เขาคิชฌกูฏ 2563 เช็กลิสต์ 7 สิ่งควรรู้ก่อนจะไปเที่ยว
เขาคิชฌกูฏสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดจันทบุรี สถานที่ที่ในหนึ่งปีจะเปิดให้ขึ้นไปเที่ยวชมแค่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ในปีนี้เขาคิชฌกูฏจะเปิดให้ขึ้นเขาตั้งแต่ วันที่ 25 มกราคม - 24 มีนาคม 2563
สำหรับใครที่ยังไม่เคยไปเที่ยวเขาคิชฌกูฏและมีแพลนอยากจะไปกันในปีนี้ Sanook! Travel ได้นำข้อมูลอัปเดตและสิ่งที่ควรรู้ก่อนจะไปเที่ยวมาแชร์ให้ทุกคนได้อ่านกันครับ
1.ข้อมูลเขาคิชฌกูฏ
ยอด "คิชฌกูฏ" ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติคิชฌกูฏ ต.พลวง กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี เขาคิชฌกูฏ ที่จังหวัดจันทบุรี เป็นที่ประดิษฐานของรอยพระพุทธบาทที่อยู่สูงที่สุดในประเทศไทย สูงกว่า 1,050 เมตร จากระดับน้ำทะเล ถือว่าสูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ "รอยพระพุทธบาท" มีลักษณะเป็นรอยบนหินแผ่นใหญ่ มีรอยลึกประมาณ 2 เมตรเศษ กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ค้นพบที่ยอดเขาพระบาทห่างจากที่ทำการอุทยานเขาคิชฌกูฏราว 4 กม.
2.ตำนานเขาคิชฌกูฏ
ที่มาของชื่อเขาคิชฌกูฏนั้น ในตำนานศาสนาพุทธกล่าวไว้ว่า เขาคิชฌกูฎอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธเป็นยอดเขาที่มีแนวเขาล้อมโดยรอบ และเคยเป็นสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าในอดีต เป็นความดำริของพระครูธรรมสรคุณซึ่งเป็นกรรมการและเป็นหลักในการพัฒนาพระบาทพลวงตั้งแต่ พ.ศ. 2515 ได้เสนอใช้ชื่อ พระบาทเขาคิชฌกูฎ (พลวง) เหตุผลเพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธที่พุทธศาสนาเจริญกว่าเมืองไหนๆ แม้กระทั่งประเทศอินเดีย
โดยสภาพภูมิประเทศคล้ายคลึงและบนยอดเขามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวกับพระพุทธองค์ คือ รอยพระพุทธบาท และหินลูกบาตร ที่ตั้งข้างรอยพระพุทธบาท อยู่ในลักษณะคล้ายลอยอยู่ริมลานพระพุทธบาทฝั่งตรงข้ามหินลูกบาตรมีรอยพระหัตถ์ไปรับหินก้อนนี้ และในหินก้อนนี้ ตรงข้ามกันรอยพระหัตถ์ มีรูปรอยเท้าใหญ่ (รอยเท้าพญามาร) ใต้พระบาทมีถ้ำตาฤาษี
จึงน่าจะใช้ชื่อนี้เป็นที่ระลึกถึงพระบรมศาสดา ในทุกๆ ปีจะมีพิธีเปิดและพิธีปิดการขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ พระครูธรรมสรคุณ ยังได้สอนว่า "เท้าของพระพุทธองค์ แม้ประดิษฐานอยู่แห่งหนตำบลใดก็ตาม ถ้าเรามีความเชื่อมั่น เคารพกราบไหว้ด้วยใจ อธิษฐานแล้ว ย่อมเกิดผลสำเร็จแก่ผู้นั้นทุกคนและเป็นสิริมงคลแก่ผู้นั้นตลอดไป"
3.การเดินทางไปเขาคิชฌกูฏ
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 มอเตอร์เวย์ ผ่าน อำเภอบ้านบึง มุ่งสู่ อำเภอแกลง จากสามแยกแกลงให้เลี้ยวซ้าย แล้วใช้ถนนสุขุมวิท (ทางหลวงหมายเลข 3) เมื่อถึงทางแยกเข้าตัวเมืองจันทบุรี (สี่แยกเขาไร่ยา) เลี้ยวซ้ายเขาถนนบำราศนราดูรไปประมาณ 20 กิโลเมตรนิดๆ ก็จะถึงน้ำตกกระทิง เลยวัดกระทิงไป 400 เมตร ก็จะถึงแยกขวามือที่จะไปวัดพลวง ซึ่งเป็นถนนลูกรังระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ให้จอดรถฝากไว้ที่วัดพลวงแล้วนั่งรถบริการที่จะพาไปยอดเขา
4.ที่พักใกล้เขาคิชฌกูฏ
สำหรับใครทีอยากจะมานอนพักก่อนจะขึ้นเขาคิชฌกูฏ สามารถมาหาที่พักใกล้ๆ บริเวณทางขึ้นเขาได้ โดยมีให้เลือกพักกันมากมายหลายที่เลย แต่ควรโทรจองก่อนเพื่อความชัวร์เพราะในช่วงนี้ที่พักหลายๆ ที่เต็มไวมาก เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาขึ้นเขาคิชฌกูฏกันเยอะ สามารถเช็กรายชื่อที่พักใกล้ทางขึ้นเขาคิชฌกูฏได้ตามนี้ >>5 ที่พักใกล้เขาคิชฌกูฏ ต้อนรับเทศกาลขึ้นเขาคิชฌกูฏ ปี 2563
5.สามารถขึ้นเขาคิชฌกูฏได้สองทาง
สำหรับใครที่จะมาขึ้นเขาคิชฌกูฏนั้นไม่อนุญาตให้นำรถส่วนตัวขัยขึ้นเอง เพราะทางค่อนข้างจะคดเคี้ยวและอันตรายต้องอาศัยความชำนาญในพื้นที่เท่านั้น โดยสามารถขึ้นได้สองทางคือทางวัดพลวง และทางวัดกะทิง หากขึ้นทางวัดกะทิงจะเป็นรถแบบต่อเดียวถึงด้านบนเลย แต่หากขึ้นทางวัดพลวงจะต้องต่อรถกลางทางอีกทีหนึ่งก่อนจะถึง
6.การเดินเท้าต่อไปจนถึงรอยพระพุทธบาท
การเดินทางขึ้นมาที่เขาคิชฌกูฏนั้นจะมีรถนำมาส่งถึงแค่ลานพระสีวลี ต่อจากนั้นนักท่องเที่ยวจะต้องเดินเท้าขึ้นมาเองจนถึงรอยพระพุทธบาทพลวงซึ่งถือได้ว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญที่สุดของเขาคิชฌกูฏ มีระยะการเดินเท้าประมาณ 3 กิโลเมตร
7.ลำดับการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาคิชฌกูฏ
ลำดับการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาคิชฌกูฏนั้นจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่วัดพลวง ด้านล่าง ไล่มาที่ลานพระสีวลี และอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช ก่อนจะเดินไปที่รอยพระพุทธบาทพลวง จบท้ายที่การเขียนคำอธิษฐานที่ลานผ้าแดงเป็นอันเสร็จสิ้นสมบูรณ์
อัลบั้มภาพ 20 ภาพ