
ไฟดับบ่อย
แน่นอนครับว่าหมู่บ้านอีต่องต้องมีสภาพที่เปลี่ยนไป เรื่องนี้มีทั้งส่วนดีและเสีย ส่วนดีก็คือ ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการบริการดังกล่าว แต่ข้อเสียก็มีคือ บ้านอีต่องเป็นหมู่บ้านที่ห่างไกลจากตัวเมืองใหญ่ การใช้สาธารณูปโภค เช่น เรื่องไฟฟ้ายังใช้ระบบปั่นไฟกันอยู่ ระบบนี้เป็นระบบที่มีจำกัด
เมื่อบ้านหลายหลังปรับตัวให้เป็นที่พักแก่นักท่องเที่ยว ย่อมมีการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เมื่อกระแสไฟฟ้ามีอย่างจำกัด การใช้พร้อมกันในช่วงค่ำคืนที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเป็นจำนวนมาก จึงส่งผลกระทบให้ไฟฟ้าดับอยู่บ่อยครั้ง ในบางคืนถึงขนาดดับแล้วดับเลย บ้านที่มีเครื่องปั่นไฟเองก็สะดวกสบายหน่อยอาจจะไม่ค่อยกระทบอะไรกับปัญหานี้ แต่หากเป็นเครื่องปั่นไฟแบบใช้น้ำมันก็จะส่งผลให้เกิดเสียงดังรบกวน
ที่กระทบอีกส่วนหนึ่งคือ เด็กๆ ในวัยเรียน จำเป็นต้องทำการบ้าน อ่านหนังสือ เมื่อไม่มีไฟฟ้า กิจกรรมของพวกเขาก็อาจจะต้องยุติลงไปโดยปริยาย...น่าเห็นใจน้องๆ ไหมครับ
ขยะล้นหมู่บ้าน
อีกปัญหาหนึ่งที่ใหญ่ไม่แพ้เรื่องกระแสไฟฟ้าคือ เรื่องขยะ ขยะที่มาพร้อมกับผู้มาเยือน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ผมได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมสังเกตการณ์และทำกิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับการแยกขยะ กับกลุ่มอาสาเที่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มจิตอาสาที่รวมตัวกันเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องการจัดการกับขยะจากนักท่องเที่ยว
กลุ่มอาสาเที่ยวได้ไปให้ความรู้เรื่องการแยกขยะให้กับคนในพื้นที่ และรณรงค์ขอความร่วมมือกับนักท่องเที่ยวให้ลด ละ เลิกการใช้ถุงพลาสติก ขวดพลาสติก ซึ่งเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ยาก ซึ่งทางกลุ่มอาสาเที่ยวได้ใช้กาแฟสัญญาใจเป็นคำมั่นสัญญาว่าผู้ที่ดื่มกาแฟสดรสกลมกล่อมจากกลุ่มฯ ในแก้ววันนี้ จะลดละเลิกการใช้ถุง ขวด พลาสติก เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องใจซื้อใจกันเลยทีเดียวครับ จะได้ผลหรือไม่ จะมีผู้รักษาสัญญาหลังจากดื่มกาแฟฟรีจากผู้ที่ชงออกมาจากใจที่ต้องการให้โลกใบนี้น่าอยู่สดใสสวยงามหรือไม่ ก็คงขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของผู้รับคำสัญญาต่อไป ดูไปแล้วก็ยังดีกว่าเราไม่ได้ทำอะไรเลย
ขนขยะวันละ 8 เที่ยว
คุณเชื่อไหมครับว่า ปัญหาขยะของบ้านอีต่องกำลังจะไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป จากคำบอกเล่าของผู้นำในท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่จัดการขยะของหมู่บ้าน เล่าให้ฟังว่า ในวันธรรมดารถขนขยะของทาง อบต.จะทำงานเก็บขยะวันละ 2 เที่ยว ไปทิ้งไปพักไว้ในมุมหนึ่งของหมู่บ้านที่ไปทางเดียวกับจุดวางท่อแก๊สอย่างไม่มีทางเลือกครับ จะเผาจะกลบก็เกิดมลภาวะขึ้นมาอีก
และในวันหยุดมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเป็นจำนวนมาก รถเก็บขยะจะต้องทำงานถึงวันละ 8 เที่ยว!! น่าตกใจไหมครับ ขยะจำนวนมากเต็มคันรถต้องถูกนำไปกองรวมกันอยู่บนภูเขา จะจัดการให้ถูกต้องตามกระบวนการก็มีค่าใช้จ่ายสูง...น่าคิดนะครับ เราเป็นนักท่องเที่ยว เราจะมีส่วนร่วมช่วยผู้คนในพื้นที่อย่างไรดี เพื่อให้อีต่องยังคงเป็นหมู่บ้านที่น่าเดินทางไปเยี่ยมเยือนกันต่อไปอีกนานๆ
ผมเขียนเรื่อง รักจริง...อย่าทิ้ง อีต่อง ขึ้นมาเพื่ออยากจะเชิญชวนทุกท่านที่มีโอกาสได้ไปสัมผัสกับหมู่บ้านอีต่อง หมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขา ให้ท่านได้โปรดอย่าใช้หรือลดการใช้ถุงพลาสติก ขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ลดการใช้ให้ได้มากที่สุด เป็นไปได้ถ้าไม่ใช้เลยจะเป็นการดี เพราะเมื่อมีการใช้ก็จะมีการทิ้ง ที่ทิ้งที่สะดวกของทุกคนก็คือในหมู่บ้าน เพราะฉะนั้นอย่านำไปใช้ในหมู่บ้านจะดีกว่าครับ ชาวบ้านอีต่องลูกๆ หลานๆ ชาวอีต่อง จะได้ไม่ต้องทนทุกข์กับปัญหาขยะล้นหมู่บ้าน พวกเขาจะได้มีสุขภาพที่ดี จะได้มีสถานที่สวยๆ ให้เราได้เดินทางไปเที่ยวชมกันได้อีกนานๆ ท่องไว้ครับ “รักจริง...อย่าทิ้ง(ขยะ) อีต่อง”