“ใบอ้ม” เครื่องหอมในวัฒนธรรมอีสาน

“ใบอ้ม” เครื่องหอมในวัฒนธรรมอีสาน

“ใบอ้ม” เครื่องหอมในวัฒนธรรมอีสาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“หอมเอ้ยหอมใบอ้ม หอมลอยลมจนคนส่า”

คำผญาอีสานพรรณนาถึงความหอมจนเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาของใบอ้มที่ล่องลอยอยู่ในสายลมที่พัดผ่านไปมา

ใบอ้มนี้เป็นชื่อเรียกในภาษาอีสานลักษณะเป็นพืชที่มีใบปกคลุมสีเขียว ใบเรียว ส่งกลิ่นหอมราวกับกลิ่นใบเตยผสมยอดข้าว ตลบอบอวลเมื่อสัมผัสกับความร้อนนอกจากนี้ยังพบว่าอ้มนั้นยังมีชื่อที่หลากหลายเรียกแตกต่างกันในหลาพื้นที่ เช่น เนียมอ้ม เนียมหอม อ้มหอม ฯลฯ


588581
630664

ใบอ้มพืชสมุนไพรหลากหลายสรรพคุณ

อ้ม หรือ เนียมอ้ม ชื่อในทางวิทยาศาสตร์ว่า Chloranthus spicatus (Thunb.) Makino เป็นพืชในวงศ์ Chloranthaceae เป็นพืชพื้นเมืองของจีน แต่พบได้ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากความหอมที่เป็นคุณสมบัติเด่นแล้ว อ้มสามารถนำใบและดอกนำมาชงเป็นน้ำชาแก้ไอ ใบสามารถตำพอกรักษาฝีและแผลที่เกิดจากน้ำร้อนลวก ส่วนรากรับประทานในขนาดที่พอดีตามตำรายาสามารถแก้มาลาเรียได้แต่หากรับประทานเกินขนาดมากไปจะเป็นพิษ

ชาวอีสานในอดีตใช้อ้มกันอย่างหลากหลาย เช่น นำมาผสมกับน้ำทาผมช่วยให้ผมดำเงา และซอยใบให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่รวมกับเต้าปูนจะช่วยให้ปากหอม สูตรนี้ผู้สูงวัยนิยมกันเป็นอย่างมาก ส่วนในมุมมองจากกลุ่มผู้ชายใบอ้มลนไฟแช่ไว้ในไหเหล้าของคนสมัยก่อนหอมหวานจนลืมเมากันเลยทีเดียว รวมถึงยังนำไปอบทำยาสูบลดกลิ่นฉุนให้หอมนุ่มนวลขึ้นมาทันที

424452

เล่าความหลังผ่านใบไม้

คุณย่ากองสี ด้วงคำจันทร์ วัย 81ปี เล่าย้อนถึงวัยเด็กที่ผ่านพ้นมานานแสนนานให้ฟังว่า “ตัวย่าเองบ่ทันได้ใช้ใบอ้มเป็นเครื่องหอมโดยตรงดอก แต่ว่าตอนน้อยๆ ยายใช้ให้เข้าไปป่าพลูเพื่อเก็บใบพลูมาเคี้ยวหมาก เพราะสมัยก่อนตามบ้านปลูกต้นพลูไม่ได้”

“ทำไมถึงต้องไปเก็บใบพลูที่อื่น ที่บ้านไม่มีหรือ” ผู้เขียนก็ตั้งคำถามด้วยความสงสัย คุณย่าก็ตอบพลางนั่งขูดขมิ้นเบาๆ ว่า “เอ้า..กะสมัยนั้นเพิ่นบ่ให้เคี้ยวหมากเนาะ เลยได้ถางเครือพลูต้นหมากทิ้งไปหมด” อ่อ..เล่าที่มาที่ไปของการเก็บพลูก็สะท้อนสภาพการเมืองและสังคมที่ส่งผลมาถึงชีวิตชาวบ้านอีสานที่ห่างไกลได้บ้างเหมือนกัน

การเข้าไปหาพลูตั้งแต่ตอนนั้นของคุณย่าเองเลยทำให้ได้ไปเห็นผู้ใหญ่ในสมัยก่อน (หากเทียบอายุคงเป็นร้อยกว่าปีได้แล้ว) กำลังโฮมกันหรือรวมกลุ่มกันทำ “หมกอ้ม”

การทำหมกอ้มนั้นสามารถทำได้โดยวัสดุง่ายๆ ที่มีตามธรรมชาติและอยู่ในวิถีของคนอีสานโบราณ ว่าแล้วคุณย่าก็จัดเตรียมอุปกรณ์ที่มีอยู่ในครัวพร้อมสาธิตบอกวิธีทำ ขั้นตอนแรกคือนำเอาขมิ้นบดละลายน้ำผสมกับดินสอพอง วางใบอ้ม 3-4 ใบ ห่อใบตองอ่อนตั้งกับขี้เถ้าร้อนๆ จนสุก วิธีการนี้เรียกว่า “หมกขี้เถ้า” จากนั้นนำแป้งที่ได้มาทาตัวเป็นเครื่องสำอางและเครื่องหอม

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งวิธีคือการนำใบอ้มไปนาบกับหม้อดินตั้งไฟจนร้อน จากนั้นนำเอาใบอ้มที่สุกแล้วมาพกตามตัว ใส่เสื้อผ้า ห่อผ้าแพร หรือเก็บไว้ในตู้เสื้อผ้า คนสมัยก่อนจะใช้เมื่อเวลามีงานบุญ งานรื่นเริง หรือพกติดตัวไว้เวลาไปเกี้ยวสาวเหมือนกับคนสมัยนี้ที่ต้องฉีดน้ำหอมเพื่อเพิ่มความมั่นใจและดึงดูดความสนใจจากคนรอบข้าง

485010

หอมใบอ้มนั้นหอมขนาดไหน

ใบอ้มนั้นหอมอย่างไรถึงได้เป็นเครื่องหอมติดใจชาวอีสานมาตั้งแต่โบร่ำโบราณขนาดนั้น ผู้เขียนเองลองนำต้นอ้มมาปลูกไว้หน้าบ้านในกระถางขนาดหนึ่งคนโอบ สังเกตเห็นใบสดก็ไม่มีอะไรน่าสนใจมาก พอโดนความร้อนหรือช่วงแดดแรงๆ ยามบ่ายเท่านั้นแหละ กลิ่นหอมที่เข้ามาสัมผัสจมูกนั้นไม่เคยลืมเลือน จะเป็นใบเตยก็ไม่ใช่ หรือจะเป็นกลิ่นหอมของยอดข้าวก็ไม่เชิง

ใบอ้มที่ถูกย่างไฟอ่อนๆ แล้วสามารถส่งกลิ่นหอมได้ 2-3 วัน หากอยู่ในที่อับส่งกลิ่นหอมได้เป็นสัปดาห์เลยทีเดียว บางคนเก็บไว้ในตลับ หรือกระเป๋าสตางค์แล้วแต่ความชอบ

472571
859819

เรื่องของกลิ่นเป็นสิ่งยากแท้ที่จะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ ความหอมของใบอ้มนี้ยังสามารถใช้เปรียบเปรยกับความหอมอื่นๆ ซึ่งปรากฏอยู่ในคำผญาอีสานโบราณ เช่น

“ขาขาวมานั่งใกล้เหม็นคาวฮากสิออก ขาลายนั่งใกล้หอมเนียมอ้มกะบ่ปาน“

หมายถึง ชายที่ไม่ได้สักลายที่ขามานั่งใกล้เหม็นคาวแทบอ้วกจะแตก แต่หากชายใดมีการสักขาลายนั้นผู้คนจะชื่นชอบราวกับได้ดมกลิ่นหอมของใบเนียมอ้ม

ต้นอ้มนี้ยังพบได้ทั่วไป และยังมีการใช้ประโยชน์อยู่ในหลายวัฒนธรรมแตกต่างกันออกไป แต่อ้มที่เก็บมาเล่านี้เป็นเพียงการเล่าเรื่องจากใบไม้สีเขียวในฐานะ “เครื่องหอม” ของชาวอีสานโบราณที่เข้าใจธรรมชาติรอบตัวอย่างถ่องแท้ ถึงแม้จะจางแต่ยังไม่หายไปไหน สืบความรู้ภูมิปัญญาการปรุงแต่งธรรมชาติให้เข้ากับวิถีชีวิตชั่วลูกชั่วหลาน หลงเหลืออยู่ในความทรงจำของบรรพบุรุษที่ถูกเล่ามาเป็นทอดๆ

ใบอ้มหากอยู่เองโดยลำพังแทบไม่มีกลิ่น แต่เมื่อไหร่ที่พบกับความร้อนยิ่งส่งกลิ่นแรงขึ้น เหมือนกับภูมิปัญญาของคนเก่าโบราณยิ่งเล่าต่อยิ่งเสียงดังและมีคุณค่าสืบต่อไป

ขอขอบคุณ คุณย่ากองสี ด้วงคำจันทร์ จังหวัดมหาสารคาม

915427

อ้างอิง

พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ.2544.ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 16: พืชให้สารกระตุ้น. พิมพ์ครั้ง

ที่ 2. กทม. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. อ้างใน https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B 8%A1%E0%B8%AD%E0%B9%89%E0%B8%99 สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2563

อุษา กลิ่นหอม, ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและประเพณีอีสานที่มีต่อความหลากหลายของพันธุ์

พืช,” ใน รายงานการประชุม การสูญเสียความหลากหลายของพันธุ์พืชกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมหรือธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดมา, วันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554, ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพฯ, หน้า 43-53.

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ “ใบอ้ม” เครื่องหอมในวัฒนธรรมอีสาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook