“ภูทอก” จากศรัทธาสู่สถาปัตยกรรม

“ภูทอก” จากศรัทธาสู่สถาปัตยกรรม

“ภูทอก” จากศรัทธาสู่สถาปัตยกรรม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จังหวัดบึงกาฬมีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง ทั้งน้ำตก ภูเขา แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก อาจเพราะอยู่ห่างจาก กรุงเทพมหานครไกลถึง 751 กิโลเมตร  เด็ดสุดที่เราไม่อยากให้คุณพลาดเลย เพราะเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดก็ว่าได้ นั่นคือ “วัดภูทอก” หรือ “วัดเจติยาคีรีวิหาร” สถานที่ปฏิบัติธรรมสวยงามด้วยธรรมชาติแวดล้อม แฝงไว้ซึ่งเสน่ห์ทางธรรม

จุดเด่นของภูทอกคือบันไดและสะพานไม้เดินชมทัศนียภาพแบบ 360 องศา มีทั้งหมด 7 ชั้น ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 5 ปีเต็ม โดยไม่ใช้เครื่องจักรกลใดๆ  ทั้งหมดเกิดจากฝีมือ แรงงาน และภูมิปัญญาชาวบ้าน และที่สำคัญก็คือ ความอดทน

“ภูทอก” ตั้งอยู่ที่บ้านนาคำแคน ตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ

คำว่า “ภูทอก” ในภาษาอีสานแปลว่า “ภูเขาที่โดดเดี่ยว”

แต่ถึงแม้ว่าจะได้ชื่อว่าภูเขาโดดเดี่ยว ภูทอกก็ประกอบด้วยภูเขาหินทรายสีน้ำตาลแดงขนาดใหญ่สองลูกเรียงกัน คือ “ภูทอกใหญ่” และ “ภูทอกน้อย”  รายล้อมไปด้วยป่าทึบซึ่งอุดมด้วยสัตว์ป่านานาชนิด จวบจนเมื่อปี ๒๕๑๒ พระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐฺ ลูกศิษย์สายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะมหาเถระ ได้เข้ามาจัดตั้งแหล่งบำเพ็ญเพียรเพื่อให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติธรรม กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อสร้างวัดเจติยาคีรีวิหาร และสะพานนรก-สวรรค์ สะพานไม้ที่สร้างเวียนขึ้นสู่ยอดภูทอกน้อยอย่างพิลึกพิลั่นมหัศจรรย์

712684
994406

สะพานนรก-สวรรค์

“สะพานนรก-สวรรค์” เป็นสะพานไม้เวียนรอบจากเชิงเขาขึ้นสู่ยอดภูทอกน้อยที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ ๓๕๐ เมตร (ใกล้เคียงตึก ๖๐-๗๐ ชั้น) สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาจากเหล่าพระเณรและชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่โดยรอบ เริ่มต้นการสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ใช้เวลาทั้งหมด ๕ ปี จึงแล้วเสร็จ

พระอาจารย์จวนผู้บุกเบิกการก่อสร้าง หวังให้สะพานสื่อความหมายถึงการเดินไปตามเส้นทางธรรมที่สามารถน้อมนำสัตบุรุษให้หลุดพ้นความทุกข์ทั้งปวงจนอยู่เหนือโลกได้นั้น ต้องเป็นผู้มีความเพียรพยายาม ความอดทน และความมุ่งมั่น อีกทั้งยังต้องรู้จักประคับประคอง ควบคุมรักษาสติสัมปชัญญะไว้ให้จงดี ไม่ยอมให้ตกอยู่ในความประมาท จึงจะสามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆ ล่วงพ้นไปสู่จุดหมายในท้ายที่สุดได้ (บันไดและสะพานไม้เปรียบเสมือนเส้นทางธรรม ความสูงชันเป็นดุจดังอุปสรรคต่างๆ ยอดภูทอกน้อยเหมือนกับจุดมุ่งหมายสุดท้ายคือ ความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง หากเดินทางด้วยประมาทขาดสติ พลาดพลั้งร่วงหล่น ตกลงมาระหว่างทางก็อาจจะต้องเจ็บปวดรวดร้าว ราวกับตกนรก)

“สะพานนรก-สวรรค์” มีทั้งหมด ๗ ชั้น แต่ละชั้นมีลักษณะแตกต่างกันดังนี้

ชั้นที่ ๑-๒ เป็นบันไดไม้สู่ชั้นที่ ๓ ซึ่งเริ่มมีสะพานเวียนรอบเขา เส้นทางเดินรอบชั้นที่ ๓ มีโขดหิน ลานหิน หน้าผา และไม้ยืนต้นขึ้นกางกิ่งใบให้ร่มเงาครึ้ม  จากชั้นที่ ๓ จะมีทางแยกสองทาง ทางแยกซ้ายมือเป็นบันไดทางลัดสู่ชั้นที่ ๕ ส่วนทางแยกขวาจะเป็นทางขึ้นสู่ชั้นที่ ๔

ชั้นที่ ๔ เป็นสะพานลอยไต่เวียนรอบเขา มองลงไปเบื้องล่างจะเห็นเนินเขาเตี้ยๆ สลับกันเรียกว่า “ดงชมพู” ทิศตะวันออกจรดกับ “ภูลังกา” ในเขตอำเภอเซกา  ชั้น ๔ นี้เป็นที่พักของแม่ชี รอบชั้นมีระยะทางประมาณ ๔๐๐ เมตร มีจุดให้นั่งพักผ่อนชมทิวทัศน์ระหว่างทางเป็นระยะๆ

ชั้นที่ ๕ เป็นที่ตั้งของศาลาและกุฏิพระภิกษุสงฆ์ ตามทางเดินมีถ้ำตื้นๆ หลายถ้ำ มีลานกว้างนั่งพักได้หลายแห่ง หากเดินไปทางทิศเหนือจะเห็นสะพานหินธรรมชาติซึ่งทอดยาวเชื่อมกับสะพานไม้สู่ “วิหารพระพุทธ” ที่สร้างขึ้นอย่างแปลกประหลาดพิสดารจนดูราวกับมีใครนำหินก้อนใหญ่ไปวางทับไว้บนหลังคาวิหาร  วิหารพระพุทธนี้เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และถือเป็นจุดชมทิวทัศน์ซึ่งมีความงดงามมากที่สุดบนภูทอกน้อยเลยทีเดียว

การเดินขึ้นมาตาม “สะพานนรก-สวรรค์” ส่วนใหญ่มักหยุดการเดินทางเพียงแค่ชั้น ๕ เนื่องจากชั้นที่ ๖ เป็นสะพานไม้แคบๆ เวียนรอบเขาเกาะติดอยู่ริมหน้าผาสูงชันดูน่าหวาดเสียว แต่หากลองแข็งใจเดินขึ้นมายังสะพานชั้นที่ ๖ ดูก็จะพบจุดชมทิวทัศน์สวยๆ ที่สามารถถ่ายภาพ “วิหารพระพุทธ” จากมุมสูงได้ สะพานชั้นที่ ๖ มีความยาวรอบเขาทั้งหมดประมาณ ๔๐๐ เมตร

ส่วนชั้นที่ ๗ จะมีบันไดไม้พาดขึ้นมา เมื่อเดินขึ้นบันไดผ่านมาแล้วจะเจอทางแยก ๒ ทางเพื่อขึ้นดาดฟ้าชั้น ๗ ทางแรกเป็นทางชันต้องเกาะเกี่ยวกิ่งไม้และรากไม้เดินลำบาก ควรใช้อีกทางหนึ่งซึ่งเป็นทางอ้อม ต้องเดินเวียนไปทางขวามือ แต่ก็จะมาบรรจบกันด้านบนชั้นที่ ๗ หรือดาดฟ้า ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าไม้ทึบ มีเนื้อที่ประมาณ ๕ ไร่ ไม่แนะนำสำหรับการท่องเที่ยว เพราะอาจได้รับอันตรายจากสัตว์มีพิษ

สะพานไม้ที่ยื่นออกจากหน้าผาชันสูงนี้ กำลังท้าทายแรงโน้มถ่วงของโลก ภาพที่เราเห็นนอกจากจะทำให้หวาดเสียวแล้ว ยังรู้สึกได้ถึงความอัศจรรย์ของภูมิปัญญาชาวบ้าน ไม่แปลกเลยที่สถานที่แห่งนี้จะเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งบันไดไม้แต่ละขั้น ประหนึ่งบันไดขึ้นสู่สวรรค์

ความสวยงามชวนตื่นตา น่าพิศวงของ “วิหารพระพุทธ” และ “สะพานนรก-สวรรค์” ของวัดเจติยาคีรีวิหาร บนภูทอกน้อยนั้นน่าจะมีคุณค่าสมควรแก่การเรียกได้ว่า “อัศจรรย์เมืองไทย (Amazing Thailand)” จริงๆ

732992

พระเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

นอกเหนือจาก “สะพานนรก-สวรรค์” และ “วิหารพระพุทธ” ซึ่งตั้งอยู่บนภูทอกน้อยแล้ว ภายในบริเวณวัดเจติยาคีรีวิหารยังมีสถานที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งซึ่งผู้ที่เดินทางมาเยือนวัดแห่งนี้ควรแวะไปเยี่ยมชม ได้แก่ “พระเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ”

พระเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ เป็นพระเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม มียอดบัวตูม โดยรอบองค์พระเจดีย์ประดับกระเบื้องดินเผาบอกเล่าเรื่องราวประวัติของพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

ภายในองค์พระเจดีย์ประดิษฐานรูปปั้นพระอาจารย์จวนขนาดเท่าองค์จริง มีเครื่องอัฐบริขารของพระอาจารย์จวน และพระอัฐิธาตุของพระอริยสงฆ์องค์อื่นๆ จัดแสดงไว้ให้ชม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีเคยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีบรรจุพระอัฐิธาตุของพระอาจารย์จวน และทรงเปิดพระเจดีย์พิพิธภัณฑ์ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันพุธที่ ๒๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๓

127298
138996

กติกามารยาท

“วัด” คือสถานที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจสำคัญของชาวพุทธ ผู้จะเข้าเยี่ยมชม-กราบไหว้ ควรปฏิบัติตามกฎระเบียบที่่ทางวัดตั้งไว้อย่างเคร่งครัด ได้แก่ ห้ามดื่มสุรา ห้ามส่งเสียงดัง ห้ามขีดเขียน-สลักข้อความลงบนหิน ต้นไม้ หรือสิ่งปลูกสร้าง ห้ามทำลามกอนาจาร ห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในวัด แต่งกายให้สุภาพ และควรเข้า-ออกจากวัดตามเวลาที่กำหนดไว้ คือตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๐๐ น. ทุกวัน ยกเว้นในวันที่ ๑๐-๑๖ เมษายน ของทุกๆ ปี ทางวัดจะปิดไม่ให้ขึ้นภูทอก

พระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ (นรมาส)

เกิด ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๖๓

มรณภาพ ๒๗ เมษายน ๒๕๒๓

บวช ๒๔ มีนาคม ๒๔๘๖ 

พรรษา ๓๗ ปี

ภูมิลำเนา บ้านเหล่ามันแกว ตำบลโคกกลาง อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ (จังหวัดอุบลราชธานี) จำพรรษาที่วัดภูทอก มกราคม ๒๕๑๒ ถึง ๒๗ เมษายน ๒๕๒๓

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ “ภูทอก” จากศรัทธาสู่สถาปัตยกรรม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook