Patpong Museum: พัฒน์พงศ์ ซอยที่มีมากกว่าบาร์อะโกโก

Patpong Museum: พัฒน์พงศ์ ซอยที่มีมากกว่าบาร์อะโกโก

Patpong Museum: พัฒน์พงศ์ ซอยที่มีมากกว่าบาร์อะโกโก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“พัฒน์พงศ์” หนึ่งในย่านสถานบันเทิงยามราตรีของกรุงเทพ ที่ตั้งอยู่ระหว่างถนนสีลมและถนนสุรวงศ์ ถูกยกให้เป็นย่านโคมแดงแห่งเมืองกรุงที่คลาคล่ำไปด้วยคลับบาร์มากมาย และเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก แต่ในย่านที่เต็มไปด้วยแสงไฟวิบวับและผู้คนที่ต้องการออกมาหาความสุขยามค่ำคืน พัฒน์พงศ์กลับซุกซ่อนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมายที่น้อยคนนักจะเคยได้รู้ เหตุการณ์สำคัญที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์โลกอัดแน่นอยู่ภายในพื้นที่เล็ก ๆ ใจกลางกรุงเทพมาตลอดหลายสิบปี และถูกหยิบมาเล่าให้คนรุ่นหลังได้ฟังกันอีกครั้งในพิพิธภัณฑ์เปิดใหม่อย่าง Patpong Museum พิพิธภัณฑ์ที่จะพาทุกคนย้อนกลับไปในแต่ละยุคสมัยของย่านพัฒน์พงศ์ที่ไม่ได้มีแต่บาร์อะโกโก และ Sanook ก็ไม่รอช้า ขอพาทุกคนไปสำรวจพิพิธภัณฑ์ใหม่แกะกล่องที่จะทำให้เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของย่านพัฒน์พงศ์ที่ทั้งสนุกและน่าสนใจ

จากปูนซีเมนต์ไทยสู่ CIA

“พัฒน์พงศ์เริ่มต้นจากผู้ชายที่มีหัวทางด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยที่เขาละทิ้งบ้านเกิด เดินทางมายังประเทศใหม่ และค้นคว้า เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง” คุณไมเคิล เมสเนอร์ ผู้ก่อตั้งและคิวเรเตอร์ของ Patpong Museum เริ่มต้นเล่าประวัติศาสตร์ของพัฒน์พงศ์ให้เราฟัง

ประวัติศาสตร์หน้าแรกของพัฒน์พงศ์เริ่มต้นขึ้นจาก หลวงพัฒน์พงศ์พานิช ชายหนุ่มชาวจีนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย ตรากตรำทำงานหนัก จนในที่สุดได้รับสัมปทานทำเหมืองดินขาวส่งให้ปูนซีเมนต์ไทย

หลวงพัฒน์พงศ์พานิชส่งลูก ๆ ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ และหนึ่งในนั้นคือคุณอุดม พัฒน์พงศ์พานิช ที่เดินทางไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา และภายหลังได้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก CIA หรือสำนักข่าวกรองกลางของรัฐบาลสหรัฐ เพื่อทำหน้าที่ต่อต้านการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เมื่อคุณอุดมกลับมาประเทศไทย สงครามโลกก็ยุติลงไปแล้ว ด้วยเหตุนี้ คุณอุดมจึงหันมาพัฒนาผืนดินของครอบครัว โดยเริ่มจากการตัดถนนผ่านที่ดินของตัวเอง พร้อมกับสร้างอาคารพาณิชย์รูปแบบที่ทันสมัยเพื่อทำเป็นร้านรวงต่าง ๆ และตั้งชื่อว่า “ซอยพัฒน์พงศ์”

ความที่อยู่ในขบวนการเสรีไทยและร่ำเรียนมาจากต่างประเทศ ทำให้คุณอุดมมีเพื่อนพ้องที่เป็น CIA มากมาย เขาจึงเชิญชวนให้มิตรสหายเข้ามาทำธุรกิจในพัฒน์พงศ์ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ บริษัทยักษ์ใหญ่จากต่างชาติ ทั้งบริษัท IBM บริษัทน้ำมัน และสายการบินจากทั่วโลก เข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในย่านนี้ และนำพาความเจริญเข้ามาจนทำให้พัฒน์พงศ์กลายเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพ

“ชาวต่างชาติในสมัยก่อนเล่าว่า ถ้าอยากจะสั่งเครื่องดื่มเป็นภาษาอังกฤษ ให้ไปที่พัฒน์พงศ์ เพราะเป็นที่เดียวในกรุงเทพที่พูดภาษาอังกฤษกัน” คุณไมเคิลเล่า

พัฒน์พงศ์ในขณะนั้นเปรียบเสมือนหน้าต่างสู่โลกกว้าง หากต้องการจะบินออกนอกประเทศ ก็ต้องมาซื้อตั๋วเครื่องบินที่พัฒน์พงศ์ หรือหากต้องการรับข่าวสารจากต่างประเทศ ก็ต้องมาที่พัฒน์พงศ์ เพราะที่นี่เป็นที่ตั้งของสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCC) แห่งแรกของไทย และยังติดตั้งเคเบิลช่องข่าวจากทั่วโลกเอาไว้

ด้วยความที่เป็นศูนย์กลางความเจริญแห่งหนึ่งของกรุงเทพ และเป็นแหล่งที่ตั้งของสายการบินใหญ่ ๆ จากทั่วโลก ทำให้พัฒน์พงศ์กลายเป็นฐานทัพของ CIA ในช่วงสงครามเวียดนาม ซึ่งทำงานภายใต้ชื่อ Civil Air Transport โดยทำหน้าที่สนับสนุนปฏิบัติการลับอยู่ในพื้นที่ทวีปเอเชีย ในขณะนั้น พัฒน์พงศ์จึงเต็มไปด้วยนักบินจากสายการบินต่าง ๆ หลายสัญชาติ ที่นอกจากจะเข้ามาทำงานแล้ว ยังใช้พัฒน์พงศ์เป็นแหล่งสังสรรค์และกินดื่มกับเพื่อน ๆ หลังเลิกงาน

สีสันบันเทิงแห่งพัฒน์พงศ์

“จุดเปลี่ยนของพัฒน์พงศ์อยู่ในช่วงกลางยุค 70s จนถึงช่วงต้นยุค 80s โดยบริษัทต่างชาติเริ่มย้ายออกจากพื้นที่ ตอนที่ IBM ย้ายไปและเกิดไนท์คลับ Superstar Disco ขึ้นมาแทนที่ เท่ากับว่าบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ถูกแทนที่ด้วยสถานบันเทิงนั่นเอง” คุณไมเคิลเล่าให้ฟังถึงจุดเปลี่ยนของพัฒน์พงศ์ที่กลายเป็นเหมือนภาพจำของย่านนี้มาจนถึงปัจจุบัน

จากแหล่งแฮงก์เอ้าท์ของนักบินและคนทำงานในพื้นที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยามราตรีที่เต็มไปด้วยหญิงสาว แสงสี และน้ำเมา ไนท์คลับผุดขึ้นมากมาย ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาสัมผัสบรรยากาศของย่านแสงไฟแห่งเมืองกรุงอย่างไม่ขาดสาย นอกจากนักท่องเที่ยวทั่วไปแล้ว ยังมีดารานักร้องที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่ย่างเท้าเข้ามาเยี่ยมเยือนย่านพัฒน์พงศ์เช่นเดียวกัน หนึ่งในนั้นคือ David Bowie นักร้องชื่อก้องโลกชาวอังกฤษ ที่เลือกเอา Superstar Disco มาเป็นหนึ่งในสถานที่ถ่ายทำสารคดีระหว่างการทัวร์คอนเสิร์ต David Bowie Serious Moonlight Tour 1983 ของเขา ไม่เพียงเท่านั้น ย่านพัฒน์พงศ์ในช่วงเวลานั้นยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจมืดแหล่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีพ่อค้ามาเฟียจากทั่วโลกเดินทางมาเจรจาพูดคุยธุรกิจ ทั้งธุรกิจกัญชาและการค้าอาวุธ

แม้จะถูกมองว่าเป็นย่านโคมแดง แต่คุณไมเคิลกลับมองว่าความหมายของย่านโคมแดงในทัศนคติของคนไทย ไม่ใช่สถานที่ค้าประเวณีเพียงอย่างเดียว แต่กลับเป็นพื้นที่ที่มีการเต้นรำในดิสโก้เธค ซึ่งในขณะนั้นยังถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ผู้หญิงไม่ควรทำและผู้ปกครองก็ไม่ต้องการให้ลูกสาวหรือหลานสาวเข้าไปอยู่ในสถานบันเทิงลักษณะนี้

“ที่พัฒน์พงศ์ถูกมองว่าเป็นย่านไม่ดี ไม่ใช่ว่ามันเป็นย่านโคมแดงนะ แต่เป็นเพราะว่ามันเกี่ยวข้องกับดิสโก้หรือความบันเทิง ซึ่งถูกมองว่าเป็นอันตรายในช่วงเวลานั้น” คุณไมเคิลเล่า

แล้วทำไมบาร์อะโกโกจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของพัฒน์พงศ์ คุณไมเคิลอธิบายว่า ในยุคนั้น หากต้องการเปิดร้านที่อนุญาตให้มีการเต้นรำและดื่มกินภายในร้าน เจ้าของร้านต้องทำการขอใบอนุญาตทั้งหมด 2 ใบ โดยใบแรกคือใบอนุญาตสถานบันเทิง ซึ่งออกให้โดยกระทรวงกระทรวงกลาโหม เพราะไนท์คลับถูกมองว่าเป็นเรื่องความมั่นของชาติ และใบที่สองคือใบอนุญาตการเต้นรำ ซึ่งออกให้โดยกระทรวงมหาดไทย

“ในตอนนั้น ริค มีนาร์ด เจ้าของสปอร์ตบาร์ชาวอเมริกัน ชื่อร้าน The Grand Prix Bar ได้นำหญิงสาวมายืนอยู่บนแท่นไม้ และขยับตัวตามจังหวะเพลง เมื่อตำรวจเข้ามาตรวจในร้าน ก็เรียกหาใบอนุญาตทั้ง 2 ใบที่กฎหมายกำหนด ริคจึงอธิบายว่า นี่เป็นแค่หญิงสาวที่เพลิดเพลินไปกับเสียงดนตรีเพียงคนเดียว ไม่ได้ต้องการจะมอบความบันเทิงให้กับใคร และเธอก็ไม่ได้เต้นรำ เพียงแต่ขยับร่างกายไปตามเสียงเพลงตามลำพังเท่านั้น และนั่นคือต้นกำเนิดของบาร์อะโกโก” คุณไมเคิลเล่าให้ฟังอย่างขำขัน

ดังนั้น บาร์อะโกโกจึงเกิดขึ้นจากช่องว่างทางกฎหมายที่ระบุว่า การเต้นรำคือการเต้นคู่กันของผู้หญิงและผู้ชาย ทำให้เจ้าของกิจการทั้งหลายเลือกที่จะเอาผู้หญิงขึ้นไปโยกย้ายส่ายสะโพกบนเวทีโดยลำพังเพื่อหลีกเลี่ยงการยื่นขอใบอนุญาตที่กฎหมายกำหนด นี่จึงเปรียบเสมือนต้นกำเนิดบาร์อะโกโกของเมืองไทยที่ และอยู่คู่กับพัฒน์พงศ์มาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาในช่วงยุค 90s การเกิดขึ้นของ “ไนท์มาร์เก็ต” ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อย่านพัฒน์พงศ์ หลายคนมองว่านี่เป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้พัฒน์พงศ์มีสภาพแวดล้อมที่หลากหลายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของไนท์มาร์เก็ตก็ทำให้บรรยากาศเดิม ๆ ของพัฒน์พงศ์เปลี่ยนแปลงไป บาร์ที่เคยอยู่มานานเริ่มทยอยปิดตัวลงและย้ายออกจากพื้นที่ บาร์อะโกโกผุดขึ้นมาแทนที่มากมาย ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของพัฒน์พงศ์ไปจนหมด

“ผู้คนต่างพูดกันว่าพัฒน์พงศ์สูญเสียเสน่ห์ไปก็เพราะเหตุผลนี้” คุณไมเคิลกล่าว

พัฒน์พงศ์ยังคงอยู่

พัฒน์พงศ์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งในด้านของร้านรวงที่อยู่รายรอบ ผู้คนที่เข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ และบรรยากาศของย่าน ดังเช่นในช่วงยุค 2000 ที่ไนท์คลับ Black Pagoda เปิดทำการ โดยตั้งอยู่บนสะพานที่เชื่อมตัวตึกของไนท์คลับกับตึกจอดรถ พร้อมกับมีดีเจระดับโลกสับเปลี่ยนหมุนเวียนมามอบความสนุกให้กับผู้มาเยือน เรียกได้ว่า Black Pagoda คือสถานที่ที่ทำให้พัฒน์พงศ์กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

“Black Pagoda มีความหรูหรามากขึ้น และเป็นแรงบันดาลใจให้สถานที่อื่น ๆ เริ่มพัฒนาคุณภาพของตัวเอง จากนั้นก็เกิดไอริชผับซึ่งมีอิทธิพลต่อพัฒน์พงศ์เป็นอย่างมาก ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้บาร์อะโกโกที่เคยมีอยู่มากมายค่อย ๆ หายไป และกลายเป็นสิ่งที่หาดูได้ยาก ผู้คนก็อยากจะเห็นว่าบาร์อะโกโกเมื่อก่อนเป็นอย่างไร กลุ่มคนที่มาก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย จากที่เป็นนักท่องเที่ยวผู้ชายผิวขาว ก็เริ่มมีหลากหลายมากขึ้น เริ่มมีที่เป็นคู่รัก เป็นชาวเอเชีย กลายเป็นมีความบันเทิงทุกรูปแบบรวมอยู่ในที่เดียวกัน” คุณไมเคิลอธิบาย

พัฒน์พงศ์มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวมันเองอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ในปัจจุบันนี้ คุณไมเคิลมองว่า Patpong Museum ก็จะมีส่วนสำคัญที่จะดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยให้กลับมาที่ย่านพัฒน์พงศ์อีกครั้ง ประวัติศาสตร์ที่ถูกรวบรวมเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จะช่วยอธิบายความเป็นมาและเรื่องราวที่ถูกร้อยเรียงกันอยู่บนถนนสายเล็ก ๆ ใจกลางกรุงเทพแห่งนี้ได้อย่างชัดเจนและน่าสนใจ

แม้พัฒน์พงศ์จะยังมีภาพจำเป็นแหล่งอโคจรของเมือง แต่พื้นที่แห่งนี้ก็มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่พัฒน์พงศ์อยู่คู่กรุงเทพ เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรมากมายในย่านท่องเที่ยวแห่งนี้ เสน่ห์ของมันที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตั้งแต่ครั้งที่ยังเป็นพื้นที่สังสรรค์ของสายลับ CIA มาสู่แหล่งท่องเที่ยวย่านโคมแดงที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก รวมถึงดารา นักร้องชื่อดังระดับโลก ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพัฒน์พงศ์เป็นอีกหนึ่งย่านสำคัญของกรุงเทพที่เราทุกคนควรเข้าไปทำความรู้จักย่านนี้สักครั้ง โดยทั้งหมดที่เราเล่ามาถูกจัดแสดงอยู่ใน Patpong Museum พิพิธภัณฑ์ที่จะพาทุกคนไปสัมผัสชีวิตของพื้นที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นย่านที่จัดจ้านและน่าค้นหามากที่สุดย่านหนึ่งของกรุงเทพ

Patpong Museum ตั้งอยู่ที่ อาคาร 5 ชั้น 2 ถ.พัฒน์พงศ์ 2 แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ (ตรงข้ามฟู้ดแลนด์) เปิดตั้งแต่ 10.00 - 23.00 น. อัตราค่าเข้าชมคนละ 350 บาท ติดต่อโทร 091 – 887 - 6829
เว็บไซต์: https://www.patpongmuseum.com/
Facebook: https://www.facebook.com/patpongmuseum/?rf=101334437920240

อัลบั้มภาพ 23 ภาพ

อัลบั้มภาพ 23 ภาพ ของ Patpong Museum: พัฒน์พงศ์ ซอยที่มีมากกว่าบาร์อะโกโก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook